หลัง14 ตุลา สู้กันมา 50ปี… เกิดอะไรขึ้นบ้าง? (จบ) จะไม่มีเหตุการณ์แบบ 14 ตุลาในระยะใกล้ๆ นี้

มุกดา สุวรรณชาติ

แรงกดดันทางการเมืองปี 2566
ไม่เหมือนปี 2516

การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในยุค 2516 มาจากแรงกดดันทางการเมืองที่สะสมมานาน จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ไต่เต้ามาจากการเข้าร่วมทำการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 โค่นรัฐบาลฝ่าย ดร.ปรีดี พนมยงค์ และไต่เต้าขึ้นมาใต้อำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 ต่อมาก็ขึ้นปกครองเอง นานถึง 10 ปี

แต่ถ้านับจากจอมพลสฤษดิ์ ประชาชนก็ตกอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการรวมเวลา 16 ปี จนสุดจะทน จึงถูกประชาชนเคลื่อนไหวโค่นล้มในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ถ้าเทียบกับยุคใหม่ที่เรียกว่าอำมาตยาธิปไตย กลุ่มผู้มีอำนาจในยุคนี้ถูกหนุนหลังโดยกลุ่มอำนาจเก่า เริ่มเข้าสู่อำนาจรัฐจากการรัฐประหารนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 พื้นฐาน ความคิด อุดมการณ์ ของกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย จึงพยายามสืบทอดอำนาจต่อ

การชิงอำนาจของคนกลุ่มนี้ใช้ทุกรูปแบบ ทุกองค์กรไม่เคารพหลักการใดๆ ทั้งป่วนสภา ต่อต้านการเลือกตั้ง เกมม็อบบนถนน ใช้สื่อ ใช้องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ ใช้กำลังยึดอำนาจ ใช้การปราบประชาชนเพื่อรักษาอำนาจ ใช้การร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ

นับเป็นการพัฒนาวิธีการของอำมาตยาธิปไตย ที่สูงสุดในหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

การต่อสู้ทางการเมืองจึงขยายจากพรรคการเมืองมาเป็นกลุ่มคน เป็นชนชั้น จึงมีคนเข้าร่วมความขัดแย้งมากที่สุด ถ้าประชาชนไม่พัฒนาความคิดให้เท่าทัน จะถูกแบ่งแยกแล้วปกครอง การต่อสู้แบบนี้จะยืดเยื้อ

เหตุการณ์ชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่เรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ถือเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดหลังรัฐประหาร 2549 และก็ถูกปราบจนมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด

แต่การยอมยุบสภาและให้มีเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 ถือเป็นการลดแรงกดดันทางการเมืองที่ได้ผล

 

ความไม่พอใจต่อรัฐบาลประยุทธ์
ผ่านจุดสูงสุดไปตั้งแต่ปี 2565

แม้การเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แต่ประชาชนยังไร้อำนาจ รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องเจอม็อบบนถนน องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ สุดท้ายก็ใช้ การรัฐประหารในปี 2557 อีกครั้ง เพื่อปกครองแบบอำมาตยาธิปไตย โดย คสช. ประมาณ 5 ปี และสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง 2562 อีก 4 ปี จนถึงปี 2566

ถ้านับจากปี 2549 ถึงปี 2566 และตัดช่วงที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์บริหารประมาณ 2 ปี ช่วงเวลาของอำมาตยาธิปไตยก็คือ 15 ปีเช่นกัน เฉพาะที่อยู่ภายใต้การปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นานถึง 9 ปี

วิธีการที่ผู้มีอำนาจใช้รักษาอำนาจในยุคก่อน คือ ใช้อำนาจทางทหารในการรัฐประหารและในการปราบปรามถ้ามีผู้ต่อต้าน

แต่ในยุคใหม่การใช้อำนาจทหาร จะเอาไว้สุดท้าย แต่จะใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ นำหน้า โดยร่างกฎเกณฑ์กฎหมายให้ได้ตามที่ตนเองต้องการและบังคับให้ประชาชนยึดถือสิ่งนั้นเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นก็มีการใช้อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ เพื่อใช้ตัดสินชี้ถูกชี้ผิด ตามที่ฝ่ายตนต้องการได้ และก็อ้างว่านี่เป็นการตัดสินตามกฎหมายหรือตามหลักฐาน

ช่วงเวลาที่อยู่ใต้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในปีที่ 7-8 มีความไม่พอใจของประชาชนสูงสุด แต่ว่าแม้มีข่าวการบริหารงานล้มเหลว ประชาชนยากลำบาก มีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นอย่างมากมาย ก็มีแค่เสียงบ่น เสียงด่า ผ่านสื่อต่างๆ เท่านั้น

การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่ผ่านมามีแต่เยาวชนที่กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านบนถนน

และเมื่อมีการประกาศเลือกตั้ง ประชาชนก็รอคอย จนประยุทธ์ออกจากอำนาจไป

ผลการเลือกตั้งแม้ไม่ได้รัฐบาลตามที่ประชาชนต้องการ 100% แต่ก็สามารถลดแรงกดดันทางการเมืองในทันที

 

พรรคเพื่อไทยมิได้มีอำนาจอย่างแท้จริง

ความพยายามจะสืบทอดอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้ง ยังทำต่อเนื่อง ผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มี ส.ว.แต่งตั้ง มาช่วยเลือกนายกฯ มีการซื้อเสียง ส.ส. มีกฎหมายพรรคการเมืองให้ ส.ส.สามารถย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น

ทำให้พรรคที่จะได้นายกฯ ต้องมีเสียง ส.ว.มาช่วยหนุน เพราะต่อให้ชนะเกินครึ่ง ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ พรรคก้าวไกลที่ได้ 151 เสียงจึงไม่มีโอกาสตั้งรัฐบาล ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของเพื่อไทยจึงเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมครั้งใหญ่ แม้กองเชียร์ทั้งสองขั้วจะไม่ชอบใจก็ตาม

สถานการณ์หลังเลือกตั้ง 2566 รัฐบาลเพื่อไทยที่มี ส.ส.เพียง 141 คนจาก 500 คนในสภา จึงมิได้มีอำนาจจริง แม้ประยุทธ์ที่ครองอำนาจมา 9 ปี จะออกไป แต่สิ่งที่พวกเขายึดกุมไว้ไม่เพียงแค่กำลังทหารเท่านั้น แต่ยังมีการรักษาอำนาจในหลายองค์กรอิสระ

สิ่งที่เพื่อไทยจะทำได้คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งไม่รู้ว่าจะได้ผลมากน้อยเท่าใด

แต่ในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ เศรษฐกิจแย่มาก ถ้าหากรัฐบาลชุดใหม่สามารถทำให้ดีขึ้นมาบ้างเล็กน้อย ก็จะมีผลต่อความนิยมทางการเมือง ถ้าไม่ได้ผล ประชาชนจะผิดหวัง

การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่ใช้วงเงิน 560,000 ล้านบาท จะกลายเป็นจุดชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาลใหม่

 

การเมืองหลัง 50 ปี 14 ตุลา 2516
พัฒนาไปน้อยมาก

1.ยังคงต้องหารัฐธรรมนูญที่ดีกันต่อไป รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2517 ยังดีกว่าฉบับ 2560 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นข้อขัดแย้งทางการเมืองขนาดใหญ่ถ้าหากรัฐบาลยอมรับและดำเนินการไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นการลดแรงกดดันทางการเมืองที่สำคัญแต่ถ้าหากไม่ยอมทำหรือทำช้าก็จะกลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่สำคัญเช่นกัน

2. การประสานผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจต่างๆ ถ้าพวกเขาแบ่งผลประโยชน์กันได้ดีการสนับสนุนการต่อต้านรัฐบาล ก็จะมีไม่มาก แต่ถ้าเกิดความขัดแย้งกันมากก็จะมีการสนับสนุนให้ต่อต้านรัฐบาล ทั้งในสภา และลงมาในหมู่ประชาชน

3. ฝ่ายประชาชน ถูกแบ่งแยก และแยกกันเอง

ในยุคปัจจุบันความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนก็ยังไม่มี ขณะนี้แยกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มแรกก้าวหน้าที่สุดเช่นคนที่นิยมพรรคก้าวไกล กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มกลางๆ ที่ยังนิยมพรรคเพื่อไทย และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มอนุรักษนิยม รวมทั้งคนที่เลือกพรรคการเมืองฝ่ายขวา

ส่วนการระดมกำลังคนแบบจัดตั้งเพื่อมาโค่นล้มรัฐบาลแบบกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง หรือ กปปส. ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้

เพราะกลุ่มอำนาจเก่าและฝ่ายอนุรักษนิยมยังยอมรับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และกลัวก้าวไกลขึ้นมาเป็นรัฐบาล

สภาพการเมืองจากวันนี้ไป จึงเป็นยุคที่ประชาชนคอยความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทำอะไรให้ชีวิตดีขึ้นหรือไม่

โดยการต่อต้านยังจะมีไม่มากแต่หลังจากนี้ไปประมาณ 1 ปีก็ไม่แน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ใช่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ขณะเดียวกันการแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ง่ายเช่นกัน

หลัง 14 ตุลาคม 2566 ไม่น่าเชื่อว่า การพัฒนาประชาธิปไตยของไทย ว่ายังคงเริ่มต้นคล้ายกับหลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่ยังต้องตามหารัฐธรรมนูญที่ดี แต่ดูแล้วปี 2567 อุปสรรคจะมากกว่า