จดหมาย | ฉบับประจำวันที่ 13-19 ตุลาคม 2566

จดหมาย

 

• มดลูกและการมีลูก

เรียนกองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

คอลัมน์ “คำ ผกา” พูดถึงเรื่องมดลูกและการมีลูกของประชากรไทย (มติชนสุดสัปดาห์ 29 กันยายน-5 ตุลาคม 2566) ว่าเป็นเรื่องที่ “รัฐบาลต้องเข้ามาบริหารจัดการอย่างมีหัวใจอย่างยิ่ง” นั้น

ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่เสียทีเดียว

มีกรณีที่รัฐบาลเข้ามา “บริหารจัดการ” หรือ “แทรกแซง” การมีลูกของประชากรให้เราเห็นอยู่กรณีหนึ่งซึ่งผลกระทบที่แย่มากๆ กำลังเกิดขึ้นก็คือประเทศจีน

แม้ว่าจะเป็นการเข้ามา “จัดการ” ให้มีลูกน้อยลงก็เถอะ

แต่ก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่เวิร์ก” เพราะเกิดผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์มากมายเหลือเกิน

และเอาเข้าจริง ต่อให้รัฐไทยอยากเข้าไปแทรกแซงอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนใจคนไทยให้หันกลับมามีลูกเพิ่มขึ้นได้

นอกจากจะออกกฎหมาย “บังคับ” ว่าคู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันนั้น “ต้องมีลูก”

ถ้าไม่ทำตามจะมีบทลงโทษทางแพ่ง และ/หรืออาญา

ซึ่งถ้าทำจริง ก็ตัวใครตัวมันเถิดครับ

 

ผมอยากเอาข้อมูลสถิติมาให้ดู เท่าที่ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตพอมี

ประชากรของเราตั้งแต่ พ.ศ.2545 ถึง 2565 นั้น จำนวนการเกิดสูงสุดคือปี 2547 อยู่ที่ 822,593 คน ปีที่ตามมาลำดับสองคือ 2555 อยู่ที่ 818,975 คน

แล้วหลังจากนั้นเป็นต้นมา จำนวนการเกิดก็ไม่เคยเพิ่มอีกเลยจนถึงปี 2565

และมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อไปอีก (ข้อมูลได้มาจากเว็บไซต์ของกรมการปกครอง เปิดหาคำว่า “สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน)” จาก https://stat.bora.dopa.go.th/)

ผมคิดว่าคำอธิบายที่ดูง่าย (และอาจจะมักง่ายด้วย) ที่สุด ก็คือ ชนชั้นกลางมีการศึกษาสูงของไทยที่เติบโตอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ในช่วงการเมืองแตกแยกรุนแรง รัฐประหารสองครั้งล่าสุด และการอยู่ในช่วงอำนาจเผด็จการยาวนานนั้น ทำให้เขาคิดได้ว่าการมีลูกในประเทศแบบนี้น่าจะไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ

ซึ่งอาจจะมาจากทั้งเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี สังคมที่เสื่อมทรามลง การศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบที่ดูพึ่งพาไม่ได้

รวมไปถึงอำนาจแอบแฝงทั้งหลายที่ไม่เอื้อให้เด็กมีชีวิตที่ดีได้ในอนาคต

ถ้า “การบริหารจัดการโดยรัฐ” นั้นทำให้ประชากรเพิ่มได้จริง

ป่านนี้ประเทศโลกที่หนึ่งทั้งหลายก็มีเด็กเกิดกันเต็มไปหมดแล้วครับ

อาจจะยกเว้นในระดับท้องถิ่นบางที่ที่มีแรงจูงใจให้คนมีลูกได้ดีจริงๆ เท่านั้น

อีกความเป็นไปได้หนึ่งก็คือ เป็นเพราะประชากรชนชั้นกลางนั้นมีการศึกษาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะมาก

ซึ่งจากสถิติในหลายประเทศก็พบตรงกันว่า เมื่อคนมีการศึกษาสูงขึ้น อัตราการเกิดก็น้อยลงไป และอายุเฉลี่ยของพ่อแม่ก็สูงขึ้นด้วย โดยที่อาจจะไม่เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองอะไรเลยก็ได้

 

ผมอาจจะผิด (ซึ่งคิดว่าคงผิดแน่ๆ ไม่มากก็น้อย) แต่ถ้าหากว่าเหตุผลที่คนไทยมีลูกน้อยลงนั้นมาจากสองเรื่องที่พูดถึง “การบริหารจัดการโดยรัฐ” ไม่น่าจะเปลี่ยนอะไรได้ในระยะสั้นเลยครับ

สาเหตุเพราะว่า บรรยากาศการเมืองที่แตกเป็นสองฝั่งชัดเจนยิ่งกว่าเก่าก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

และการศึกษาของคนไทยก็ไม่มีทางที่จะลดลงแน่นอน

ผมยังมองไม่ออกว่า “การบริหารจัดการโดยรัฐ” แบบไหนที่จะทำให้การเกิดของประชากรไม่ลดลงไปมากกว่านี้ (เรื่องเพิ่มขึ้นคงเป็นไปไม่ได้แล้ว)

ผมยังหวังว่าเมื่อการเมืองไทย เศรษฐกิจไทย สังคมไทยมีสภาพที่ดีขึ้นหลังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนมีความหวังมากขึ้นและอยากมีลูกมากขึ้น

ดูจากสถิติ 20 ปีล่าสุดนั้น ปีที่คนเกิดเยอะที่สุดอยู่ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย/เพื่อไทยด้วยแล้ว ก็อยากเอาใจช่วยให้ทำได้จริงเหมือนกันครับ

แต่ถ้าประเทศไทยยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมการเกิดของประชากรลดลงแบบไม่หวนกลับอย่างก็น่าจะแย่แน่ๆ

สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือ ส.ส.ของอีกพรรคที่เถียงกันไปมานั้นก็ยังไม่ถูกจุดอยู่ดีครับ และสุดท้ายประชากรประเทศไทยก็คงลดน้อยลงไปเรื่อยๆ อยู่นั่นเอง

ด้วยความเคารพ

ยสวัต ป้อมเย็น

 

ก็อาจจริงอย่างที่ “ยสวัต ป้อมเย็น” ว่า

คืออาจเป็นการอธิบายที่ดูง่าย (และมักง่าย?)

ว่าที่ชนชั้นกลางมีการศึกษาสูงของไทยที่ไม่ยอมมีลูก

มาจากเหตุการเมืองแตกแยกรุนแรง มีรัฐประหาร และอยู่ในช่วงอำนาจเผด็จการยาวนาน

ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ดี

ส่งผลให้สังคมที่เสื่อมทรามลง

ส่งผลให้การศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบที่ดูพึ่งพาไม่ได้ ฯลฯ

ด้วยน่าจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก

แต่กระนั้น ถ้าปัญหา “ข้างต้น” เหล่านั้น ลดลง

ทำให้สังคมอยู่ในครรลองประชาธิปไตยอันเหมาะสมมากขึ้น

ทำให้คนในสังคมมีความหวังมากขึ้น

และมี “การบริหารจัดการโดยรัฐอย่างมีหัวใจ” เข้ามาช่วยเสริม

ปัญหาประชากร ถดถอย ก็น่าจะดีขึ้น

 

• สร้างน้ำ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ รับมอบเงินสนับสนุนโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และโครงการพัฒนาโครงสร้างน้ำ สหกรณ์การเกษตรแบบรวมกลุ่มเพชรน้ำหนึ่ง จังหวัดเพชรบุรี จากผลิตภัณฑ์ WBG (ดับบลิวบีจี) จํานวน 878,700 บาท โดยมี สมพล ชัยสิริโรจน์ (คนที่ 3 จากขวา) กรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (มหาชน) เป็นตัวแทนมอบ เพื่อร่วมสานต่อพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คืนความสุข ความอุดมสมบูรณ์ และความยั่งยืนสู่ชุมชน