อิสลามการเมือง และหลังอิสลามการเมือง (3) ระบอบราชาธิปไตยในอ่าวกับฝ่ายต่อต้าน

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

อิสลามการเมือง

และหลังอิสลามการเมือง (3)

ระบอบราชาธิปไตยในอ่าวกับฝ่ายต่อต้าน

 

ระบอบกษัตริย์จากอ่าวเปอร์เซียหรือที่ประเทศอาหรับเรียกว่าอ่าวอาหรับ มองว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งยึดถืออุดมการณ์ที่รวมหลักการอิสลามเข้ากับประชาธิปไตยสมัยใหม่เป็นภัยคุกคามที่มีอยู่ต่อระเบียบทางการเมืองที่ “เงียบงัน”

ดังนั้น จากมุมมองของราชาธิปไตย รัฐบาลมุรซีต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งในขณะที่ยังไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ทำผิดพลาดและทำให้ประชาชนแปลกแยก กลัวว่าหากรัฐบาลยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปอีกสองสามปี รัฐบาลจะจับประเด็นด้านธรรมาภิบาล นำเอาความเข้มงวดทางหลักคำสอนบางส่วนมาใช้และสร้างฐานสนับสนุนของตนเองขึ้นมา

ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นสองประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการลดทอนการนำเอาระบอบประชาธิปไตยของตูนิเซียที่เกิดขึ้นมาในระยะสั้นๆ มาใช้ ที่นี่ แม้ผู้นำกลุ่มคืออัล-นะเฎาะฮ์ (Ennahda) จะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม กระนั้นพรรคได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของอียิปต์ที่กลุ่มอิสลามนิยมถูกลดทอนอุดมการณ์ส่วนหนึ่งที่เข้มงวดลงไป

ราชวงศ์ทั้งสองเริ่มให้ทุนแก่พรรคฆราวาสชาตินิยม และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่มีชื่อว่า Nidaa Tounes ตั้งแต่ปี 2014 ผลประโยชน์จากการเลือกตั้งที่ได้รับมาจากการเลือกตั้งในปี 2014 ทำให้ฐานคะแนนเสียงของอัล-นะเฎาะฮ์ลดลง และทำให้พรรคอื่นๆ สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับอัล-นะเฎาะฮ์ได้

อย่างไรก็ตาม ฉันทามติระหว่างฝ่ายอิสลามนิยมและฝ่ายเสรีนิยมก็ไม่ได้ทำให้การตัดสินใจหรือการปฏิรูปเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2019 ทำให้กออีส สะอีด (Kais Saied) นักวิชาการที่ไม่มีพื้นฐานทางการเมืองได้ขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งประธานาธิบดี

เขาแสดงความไม่พอใจทันทีกับระบบการเมืองที่เป็นอัมพาตและ “รังเกียจ” การคอร์รัปชั่นที่แพร่หลายในหมู่สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ โดยเรียกพวกเขาว่าเป็น “อสุรกาย” และ “นกล่าเหยื่อ”

ในเดือนกรกฎาคม 2021 ประธานาธิบดีได้หยุดยั้งระบอบประชาธิปไตยของตูนิเซียด้วยการสลายการชุมนุมและเข้ารับอำนาจเต็ม ในเดือนสิงหาคม 2022 เขาได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการรักษาอำนาจของประธานาธิบดีเอาไว้

สื่อของ Gulf และอียิปต์ต่างยกย่องการทำรัฐประหารตามรัฐธรรมนูญของสะอีดว่าเป็นการพ่ายแพ้ของอิสลามการเมือง ซึ่งเป็นไปตามที่ Sarah Yerkes นักวิชาการของโลกมุสลิมได้กล่าวไว้ว่า

“อัล-นะเฎาะฮ์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าอิสลามการเมืองสามารถเข้ากันได้กับประชาธิปไตย”

 

การแทรกแซงที่ร้ายแรงที่สุดของสองระบอบกษัตริย์ในอ่าวอาหรับและอียิปต์นั้นเกิดขึ้นในซูดาน

โดยอุมัร อัล-บาชีร (Omar al-Bashir) ประธานาธิบดีของซูดานตั้งแต่ปี 1989 ถูกมองว่าเป็นผู้นิยมอิสลามการเมือง และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกาตาร์

ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พยายามที่จะเอาชนะเขาด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่เมื่อทั้งสองประเทศเริ่มปิดล้อมกาตาร์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2017 ดูเหมือนว่าอัล-บาชีรยังคงมีความเชื่อมโยงกับกาตาร์อยู่เหมือนเดิม

ดังนั้น ในเดือนเมษายน 2019 ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จึงสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทางทหารให้โค่นบาชีรลงจากอำนาจ

ผู้ที่โค่นล้มเขาลงจากอำนาจคือนายพลอับเดล ฟัตตะห์ อัล-บุรฮาน ผู้บัญชาการทหารบก และนายพลมุฮัมมัด ฮัมดาน ดากาโล หัวหน้ากองกำลังสนับสนุนกึ่งทหาร

 

หลังรัฐประหาร บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมหลายคนถูกจับกุม ต่อมา ทั้งสองสถาบันกษัตริย์ได้ช่วยยุติการทดลองประชาธิปไตยครั้งแรกของซูดานด้วยการสนับสนุนการรัฐประหารของกองทัพที่กระทำต่อนายกรัฐมนตรีพลเรือนในเดือนตุลาคม ปี 2021

แต่เรื่องต่างๆ กลับไม่คืบหน้าตามที่ราชวงศ์ได้วางแผนไว้ กลุ่มก้อนทางทหารทั้งสองที่กษัตริย์สองประเทศและอียิปต์สนับสนุนได้หลุดออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายน 2023 และทำให้ซูดานจมอยู่ในความขัดแย้งกลางเมืองที่นองเลือดและทำลายล้างซึ่งกันและกัน

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอียิปต์ยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในความขัดแย้งของประชาชนในลิเบีย เพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มอิสลามนิยมที่มีอำนาจเหนือการปกครองในตริโปลีจะไม่เข้ายึดครองประเทศ และสนับสนุนการปกครองในเมืองโทบรุค (Tobruk) ในปี 2019 ลิเบียจึงกลายเป็นหนึ่งประเทศสองรัฐบาลอยู่จนถึงทุกวันนี้

ทั้งสองประเทศข้างต้นสนับสนุนความพยายามทางทหารเพื่อยุติการปกครองในลิเบีย หลังจากล้มเหลว ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้

 

อิสลามการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ดูเหมือนว่าจะมาถึงจุดต่ำสุด การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้พังทลายลงแล้วในอียิปต์

ผู้สังเกตการณ์อธิบายว่าขบวนการภราดรภาพมุสลิม “หยุดชะงักไปเลย ไม่มีกิจกรรมที่จัดไว้และไม่มีสายการบังคับบัญชาที่แท้จริง” สมาชิกที่อายุน้อยกว่าหลายคนกลายเป็นนักวิจารณ์อย่างรุนแรงต่อผู้นำของพวกเขาเนื่องจากคนเหล่านั้นยังคงยืนกรานอยู่กับกรอบความคิดเดิมและไม่พร้อมที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต

ศัตรูของอียิปต์และประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในอ่าวทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบียระบุว่าขบวนการภราดรภาพมุสลิมเป็นพวกที่มีความสุดโต่งและรุนแรง เป็นกลุ่มก้อนของผู้เปิดประตูสู่การเสพติด หรือ “สายพานลำเลียง” ไปสู่กลุ่มหัวรุนแรงซึ่งแสดงโดยอัลกออิดะฮ์หรือรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (ISIS)

อิสลามการเมือง หรืออิสลามนิยม เป็นคำที่ใช้อธิบายหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เพื่อสร้างระเบียบทางการเมืองของตนขึ้นมา

อิสลามการเมืองในการแสดงออกที่หลากหลายในความเป็นระเบียบของรัฐวะฮาบีในซาอุดีอาระเบีย ในขบวนการภราดรภาพมุสลิม และการต่อสู้ด้วยการเสียสละได้ครอบงำการเมืองในเอเชียตะวันตกมานานกว่าสี่ทศวรรษ

บัดนี้อิสลามการเมืองกำลังอยู่ในภาวะแห่งการล่าถอยในเอเชียตะวันตก จากนี้ไประเบียบหลังอิสลามการเมืองหรืออิสลามนิยมในทางการเมืองจะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร?

 

หายนะของความรุนแรง

การแสดงออกที่น่าทึ่งที่สุดและขัดแย้งกันมากที่สุดของอิสลามการเมืองคือการใช้ความรุนแรงและความโหดร้ายของสององค์กรข้ามชาติ คืออัลกออิดะฮ์และรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่ปรากฏแก่ผู้คนทั่วโลกทางหน้าจอโทรทัศน์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่น่าแปลกใจที่ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับอิสลามการเมืองเท่านั้น แต่กับตัวอิสลามเองด้วย และทำให้เกิดกระแสเกลียดกลัวอิสลามในหลายประเทศจากการกระทำของกลุ่มก้อนและองค์การที่อ้างอิสลามในทางการเมืองแต่ปฏิบัติการตรงข้ามกับคำสอนของอิสลาม

เมื่อโซเวียตถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานในปี 1989 ในเวลานั้นอุสามะฮ์ บินลาดิน (Osama bin Laden) มองว่าการเผชิญหน้ากับ ‘ศัตรูที่อยู่ห่างไกล’ ซึ่งก็คือสหรัฐ เป็นภารกิจที่พระเจ้าประทานให้ สิ่งนี้ประสบผลสำเร็จในการโจมตีบ้านเกิดของชาวอเมริกันเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001

ต่อมาเมื่อต้องเผชิญกับการโจมตีตอบโต้ของสหรัฐ อัลกออิดะฮ์และพันธมิตรฏอลิบานก็พบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในส่วนต่างๆ ของปากีสถาน