มรดกภาพยนตร์ของชาติ 2566 (1) : ‘กตัญญูปกาสิต’ และ ‘เทวดาเดินดิน’

คนมองหนัง

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เพิ่งประกาศรายชื่อภาพยนตร์จำนวน 10 เรื่อง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2566” ประกอบไปด้วย

“ปักธงไชย” (2500), “Thailand” (2501), “กตัญญูปกาสิต” (2501), “โกนจุก” [2510], “วันมหาวิปโยค” (2516), “เทวดาเดินดิน” (2519), “[สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลับออกจากป่า]” [2528], “เพลงสุดท้าย” (2528), “14 ตุลาสงครามประชาชน” (2544) และ “หัวใจทรนง” (2546)

(ชื่อเรื่องใน […] หมายถึง ภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ ชื่อที่ปรากฏในการขึ้นทะเบียนจึงถูกตั้งขึ้นโดยหอภาพยนตร์ ส่วนปีที่อยู่ใน […] หมายถึง ปีที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ได้รับการสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้น โดยยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน)

ในปีนี้ ผมได้รับเชิญให้ไปทำหน้าที่กรรมการคัดเลือกภาพยนตร์เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติด้วย จึงโชคดีได้มีโอกาสดูหนังไทยหลากแนวหลายประเภทจากยุคสมัยต่างๆ ที่น่าสนใจจำนวนมาก ซึ่งผ่านการคัดสรรรอบแรกมาโดยคณะทำงานของหอภาพยนตร์

จากรายชื่อ “มรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2566” จำนวนทั้งหมด 10 เรื่อง มีหนังไทยอยู่ 6 เรื่องที่ผมลงคะแนนให้ โดยในบทความชิ้นนี้ จะขออนุญาตเขียนถึงหนัง 2 เรื่องแรกที่ผมโหวตเห็นชอบ (เรียงตาม พ.ศ. ที่สร้าง) ได้แก่ “กตัญญูปกาสิต” และ “เทวดาเดินดิน”

กตัญญูปกาสิต : ลูกจีนรักชาติ (อีกแบบหนึ่ง)

“กตัญญูปกาสิต” (2501) คือหนังร่วมทุนสร้างไทย-ฮ่องกง โดยมี “ครูเนรมิต” (อำนวย กลัสนิมิ) เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ฝั่งไทย (“ส.อาสนจินดา” เป็นผู้เขียนบท ขณะที่ “วิจารณ์ ภักดีวิจิตร” กับ “ไพรัช สังวริบุตร” เป็นผู้กำกับภาพ)

ผมเคยชมละครโทรทัศน์เรื่อง “กตัญญูประกาศิต” ฉบับปี 2532 และทราบว่าเคยมีภาพยนตร์ชื่อเดียวกันฉบับปี 2526 ซึ่งได้ “โจวเหวินฟะ” ดาราชื่อดังชาวฮ่องกงมาร่วมแสดง แต่กลับไม่ทราบเลยว่ามี “ภาพยนตร์ต้นฉบับ” ในชื่อ “กตัญญูปกาสิต” ออกฉายตั้งแต่เมื่อกว่าหกทศวรรษก่อน

นอกจากการเล่าเรื่องราวแนวฟิล์มนัวร์หักเหลี่ยมเฉือนคมท่ามกลางบริบทสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างสนุกเข้มข้นน่าติดตามแล้ว

จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ผมประทับใจและตื่นตาตื่นใจกับ “กตัญญูปกาสิต” มากๆ ก็คือการที่เหล่าตัวละครหลักในหนังล้วนเป็น “คนจีนสยาม” ในแบบ “ลูกจีนรักชาติจีน (ที่กำลังถูกรุกรานจากญี่ปุ่น)” ไม่ใช่ “ลูกจีนรักชาติไทย” ดังที่เราคุ้นเคยในระยะหลังๆ

สามารถกล่าวได้ว่า “ความเป็นลูกจีน (รักชาติจีน)” ดังที่ปรากฏในหนัง “กตัญญูปกาศิต” ยุคหลังกึ่งพุทธกาล และอาจรวมถึง “กตัญญูประกาศิต” กลางทศวรรษ 2520 และต้นทศวรรษ 2530 นั้น คือ “อัตลักษณ์” ที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากสื่อบันเทิง (ของคนชั้นกลาง) ไทย หลังยุค “ลอดลายมังกร” (2535) เป็นต้นมา

ใบปิดภาพยนตร์ “เทวดาเดินดิน” / ภาพจาก Thai Movie Posters_A

เทวดาเดินดิน : สังคมไทยหลัง 14 และก่อน 6 ตุลา

“เทวดาเดินดิน” (2519) คืออีกหนึ่งผลงานภาพยนตร์แนวสัจนิยมสะท้อนปัญหาสังคมที่คลาสสิคของ “ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” หรือ “ท่านมุ้ย”

ด้านหนึ่ง “เทวดาเดินดิน” ได้รับอิทธิพลมาจากหนังต่างประเทศเรื่อง “Bonnie and Clyde” (ค.ศ.1967/พ.ศ.2510) อย่างชัดเจน อีกด้านหนึ่ง หนังก็มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์คนหนุ่มสาวในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อย่างไม่ซ่อนเร้น

อย่างไรก็ดี บทภาพยนตร์ฝีมือ “วีระประวัติ วงศ์พัวพัน” นั้นมีความซับซ้อนยอกย้อนและมีเหลี่ยมมุมอันหลากหลายแพรวพราว ที่เชิญชวนให้เราขบคิดถึงสภาพสังคมไทยหลัง 14 ตุลา และก่อน 6 ตุลา ได้อย่างลึกซึ้ง

แม้หนังเรื่อง “เทวดาเดินดิน” จะไม่ค่อยสบายใจกับการ “บ้าเห่อ” สิทธิเสรีภาพของคนหนุ่มสาว แต่พร้อมๆ กันนั้น หนังก็แสดงจุดยืนไม่ไว้วางใจและตั้งคำถามแหลมคมต่อการสร้างบรรยากาศ “ขวาพิฆาตซ้าย” และวิธีการ “ไล่ปราบคอมมิวนิสต์” แบบผิดๆ ของรัฐไทย

หนังยังนำพากลุ่มตัวละครคนหนุ่มสาว (ที่ควบคุมหัวใจและพฤติกรรมของตัวเองไม่ได้) ดั้นด้นหลบลี้อำนาจกฎหมาย ด้วยการเร่ร่อนเดินทางไกลไปถึงชายแดนภาคใต้ ก่อนจะได้เผชิญหน้ากับ “ความไม่สงบ-ความรุนแรง” ในอีกบริบทหนึ่ง (หนังไม่กล้าระบุชัดๆ ว่าเป็น “ปัญหาแบ่งแยกดินแดน”) ซึ่งนำไปสู่การรบจริง เจ็บจริง และตายจริง

แม้ “เทวดาเดินดิน” จะมุ่งเน้นน้ำหนักเนื้อหาไปยังการลุกขึ้น “ขบถ” ของคนหนุ่มสาว ทว่า ตัวละครพนักงานธนาคารวัยกลางคนที่สวมบทโดย “บู๊ วิบูลย์นันท์” ซึ่งตัดสินใจสละวิถีชีวิตอันจำเจ-ไร้ความก้าวหน้า มาร่วมก่ออาชญากรรมกับคนรุ่นลูกหลาน ก็อาจบ่งชี้ว่า “แรงระเบิดทางสังคม” หลัง 14 ตุลา ไม่ได้อุบัติขึ้นจากความกระตือรือร้นโดยไร้ประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังบังเกิดจากความอึดอัดคับข้องใจของคนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยด้วย

หนังของท่านมุ้ยเรื่องนี้ยังวิพากษ์สังคม “มือถือสากปากถือศีล” แบบไทยๆ ผ่านตัวละครหญิงชราที่ไหว้พระ ทำบุญ ตักบาตร นุ่งขาวห่มขาวเป็นกิจวัตร แต่กลับเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่และครอบครองอาวุธสงคราม รวมทั้งตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งมุ่งขายความรุนแรงผ่านข่าวอาชญากรรม โดยปราศจากความรับผิดชอบ

บทสรุปสุดท้ายของหนังที่นำไปสู่การล้อมปราบ “แก๊งอาชญากรวัยรุ่น” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นทรงพลังข้ามกาลเวลา เพราะแม้บริบทของเรื่องราวใน “เทวดาเดินดิน” จะแตกต่างจากเหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอน, หนองบัวลำภู และโคราช

แต่สารเดียวกันที่ถูกย้ำเตือนใน “เรื่องราวเสมือนจริง” และ “เรื่องราวจริงๆ” เหล่านี้ ก็คือ บ่อเกิดของ “เหตุการณ์ความรุนแรง” มักไม่ใช่ความรุนแรงในตัวของมันเอง หากเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ-อยุติธรรมอีกมายมายที่ซ่อนแฝงอยู่ในสังคมไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา •

 

| คนมองหนัง