‘บุหรี่ไฟฟ้า’ อันตราย ‘สายควัน’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

“บุหรี่ไฟฟ้า” เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1960 โดย Herbert Gilbert นายทหารชาวอเมริกัน ได้แรงบันดาลใจจากงานวิจัยของ Thomas Schelling นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

Herbert Gilbert ได้สร้างสรรค์ “บุหรี่ไฟฟ้าเวอร์ชั่นแรก” ขึ้นมา ในปี ค.ศ.1963 ภายใต้สโลแกน Smokeless, Non-tobacco Cigarette ต่อมาในปี ค.ศ.2003 Hon Lik เภสัชกรชาวจีน เป็นคนแรกที่ผลิต “บุหรี่ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์” ภายใต้คำขวัญ Smoking Everywhere

โดย Andries Verleur นำ “บุหรี่ไฟฟ้า” ของ Hon Lik มาต่อยอดในปี ค.ศ.2008 ปรากฏว่าได้รับความนิยม จนบรรษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติต้องเข้ามาในตลาด “บุหรี่ไฟฟ้า” ในปัจจุบัน

 

กระบวนการทำงานของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ประกอบด้วยอุปกรณ์ 3 ส่วน ได้แก่

1. ตัวสร้างควัน หรือ Atomizer อุปกรณ์หลักที่เสมือนหัวใจในการทำงานของ “บุหรี่ไฟฟ้า” เพราะมันคือ “เครื่องกำเนิดควัน” ซึ่งทำหน้าที่สร้าง “ควันเทียม”

Atomizer จะมี Microchip Circuit เป็นตัวควบคุมการทำงาน และมีขดลวดร้อน Electron ทำหน้าที่ต้มน้ำยา e-Liquid ให้กลายเป็นละอองน้ำ พร้อมๆ กับสร้างกลิ่นเลียนแบบบุหรี่จริง โดย Atomizer จะสถิตอยู่ระหว่างก้นกรองกับตัวบุหรี่

2. หลอดนิโคตินเหลว หรือ Cartridge เป็นอุปกรณ์ซึ่งทำหน้าที่กักเก็บน้ำนิโคติน หรือ e-Liquid โดย Cartridge จะติดตั้งที่บริเวณก้นกรอง หรือ Mouth Piece

 

e-Liquid ประกอบด้วยสาร Propylene Glycerol หรือเรียกย่อๆ ว่า PG ซึ่งเป็นตัวทำละลายกลิ่น หรือรสชาติ กับสารนิโคติน โดย “บุหรี่ไฟฟ้า” มีระดับนิโคตินของ e-Liquid ดังนี้

2.1 ระดับนิโคตินสูงสุด หรือ Super High มีระดับนิโคติน 24 มิลลิกรัมขึ้นไป

2.2 ระดับสูงมาก หรือ Extra High มีระดับนิโคติน 20-24 มิลลิกรัม

2.3 ระดับสูง หรือ High มีระดับนิโคติน 16-20 มิลลิกรัม

2.4 ระดับปานกลาง หรือ Medium มีระดับนิโคติน 11-16 มิลลิกรัม

2.5 ระดับน้อย หรือ Low มีระดับนิโคติน 4-11 มิลลิกรัม

2.6 ระดับน้อยมาก หรือ Non มีระดับนิโคติน 0-4 มิลลิกรัม

3. ตัวจ่ายไฟ หรือ Battery ทำหน้าที่ชาร์ตพลังงานไฟฟ้า และสร้างความร้อนไปเผาขดลวด Electron รวมทั้งแสดงไฟปลอมที่ปลายบุหรี่ ที่ทั้งช่วยบอกสถานการณ์ทำงาน และทั้งเพื่อความเท่

โดย Battery จะติดตั้งที่มวนบุหรี่ขาวส่วนยาวๆ

 

แท้จริงแล้ว กระบวนการทำงานของ “บุหรี่ไฟฟ้า” คือ “การลวงประสาท” อายตนะทั้ง 5 คือ “รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส” ซึ่งนอกจากจะ “ลวงประสาทสัมผัส” ด้วยการสร้างรูปลักษณ์ให้เหมือนบุหรี่จริงแล้ว มันยัง “ลวงประสาทรส” ผ่านไอน้ำต้มนิโคตินแทนการเผาใบยาสูบ

นอกจากนี้ ยัง “ลวงประสาทรูป” ด้วยแสงไฟ LED ที่ปลายอุปกรณ์ที่มาพร้อมด้วยไอน้ำสีขาวเทา ที่มีลักษณะคล้ายควัน และยัง “ลวงประสาทกลิ่น” ด้วยกลิ่นยาสูบไหม้ไฟปลอม ซึ่งลอยออกมาพร้อมควันปลอม ปิดท้ายด้วยความพยายามสร้าง “เสียงเผาใบยาสูบ” เพื่อ “ลวงประสาทเสียง” อีกต่างหาก

ด้วยปริมาณนิโคตินที่ได้รับจาก “บุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งมีที่มาจากละอองไอน้ำซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของ PG ที่ถูกคลื่นความร้อน Microwave จาก “ตัวสร้างควัน” ทำให้เกิดการแตกตัวไปผสมผสานกับกระบวนการดึงน้ำในอากาศเพื่อเปลี่ยน e-Liquid ให้กลายเป็นสายหมอกสีขาว

ขั้นตอนนี้คล้ายคลึงกับวิธีการต้มน้ำ แต่จะไอระเหยของนิโคตินเหลวจะมีความหนาแน่น และมีสภาพรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการแจกนิโคตินของ “บุหรี่ไฟฟ้า” แตกต่างจากบุหรี่จริงอย่างมาก

และแม้ว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” จะปราศจากส่วนผสมของใบยาสูบ และที่สำคัญก็คือ มันไม่มีกระบวนการสันดาปอันก่อให้เกิดสารพิษเหมือนบุหรี่จริง

ทว่า “สิงห์นักสูบ” ยังคงได้รับนิโคตินในปริมาณต่างกันตามแต่จะเลือกระดับหลอดน้ำยานิโคติน

 

โดยปกติ บุหรี่จริง 1 มวนจะมีจำนวนครั้งในการสูบประมาณ 12-15 ครั้งจึงหมด ขณะที่การสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” 1 ครั้งจะมีการต้ม e-Liquid จำนวน 0.1 มิลลิลิตร

ผู้ผลิต “บุหรี่ไฟฟ้า” ได้คำนวณให้เราเรียบร้อยแล้วว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วย 0.1 มิลลิลิตรของ e-Liquid จะได้นิโคตินเท่ากับจำนวนสูบบุหรี่จริง 12-15 ครั้ง ในทางกลับกัน หากสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” แบบ “มวนต่อมวน” นั้น อันตราย!

ดังผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2564 ที่พบว่า ประชาชนไทยที่สูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” มีจำนวน 78,742 คน โดยร้อยละ 60 เป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ยังพบการสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” ในกลุ่มอายุที่น้อยลง แม้กระทั่งในเด็กนักเรียน

จากผลสำรวจภาวะสุขภาพนักรียนในไทย ประจำปี พ.ศ.2564 โดยองค์การอนามัยโลก พบนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” 13.6%

“บุหรี่ไฟฟ้า” ก่อให้เกิดสารพิษหลายชนิดที่มีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น “นิโคติน” ที่เป็นสารทำให้เสพติด

โดย “นิโคตินสังเคราะห์” ที่ใช้ใน “น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า” จะไม่ระคายคอ ทำให้เสพได้มาก และดูดซึมได้เร็วกว่าบุหรี่มวน

ซึ่ง “บุหรี่ไฟฟ้า” 1 แท่ง จะมีสาร “นิโคติน” เทียบเท่าบุหรี่ซอง 20 มวน มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ Volatile Organic Compound (VOC), มีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือ Carbon Monoxide (CO), มีฟอร์มาลิน, มีโลหะหนัก อาทิ “นิกเกิล”, “ตะกั่ว”, มีสารแต่งกลิ่น และรส

ทั้งหมดนี้ สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองในเยื่อบุทางเดินหายใจ หรือ Irritate Mucus Membranes ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ และมีการเปลี่ยนแปลงของ DNA ทำให้เป็นมะเร็งปอด

นอกจากนี้ ยังพบอาการปอดบวม สมรรถภาพปอดเสื่อมถอย และปริมาตรปอดลดลง ในผู้ที่ “สูบบุหรี่ไฟฟ้า”

 

โรคทางระบบหายใจที่เกี่ยวข้องกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” ประกอบด้วย

1. โรคหืด ไม่ว่าจะเป็นการสูบโดยตรง หรือการ “ได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง” โดยพบว่าวัยรุ่นที่มีอาการหืดกำเริบ จะมีประวัติสัมผัสกับไอระเหยของ “บุหรี่ไฟฟ้า” มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการหืดกำเริบมากถึง 27%

ตามรายงานผลการศึกษาจากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเกาหลีใต้ ในกลุ่มนักเรียนมัธยมอายุ 15-16 ปี จำนวน 483,948 ราย ซึ่งมีอัตราการสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” เฉลี่ย 7.5% พบว่า นักเรียนมัธยมที่สูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหืดมากถึง 1.3 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้สูบ “บุหรี่ไฟฟ้า”

และพบว่า การ “ได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง” เสี่ยงต่อการเกิดหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้นมากถึง 1.4 เท่า และมีอาการหอบเหนื่อยเพิ่มขึ้นมากถึง 1.5 เท่า

2. โรคปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้า สัมพันธ์กับการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาจากสารสกัดกัญชา และสัมพันธ์กับการปนเปื้อนสาร Vitamin E Acetate ในน้ำยา หรือสารที่ใช้ผ่าน “บุหรี่ไฟฟ้า”

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายมากถึง 1.8 เท่าของคนที่ไม่สูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” และมีประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง สมาธิสั้น ความจำ หรือการตัดสินใจย่ำแย่ลง โดยเฉพาะหากเริ่มสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” ก่อนอายุ 14 ปี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บุหรี่ไฟฟ้า” สามารถก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5 ได้อีกด้วย

ขณะที่ในปัจจุบัน วัยรุ่น และนักเรียน นิสิต นักศึกษา มีการใช้ “บุหรี่ไฟฟ้า” มากขึ้น แต่ยังขาดความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจาก “บุหรี่ไฟฟ้า”

และยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เช่น “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นวิธีที่สามารถทำให้เลิกบุหรี่ได้

ทั้งยังมีข้อมูลว่า ผู้ที่เริ่มสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” ตั้งแต่อายุยังน้อย มีแนวโน้มที่จะใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ เช่น กัญชา อีกด้วย

ดังนั้น ควรให้ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร แก่เยาวชน และกำหนดมาตรการที่เข้มงวดในการจำกัดการเข้าถึง “บุหรี่ไฟฟ้า” จำกัดการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น และเร่งด่วน เพื่อช่วยกันปกป้องเยาวชนของเรา