เปลือยชีวิต ‘นาเกส โมฮัมมาดี’ นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีอิหร่าน แม้จากในกรงขังอิสรภาพ

ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับฤดูประกาศผลรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ รวม 6 สาขา ที่มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในการมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้กับบุคคลหรือองค์กรใดก็ตาม ที่สร้างสรรค์ผลงานหรือประกอบคุณงามความดีอันก่อเกิดประโยชน์คุณูปการต่อมวลมนุษยชาติบนโลกใบนี้

หนึ่งในผลรางวัลที่โลกจับจ้องและรอลุ้นกันเป็นพิเศษอย่างรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปีนี้ตกเป็นของ นาเกส โมฮัมมาดี นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวอิหร่าน วัย 51 ปี เป็นผู้คว้ารางวัลเกียรติยศนี้ไปครอง แม้ตัวเธอจะยังคงถูกจองจำอิสรภาพอยู่ในเรือนจำอิหร่านอยู่ในขณะนี้ก็ตาม

นั่นทำให้ โมฮัมมาดี กลายเป็นผู้หญิงคนที่ 19 ที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากมูลนิธิโนเบลที่มีอายุถึง 122 ปี

และเป็นคนต่อจาก มาเรีย เรสซา นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ชาวฟิลิปปินส์ ที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปครองร่วมกับดมิทรี มูราทอฟ ชาวรัสเซีย ในปี 2021

 

เบริต รีสส์ แอนเดอร์สัน ประธานคณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ กล่าวถึงการตัดสินรางวัลนี้ว่าหวังจะส่งสารถึงผู้หญิงทุกคนในทั่วทุกมุมโลกที่ตกอยู่ในภาวะถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ให้มีความกล้าหาญในการต่อสู้ต่อไป

และต้องการมอบรางวัลนี้เพื่อสนับสนุน นาเกส โมฮัมมาดี และผู้คนนับหลายแสนคนที่ส่งเสียงร้องเพื่อ “ผู้หญิง ชีวิต และอิสรภาพ”

ซึ่งเป็นถ้อยคำเดียวกับที่เป็นคำขวัญของกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อสิทธิของผู้หญิงในอิหร่าน ต่างตะโกนร้องท้าทายผู้ปกครองอิหร่าน ที่ถูกก่นประณามว่ากดขี่และเป็นเผด็จการระบอบเทวธิปไตย

หนึ่งในเสียงก่นประณามท้าทายนั้นมาจากโมฮัมมาดีเองด้วย แม้เธอจะถูกกักขังอิสรภาพอยู่ในเวลานี้ก็ตาม

 

โมฮัมมาดี ในวัย 51 ปี เกิดและเติบโตในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์อาเซอรี ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศอิหร่าน ก่อนที่เมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของเธอจะถูกบ่มเพาะขึ้นจนเติบใหญ่

ตลอดช่วงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของเธอ เรียกได้ว่าเดินเข้าออกคุกเป็นเวลาเล่น นับตั้งแต่เธอลุกขึ้นมาเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิงและรณรงค์ให้ล้มเลิกโทษประหารชีวิตมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาในภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยใกล้กับเมืองกัซวิน หรือย้อนไปเมื่อประมาณ 32 ปีก่อน

ในหนังสือเรื่อง “White Torture” งานเขียนของโมฮัมมาดีในปี 2020 ที่เป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์นักโทษหญิงที่โมฮัมมาดีได้พูดคุยรับรู้เรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นมา แต่ตอนหนึ่งฮัมมาดีก็ได้สะท้อนประสบการณ์ชีวิตอันเลวร้ายของตัวเธอเองให้โลกได้รู้

โมฮัมมาดีบอกเล่าว่าเธอถูกจับกุมมาแล้วอย่างน้อยกว่า 2 ครั้งในช่วงที่เธอเรียนหนังสือ แต่การถูกลิดรอนอิสรภาพในบางช่วงบางตอนของเวลานั้น ก็ไม่อาจดับไฟปรารถนาเธอที่มุ่งมั่นจะต่อสู้ในสิทธิอันพึงมีของลูกผู้หญิงได้

 

ทากี ราห์มานี สามีของเธอที่ก็เป็นนักเคลื่อนไหว ซึ่งถูกทางการลงโทษจำคุกเช่นกัน เปิดเผยเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนว่าเฉพาะตัวเขาเองไม่ได้พบหน้าภรรยามานานถึง 15 ปีแล้ว

ส่วนลูกฝาแฝดของพวกเขาสองคนที่ตอนนี้ลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส ก็ไม่ได้เจอหน้าแม่มา 7 ปีแล้ว

เรียกได้ว่าครอบครัวแตกฉานซ่านเซ็นไปอยู่กันคนละทางจากการถูกปราบปรามด้วยผู้ปกครองที่กดขี่

ขณะที่ข้อมูลของแนวร่วมปกป้องสิทธิซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสิทธิระบุว่า โมฮัมมาดีถูกตัดสินโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำเอวิน ในกรุงเตหะราน จากการถูกจับกุมดำเนินคดีในหลายครั้งรวมกันมาแล้วราว 12 ปี

“วันที่ 16 พฤศจิกายน ปี 2021 ฉันโดนจับเป็นครั้งที่ 12 และถูกตัดสินให้ขังเดี่ยวเป็นครั้งที่ 4 ในชีวิต” โมฮัมมาดีเขียนบันทึกไว้อีกครั้ง ก่อนที่ในปี 2022 ทางการอิหร่านจะมีคำตัดสินในคดีที่เธอจับกุมดังกล่าวเป็นโทษจำคุกอีกเกือบ 12 ปี

 

องค์การโลกต่อต้านการทารุณกรรม ซึ่งเป็นองค์กรแนวร่วมด้านสิทธิอีกแห่งระบุว่า โมฮัมมาดีถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา ตั้งแต่เผยแพร่โฆษาชวนเชื่อต่อต้านระบอบปกครองอิหร่าน ดำเนินกิจกรรมต่อต้านความมั่นคงของชาติ และข้อหาอารยะขัดขืน เป็นหนึ่งในนั้น

ซึ่งโมฮัมมาดีบอกไว้ในหนังสือของเธอว่าเมื่อรวมโทษที่เธอได้รับมาในอดีตจนถึงคำตัดสินโทษล่าสุด ทำให้ต้องเผชิญการถูกจองจำอิสรภาพเป็นเวลารวมกันถึง 30 ปี หรือกว่าครึ่งชีวิตของเธอในตอนนี้

แต่คำพิพากษาเหล่านั้น ก็ไม่อาจบั่นทอนหัวใจอันแข็งแกร่งของดอกไม้เหล็กเช่นโมฮัมมาดีได้ หลังเธอรับรู้ว่าเธอได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ไปครอง

โมฮัมมาดี ประกาศด้วยถ้อยคำอันทรงพลานุภาพ ที่เดอะ นิวยอร์กไทม์ส สื่อชั้นนำของสหรัฐ หยิบยกมาเผยแพร่ต่อว่า เธอจะไม่หยุดความพยายามมุ่งมั่นเพื่อประชาธิปไตยและความเสมอภาค แม้ว่านั่นหมายถึงการที่เธอต้องอยู่ในคุกก็ตาม

แต่เธอจะต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติอย่างไม่หยุดยั้ง ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการและกดขี่ทางเพศไปจนกว่าผู้หญิงจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ!