‘จันทน์’ กับ ‘งานศพ’ สัมพันธ์กันตั้งแต่สมัยใด

ญาดา อารัมภีร

‘จันทน์’ กับ ‘งานศพ’ สัมพันธ์กันตั้งแต่สมัยใดไม่รู้ สมัยสุโขทัยเล่าถึงการทำศพชาวอุตตรกุรุไว้ใน “ไตรภูมิพระร่วง” น่าสนใจไม่น้อย

‘ผิแลว่าเมื่อเขาแลตายจากกัน เขาบ่มิได้เป็นทุกข์เป็นโศก แลมิได้ร้องไห้รักกันเลย เขาจิงเอาศพนั้นอาบน้ำแลแต่งแง่ หากกระแจะแลจวงจันทน์ น้ำมันอันหอม แลนุ่งผ้าห่มผ้าให้ แล้วประดับนิด้วยเครื่องถนิมอาภรณ์ทั้งปวงให้แล้ว แล้วจิงเอาอศภนั้นไปวางไว้ในที่แจ้ง …ฯลฯ… นกนั้นครั้นว่าแลเห็นซากอศภไส้ นกนั้นก็คาบเอาซากอศภนั้นไปเป็นกำนัลบ้านนกนั้น เพราะว่าบ่มิให้อุกกรุกในแผ่นดินเขานั้นได้” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เราจะมองเห็นภาพชาวอุตตรกุรุทำความสะอาด แต่งตัวศพและทากระแจะจันทน์น้ำมันหอม หลังจากนุ่งห่มผ้าและใส่เครื่องประดับให้แล้วก็ห่อศพนำไปวางกลางแจ้ง มีนกมาคาบศพไปทิ้งที่อื่น ขจัดความสกปรกเลอะเทอะให้พ้นแผ่นดินอุตตรกุรุทวีป

 

นอกจากใช้จันทน์เป็นเครื่องหอมแต่งศพสมัยสุโขทัย ยังใช้ไม้หอม เช่น จันทน์ และกฤษณาทำเชิงตะกอนเผาศพสมัยอยุธยาอีกด้วย ดังที่ “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์” (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) บันทึกว่า

“ตรงกลางวงล้อมนั้นเป็นที่ตั้งเชิงตะกอน ก่อด้วยไม้เนื้อหอมล้วน หรือแต่ลางส่วน เช่น ไม้จันทน์ขาวหรือไม้จันทน์เหลืองและไม้กฤษณา เป็นต้น สุดแท้ความมั่งคั่งและเกียรติศักดิ์ของผู้ตาย”

ยิ่งไปกว่านั้นเอกสารชาวต่างประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ แผ่นดินรัชกาลที่ 4 เล่าถึงงานพระเมรุไว้ตรงกันว่าใช้ไม้จันทน์และไม้หอมต่างๆ เป็นฟืนถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากหนังสือ “ราชอาณาจักรสยาม” โดยพระสยามธุรานุรักษ์ (แอ็ม อา เดอ เกรอัง) พ.ศ.2411 ระบุว่าบันทึกตามปากคำของสังฆราชปาลเลกัวซ์

“พระโกศที่ไว้พระบรมศพตั้งอยู่บนแท่นสูงบนราชรถสีทอง และมีการเฉลิมฉลองเป็นเวลา 7 วัน วันสุดท้าย ผู้เป็นรัชทายาทจะจุดไฟที่ไม้ฟืนซึ่งประกอบด้วยไม้จันทน์และไม้หอมอื่นๆ”

สอดคล้องกับข้อความในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ที่สังฆราชปาลเลกัวซ์ แต่ง (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล)

“เมื่อถึงวันสุดท้าย พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จมาด้วยพระองค์เอง ทรงจุดพระเพลิงถวายที่กองฟืนอันกอปรด้วยไม้จันทน์และไม้หอมต่างๆ”

 

นอกจากนี้ หนังสือ “สยามและลาวในสายตามิชชันนารีอเมริกัน” ที่รวมเรื่องราววิถีชีวิตคนไทยช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ถึงครึ่งแรกของรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เล่าถึงพาหนะบรรทุกไม้หอมจำนวนมากที่ใช้ต่างฟืน ดังนี้

“รถที่อัญเชิญพระโกศ ใช้บรรทุกไม้หอมประมาณ ๕๐ หรือ ๖๐ แท่ง ซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยส่วนปลายของไม้หอมจะปิดทองสวยงามและใช้ไม้นี้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ รถม้าแต่ละคันถูกลากไปด้วยม้า ๑ คู่ และคนอีกจำนวนมากคอยช่วยดึงเชือกอยู่ด้านหน้าของม้า”

ภาพของรถบรรทุกไม้หอมในงานพระเมรุทำให้นึกถึงงานพระเมรุเมืองหมันหยาในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายถึงช่วงเตรียมงานว่า

“รถใหญ่สำหรับใส่พระโกศทอง เรืองรองรจนาปรากฏ

รถโยงปรายข้าวตอกเป็นหลั่นลด รถอ่านหนังสือรถใส่ท่อนจันทน์”

วันงานมีการชักพระศพพระอัยยิกาของอิเหนาไปตามกระบวนแห่

“บัดนั้น เสนีธิบดีซ้ายขวา

เร่งรัดจัดถ้วนกระบวนตรา พอเวลาไขศรีรวีวรรณ

จึงให้เชิญพระศพในปราสาท ขึ้นสู่ยานุมาศผายผัน

เกณฑ์แห่แห่แหนแน่นนันต์ มายังเกยสุวรรณที่ประทับ

พนักงานเชิญพระโกศขึ้นตั้ง บนบัลลังก์รถทรงเสร็จสรรพ

คู่แห่แตรสังข์คั่งคับ เป็นลำดับเดินโดยมรคา

เชื้อพระวงศ์ทรงรถเรืองรอง มือถือแว่นทองซองสลา

โขมพัตถ์พับยาวโยงมา พาดเหนืออังสาทรงไว้

รถพระวงศ์เชื้อสายปรายข้าวตอก ใส่ชฎาลำพอกดอกไม้ไหว

รถบีกูดูหนังสืออ่านไป รถหลังตั้งเนื้อไม้ท่อนจันทน์”

น่าสังเกตว่าข้อความ “รถอ่านหนังสือรถใส่ท่อนจันทน์” และ “รถหลังตั้งเนื้อไม้ท่อนจันทน์” ในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ตรงกับ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ที่กล่าวถึงกระบวนแห่พระบรมศพในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและสมเด็จพระพันวรรษาใหญ่ อีกทั้งรถต่างๆ ในกระบวนแห่พระศพพระอัยยิกาของอิเหนาล้วนใกล้เคียงกับข้อความใน “คำให้การขุนหลวงหาวัด”

“อันรถที่นำหน้านั้น สมเด็จพระสังฆราชาอ่านพระอภิธรรม ถัดมาถึงรถเหล่าพระญาติวงศ์ถือจงกลปรายข้าวตอกดอกไม้ ถัดนั้นไปรถพระญาติวงศาถือผ้ากาสา มีปลอกทองประดับเป็นเปลาะๆ ห่างกันประมาณสามวา แล้วถือซองหมากทองโยงไปหน้า ถัดนั้นมาถึงรถพระบรมศพ ถัดมารถใส่ท่อนจันทน์และกฤษณากระลำพักปิดทอง รูปเทวดาถือกฤษณากระลำพัก ท่อนจันทน์นั้นถือชูไปบนรถด้วยกัน”

ไม้จันทน์กับงานศพยังไม่จบแค่นี้ มีอะไรดีๆ

ติดตามฉบับหน้า •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร