‘เศรษฐา’ เครื่องร้อน เปิดทำเนียบถกผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ดึงนั่งบอร์ดแจกเงินดิจิทัล ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

‘เศรษฐา’ เครื่องร้อน

เปิดทำเนียบถกผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

ดึงนั่งบอร์ดแจกเงินดิจิทัล

ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

 

หลังจากส่งเสียงท้วงติงจากฟากฝั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล อย่าง “พักหนี้” และ “แจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” จนเกิดกระแสข่าวลือสะพัดว่า จะมีการปลดผู้ว่าการ ธปท.

กระทั่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่คิดจะปลดใคร

อย่างไรก็ตาม หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดำเนินนโยบายอย่างค่อนข้างเข้มงวด ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อปี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี สูงสุดในรอบ 10 ปี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า รอบนี้ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแล้วก็ตาม

นั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับเทียบเชิญจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เข้าไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่กระทรวงการคลัง ระบุว่า การหารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ เป็นการพูดคุยกันเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมทุกเรื่อง มีการหารือกันถึงนโยบายที่รัฐบาลกำลังจะทำ เพื่อฟังความเห็น และฟังข้อมูล ตลอดจนข้อเสนอของ ธปท.

“เป็นการหารือกันธรรมดาของ 2 องค์กร การหารือเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ 2 คนคุยกัน คุยกันด้วยดี และจะมีการพบกันอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งกัน ไม่มีเลย และไม่มีแน่นอน กับผู้ว่าฯ ก็อาจจะมีการนัดคุยกันอีก 2-3 อาทิตย์ หรืออาจจะเร็วกว่านั้น”

นายเศรษฐากล่าวด้วยว่า การพูดคุยดังกล่าว ต่างคนต่างทบทวน ไม่ได้เรียกมาจัดฉาก แต่เป็นการเรียกมาเพื่อคุย เพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติทุกเรื่องที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน

“ในฐานะที่ ธปท.เป็นผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ในเมื่อผมเชิญท่านมา ก็ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นแน่นอน” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า ตนกังวลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน ขณะที่ข้อเสนอแนะของ ธปท.ตนก็รับฟัง ซึ่งก็มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยผู้ว่าฯ ธปท.ก็ได้ฝากนโยบายในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งบางเรื่องตนไม่ได้คิดไว้ ธปท.ก็เสนอว่าควรต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงนโยบายในอนาคตหลายๆ เรื่อง โดยหลังจากนี้จะมีการคุยกันบ่อยขึ้น

“เราก็ต่างเป็นผู้ใหญ่ซึ่งกันและกัน จะเห็นตรงกันทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็พูดคุยกันด้วยเหตุและผล ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้ ยังไม่มีประเด็นนำไปสู่การปรับนโยบายที่รัฐบาลเคยพูดไว้แล้ว ก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน และมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังกล่าว

 

ขณะที่ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 ตุลาคม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ซึ่งเป็นชุดใหญ่ มีกรรมการมากถึง 28 คน โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานด้วยตัวเอง

โดยมีรองนายกรัฐมนตรี 3 คน พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นรองประธานกรรมการ ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 2 คน เป็นกรรมการ รวมถึงยังมีกรรมการตามตำแหน่งอีกหลายคน

ในจำนวนดังกล่าว มีชื่อผู้ว่าการ ธปท. เป็นกรรมการในบอร์ดชุดนี้ด้วย ตลอดจนเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประธานสมาคมธนาคารไทย ปลัดดีอีเอส ปลัดกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ดูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่กรอบโครงการ รายละเอียด ที่มางบประมาณ ทั้งนี้ โครงสร้างและกลไกที่จะใช้ รวมถึงการติดตามตรวจสอบประเมินผลในขั้นสุดท้าย จึงเป็นคณะกรรมการที่จะอยู่ยาว จนเสร็จสิ้นภารกิจ

 

ด้านนายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า มาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5.6 แสนล้านบาท ทำให้ GDP ในปี 2567 เติบโตได้ที่ 5% และในระยะยาว นโยบายดังกล่าวจะวางรากฐานสำหรับระบบการชำระเงินผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนทั่วประเทศ

พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลตระหนักดีว่า ทุกนโยบายต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังที่สมดุล เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน อันดับความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงประเทศ ซึ่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือส่วนใหญ่ จัดให้ไทยอยู่ในระดับเชิงบวก เช่น Moody’s ที่จัดให้ไทยมีอันดับเครดิตเสถียรภาพ (Stable Outlook) สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยไทยยังมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก สัดส่วนทุนสำรองต่อมูลค่าสินค้านำเข้าอยู่ที่ 10 เท่า ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จึงเป็นหลักประกันได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

“ยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบและประสานการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อรักษาสมดุลของงบประมาณรายจ่ายและรายรับ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า มาตรการที่ทำไปก่อนหน้านี้ ทั้งการลดราคาพลังงาน การปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร และมาตรการเปิดฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ในส่วนนี้ก็ช่วยเพิ่มจำนวนตัวเลขการจองห้องพักของไทยเพิ่มขึ้นถึง 60%

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่เน้นทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมของไทยให้สามารถเติบโตได้ในเศรษฐกิจโลกใหม่ รวมถึงพยายามขยายตลาดการค้าและส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการเจรจาการค้าเสรี (FTA) และ ความร่วมมือเอเปค และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทย และช่วยให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังระบุถึงการหารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมจัดโรดโชว์สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย หลังจากช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ขายสุทธิทะลุ 162,000 ล้านบาทไปแล้ว

รวมถึงปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องแหล่งที่มาของเงินในการทำนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่นักลงทุนกังวล จนรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ขึ้นมา เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนั่นเอง

มองไปข้างหน้า หากไม่ปรับนโยบายให้เหมาะสม ลดความเสี่ยงทางการคลังลง รัฐบาลคงต้องออกแรงอีกมากเลยทีเดียว