คณะทหารหนุ่ม (61) | เปิดจม. ดร.วีรพงษ์ “พล.อ.เปรม นายทหารที่ไม่ชอบการปฏิวัติ”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา…

พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะปฏิวัติ เกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2464 ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จบการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าศึกษาโรงเรียนเทคนิคทหารบกรุ่นที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2482 หลัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 1 ปี ได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยตรี เหล่าทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.2485

เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันตามหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยทหารบก และหลักสูตรโรงเรียนเทคนิคทหารบก ได้แก่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ พล.อ.ปิ่น ธรรมศรี พล.อ.อ.สง่า กิตติขจร และ พล.อ.สายหยุด เกิดผล เป็นต้น

จบการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสอบได้ที่ 1 จึงได้ไปศึกษาต่อโรงเรียนเสนาธิการทหารบก สหรัฐ และยังจบการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ มหาบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อีกด้วย

ตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก ได้แก่ รองเจ้ากรมยุทธการทหารบก เสนาธิการกรมการรักษาดินแดน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 5 นครศรีธรรมราช และแม่ทัพภาคที่ 4 (คนแรก) ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก รองเสนาธิการทหารบก เสนาธิการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารบกขณะที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก

รวมทั้งเป็นประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อีกด้วย

 

หัวหน้าคณะปฏิวัติ…

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หนึ่งในคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ย้อนเหตุการณ์ความไม่สงบ 31 มีนาคม-1 เมษายน พ.ศ.2524 เกี่ยวกับ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา ดังมีบันทึกในหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ดังนี้

“ในระหว่างประมาณเดือนสิงหาคม 2523 ป๋าเข้ามา (เป็นนายกรัฐมนตรี/บัญชร) ในเดือนมีนาคม ก็มีเหตุการณ์ต่ออายุ ทางยังเติร์กได้เตรียมการไว้ทุกอย่างที่จะให้ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา ขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้บัญชาการทหารบก สำหรับคณะที่ปรึกษานั้นทำงานกับ พล.อ.สัณห์ ท่านก็ดี ท่านให้อิสระทุกอย่าง แม้กระทั่งไปค้านนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภา ท่านก็เป็นคนเข้าไปชี้แจงความเห็นของที่ปรึกษา ไปกับ ดร.ไพจิตร (เอื้อทวีกุล) ในคณะรัฐมนตรีซึ่งป๋าอนุญาตเข้าไปชี้แจงได้ เพราะฉะนั้น ความรักใคร่และผูกพันของคณะที่ปรึกษากับ พล.อ.สัณห์ ก็มีมาก ผมเชื่อว่าที่ปรึกษาทุกคนมีความเห็นว่า พล.อ.สัณห์ จะเป็นผู้บัญชาการทหารบก

เหตุการณ์เกิดขึ้นว่าป๋าจะเสนอร่างพระราชบัญญัติต่ออายุซึ่งทางการเมืองเป็นอะไรก็ไม่รู้ ทางที่ปรึกษาก็ค้าน ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ซึ่งเป็นโฆษกรัฐบาล ป๋าก็ใช้มาชี้แจงคณะที่ปรึกษา ชี้แจงกำกวมๆ ก็โดนที่ปรึกษาเอ็ดตะโร ในที่สุดทางคณะที่ปรึกษาไปคัดค้านป๋าอย่างรุนแรงจนป๋าให้เกียรติมาชี้แจงที่ปรึกษาเอง แล้วก็บอกว่าเป็นสิ่งจำเป็น ขอให้เห็นใจป๋า แต่บรรดาที่ปรึกษากลับไม่ทราบว่า พล.อ.เปรม ได้พูดคุยกับ พล.อ.สัณห์ เรียบร้อยแล้วว่า ท่านมีความจำเป็นต้องต่ออายุราชการ เพราะฉะนั้น พล.อ.สัณห์ จะไม่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.เปรม ได้ขอให้ พล.อ.สัณห์ ไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ‘คุณสัณห์บอกว่า พี่เปรมไม่ต้องห่วง ผมจะทำงานรับใช้ต่อไป’ พล.อ.เปรมกล่าว

ในที่สุดก็มีการแก้ไขพระราชบัญญัติอันนี้และก็ได้รับการต่ออายุ พอมีการต่ออายุ เหตุการณ์ก็คุกรุ่น ทางยังเติร์กก็ไม่พอใจ ทางยังเติร์กจึงมีเอกสารกล่าวโทษรัฐมนตรีคนโน้นทำโน่นทำนี่ ตีเป็นเงินเท่านั้นเท่านี้ เขาไปสืบมาหมด

ช่วงเดือนธันวาคมมีข่าวแว่วๆ ว่าจะมีการยึดอำนาจก่อนปีใหม่ ที่ปรึกษาก็ค้านเป็นการภายในกันเอง ค้านไปทางยังเติร์กว่าไม่สมควรด้วยเหตุผลต่างๆ นานาโดยไม่เป็นที่เปิดเผย ป๋าก็คงไม่ทราบ จนกระทั่งหลังปีใหม่มาก็ยังไม่มีเหตุการณ์อะไร

 

รู้สึกทางฝ่ายยังเติร์กเองตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้บังคับการกรมกับผู้บังคับกองพัน รุ่นยังเติร์กที่เป็นผู้บังคับการกรมขอไม่ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการกองพล เพราะว่าจะต้องหลุดจากการเป็นผู้บังคับหน่วยระดับกรม โดยจะขอเป็นผู้บัญชาการกองพลเลย ถ้าไม่อย่างนั้นจะต้องขออยู่ที่เดิมก่อน แต่ว่ามันถึงเวลาที่จะต้องเลื่อนขึ้น ข่าวรุนแรงขึ้นตามลำดับ

ในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์ ‘เมษาฮาวาย’ วันที่ 1-3 เมษายน 2524 ขึ้น โดยที่ปรึกษาส่วนใหญ่ไม่รู้ ผมก็ไม่รู้เพราะเมื่อตั้งรัฐบาลใหม่และมีการปรับแผนพัฒนาชนบท ผมก็เตรียมการที่จะทำแผนพัฒนาชนบทให้เป็นรูปธรรมเพื่อบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ผมก็ไปร่วมงานกับสภาพัฒน์ นำโดยคุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ก็ออกไปเซอร์เวย์ชนบทในพื้นที่ต่างๆ ที่ทุรกันดารของประเทศ

ในขณะเดียวกันที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2524 รถถังก็ออกมาวิ่งเต็มถนน ขณะที่เกิดเหตุเมษาฮาวายนั้น ผมอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กำลังจะเดินทางเข้ามาที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ไปทราบข่าวเอาที่อำเภอขุนยวมกำลังจะเดินทางมาที่อมก๋อย ข่าวก็ยืนยันอีกทีว่ามีการปฏิวัติแล้ว ผมเข้าเชียงใหม่โทรศัพท์กลับบ้าน ทางบ้านก็บอกว่าจริง และได้มีคำสั่งจากคณะปฏิวัติเรียกให้ไปรายงานตัวที่กองบัญชาการคณะปฏิวัติ เพราะได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะปฏิวัติด้วย

พล.อ.เปรม นายทหารที่ไม่ชอบการปฏิวัติ เคยรำลึกถึงความหลังเรื่องการปฏิวัติอย่างไม่สบายใจนักว่า ‘เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2524 มนูญกับประจักษ์เขามาหาป๋าที่บ้านสี่เสา ประจักษ์เป็นคนบอกว่าจะปฏิวัติ ถามว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น เขาบอกว่าเพราะป๋าเอาคนไม่ดีมาเป็นรัฐมนตรี’ คนไม่ดีที่แกนนำกลุ่มยังเติร์กบอกกับ พล.อ.เปรม เขาหมายถึง พล.ต.สุดสาย หัสดิน กับ ร.ต.ท.ชาญ มนูธรรม ที่ป๋าตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเปรม 2

แต่จนกระทั่งทุกวันนี้ เหตุการณ์ล่วงเลยมานานหลายปี ก็ยังไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ว่าการปฏิวัติครั้งนั้นเกิดขึ้นเพียงเพราะความไม่พอใจที่ พล.อ.เปรม เอาเพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกันทั้งสองคนมาเป็นรัฐมนตรีเท่านั้นเอง หรือเป็นเพราะการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ตลอดจนการเสนอต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.เปรม ออกไปอีก 1 ปี หรือมีอะไรแอบแฝงอยู่ ก็คงต้องปล่อยให้เป็นคำถามอยู่ในใจอย่างนี้ตลอดไป”

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร กล่าวปิดท้าย
บ้านพักสี่เสาเทเวศร์
31 มีนาคม พ.ศ.2524 ประมาณ 24.00 น.

 

พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เล่าว่า…

“คืนนั้น ขณะที่ พล.อ.เปรม ออกจากบ้านมาเข้าเฝ้าฯ นั้น ยังเติร์กมาขัดขวางไม่ยอมให้ พล.อ.เปรมไป สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โทรศัพท์ไปที่บ้านผู้บัญชาการทหารบกอีกครั้งหนึ่งบอกว่า ภายในครึ่งชั่วโมงผู้บัญชาการทหารบกออกจากบ้านมาเข้าเฝ้าฯ ไม่ได้ ฉันจะไปรับด้วยตัวฉันเอง นี่คือน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พล.อ.เปรม ถึงได้ออกจากบ้านมาได้”

พล.ต.บุญสืบ เล่าถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ต่อไปว่า…

“ผมได้ยินว่า ให้ไปเตรียมรถ พี่ไพโรจน์ก็ไปเตรียมรถมาจอดไว้ที่หน้าบ้าน ป๋าก็ลงไปขึ้นรถ มีรถของศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ต่อท้ายอยู่ด้วยอีกคันหนึ่ง ผมก็จะไปเอารถเพื่อติดตามป๋าไป แต่พี่ๆ นั่นแหละไม่ทราบใครถามว่าจะไปไหน ให้ไปนั่งกับป๋า ป๋าขึ้นประตูซ้าย ผมก็ขึ้นประตูขวา ส่วนพี่ไพโรจน์ก็นั่งหน้าคู่กับคนขับ ตอนที่ป๋าลงมาจากข้างบน พี่จักษ์ยังพูดโทรศัพท์อยู่ข้างบนไม่ได้ลงมาด้วย พวกนั้นคงนึกว่าป๋ายอมแล้วและคงออกไปที่สวนรื่นฯ ก็เลยไม่มีใครขัดขวาง”

“พอวิ่งมาถึงสี่แยกไทยเจริญก็เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าหอประชุมกองทัพบก แล้วเลี้ยวขวาที่สี่แยกการเรือน เวลานั้นมีทหารประจำจุดตามสี่แยกแล้ว พอเลี้ยวขวามาทางพระที่นั่งวิมานเมฆไม่มีทหาร ป๋าก็เข้าวังสวนจิตรลดา”

 

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งตามมาสมทบภายหลัง เล่าว่า…

“ความจริงมีคนเขาเตือนแล้วว่าจะมีการปฏิวัติ แต่เราไม่เชื่อ เพราะเช็กข่าวก็ไม่มีบอกเลย ผมเป็นเจ้ากรมยุทธการ ฉะนั้น น่าจะมีข่าวบอกผม เขาเตือนมาแต่เราก็ไม่เชื่อ จนเขาบอกว่ามันแจกปืนกันแล้วนะ”

“ผมก็รีบออกไป พอออกปั๊บ ถูกต้องเลย ก็รีบไปบอกป๋า แต่ไม่ทัน ปรากฏว่าป๋าถูกจับแล้ว จะเรียกว่าถูกจับก็คงไม่ใช่ คือเขาเอากำลังไปอารักขา เห็นนั่งอยู่ที่ตีนบันไดบ้านสี่เสาหลายคน ผมจำได้ว่า มีประจักษ์ มีวีรยุทธ มีพัลลภ (ในความเป็นจริงไม่มี พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ซึ่งกำลังคุมกำลังจากอรัญประเทศมากรุงเทพฯ/บัญชร) มีใครต่อใครเต็มไปหมด เมื่อป๋ารู้ว่าผมมาก็ให้ผมไปพบข้างบน มีแอ้ด (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) อยู่ด้วย ป๋าถามผมว่า จิ๋วจะเอาอย่างไร ผมบอกว่าสู้ๆ ครับป๋า ป๋าถามอีกว่าสู้ยังไง ผมบอกป๋าว่า ป๋าใจเย็นๆ

ในขณะนั้น มีทหารมาแจ้งว่ามีโทรศัพท์จากวังขอพูดกับ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร เมื่อ พ.อ.ประจักษ์ไปพูดโทรศัพท์ที่ห้องนั้นซึ่งผมอยู่อีกห้องหนึ่ง ผมได้เรียกรถยนต์ของป๋ามารอพร้อม โดยป๋าได้เดินทางออกจากบ้านสี่เสาเทเวศร์เพื่อไปเข้าเฝ้าฯ ในสวนจิตรลดา โดยกลุ่มทหารผู้ก่อการมิได้ขัดขวางหรือพูดอะไรเลย ทุกคนคงอยู่ในความสับสน ก่อนรถเคลื่อนที่ออก พล.อ.เปรมได้เปิดหน้าต่างรถและบอกผมว่า ให้ผมไปรอที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) สวนรื่นฤดี”

การเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตรงกับความคิดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายทหารอื่นๆ เพราะต่างก็นึกถึงพระบารมีว่าจะสามารถขจัดปัดเป่าให้เหตุการณ์ร้ายกลับกลายเป็นดีได้ แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเดินทางออกจากบ้านพักสี่เสาได้โดยง่าย เมื่อมี พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ควบคุมตัวอยู่ แต่น่าจะเพราะความเป็น “ลูกป๋า” ทำให้ไม่มีใครกล้าใช้วิธีการรุนแรงใดๆ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์

ก่อนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะเดินทางออกจากบ้านพักสี่เสา ได้ลดกระจกรถลงแล้วบอกว่า “จิ๋ว เดี๋ยวไปเจอกันที่ ศปก.ทบ.” ซึ่งทุกคนรวมทั้งฝ่ายก่อการได้ยินพร้อมกัน