เล่นกับ ‘แบงก์’

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

“ธนาคาร” ก็เหมือนกับ “ตำรวจ”

ด้วย “หน้าที่” แล้วทั้งธนาคารและตำรวจล้วนเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ

“ตำรวจ” คือ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวันก็ต้องพึ่งพาตำรวจ

แต่เวลาคนทั่วไปพูดถึง “ตำรวจ”

เสียงที่ได้ยินมักเป็นเสียงด้านลบ

คล้ายกับ “แบงก์” ด้วยภาระหน้าที่แล้ว สถาบันการเงินถือเป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศ

เป็นแหล่งทุนที่ทำให้ธุรกิจเติบโต

แต่เวลาคนทั่วไปพูดถึง “แบงก์” ส่วนใหญ่จะพูดแต่เรื่องลบๆ

โดยเฉพาะคนที่กู้เงินแบงก์

ไม่ว่าจะเป็นรายย่อย หรือรายใหญ่

อาจไม่แรงเท่ากับ “ตำรวจ”

แต่ก็ไม่ได้บวกมากนัก

นักธุรกิจมักจะบอกว่าตอนที่เศรษฐกิจดีๆ เราไม่จำเป็นต้องใช้เงิน

แบงก์จะติดต่อมาให้เรากู้

แต่พอเจอวิกฤต ตอนที่เราต้องการเงิน

ธนาคารจะเรียกเงินคืนเร็วที่สุด

เขาเปรียบเทียบเหมือนตอนท้องฟ้าสดใส

“แบงก์” จะยื่นร่มให้

แต่ตอนที่ฝนตกหนัก

“แบงก์” จะทวงร่มคืน หรือหุบร่ม

 

ในมุมหนึ่งก็ต้องเห็นใจธนาคาร เพราะเงินที่ให้กู้ไม่ใช่เงินส่วนตัวของเขา

แต่เป็นเงินฝากของประชาชน

เขามีหน้าที่ดูแลรักษาและทำกำไรเพื่อนำไปจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก

ดังนั้น จึงต้องถือคติปลอดภัยไว้ก่อน

ฝนตกหนัก ใครเป็นหวัดก็ได้

แต่แบงก์ต้องไม่เป็นหวัด

นักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งเคยสอนว่าการทำธุรกิจเราต้องเข้าใจธรรมชาติของแบงก์

ถ้าเป็นคน แบงก์จะเป็นคนที่ตกใจง่าย

ดังนั้น อย่าทำให้แบงก์ตกใจเป็นอันขาด

เราต้องไม่รอให้จนธุรกิจวิกฤตแล้วค่อยบอก “ข่าวร้าย” กับนายแบงก์

เขาสอนว่าถ้าเศรษฐกิจเริ่มไม่ดี ธุรกิจของเราเริ่มสะดุด ยอดขายลดลง

มีปัญหานิดหน่อยให้รีบบอกแบงก์ก่อน

แสดงความจริงใจ

เพราะถ้าเราเป็นลูกค้าชั้นดี ช่วงที่ธุรกิจมีปัญหาไม่มากนัก เรายังขอกู้เงินแบงก์เพิ่มมาเป็นเงินสำรองได้

ประเด็นสำคัญ อย่าปล่อยให้ปัญหาบานปลายหนักหน่วงแล้วค่อยแจ้งแบงก์

เพราะแบงก์จะตกใจ

ลองนึกดูสิครับ เจอกันทุกครั้งบอกว่าธุรกิจยังดีอยู่

มาวันหนึ่งบอกว่าอาการหนักแล้ว

เป็นใครก็ต้องตกใจเป็นธรรมดา

คนทั่วไปก็แค่ร้องกรี๊ด

แต่แบงก์ตกใจ

นอกจากไม่ให้เรากู้เพิ่มแล้ว

หนี้ที่เราค้างอยู่ เขาจะเข้มขึ้นทันที

อีกเรื่องหนึ่งที่นักธุรกิจใหญ่คนนี้สอนนักธุรกิจรุ่นใหม่ คือ เวลากู้เงินจากแบงก์

ส่วนใหญ่คนจะกระจายความเสี่ยง

กู้หลายแบงก์

เขาแนะนำว่ากู้หลายแบงก์ หนี้ของเราจะเป็นก้อนเล็กๆ ของแต่ละแบงก์

ถือเป็นลูกหนี้รายเล็ก

แต่ถ้าเรากู้แบงก์เดียว เราจะเป็นลูกค้ารายใหญ่

จะได้รับการดูแลดีกว่าลูกค้ารายย่อย

“เวลาเราป่วย แบงก์จะมาเยี่ยม”

ดูแลดีด้วยความเป็นห่วง…

 

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ

รายได้หลักของแบงก์ คือ การปล่อยกู้

ใครเสนอขอกู้มา แบงก์ต้องศึกษาก่อน

ถ้าดีจึงให้กู้

ด้วยลักษณะงานแบบนี้เอง ทำให้นักธุรกิจหลายคนใช้ประโยชน์จากแบงก์

นักธุรกิจโรงแรมใหญ่คนหนึ่งบอกว่าทุกครั้งที่ลงทุนโรงแรมใหม่

แม้ว่าจะออกหุ้นกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ากู้แบงก์เพราะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์

แต่เขาจะต้องกู้แบงก์ทุกครั้ง

มากหรือน้อย ก็ต้องกู้

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ เขาใช้แบงก์ทำหน้าเป็น “ผู้ตรวจสอบ”

เพราะแบงก์จะต้องปล่อยกู้โรงแรมจำนวนมาก

จะมีฐานข้อมูลดี

รู้ว่าทำเลไหนดีหรือไม่ดี

ถ้าแบงก์ตรวจสอบโครงการแล้วยอมปล่อยกู้ให้

แสดงว่าโครงการที่เราจะลงทุนใช้ได้

เพิ่มความมั่นใจในการลงทุนให้กับเรา

 

คุณบุญคลี ปลั่งศิริ ก็เคยใช้วิธีการนี้

ตอนที่เขาบริหารงานอยู่ที่ชินคอร์ป จะมีโครงการใหม่ๆ เข้ามาตลอด

บางโครงการก็เป็นธุรกิจใหม่ที่เขาไม่รู้เรื่อง

หรือเป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

ตามปกติถ้าเจอโครงการลักษณะนี้ บริษัททั่วไปจะจ้างทีมที่ปรึกษาที่รู้เฉพาะเรื่องมาช่วย

ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

และบริษัทที่ปรึกษาก็ไม่ต้องรับผิดชอบกับ “คำปรึกษา”

ถ้าบริษัทตัดสินใจทำตามแล้วผิดพลาด

บริษัทที่ปรึกษาก็ไม่รับผิดชอบอะไร

คุณบุญคลีแนะนำกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ว่าให้ลองเอาโครงการแบบนี้ไปเสนอกู้เงินจากธนาคาร

แต่ห้ามกู้แบงก์ไทย

ต้องกู้แบงก์นอก

เพราะถ้าเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีในเมืองไทยหรือใช้เทคโนโลยีสูงๆ

แบงก์ไทยก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกับเขา

แต่ธนาคารต่างประเทศ เขามีสาขาทั่วโลก

ถ้าสาขาในเมืองไทยไม่รู้เรื่อง ก็สามารถหา “ความรู้” จากสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศได้

โครงการของเราต้องไม่ใช่โครงการแรกในโลกอย่างแน่นอน

ธนาคารต่างประเทศจะช่วยเราตรวจสอบโครงการว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

ถ้าเคยทำมาแล้วที่ต่างประเทศ

โครงการนี้ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

เหมือนเราจ้าง “แบงก์” เป็น “บริษัทที่ปรึกษา”

เพียงแต่ไม่ต้องจ่ายเงิน

ที่สำคัญก็คือ แบงก์มีความรับผิดชอบต่อการให้คำปรึกษาด้วย

เพราะถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่ปล่อยกู้

แต่หากโครงการมีความเป็นไปได้ แบงก์จึงจะยอมปล่อยกู้

ที่สำคัญที่สุด คือ แบงก์ร่วมแบกรับความเสี่ยงด้วย

“ดอกเบี้ย” ที่จ่ายส่วนหนึ่งให้ถือว่าเป็นค่าที่ปรึกษา

คมจริงๆ •

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC