ตั้ง 35 อรหันต์ 4 ปี แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไทยเดินเกม ซื้อเวลา?

บทความในประเทศ

 

ตั้ง 35 อรหันต์

4 ปี แก้รัฐธรรมนูญ

เพื่อไทยเดินเกม ซื้อเวลา?

 

3 ตุลาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 256/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ประกอบด้วย 1.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ 2.นายชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทย เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง 3.นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง 4.นายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นกรรมการและโฆษกคณะ

ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย 5.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 6.นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกฯ 7.พล.อ.ชัชวาล ขำเกษม อดีตเจ้ากรมเสมียนตรา 8.พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 9.พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 10.นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

11.นายวิรัตน์ วรศสิริน จากพรรคเสรีรวมไทย 12.นายศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจไทย 13.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท คนเสื้อแดง 14.นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ 15.นายวัฒนา เตียงกูล

16.นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการ 17.นายไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ 18.นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการ

19.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการพัฒนาพรรค พรรคเพื่อไทย 20.นายประวิช รัตนเพียร

21.นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 22.นายธนกร วังบุญคงชนะ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ 23.นายธงชัย ไวยบุญญา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การประปาส่วนภูมิภาค 24.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ จากพรรคชาติพัฒนากล้า 25.นายเดชอิศม์ ขาวทอง จากพรรคประชาธิปัตย์

26.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ จากพรรคไทยสร้างไทย 27.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด 28.นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ 29.นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการ 30.น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ จากพรรคเพื่อไทย

31.นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เอ็นจีโอ 32.ผู้แทนพรรคก้าวไกล 33.นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ 34.นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

และ 35.นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หลักการสำคัญคือจะไม่แตะหมวด 1 และ 2 และไม่แตะพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่แทรกในหมวดต่างๆ โดยจะจัดทำรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 4 ปี เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งใหม่เป็นไปตามกติกาที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน

โดยจะประชุมนัดแรกวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อวางกรอบทำงาน และพูดคุยกับทุกภาคส่วน ภายใน 3-4 เดือน น่าจะได้ข้อสรุปกระบวนการทำงาน ทั้งวิธีการ แนวทางทำประชามติ และคาดว่าการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกในปี 2567

สำหรับวิธีการทำประชามติมี 3 วิธี ดังนี้ 1.ประชาชนจำนวน 5 หมื่นคน ร่วมเข้าชื่อ 2.ยื่นเสนอผ่านรัฐสภา 3.ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติทำประชามติส่งต่อสภา

ซึ่งทาง ครม.ต้องการเห็นว่าหากเริ่มต้นจัดทำแล้วจะมีทิศทางอย่างไร จึงมีการตั้งคณะกรรมการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรค ก.ก. แถลงมติที่ประชุม ส.ส.ของพรรค ก.ก. ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการ ในคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยนายพริษฐ์กล่าวว่า 1. พรรค ก.ก. มีจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอด ในการสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ เพื่อให้ประเทศมีกติกาสูงสุดของประเทศที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

2. พรรค ก.ก. เสนอว่ากระบวนการดังกล่าวควรเริ่มต้นจากการจัดประชามติ เพื่อสอบถามประชาชนด้วยคำถามว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ”

3. พรรค ก.ก. ขอบคุณทางรัฐบาลที่ให้เกียรติตัวแทนพรรคไปร่วมเป็นกรรมการ ทางพรรคพร้อมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลที่สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว โดยพรรคยินดีให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอของพรรรค ต่อคณะกรรมการหากคณะกรรมการมีความประสงค์ แต่ ณ เวลานี้ พรรค ก.ก.ขอสงวนสิทธิในการไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการ

4. เหตุผลที่พรรคมีมติดังกล่าว เพราะพรรคยังไม่ได้รับความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับเป้าหมายหรือกรอบในภาพใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการชุดนี้จะยึดถือ โดยเฉพาะจุดยืนในการสนับสนุน

(1) การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ

(2) การจัดทำโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด

5. สองจุดยืนดังกล่าวเป็นหลักการพื้นฐานที่พรรคก้าวไกลมองว่ามีความสำคัญต่อการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้งที่มา-กระบวนการ-เนื้อหา เป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกฝ่าย และสะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคมที่โอบรับทุกความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

6. หากในอนาคต ทางรัฐบาลยืนยัน หรือทางคณะกรรมการศึกษาฯ ได้ข้อสรุปร่วมกัน ว่าจะเดินหน้าภายใต้ 2 จุดยืนดังกล่าว พรรค ก.ก.จะยินดีให้ตัวแทนพรรคเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการ เพื่อทำงานร่วมกันในการหาข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องแนวทางการทำประชามติ เช่น จำนวนครั้ง กรอบเวลา คำถาม และแนวทางด้านอื่นๆ เช่น จำนวน ส.ส.ร. กรอบเวลาทำงานของ ส.ส.ร.

7. พรรค ก.ก.ยืนยันว่า เป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่เพียงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยพรรค ก.ก.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลและคณะกรรมการจะได้ข้อสรุปโดยเร็วในการเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด

 

ขณะที่ความเห็นจากคอลัมนิสต์การเมือง “ใบตองแห้ง” อธึกกิต แสวงสุข ฉายภาพรวมคณะกรรมการชุดนี้ ในรายการ “The Politics X ใบตองแห้ง” ทาง “Youtube มติชนทีวี” ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็น “ตัวแทน” ของรายชื่อต่างๆ ในคณะกรรมการ เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ได้จริงหรือไม่

การแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย จะไม่แตะหมวด 1 และ 2 และไม่แตะพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่แทรกในหมวดต่างๆ เมื่อเทียบกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล หรือข้อเสนอของกลุ่มไอลอว์ (iLaw) ที่เสนอให้ 1.แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2.ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อป้องกันการร่างรัฐธรรมนูญโดยใช้ “เนติบริกร” หรือป้องกันอำนาจพิเศษต่างๆ เข้ามาแทรกแซงการร่างรัฐธรรมนูญ

นายอธึกกิตกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมักจะอ้างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด แต่กลับไม่พูดถึงหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เลย ทั้งที่มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกแก้ไข หลังการทำประชามติของประชาชนอีกด้วย

นายอธึกกิตกล่าวต่อว่า ระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 4 ปี เป็นเพียงการยื้อเวลา เพราะถ้าคิดจะแก้รัฐธรรมนูญโดยมีเป้าหมายแบบพรรคเพื่อไทยนั้น แค่แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 256 เปิดช่องไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่นายวิษณุ เครืองาม เคยแนะนำไว้ก็ได้ ใช้เวลาเพียง 2 ปีก็สามารถแก้ไขได้แล้ว ไม่ต้องทำประชามติ การบอกว่าจะใช้ระยะเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 4 ปีเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น

 

ด้านยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กต่อคณะกรรมการชุดนี้ เนื้อหาบางส่วนระบุว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยังคาดเดาไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะไม่รู้กรรมการชุดใหม่จะทำงานนานไหม และสรุปอะไรได้ออกมาบ้าง

ถ้าเริ่มนับหนึ่งได้วันนี้ คงใช้เวลาอีกประมาณสองปีกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่

“วันนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้ทำประชามติไหม สิ่งที่ทำได้ จึงต้องช่วยกันทวงถามรัฐบาลใหม่ไปเรื่อยๆ ว่าอย่าช้า อย่าถ่วงเวลา เริ่มให้เร็วตามที่แถลงการณ์”

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า คณะกรรมการชุดนี้จะขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นในเร็ววันได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การเดินหมากเพื่อซื้อเวลาให้รัฐบาลอยู่ได้ครบวาระ 4 ปี