Goya’s Cartoon ภาพวาดอันสว่างสดใสที่สุด ของ ฟรานซิสโก โกยา (แต่ก็ยังไม่วายแอบเสียดสีสังคมอยู่ดีแหละนะ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติปราโด (Museo Nacional del Prado) นอกจากจะมีผลงานชิ้นเอกของ ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปน อย่าง The Naked Maja (1797-1800), The Third of May 1808 (1814) และ Black Paintings (1819-1823) แล้ว

ที่นี่ยังมีผลงานอีกชุดของเขาที่โดดเด่นเป็นสง่าไม่แพ้กันอยู่ด้วย ผลงานชุดนั้นมีชื่อว่า Goya’s Cartoon นั่นเอง

ถึงแม้ ฟรานซิสโก โกยา จะเป็นที่รู้จักจากผลงานอันมืดมน หดหู่ มองโลกในแง่ร้าย อันเป็นผลจากประสบการณ์อันเลวร้ายในชีวิต และความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศบ้านเกิดที่เขาประสบพบเจอ

แต่ก่อนหน้าที่ประเทศสเปนต้องเผชิญหน้ากับสงครามและความวุ่นวาย โกยาเคยทำงานเป็นจิตรกรในราชสำนักมาก่อน

Picnic on the Banks of the Manzanares (1776)

นอกจากภาพวาดกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์แล้ว โกยาเคยสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดสดใสอันสวยงามที่แสดงถึงชีวิตประจำวันอันเปี่ยมชีวิตชีวาและเปี่ยมไปด้วยความหวังในสภาพแวดล้อมของประเทศสเปนออกมา

ถ้าหากภาพวาดในชุด Black Paintings เป็นผลงานที่แสดงถึงความมืดมน หดหู่ และน่าสยดสยองที่สุดของโกยา

ภาพวาดในชุด Goya’s Cartoons หรือในชื่อเต็มว่า Francisco Goya’s Tapestry Cartoons ชุดนี้ ก็น่าจะเป็นผลงานที่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

เพราะภาพชุดนี้แสดงออกถึงความสว่าง สดใส และความสุขสันต์สดชื่นรื่นรมย์ที่สุดของโกยาเลยก็ว่าได้

Picnic on the Banks of the Manzanares (1776)

ผลงานภาพวาดชุดนี้เป็นภาพวาดที่ทำขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับทำผ้าม่านแขวนประดับผนังในพระราชวัง San Lorenzo de El Escorial และพระราชวัง El Pardo ภายในที่ประทับของพระโอรสและพระธิดาในกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสเปน (ซึ่งพระโอรสก็กลายเป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 4 แห่งสเปนในเวลาต่อมา) ในช่วงปี 1775-1891 ซึ่งเป็นช่วงที่โกยาเป็นจิตรกรในราชสำนักในช่วงอายุราว 30 ปีพอดี

ภาพวาดชุดนี้ส่วนใหญ่ถูกวาดออกมาในสไตล์แบบศิลปะโรโคโค (Rococo) ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคสมัยนั้นอย่างมาก โดยวาดขึ้นในช่วงต้นอาชีพของโกยา ซึ่งเป็นจิตรกรรับจ้างที่ทำงานตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากราชสำนัก ก่อนที่จะหันมาทำงานในเนื้อหาที่มืดหม่นและสะท้อนสังคมในภายหลัง

อนึ่ง คำว่า “cartoon” นั้นไม่ใช่ “การ์ตูน” แบบเดียวกับที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกัน แต่เป็นคำที่มีที่จากภาษาอิตาเลียนว่า “cartone” ซึ่งหมายถึงภาพวาดต้นแบบสำหรับนำไปใช้ในการทอผ้าม่านนั่นเอง

แต่ที่น่าแปลกก็คือ โกยากลับวาดภาพต้นแบบเหล่านี้ด้วยสีน้ำมันบนผืนผ้าใบแบบเดียวกับงานจิตรกรรม แทนที่จะวาดบนผ้าที่นำไปเป็นแบบทอผ้าม่านตามปกติ

ภาพวาดเหล่านี้ถูกทำขึ้นในจำนวน 63 ชิ้น โดยแบ่งออกเป็น 7 หมวดหมู่

ถึงแม้ภาพวาดชุดนี้จะเป็นแค่เพียงแบบร่างสำหรับทอผ้าม่านประดับพระราชวัง แต่ผลงานเหล่านี้ก็กลับโด่งดังกว่าตัวผ้าม่านจริงๆ ด้วยซ้ำไป

Dance of the Majos at the Banks of Manzanares (1776 – 1777)

ต่อมา พระโอรสและพระธิดาในกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ยังดำริให้โกยาออกแบบผ้าม่านที่ถ่ายทอดภาพชีวิตประจำวันของผู้คนในกรุงมาดริดเพื่อประดับห้องเสวยของพระองค์

โกยาจึงวาดภาพที่แสดงฉากอันโด่งดังออกมาสองฉาก คือภาพ Dance of the Majos at the Banks of Manzanares (1776-1777) และภาพ The Parasol (1777)

โกยาวาดภาพเหล่านี้ขึ้นจากจินตนาการของเขาเอง โดยแฝงความน่ารักตลกขบขันลงไปในภาพ ด้วยความที่ในช่วงนั้น ภรรยาของโกยากำลังตั้งท้องลูกคนที่สองของเขา

ผลงานชุดนี้จึงสะท้อนความสุข ความพึงพอใจในชีวิตของเขาออกมาอย่างเปี่ยมล้นนั่นเอง

The Parasol (1777)

ในช่วงปี 1778 และ 1780 พระโอรสและพระธิดาในกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ยังต้องการให้โกยาออกแบบผ้าม่านประดับห้องบรรทมของพระองค์ในพระราชวัง El Pardo โกยาจึงวาดภาพแบบร่างที่นำเสนอฉากอันรื่นรมย์อย่างภาพ Blind Guitarist (1778) ที่นำเสนอภาพนักดนตรีตาบอดผู้เร่ร่อนขับขานบทเพลงโศกนาฏกรรมให้ผู้คนฟัง

แต่ถึงกระนั้น ภาพวาดก็ยังถูกนำเสนอออกมาในอารมณ์อันสดใสชื่นบานมากกว่าเศร้าหมองอยู่ดี

Blind Guitarist (1778)

แต่ถึงแม้จะเป็นภาพวาดอันแสนสว่างสดใส สวยงาม แต่โกยาก็ยังอดไม่ได้ที่จะแฝงนัยยะสังคมการเมืองลงไปในผลงานชุดนี้

ดั่งเช่นหนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดจากภาพวาดผ้าม่านชุดที่เจ็ด ซึ่งเป็นภาพชุดสุดท้ายของภาพวาดชุดนี้ อย่าง The Straw Manikin (1791-1792) ที่นำเสนอภาพของผู้หญิงสี่คนกำลังเล่นโยนตุ๊กตาผ้าขึ้นไปบนอากาศด้วยผืนผ้าห่มอย่างสนุกสนานรื่นเริง

The Straw Manikin (1791 – 1792)

ภาพวาดนี้นอกจากจะแสดงความแจ่มใสร่าเริงของการละเล่นแล้ว โกยายังใช้ภาพวาดนี้แอบเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์ความโง่เง่าขลาดเขลาของชนชั้นปกครองของสเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าชนชั้นนําเพศชายที่วางอํานาจเขื่องโข แต่ท้ายที่สุดกลับถูกควบคุมและชักจูงโดยสตรีผู้อยู่เบื้องหลัง

ไม่ต่างอะไรกับหุ่นฟางรูปกษัตริย์หรือขุนนาง ซึ่งเป็นชนชั้นสูงของสเปนที่ถูกเหล่าบรรดานางสนมและนางในขึงเปลผ้าโยนเล่นขึ้นไปบนอากาศนั่นเอง

ปัจจุบัน ภาพวาดชุด Goya’s Cartoon ส่วนใหญ่ ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติปราโด ผลงานชุดนี้ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของโกยา และยังคงถูกศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดลออโดยศิลปินรุ่นหลัง รวมถึงนักวิจารณ์ศิลปะ ในฐานะผลงานของหนึ่งในศิลปินชั้นครูแห่งยุโรป และศิลปินสมัยใหม่คนแรกๆ ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกนั่นเอง

Children Inflating a Bladder (1778) ภาพเด็กๆ กำลังเล่นเป่ากระเพาะปัสสาวะหมู (เพราะสมัยก่อนยังไม่มีลูกโป่ง จึงใช้กระเพาะปัสสาวะหมูมาเป่าเล่นแทน)
The Kite (1778)

ผลงาน Goya’s Cartoon จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ปราโด ตั้งอยู่บนถนน Paseo del Prado ใกล้กับสถานีรถไฟอโตชาและสถานีรถไฟใต้ดิน Banco de Espa?a (Bank of Spain) ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน

เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10:00-20:00 น. วันอาทิตย์เปิดทำการเวลา 10.00-19.00 น. วันที่ 6 มกราคม, 24, 31 ธันวาคม เปิดทำการเวลา 10.00-14.00 น. หยุดทำการทุกวันที่ 1 มกราคม, 1 พฤษภาคม และ 25 ธันวาคม

สนนราคาค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 15 ยูโร, ผู้สูงอายุกว่า 65 ปี 7.50 ยูโร, เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, นักเรียนนักศึกษาอายุ 18-25 ปี, ผู้พิการ, ผู้ว่างงาน เข้าชมฟรี

บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมฟรีในวันจันทร์-เสาร์ เวลา 18.00-20:00 น. วันอาทิตย์และวันหยุด เวลา 17.00-19:00 น.

ดูรายละเอียดการเข้าชมเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://rb.gy/pwhrk 

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์