ความรุนแรงในสังคม ที่เป็นรากฐานของเหตุกราดยิง | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

เหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอนเป็นฝันร้ายที่จะอยู่กับสังคมไทยไปอีกนาน เพราะไม่เพียงมือปืนจะเป็นเด็กนักเรียนอายุ 14 ปี ที่กราดยิงในที่สาธารณะอย่างไม่มีใครคิดและไม่มีใครเคยทำ จุดเกิดเหตุคือสยาม ซึ่งเป็นศูนย์กลางเมืองหลวงที่คนมีความทรงจำเยอะไปหมด

ฝันร้ายครั้งนี้จึงไม่มีทางลืมเลือนอย่างรวดเร็วได้เลย

ด้วยเหตุที่การยิงโดยเด็กอายุ 14 เกิดในเย็นวันที่คนแน่นห้างขนาดยักษ์กลาง กทม. แนวโน้มที่การกราดยิงจะเป็นแผลร้ายในใจคนจำนวนมากจนเข้าขั้นเป็น “บาดแผลร่วมของสังคม” (Collective Trauma) ก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก เพราะพื้นที่กราดยิงคือพื้นที่ซึ่งทุกคนมีโอกาสเป็นเหยื่อได้ตลอดเวลา

เมื่อคำนึงว่าจุดกราดยิงคือห้างใหญ่ที่สุดซึ่งควรมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี อยู่พื้นที่กลางเมืองตรงข้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติระดับเดินนาทีเดียวถึง ซ้ำยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าซึ่งเดินทางไปได้ทั่วทุกจุดในเมืองหลวง

ความรู้สึกต่อติดกับเหตุกราดยิงจนรู้สึกว่ากราดยิงเป็นเรื่องใกล้ตัวย่อมสูงขึ้นทวีคูณ

ยิ่งมือปืนกราดยิงเป็นเด็กนักเรียนชายอายุ 14 จากโรงเรียนเอกชน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนดังและโรงเรียนดี การตระหนักว่าคนที่ดูอันตรายน้อยที่สุดอย่างเด็กนักเรียนก็เป็นฆาตกรได้ย่อมขยายตัวขึ้น

เช่นเดียวกับความระแวงว่าทุกคนมีศักยภาพจะเป็นผู้ก่อเหตุ รวมทั้งทุกคนมีโอกาสจะเป็นเหยื่อของโศกนาฏกรรม

 

ในกรณีกราดยิงห้างยักษ์กลางสยาม สิ่งที่สังคมไทยเผชิญกลางเมืองหลวงครั้งแรกคือความสำนึกแห่งความหวาดผวาว่าคนยิงเป็นใครก็ได้ และคนถูกยิงจะเป็นใครก็ได้

หรืออีกนัยหนึ่งคือสำนึกแห่งความกลัวและความไม่มั่นคงซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ควรมีความปลอดภัยและความมั่นคงสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ต่อให้ไม่คิดเรื่องนี้ในแง่ความปลอดภัยและความมั่นคง เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นกลางห้างใหญ่ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทำเลทองของประเทศก็มีแง่มุมทางเศรษฐกิจที่สั่นคลอนการฟื้นประเทศย่อยยับ เพราะห้างเป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนตายกลางห้าง ส่วนนักท่องเที่ยวเกาหลีอัดคลิปวินาทีวิ่งหนีตาย

ขณะที่รัฐบาลไทยต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นเศรษฐกิจและสร้างคะแนนนิยมในช่วงที่ยังไม่มีผลงาน เสียงปืนที่รัวสนั่นกลางสยาม พารากอนทำให้ห้างที่ชื่อสื่อถึง “สวรรค์แห่งสยาม” ถูกจดจำทั่วโลกในแง่ฝันร้ายบนพื้นพิภพพร้อมๆ กับ 4 ศพที่จากไปขณะเดินในห้างโดยไม่ได้ทำผิดอะไรเลย

ล่าสุด นักท่องเที่ยวจีนเริ่มแสดงความเห็นว่อนโซเชียลว่าจะไม่มาไทย ขณะที่รัชทายาทของสุลต่านรัฐยะโฮร์ก็ระบุว่าท่านอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย

การทำให้เรื่องนี้จบง่ายๆ ในต่างประเทศจึงไม่ง่ายเหมือนการปิดข่าวเรื่องนี้ในไทยอย่างแน่นอน

 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมไทยเผชิญเหตุกราดยิง แต่สังคมที่มือปืนกราดยิงขยับจากทหารและตำรวจมาเป็นเด็กนักเรียนอายุ 14 เป็นสัญญาณของความรุนแรงที่ขยายตัวจนน่าตระหนก

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงนี้บอกว่าใครก็เข้าถึงความรุนแรงได้ง่าย ไม่ต้องพูดถึงการเข้าถึงปืนและอาวุธเพื่อใช้กราดยิง รวมทั้งอุปกรณ์ดัดแปลงปืนปลอมและกระสุนปลอมเป็นอาวุธสังหารคนได้จริงๆ

คนจำนวนมากมักโทษว่าเหตุร้ายแบบนี้เกิดจาก “บุคคล” ที่เป็นตัวร้ายซึ่งทำให้เกิดการกราดยิง ตัวร้ายที่พูดถึงในกรณีนี้คือเด็กติดเกม, พ่อแม่บังคับลูก, ระบบการศึกษา, โรงเรียน, โรคจิต ฯลฯ

แต่ถ้าเด็กเข้าถึงปืนและอาวุธยาก เด็กก็เป็นนักฆ่าไม่ได้ และ “ตัวร้าย” ไหนก็ไม่อาจยิงใครเสียชีวิตได้เลย

มีเหตุผลเยอะแยะที่ควรพูดถึง “โครงสร้าง” ซึ่งทำให้เกิดเหตุกราดยิง

แต่ก็เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนรู้ดีว่าไม่มีทางที่ “โครงสร้าง” จะถูกพูดจริงจังหากไม่มีใครลงแรงในสังคมนี้ เพราะ “โครงสร้าง” คือเรื่องที่แตะตัวตนของสังคมจนยากที่จะมีใครแคร์ที่จะแก้อย่างจริงจัง

 

งานวิจัยของศูนย์ความรุนแรงแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า เหตุกราดยิงในสหรัฐ 2 ใน 3 เกิดจากมือปืนที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับ “ความรุนแรงในครอบครัว” นักวิจัยของศูนย์ดังกล่าวถึงขั้นที่พูดว่า “คนในครอบครัว” อาจเป็นปัจจัยชี้ขาดที่สุดที่ทำให้เกิดเหตุนี้ เช่นเดียวกับการเข้าถึงอาวุธปืน

รัฐบาลจะหยุด “ความรุนแรงในครอบครัว” ได้อย่างไรในเงื่อนไขที่สังคมไทยเป็นสังคมปิตาธิปไตยซึ่งถอยหลังแม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างให้ผู้หญิงเป็นพนักงานสอบสวนในคดีความรุนแรงที่ผู้หญิงเป็นเหยื่อจริงๆ

ไม่มีสังคมไหนที่การกราดยิงผ่านไปโดยไม่ทิ้งบาดแผลอะไร ยิ่งสังคมไทยที่เกิดเหตุกราดยิงอย่างโหดเหี้ยม 3 ครั้งในไม่กี่ปี แผลใหม่จากการกราดยิงที่สยาม พารากอนยิ่งขุดคุ้ยแผลเก่าให้หลอกหลอนขึ้นมาอีก สังคมไทยวันนี้จึงมี “บาดแผลร่วม” ที่ทำให้ความเจ็บปวดทางสังคมรุนแรงเป็นทวีคูณ (Cascading Collective Trauma)

เมื่อเทียบกับเหตุทหารกราดยิงโคราชหรือหนองบัวลำภู รัฐไทยใช้ยุทธวิธีทำให้เรื่องเงียบโดยให้กองทัพสร้างกระแสว่าสังคมเจ็บปวดกับเรื่องที่เกิดขึ้นจนไม่ควรพูดถึงต่อไป

ในที่สุดทั้งสองเรื่องผ่านไปโดยไม่มี “โครงสร้าง” ต้องรับผิดชอบอะไร และวันนี้แม้แต่ภาพเหตุการณ์ก็หายากจนไม่ต้องคิดเรื่องสรุปบทเรียน

 

กราดยิงสยาม พารากอนปิดเรื่องให้เงียบไม่ได้อย่างโคราชหรือหนองบัวลำภู เพราะจุดเกิดเหตุสองกรณีอยู่ห่างไกลจนง่ายที่การคุมภาพและคุมข่าวเพื่อลบการพูดเรื่องเลวร้าย

เช่นเดียวกับผู้ก่อเหตุเป็นทหารในยุคคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ จนคนรู้สึกว่ากองทัพทำถูกที่จะทำให้คนลืมเรื่องนี้ แม้แต่การเรียกร้องไม่ให้นำเสนอภาพนี้เลย

กราดยิงสยาม พารากอนเกิดกลางเมืองซึ่งมีคนเห็นเหตุการณ์เป็นร้อย คลิปความโหดร้ายขณะยิงจึงแพร่สะพัดจนคนเห็นวินาทีคนธรรมดาหนีตาย, เสียงปืนยิง, ภาพผู้เสียชีวิต, การจับกุมมือปืน, ความเด็ดเดี่ยวของตำรวจระดับปฏิบัติ, ความกล้าหาญของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือแม้แต่ความหิวแสงของรัฐมนตรี

ด้วยพยานบุคคลและวัตถุพยานจากประชาชนที่ท่วมโลกออนไลน์กว่ากราดยิงโคราชหรือหนองบัวลำภู รัฐลบความทรงจำกรณีนี้ไม่ได้ วัตถุดิบที่ภาพและเสียงที่ทำให้คนจดจำเหตุการณ์นี้ขยายตัวไปไม่รู้จบ เพราะไม่ใช่แค่คนไทยที่มีข้อมูลแบบนี้ แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวจีน, เกาหลีใต้ หรือแรงงานพม่าที่ทำงานในไทย

ธรรมชาติมนุษย์ไม่ต่างจากสัตว์ในแง่ต้องการรักษาชีวิตและความปลอดภัย ยิ่งสำนึกว่ากราดยิงเป็นความตายที่ใกล้ตัว ความต้องการปกป้องตัวเองและครอบครัวก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก

สิ่งแรกที่ทุกคนคิดหลังเกิดเหตุกราดยิงคือโชคดีที่เราไม่ได้อยู่ที่นั่น และทำอย่างไรที่ในอนาคตเรื่องแบบนี้ไม่เกิดกับเรา

ในกรณีกราดยิงสยาม พารากอน คำถามที่จะดังกึกก้องขึ้นทั่วสังคมขึ้นคืออะไรที่รัฐบาลจะทำเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องนี้อีกเลย

ขณะที่ในกรณีกราดยิงโคราชและหนองบัวลำภู รัฐเป็นฝ่ายบอกสังคมว่าควรทำทุกทางให้เรื่องนี้เงียบและจบลงโดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ครอบครัวผู้สูญเสียสะเทือนใจเรื่องนี้อีกต่อไป

แม้คุณเศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีจะไปยังโรงพยาบาลทันทีที่เหตุกราดยิงสงบ แต่คำตอบที่สังคมอยากได้ยินว่ารัฐบาลจะทำอะไรเพื่อป้องกันเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนมาก ซ้ำยังไม่มีแม้แต่การออกแถลงการณ์ง่ายๆ ในเวลาที่เกิดเหตุร้ายขึ้นทันที

รัฐบาลในนาทีนี้ช้าเกินกว่าจะเป็นหลักให้สังคมที่ต้องการคำตอบเพื่อฟื้นความมั่นใจด้านชีวิตและความปลอดภัยให้ตัวเองและครอบครัวอย่างเร่งด่วน แต่ก็ไม่มีหน่วยไหนในสังคมที่แข็งแกร่งพอจะทำหน้าที่ซึ่งรัฐบาลควรทำแต่ไม่ทำ ป่วยการที่จะบอกว่าความรุนแรงแบบนี้เป็นครั้งสุดท้ายในสังคมไทย

แต่อย่างน้อยเราควรมีสิทธิจะคาดหวังว่าความรุนแรงแบบนี้จะไม่ทวีความโหดเหี้ยมและอำมหิตอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะการควบคุมอาวุธและวัตถุดิบที่ดัดแปลงเป็นอาวุธ รวมทั้งความรุนแรงในครอบครัว