ประวัติศาสตร์ใน ‘ห้วงเวลาแห่งอันตราย’ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

หลังรัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519 เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองแปลกอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อนในการเมืองไทย

นั่นคือการยกขบวนเดินทางเข้าเขตป่าเขาเพื่อร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ของบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองพรรคก้าวหน้า (ซ้าย) และแกนนำของขบวนการนักศึกษาและกรรมกร รวมแล้วนับเป็นพันคน

จนแทบพูดได้ว่าพลังการเมืองถูกพลิกผันอย่างแรงในช่วงเวลาอันสั้น รัฐบาลไทยที่เป็นอำนาจนิยมผลักไสผู้คนในเมืองที่ไม่ใช่คนไร้ฝีมือและฐานะบทบาท หากตรงกันข้ามเลย คนที่ถูกรัฐไทยทำให้เป็นศัตรูมาจากช่วงชั้นกลางไปถึงสูง คนระดับล่างมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย

นี่เองที่ทำให้อนาคตและโครงการปฏิรูปประเทศ 12 ปีของรัฐบาล “หอย” ธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงมีอายุที่แสนสั้น

ผมไม่เคยคิดหรือฝันว่าจะเข้าเขตป่าเขาเพื่อเป็นนักปฏิวัติกับเขามาก่อนเลย ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้คุยกับคุณสุภา ศิริมานนท์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น ที่ตีพิมพ์บทความก้าวหน้าระดับนักทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์เล่มแรกๆ อย่างแข็งขัน ถึงเรื่องราวของปัญญาชนที่เคยถูกจับข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์

คุณสุภาเล่าว่าเคยกำชับจิตร ภูมิศักดิ์ ตอนที่เขียนงานให้ในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า อย่าเข้าป่า เพราะเราเป็นปัญญาชน “เข่าอ่อน” สิ่งที่เราทำได้ดีกว่าคืองานเขียนนั่งโต๊ะ

ผมก็ออกจะเห็นด้วยกับคำเตือนของผู้อาวุโส แม้ต่อมามีมิตรสหายที่เคยทำกลุ่มนักนิสิตศึกษาอิสระด้วยกัน มาชวนให้เข้า “จัดตั้ง” เพราะหากเกิดการยึดอำนาจโดยทหาร จะสามารถมีช่องทางและสายพาหลบหนีไปได้ ผมก็ยืนกรานตามหลักคิดเดิมว่าจะทำงานเปิด คือเขียนและพูดอภิปรายในเวทีอย่างเปิดเผย

เพื่อจะบอกแก่รัฐบาลว่าผมไม่ใช่คนของ พคท.แต่ประการใด อย่ามาติดตามขึ้นบัญชีดำผมเลย

ป่าผืนใหม่ รศ.วิระดา สมสวัสดิ์

แต่เมื่อ “ห้วงเวลาแห่งอันตราย” มาถึง ในบ่ายและเย็นของวันที่ 6 ตุลา ตำรวจและทหารเริ่มเข้ามาดำเนินการในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การประท้วงของนักศึกษา มช.ตัดสินใจยุติและถอนออกจากประตูท่าแพเพราะข่าวที่ได้รับคือจะมีการปราบปรามอย่างรุนแรงแน่

ข้อนี้เราไม่สงสัยเพราะการลอบยิงและฆ่าแกนนำชาวนาและนักศึกษาในเขตภาคเหนือพิสูจน์แล้วว่า อำนาจรัฐไม่ปล่อยให้การต่อสู้คัดค้านนโยบายรัฐดำเนินไปได้อย่างสงบสันติ

หัวค่ำวันนั้นกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2517 ที่รวมตัวกันสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศ 4 คน ก็นัดกันหลบออกจากมหาวิทยาลัยขึ้นไปบนบ้านพักบนดอยสุเทพ

คืนนั้นเรานั่งฟังข่าวจากวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นสถานีเดียวที่ออกข่าว และฟังสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ซึ่งรายงานการฆาตกรรมและทารุณกรรมนักศึกษาอย่างละเอียด

คืนนั้นผมเปลี่ยนใจอย่างสิ้นเชิง ในชีวิตไม่เคยแค้นและโกรธอะไรมากเท่านั้น ในขณะที่ความเศร้าเสียใจต่อนักศึกษาที่ถูกทำร้ายจนถึงตายก็ไม่อาจกลั้นไว้ได้

ตอนนั้นเข้าใจเลยว่าทำไมคนถึงเรียกร้อง “เลือดต้องล้างด้วยเลือด”

 

ผมหาทางเดินทางเข้าป่าด้วยตนเองจนไปถึงเขตจรยุทธ์ในภาคใต้ตอนล่างซึ่งเป็นเขตงานเปิดใหม่ไม่กี่ปี จึงทำให้สามารถเดินทางเข้าไปได้แม้ไม่เคยติดต่อมาก่อนก็ตาม

กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ที่เป็นนักกิจกรรมเคลื่อนเข้าก่อนแล้ว แกนนำของนักศึกษาชื่อคุณช่วง ซึ่งนำการเคลื่อนไหวก่อนนี้และมีบุคลิกของผู้นำนักศึกษาเหมือนที่ผมเคยเจอคือพูดอภิปรายเก่งคล่องแคล่ว เขาเป็นคนตั้งชื่อจัดตั้งในป่าให้ผมว่า คือ “ทน”

ต่อมาผมได้พบกับสหายนำของเขตงานนั้นคือ คุณชาติ ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ คนแรกที่เคยพบ

แรกๆ ก็ประหม่าไม่รู้จะคุยอะไร เพราะเท่าที่ผมพอจับความได้ตอนที่กลุ่มนักศึกษาในเมืองเคลื่อนไหวและจัดการศึกษา ก็เดาได้ว่าคงได้รับคำชี้แนะจากสายจัดตั้ง พคท. แต่ผมก็ไม่ได้ซักถามอะไร เพราะพวกเขามีความระมัดระวังในการรักษาความลับมาก ไม่ถามชื่อ ไม่ถามเรื่องส่วนตัว ก็เลยไม่แน่ใจว่าจะคุยกันในเรื่องอะไรได้บ้าง

คุณชาติมีพื้นเพจากครอบครัวเชื้อสายจีนในสุราษฎร์ธานีที่ทำการค้าเล็กๆ เข้าร่วมจัดตั้งกับ พคท.ได้อย่างไร ผมไม่ทราบเดาว่าคงมาจากการขยายงานของ พคท.ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะตอนบนที่ประชาชนมีการทำมาหากินระดับปานกลาง

ผมสรุปว่าคนที่เข้ามาร่วมงานการเมืองกับ พคท.นั้น ไม่ใช่คนระดับล่างและยากจนข้นแค้นจนไม่มีอะไรเลย หากแต่ต้องเป็นคนที่พอมีการศึกษามีความรู้ความเข้าใจเรื่องราวของสังคมและเศรษฐกิจการเมืองระดับหนึ่ง

เมื่อคุ้นเคยกันพอประมาณผมสามารถซักถามพูดคุยกับคุณชาติได้มากหน่อย เขายึดกุมหลักการนโยบาย 10 ข้อของ พคท.ได้อย่างดี

เมื่อเขตงานต้องขยายไปทำงานโฆษณาในหมู่บ้านมลายูมุสลิม ต้องให้การศึกษาผู้ปฏิบัติงานว่าระวังเคารพการปฏิบัติทางศาสนาอิสลามโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน คุณชาติเป็นคนเล่าเรื่องฮัจญีสุหรงที่ถูกทางการฆ่าให้ฟัง

เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่องราวการต่อสู้ของประชาขนมลายูมุสลิมในปัตตานี

 

แกนนำ พคท.ที่เป็นเบอร์สองของหน่วยจรยุทธ์ที่ผมไปอยู่คือคุณนิกร ซึ่งมาพร้อมกับภรรยาคือคุณนาซึ่งเป็นพลาธิการของค่าย เรียกสั้นๆ ว่าพลาฯ คอยจัดสรรแจกจ่ายข้าวของเครื่องใช้ที่แจกให้สมาชิกทุกคน มีโควตาในการเบิก เช่น บุหรี่ สบู่ จานชามร้อยแปดพันประการเท่าที่พอหามาให้ได้

คุณนิกรทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการคุมหน่วยรบ เป็นคนสุราษฎร์ฯ เช่นกัน บุคลิกเป็นคนสงบเงียบแทบไม่เอ่ยปากเลยแม้ในห้องประชุมและการศึกษา พูดเนิบๆ สำเนียงใต้ อัธยาศัยใจดีไม่เคยอารมณ์เสียให้เห็น ในช่วงหลังเมื่อมีความขัดแย้งกับฝ่ายนักศึกษาและกลุ่มจากในเมืองอันเป็นวิกฤตที่เกิดทั่วไปทั้งขบวนในทุกภาคและทุกหน่วยงาน

คุณนิกรก็คว้าปืนเอ็ม 16 คู่กายออกไปแต่เช้าตรู่ ล่าลิงค่างและนกในป่าเพื่อเอามาเป็นอาหารเย็น

ได้ยินว่าคุณนิกรบอกว่าไม่อยากได้ยินการโต้แย้งวิวาทะกันระหว่างนักศึกษากับผู้ปฏิบัติงานเก่าของพรรคที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนา กลัวว่าจะระงับอารมณ์ไม่ได้

หลังจากค่ายเรามีคนมาทำงานเพิ่มมากขึ้น ผมเดาว่าคงมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของหน่วยงาน เพราะเห็นมีผู้ปฏิบัติงานระดับชำนาญการมาประจำมากขึ้น

คนหนึ่งคือคุณสมชายซึ่งทำหน้าที่บัญชาการทางทหารอีกเหมือนกัน ดูเหมือนหน้าที่จะทับซ้อนกับของคุณนิกรที่อยู่ก่อน สังเกตว่าสองคนแทบไม่คุยกันเลย

คุณสมชายมีบุคลิกตรงข้ามกับคุณนิกร เป็นคนพูดฉาดฉานทั้งส่วนตัวและในที่ประชุม พูดสำเนียงไทยกลางได้ดีด้วย เขาชอบคุยกับผมในเรื่องและปัญหาต่างๆ ทั้งการเมืองระหว่างประเทศถึงในประเทศ เป็นคนติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด

จนวันหนึ่งเมื่อทราบว่าผมเคยทำงานกับครูโกมล คีมทอง ในกลุ่มปริทัศน์เสวนาในกรุงเทพฯ ก่อนจะไปเป็นครูสอนโรงเรียนประชาบาลใน อ.บ้านส้อง จ.สุราษฎร์ธานี คุณสมชายบอกว่ามีเรื่องปิดลับจะบอกผม

ข้อความที่เล่าให้ฟังวันนั้นทำให้ผมเย็นชาไปทั้งตัวเพราะไม่คิดว่าจะได้ยินได้ฟังข้อเท็จจริงที่พวกเราในเมืองไม่เคยรับรู้มาก่อนเลย นอกจากข่าวลือต่างๆ นานาเกี่ยวกับการตายของโกมล

 

คุณสมชายเล่าอย่างช้าๆ มองไปยังสนามข้างหน้าที่พักว่า วันที่โกมลและคุณรัตนาซึ่งเป็นนิสิตจุฬาฯ แวะไปเยี่ยมโรงเรียนเหมืองในห้วย แล้วพากันเดินลงมาจากควนที่พวกเขาเดินขึ้นไปสำรวจ โดยไม่รู้ว่าบริเวณนั้นเป็นเขตจรยุทธ์ของหน่วยงาน พคท.

แต่ที่ไม่คาดคิดคือก่อนหน้านั้นกองกำลังเจ้าหน้าที่ได้ขึ้นไปโจมตีหน่วยงานของ พคท.มีการปะทะกัน หลังจากนั้นเมื่อทหารหน่วยลาดตระเวนเห็นโกมลกับรัตนาเดินลงมาจากบริเวณนั้นก็คิดว่าสองคนเป็นสายให้หรือเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ จึงตัดสินใจยิงทั้งสองคนตรงจุดเกิดเหตุ

ข้อเท็จจริงอันนี้ พคท.หรือฝ่ายนำระดับใดก็ตามไม่เคยเอ่ยและชี้แจงต่อสาธารณชนเลยจากวันนั้นถึงวันนี้ คุณสมชายพยายามอธิบายให้ฟังว่า หากมีแกนนำระดับบนหรือคนที่พอมีวิจารณญาณอยู่ในที่เกิดเหตุ อาจมีการยับยั้งชั่งใจหรือใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่การสังหารก็เป็นได้

นี่ก็เป็นอีกฉากของประวัติศาสตร์ “ในห้วงเวลาแห่งอันตราย”

 

จัดตั้งคนสำคัญที่ประจำในหน่วยงานที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คือคุณอดุลย์ หรือสั้นๆ ว่า คุณดุล เขาเป็นคนเชื้อสายจีนทำงานปลุกระดมจัดตั้งกรรมกรในโรงงานกรุงเทพฯ และหัวเมืองมานาน รู้และพูดภาษาจีนและไทยได้คล่องแคล่ว

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ปราบฝ่ายซ้ายเป็นการใหญ่ พคท.ก็เปลี่ยนเข็มมุ่งจากการทำงานในเมืองไปเป็นการต่อสู้ในชนบท คุณดุลจึงออกมาเคลื่อนไหวเป็นจัดตั้งในเขตภาคใต้ตอนล่าง

เขาเป็นผู้ชี้นำทางการเมืองและการศึกษาในหน่วยงาน ดังนั้น เมื่อคลื่นการวิพากษ์วิจารณ์ พคท.เริ่มก่อตัวขึ้น คนที่เป็นเป้าและออกมาตอบโต้กับฝ่ายนักศึกษาอย่างไม่อ่อนข้อคือคุณดุล

ความที่คุณดุลมีพื้นทางความรู้และการศึกษาแบบจีน ทำให้ท่าทีและจุดยืนที่พิทักษ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประเทศจีนที่เป็นสังคมนิยมแสดงออกอย่างชัดเจนและไม่อ้อมค้อม

จนทำให้พวกนักศึกษาคิดว่าฝ่ายนำของ พคท.คงเดินตามจีนกันหมด ยิ่งสร้างความระหองระแหงทางความคิดของสองฝ่ายให้ลุกลามต่อไปไม่สิ้นสุด

มองจากภายนอก คุณดุลออกจะมีบุคลิกที่โผงผาง พูดตรงไปตรงมา ซึ่งบ่อยครั้งสร้างความหงุดหงิดและไม่พอใจแก่ผู้มาร่วมขบวนจากในเมืองไม่น้อย

ยิ่งการวิจารณ์เชิงเปรียบเทียบระหว่างนักศึกษากับชาวนา ว่าเป็นปัญหาทางชนชั้นระหว่างนายทุนน้อยกับกรรมาชีพซึ่งเป็นชนชั้นปฏิวัติ ยิ่งทำให้เหล่ากระฎุมพีน้อยพากันน้อยเนื้อต่ำใจและรอเวลาที่จะวิพากษ์กลับ

เมื่อฝ่ายนักศึกษาได้รับเอกสารหนังสือชุดนิพนธ์เหมาเจ๋อตงจากในเมือง ก็พากันอ่านแล้วนำไปปฏิบัติในห้องเรียนอย่างไม่รอช้า มีการอ้างคำพูดของประธานเหมาว่า ต่อแนวร่วมต้องใช้ท่าทีเป็นมิตร การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่เพื่อทำให้ตาย หากต้องทำไปเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์

นั่นคือพวกนักศึกษานำเอาความคิดเหมาเจ๋อตงมาวิจารณ์ตอบโต้วิธีการของจัดตั้ง เปิดศึกทางความคิดระหว่างจัดตั้งกับฝ่ายนักศึกษา

ซึ่งอย่างไรก็ดีกว่าการใช้กำลังหรืออาวุธเข้าจัดการความขัดแย้งนี้ ในระยะยาวปัญหาความคิดการเมืองนี้ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาทางชนชั้นที่ตรงข้ามกัน หากแต่ในส่วนลึกมันคือปัญหาของแนวทางการปฏิวัติที่ยึดหนทางปฏิวัติสังคมนิยมกับสภาพความจริงทางสังคมไทยที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจนไม่สอดคล้องกับทฤษฎีปฏิวัติในขณะนั้น

หลังจากการสลายตัวของ พคท.และการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขาแล้ว ผมพบคุณดุลอย่างบังเอิญในงานอภิปรายเรื่องสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จัดโดยศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณดุลเข้ามากอดผมแล้วร้องไห้ เป็นการพบกันครั้งสุดท้าย

งานการเมืองบั้นปลายคือการช่วยเหลือคนยากจนด้วยยารักษาโรคแบบพื้นบ้านที่ศาลเจ้าแถวโรงพยาบาลกลาง หลายปีต่อมาผมได้ข่าวด้วยความสะเทือนใจว่าคุณดุลเสียชีวิตแล้ว

(ยังมีต่อ)