14 ตุลาฯ กับทหาร (3) ขับกระแส-เคลื่อนการต่อสู้

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

14 ตุลาฯ กับทหาร (3)

ขับกระแส-เคลื่อนการต่อสู้

 

“สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ”

มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ (มิถุนายน 2516)

ชมรมคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

เหตุการณ์กรณีทุ่งใหญ่จากปลายเดือนเมษายน ต่อเข้าเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2516 ดูจะบานปลายออกไปเรื่อยๆ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร หมดความน่าเชื่อถือลงตามลำดับ เพราะสังคมไม่เชื่อคำแถลงของรัฐบาลที่ยืนยันว่า การไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่เป็นการไป “ราชการลับ” และยิ่งผู้นำรัฐบาลออกมาตอกย้ำในเรื่องเช่นนี้มากเท่าใด สังคมก็ยิ่งไม่ตอบรับมากเท่านั้น จนถึงกับ พล.ต.ท.ประจวบ สุนทรางกูร รองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวเป็นข้อสรุปอย่างตรงไปตรงมาว่า “เมื่อผู้ใหญ่ท่านว่าไปราชการลับ ก็ต้องเป็นเรื่องลับ”

กระแสสังคมออกไปในทางที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างมาก หนังสือเรื่อง “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ที่จัดพิมพ์โดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ จำนวน 5 พันเล่ม แต่ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษสามารถจำหน่ายได้หมดนั้น ต้องถือเป็นสัญญาณสำคัญ ที่น่าจะทำให้รัฐบาลตระหนักว่า ความน่าเชื่อถือของคณะทหารที่เป็นผู้นำรัฐบาลนั้น กำลังลดต่ำลง

แต่ผู้นำรัฐบาลอาจจะมีความเชื่อมั่นว่ายังสามารถคุมสถานการณ์ได้ตามปกติ ถึงขนาด พล.อ.ประภาส จารุเสถียร กล่าวสวนกระแสว่า “เห็นมีคนกินเนื้อแล้ว ถ้าจะจับ ไม่ต้องไปไกลถึงกาญจนบุรีหรอก แถวอนุสาวรีย์หรือวิทยุก็ถมไป ผมก็คงจะถูกจับ เพราะชอบกินเสียด้วย…”

ในสภาวการณ์เช่นนี้ รัฐบาลอาจมีความเชื่อมั่นทางด้านกำลัง และไม่ตระหนักถึง “ปัจจัยจิตวิทยาการเมือง” ที่กระแสสังคมแสดงออกอย่างชัดเจนอีกครั้งหลังจากการประท้วงใหญ่ในกรณี “กฎหมาย 299” ที่เตรียมเปิดช่องให้ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการ (ศาล) ได้… ว่าที่จริง การประท้วงเรื่องดังกล่าวในตอนปลายปี 2515 เป็นสัญญาณถึงการก่อตัวอย่างเป็นรูปธรรมของกระแสต่อต้านรัฐบาลทหาร

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งจากปัญหานี้ ที่ไม่สามารถตอบได้ชัดคือ รัฐบาลทหารมองกระแสต่อต้านอย่างไร

 

จากทุ่งใหญ่สู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

หากพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบแล้ว เราอาจต้องยอมรับว่าความรู้สึกของผู้คนในสังคมหรือปัจจัยของ “จิตวิทยาการเมือง” ที่ไม่ตอบรับกับการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารในต้นปี 2516 ขยับสูงขึ้นมากกว่าตอนปลายปี 2515… คนในสังคมรับผู้นำทหารไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะมองว่าการแก้ตัวให้กับการกระทำผิดของกลุ่มข้าราชการที่เดินทางเข้าไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ จนนำไปสู่กรณีความสูญเสียที่เกิดจากการตกของเฮลิคอปเตอร์ แต่ผู้เสียชีวิตกลับได้รับการปฏิบัติเช่นความสูญเสียในราชการสนาม คือ การคุมหีบศพด้วยธงชาติ ทั้งที่หลักฐานของการกระทำผิดปรากฏเห็นชัด และยืนยันชัดว่าพวกเขาไม่ได้ไปราชการลับจนเสียชีวิตแต่อย่างใด

ในขณะที่ความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลขยายตัวรวดเร็วนั้น รัฐบาลกลับตัดสินใจท้าทายด้วยการต่ออายุราชการให้แก่ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ทั้งยังเลื่อนชั้นยศขึ้นเป็นระดับ “จอมพล” อีกด้วย จนเสมือนกับรัฐบาลไม่แคร์กับความรู้สึกของสังคมแต่อย่างใด การตัดสินใจของรัฐบาลเช่นนี้ทำให้การต่อต้านยกระดับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยชมรมคนรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ออกหนังสือ “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ” พร้อมกับการล้อเลียนการต่ออายุราชการของจอมพลทั้งสอง จนคำกล่าวว่า “สถานการณ์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ” เป็นคำติดปากที่ใช้ล้อเลียนทางการเมืองจนกลายเป็นเรื่องสนุก

ในทางกลับกันไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า รัฐบาลกดดันให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงดำเนินการในเรื่องนี้อย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ แต่อธิการบดีใช้อำนาจตัดสินใจ “ลบชื่อ” นักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือจำนวน 9 คนออก ทำให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เปิดการชุมนุมที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเดือนมิถุนายน 2516 และเดินขบวนมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

การชุมนุมมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่าการประท้วงตอนปลายปี 2515 การชุมนุมประสบความสำเร็จทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงต้องรับนักศึกษาทั้ง 9 กลับ พร้อมกับการลาออกของอธิการบดีจนอาจกล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้บ่งบอกถึงความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่เพียงกระแสสังคมตอบรับด้วยการมีนักศึกษาประชาชนเข้าร่วมประท้วงเป็นจำนวนมากและประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเท่านั้น หากยังแสดงถึงการก่อตัวอย่างเป็นรูปธรรมของ “ขบวนการทางสังคม” (social movement) ที่มีนิสิต นักศึกษา และประชาชนเป็นแกนหลัก พร้อมกับการขับเคลื่อนของอุดมการณ์เสรีนิยมเป็นองค์ประกอบสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในการชุมนุมครั้งนี้ได้มีการประกาศข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่า ขอให้รัฐบาลทหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้น โดยนัยแล้ว การเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน จึงหมายถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลทหารลงจากอำนาจ และเปิดการเลือกตั้งนั่นเอง

(มีความต่างของปัญหาภาษาบางประการ กล่าวคือ ในยุคนั้นหลังจากผู้นำทหารประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจแล้ว จะมีการประกาศใช้เพียง “ธรรมนูญการปกครองประเทศ” ไม่ใช่เช่นในยุคปัจจุบัน ที่หลังจากยึดอำนาจเสร็จ ก็ประกาศ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งจะเห็นถึง “สถานะทางกฎหมาย” ที่แตกต่างกันในบริบทของภาษาทางรัฐศาสตร์)

 

จุดพลิกผัน

สําหรับคนที่เข้ามหาวิทยาลัยเป็น “น้องใหม่” ในปีการศึกษา 2516 นั้น ต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาของความน่าตื่นเต้นอย่างมาก เนื่องจากจะได้สัมผัสกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่พัฒนาจากการประท้วงกรณีทุ่งใหญ่จากปลายเดือนเมษายน ต่อเข้าพฤษภาคมและมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงของการเปิดเรียนในภาคต้น และตามมาด้วยเหตุการณ์การประท้วงกรณี 9 นักศึกษารามคำแหงในเดือนมิถุนายน… การประท้วงเช่นนี้คือ “การรับน้องใหม่” ในบริบททางการเมืองของนิสิตปี 1 ในรุ่นนั้นอย่างน่าตื่นเต้น

ในอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ฝ่ายข่าวกรองและหน่วยงานความมั่นคงของรัฐประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้อย่างไร แน่นอนว่าเราที่เป็นผู้คนในยุคหลังๆ คงไม่มีโอกาสที่จะได้อ่านรายงานประเมินสถานการณ์ข่าวกรองในช่วงเวลาเช่นนั้น แต่หนึ่งในคำถามที่ค้างคากับสถานการณ์เช่นที่กล่าวแล้วคือ รัฐบาลและกองทัพประเมินไหมว่า การชุมนุมอาจจะขยายตัวไปถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ เพราะคนในสังคมตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงของนิสิตนักศึกษา

ว่าที่จริง เหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างกรณี “การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ” หรือที่เราเรียกว่า “อาหรับสปริง” (Arab Spring) ในปลายปี 2553 ที่ตูนิเซีย ต่อเนื่องเข้าปี 2554 ที่อียิปต์ ก็สะท้อนให้เห็นถึงการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด อย่างน้อยใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1) คนคงเข้าร่วมไม่มาก หรืออาจมีคนร่วมประท้วงในระดับหนึ่ง แต่จะไม่มากจนนำไปสู่การล้มลงของระบอบเดิม

2) ระบอบอำนาจนิยมผ่านการประท้วงและต่อต้านมาหลายครั้งแล้ว ถ้าจะเกิดขึ้นอีกสักครั้ง ก็ไม่น่าจะนำไปสู่การพลิกผันแต่อย่างใด

และ 3) เพื่อการคงอยู่ของระบอบดังกล่าว การปราบปรามด้วยกำลังทหารจะต้องถูกนำมาใช้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเกิดความหวาดกลัว

 

ในอีกด้านหนึ่ง หน่วยงานข่าวกรองภายนอกก็อาจมองในมุมที่เชื่อว่า ระบอบทหาร/ระบอบเก่าที่ถูกต่อต้านมาโดยตลอดนั้น การต่อต้านแต่ละครั้งไม่สามารถทำให้ระบอบเก่าต้องสิ้นอำนาจลงได้จริงแต่อย่างใด หรืออาจกล่าวได้ว่าหลายฝ่ายเชื่อว่าระบอบอำนาจนิยมที่ดำรงอยู่ในการเมืองมาอย่างยาวนาน มักจะมีสภาวะของการเป็น “ระบอบอำนาจนิยมที่คงทนถาวร” (durable authoritarianism) เช่นกรณีของการประเมินเหตุการณ์การต่อต้านพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2520 นั้น กองทัพอิหร่านถูกยกระดับให้เป็นกองทัพในระดับแนวหน้าของโลก ถึงกับมีการจัดลำดับว่ากองทัพอิหร่านมีความเข้มแข็งทางทหารเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ถ้าเช่นนี้แล้วรัฐบาลที่มีกองทัพเป็นลำดับหนึ่งในห้าของโลก จะแพ้ต่อการประท้วงของประชาชนได้อย่างไร

แต่สถานการณ์ในปีถัดมาดูจะไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลเท่าใดนัก กล่าวคือ การประท้วงและการต่อต้านรัฐบาลขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเห็นได้ชัดในปี 2521 ว่า การประท้วงในอิหร่านกำลังยกระดับกลายเป็น “การปฏิวัติประชาชน” (popular revolution) ที่นำไปสู่การโค่นล้มระบอบกษัตริย์

ในที่สุดรัฐบาลเริ่มไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บนถนนได้ แม้จะมีกองทัพขนาดใหญ่และมีอำนาจในทางทหาร แต่สุดท้ายแล้ว พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านต้องสละราชสมบัติ และลี้ภัยออกนอกประเทศในตอนกลางเดือนมกราคม 2522… สถานการณ์ของประธานาธิบดีมูบารัคแห่งอียิปต์ในต้นปี 2554 ก็อาจเทียบเคียงได้ไม่แตกต่างกัน กองทัพอียิปต์ที่มีพลังอำนาจทางทหารอย่างมาก และสนับสนุนต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารอย่างเต็มที่นั้น ไม่น่าจะต้องพ่ายแพ้แก่การประท้วงของผู้ชุมนุม

เพราะอำนาจทหารของกองทัพรัฐบาลจะทำหน้าที่เป็น “เสาค้ำยัน” ที่แข็งแรงให้แก่ระบอบเก่าเสมอ แต่ก็ตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่า กองทัพจะต้องมีเอกภาพ และอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล

 

คาดเดาไม่ได้!

สมมุติฐานต่อการดำรงอยู่ของระบอบเก่าคือ พลวัตของการต่อต้านรัฐบาลจะต้องไม่ยกระดับขึ้น ในทำนองเดียวกัน กระแสการประท้วงก็จะต้องไม่ยกระดับ แต่ใครเล่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การเมืองไม่ให้ขยับไปในทางที่ “เป็นโทษ” ต่อรัฐบาล เพราะในสภาวะเช่นนี้ มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้ตลอดเวลา อันเป็นผลจากความแตกแยกภายในโครงสร้างอำนาจเดิม อีกทั้งก็ไม่อาจคาดเดาได้ในส่วนของขบวนการทางสังคมที่ก่อตัวขึ้นในสังคมไทยจากการประท้วงในเดือนมิถุนายน 2516 ว่า การเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ถูกประกาศเป็น “วาระทางการเมือง” ของขบวนการนิสิตนักศึกษานั้น จะถูกขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร

ทุกอย่างในทางการเมืองมักจะเป็นไปอย่างไม่คาดคิดเสมอ… “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ที่เพิ่งถูกจัดตั้งขึ้นนั้น เปิดการเคลื่อนไหวทันทีหลังจากได้รวบรวมรายชื่อของปัญญาชนที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยจำนวน 100 คน ที่ลงนามเรียกร้องให้รัฐบาลจอมพลถนอมคืนรัฐธรรมนูญให้แก่สังคมไทย

ดังนั้น ในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 พวกเขาตัดสินใจเปิดการรณรงค์ด้วยการเดินแจกใบปลิว จนเมื่อเดินมาถึงบริเวณประตูน้ำ จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวจำนวน 11 คน และถูกควบคุมเพิ่มเติมอีก 2 คน รวมทั้งหมดที่ถูกจับกุมมีจำนวน 13 คน… คงไม่มีใครคาดคิดว่า แล้วการจับกุมที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่อะไร?

ไม่มีใครคาดคิดถึงความพลิกผันของสถานการณ์อย่างแน่นอน!