ความแตกต่างระหว่างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า กับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น : สองทางที่ไม่ต้องเลือก

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
10000

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราจะพบข้อถกเถียงสำคัญของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งมีข้อถกเถียงหลักและข้อถกเถียงรอง

โดยประเด็นถกเถียงหลักคือ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไทย และคณาจารย์ของด้านเศรษฐศาสตร์ ต่อนโยบายนี้ ซึ่งหลักๆ คือ การพิจารณาถึงความไม่คุ้มค่าของนโยบาย ปัญหาของตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ ที่อาจไม่ทำให้เศรษฐกิจโตได้อย่างที่พิจารณา เพราะขาดหลักฐานด้านเศรษฐศาสตร์ ประกอบกับแหล่งที่มาของงบประมาณคือการวางกรอบเงินกู้เป็นหลัก

การถกเถียงแพร่ขยายไปในวงกว้างโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ แน่นอนว่าผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยต่างถกเถียงในประเด็นนี้ อันนำสู่ข้อถกเถียงในประเด็นรอง ที่คุณคำ ผกา (ลักขณา ปันวิชัย) ตั้งข้อสังเกตต่อผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่คัดค้านนโยบายนี้ว่า “พรรคก้าวไกล” มีนโยบายรัฐสวัสดิการหลายตัวที่กรอบการใช้เงิน สูงกว่าดิจิทัล 10,000 บาท เสียอีก

และยังเป็นนโยบายที่ผูกพันค่าใช้จ่ายหลายปีต่อเนื่องยิ่งจะเป็นภาระด้านงบประมาณมากกว่าตัวนโยบายนี้เสียอีก ทำไมผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลถึงไม่มีข้อวิจารณ์เรื่องนี้บ้าง

อันนำให้ข้อถกเถียงหลักและรองวนไปเป็นงูกินหาง จนดูไม่สามารถหาข้อยุติได้

ในบทความนี้ผมขอพิจารณาและให้ความเห็นต่อข้อถกเถียงหลักและรอง ดังต่อไปนี้

 

ข้อถกเถียงหลัก เป็นนโยบายที่ไม่คุ้มค่า?

ผมมีโอกาสบรรยายหัวข้อ “การเมืองในนโยบายสาธารณะ” ให้แก่นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ฟังเมื่อเดือนก่อน ประเด็นที่ผมได้ถ่ายทอดออกไป คำว่านโยบายที่คุ้มค่า เหมาะสม มันไม่ได้สมบูรณ์ทุกอย่างในตัวมันเอง

ถ้าคุณคิดว่าคุณได้ประโยชน์จากมัน มันก็เป็นนโยบายที่คุ้มค่า หรือความเชื่อทางปรัชญาของคุณสอดรับกับนโยบายนั้นมันก็เป็นนโยบายที่ดี ตัวเลขต่างๆ มันเป็นเครื่องมือที่สอดรับกับลางสังหรณ์ของคุณ

สุดท้ายมันก็คือว่า เราอยากให้สังคมเป็นแบบไหนเราก็จะออกแบบสังคมให้เป็นแบบนั้น และหาความชอบธรรมให้กับนโยบายนั้น

นักเศรษฐศาสตร์พยายามทำนายอนาคต แต่จริงๆ แล้วในประวัติศาสตร์ พวกเขามีความสามารถในการทำนายและคาดเดาได้ต่ำมาก

ซ้ำร้ายกว่านั้น พวกเขาไม่สามารถทำนายวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละครั้งได้ แม้ว่าวิกฤตส่วนมากจะเกิดใจกลางในระบบเศรษฐกิจที่พวกเขาคุ้นเคย

และเมื่อพิจารณาในแง่มุมของการกำหนดนโยบายสาธารณะ เราไม่สามารถคาดเดาคาดหมายว่า นโยบายนี้จะนำสู่อะไร ไม่ว่าในระยะสั้น ระยะยาว

เราไม่สามารถคำนวณได้อย่างแม่นยำว่า หากเกิดการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี พฤติกรรมการเรียนรู้ของคนจะเป็นอย่างไร

หรือหากมีการรักษาพยาบาลฟรี พฤติกรรมการดูแลสุขภาพจะเป็นอย่างไร เพราะมันล้วนเต็มไปด้วยเงื่อนไขในอนาคตที่เราไม่ทราบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พฤติกรรมของมนุษย์ในด้านจิตใจต่างๆ ข้อจำกัดของข้อมูลในขณะนั้น

หรือการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ หรือโรคระบาด

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านอุดมการณ์ ล้วนสามารถเป็นแรงผลักที่รุนแรงให้นโยบายหนึ่งประสบความสำเร็จได้ไม่น้อยกว่าการคำนวณจากข้อมูลเชิงปัจจัยด้านความเป็นได้จากตัวเลข

ดังนั้น ในแง่นี้ สำหรับประเทศไทยที่เผชิญกับเงื่อนไขเศรษฐกิจซบเซาจากวิกฤตโรคระบาดมานาน รวมถึงภาวะเงินเฟ้อจากค่าครองชีพ

ผมคิดว่านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมีความจำเป็น

และในแง่นี้ผมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ด้วยการที่เป็นนโยบายที่หาเสียงอย่างจริงจัง ซึ่งนับจากจัดตั้งรัฐบาลมาได้เดือนกว่า มีหลากหลายนโยบายที่ถูกลดเพดานอย่างน่าเศร้า

การที่รัฐบาลจะมุ่งมั่นผลักดันนโยบายที่หาเสียงนับเป็นเรื่องที่ดีตามวิถีทางประชาธิปไตย

การอธิบายในทางสาธารณะว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะนำสู่อะไรเป็นเรื่องที่พึงทำ จะนำเงินออกจากระบบอย่างไร และจะขยายการใช้จ่ายภาครัฐในมิติใดต่อ เพื่อช่วยเศรษฐกิจฐานรากมากกว่า เรื่องเมกะโปรเจ็กต์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ก็ต้องอธิบายให้ชัด

ผมเชื่อว่าตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจจากนโยบายนี้มีความสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจริง

แต่ข้อจำกัดสำคัญ รัฐบาลควรดึงงบฯ กลางจากภาคส่วนอื่น โดยเฉพาะในมิติของความมั่นคง ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดในช่วงเวลานี้ ก่อนที่จะกู้

เพราะการกู้ไม่ว่าจากช่องทางใด จะเป็นการปิดโอกาสนโยบายการขยายสวัสดิการประชาชนในมิติต่างๆ ในอนาคต

การกู้เพื่อทำนโยบายนี้ สามารถทำได้ แต่ควรเป็นอัตราส่วนที่น้อยที่สุด

เพราะแท้จริงแล้วประเทศมีงบประมาณเพียงพอ แต่งบประมาณเหล่านั้นถูกกระจายไปในกระทรวงกรมต่างๆ ของรัฐราชการที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการต่างๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพึงทำ

 

ต่อประเด็นถกเถียงรอง ของคุณคำ ผกา ซึ่งเป็นนักเขียนร่วมกับผมในมติชนสุดสัปดาห์เช่นกัน โดยส่วนตัวผมเคารพคุณคำ ผกา เสมอ ในฐานะคนที่ต่อสู้และใช้พื้นที่ของตนยืนหยัดต่อความไม่เป็นธรรม ในยุคสมัยที่สังคมยังไม่ตื่นตัวเท่าทุกวันนี้

ในปัจจุบันการสนับสนุนแนวทางของพรรคการเมืองที่แตกต่างไป ผมมองว่ามันเป็นวิถีทางเลือกของแต่ละคน เราก็ดำเนินชีวิตอย่างถูกบ้างผิดบ้างไม่ว่าตามมาตรวัดของคนอื่นหรือของตนเอง ตามแบบปุถุชน ซึ่งเราทุกคนก็มีภาวะแบบนี้เป็นครั้งคราวในชีวิตอันแสนสั้นของเรา

ประเด็นของคุณคำ ผกา คือการพยายามแยกนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของพรรคเพื่อไทย ออกจากนโยบายรัฐสวัสดิการที่พรรคก้าวไกล (รวมถึงภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ นำเสนอ) เป็นนโยบายที่วางอยู่บนเงื่อนไขตรงข้ามกัน

ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่แค่คุณคำ ผกา แต่ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งก็คิดแบบนั้น ราวกับว่าเรามีกระปุกออมสินกระปุกเดียวแล้วต้องเลือก

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ผมอยากให้ความเห็นเพิ่มเติมคือทั้งสองเป็นนโยบายที่เราไม่ต้องเลือก

ผมขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้

ระยะยาวนโยบายรัฐสวัสดิการจะมีตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะเราลองพิจารณาเงินที่เราได้อย่างมั่นคง สามารถคาดหวังได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเลี้ยงดูเด็ก เงินบำนาญ เงินอุดหนุนการศึกษา มันทำให้เรารู้สึกมั่นคงในชีวิต ทำให้เรากล้าลองผิดลองถูก กล้าเปลี่ยนงาน กล้าตัดสินใจทำอะไรนอกกรอบ กล้าที่จะลงทุนแบบใหม่

หรือแม้แต่การตัดสินใจในการทำงานที่มีมูลค่าที่ให้ค่าตอบแทนน้อยลงแต่ตอบสนองเงื่อนไขอื่นในชีวิตได้ดีกว่า เช่น การย้ายกลับมาทำงานที่บ้านเกิด หรือเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้กำไรน้อย

รัฐสวัสดิการจะสามารถทำให้เกิดการวางแผนระยะยาวที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและกลุ่มได้ดีกว่า

แต่ก็มิได้หมายความว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่สำคัญ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น สามารถเสริมแรงการตัดสินใจของผู้คนได้ แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะสามารถทำงานได้ดีขึ้น หรือสมบูรณ์ที่สุดเมื่อผู้คนอยู่ในชีวิตที่มีความมั่นคง

ดังกรณีการทดลอง “เงินเดือนให้เปล่า” ในประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี 2018 ซึ่งเป็นการทดลองให้เงินแบบไม่มีเงื่อนไข ในกรณีประเทศเป็นรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว พบว่าคนมีแนวโน้มที่จะใช้เงินไปกับสิ่งที่สำคัญในชีวิต ที่พวกเขาได้พลาดไปด้วยข้อจำกัดเรื่องเงิน

บางครั้งอาจเป็นเรื่องเล็กๆ เช่น การเดินทางข้ามเมืองไปพบกับเพื่อนสนิทสมัยวัยเด็ก หรือการกินร้านอาหารที่ตนเดินผ่านทุกวันแต่ไม่มีโอกาสกิน

ประสบการณ์เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ ที่อยู่กับตัวของปัจเจกชน

ในประเด็นที่ว่านโยบายรัฐสวัสดิการ เป็นภาระด้านการคลังมากกว่านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น ผมไม่อยากให้เกิดการแบ่งแยกในลักษณะนั้น

เพราะนโยบายรัฐสวัสดิการ ก็ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อให้สังคมที่ปลอดภัยเติบโตสู่อีกระดับได้

และเช่นเดียวกัน นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นก็ต้องการนโยบายรัฐสวัสดิการ เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจตามตัวชี้วัดประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์ที่สุด

 

ทั้งนี้ บทสรุปความเห็นของผมต่อนโยบายเงินโอนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีดังนี้

1. คงหลักการถ้วนหน้าไว้ ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการใช้ให้เป็นมิตรต่อประชาชนมากที่สุด

2. แหล่งที่มาของเงินให้ดึงจากงบฯ กลาง และงบประมาณฝ่ายความมั่นคง หรือเมกะโปรเจ็ดต์ที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์โดยตรง ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะทำการกู้

3. วางแผนให้โครงการนี้นำสู่การสร้างความมั่นคงระยะยาว การเดินหน้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการในอนาคต ซึ่งสามารถเรียนรู้ความล้มเหลวจากระบบสวัสดิการแบบพิสูจน์ความจนที่รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐทำไว้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

ฝ่ายความมั่นคงพวกเขาไม่เคยต้องเถียงกันว่า พวกเขาจะเอาเครื่องบินรบ หรือเรือดำน้ำ เอาตำรวจก่อน หรือเอาทหารก่อน

ทำไมเราต้องเลือกถ้าเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับประชาชน