THE WONDERFUL STORY OF HENRY SUGAR | ‘หนังสือภาพยนตร์’

นพมาส แววหงส์

สมัยก่อนผู้เขียนได้อ่านหนังสือของโรอัลด์ ดาห์ล อยู่หลายเรื่อง ดาห์ลเป็นนักเขียนหนังสือ/นักเล่านิทานที่สรรค์สร้างจากจินตนาการบรรเจิดได้อย่างยอดเยี่ยม และใช้สำนวนภาษาที่กินใจได้ความมาก

หนังสือของเขากลายมาเป็นภาพยนตร์ที่เรารู้จักกันอยู่หลายเรื่อง อาทิ

Charlie and the Chocolate Factory (จอห์นนี เดปป์, เฮเลนา บอนเนม คาร์เตอร์) ซึ่งมีทิม เบอร์ตัน กำกับฯ

Matilda (แดนนี เดอวีโต, เอ็มเบธ ดาวิดซ์) ซึ่งมีแดนนี เดอวีโต กำกับฯ

The Witches (แอนน์ แฮธาเวย์, สแตนลีย์ ทุชชี, โอลิเวีย สเปนเซอร์) ซึ่งมีโรเบิร์ต เซเมคคิส กำกับฯ

และ Fantastic Mr. Fox (จอร์จ คลูนีย์, เมอริล สตรีป, บิลล์ เมอร์เรย์) ซึ่งมีเวส แอนเดอร์สัน กำกับฯ

หนังเรื่องที่เราจะพูดกันถึงนี้ก็เป็นผลงานล่าสุดของเวส แอนเดอร์สัน ผู้กำกับฯ ฝีมือดีเจ้าของผลงาน The Royal Tenenbaums, The Grand Budapest, Asteroid City นี่แหละค่ะ

The Wonderful Story of Henry Sugar เป็นหนังขนาดสั้น ความยาว 37 นาที ซึ่งผลิตให้เน็ตฟลิกซ์ และเพิ่งออกฉายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ผู้เขียนเปิดผ่านโดยบังเอิญ และสะดุดตากับสีสันจัดจ้านของโปสเตอร์ รวมทั้งผู้แสดงนำคนโปรดคือ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ในแคแร็กเตอร์ที่อยู่ในชื่อเรื่อง

อุแม่เจ้า! ดูแล้วนั่งอึ้งนิ่งขึงตะลึงตะไลแต่ต้นจนจบไปเลย หนังฉบับกระเป๋าเรื่องนี้รวมดาราชั้นแนวหน้ามือหนึ่งของวงการมากหน้าหลายตา มีทั้งเรฟ ไฟน์ส, เดฟ พาเทล และเบน คิงส์ลีย์

ด้วยฝีมือการเล่าเรื่อง จัดภาพและกำกับฯ ที่โดดเด่นด้วยสไตล์แหวกแนวไม่ซ้ำใครของเวส แอนเดอร์สัน ซึ่งใช้อารมณ์ขันแบบหน้าตายเอาจริงเอาจังเสียจนจี้เส้นคนดู

เป็นหนังที่ให้เกียรติแก่ผู้ประพันธ์เจ้าของเรื่องอย่างสูงสุด เนื่องจากสไตล์การเขียนและสำนวนภาษาของโรอัลด์ ดาห์ล มีเสน่ห์หาตัวจับยากจนถ้าเปลี่ยนไปพูดในแบบอื่นหรือสลับที่ไปแล้ว ก็อาจเสียหรือไม่ได้อรรถรสเทียมเท่าต้นฉบับ

หนังจึงเทียบได้กับเป็น “หนังสือเสียง” หรือ audio-book ที่มีมิติใหม่เป็นภาพเคลื่อนไหวประกอบเพิ่มอรรถรสมาด้วย จะเรียกว่า movie-book, moving-picture book

หรือเก๋ไก๋ขึ้นอีกหน่อยคือ cinematic book ก็น่าจะเรียกได้

โรอัลด์ ดาห์ล เป็นนักเขียนหนังสือเด็กที่ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักเล่านิทานสำหรับเด็กผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20

หนังเรื่องนี้จึงใช้ถ้อยคำที่เรียบเรียงมาอย่างสละสลวยสวยเก๋กินใจของนักประพันธ์เจ้าของเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

โดยเล่าผ่านปากของนักแสดงยอดฝีมือในฐานะผู้เล่าเรื่องและตัวละครสลับกันไป ด้วยความรวดเร็วว่องไวของนักแสดงผู้เจนจบจนทำให้เรื่องราวกระชับและกระชั้น เคลื่อนที่ไปข้างหน้าเหมือนรถไฟด่วนที่วิ่งโดยไม่ยอมจอดยอมพักข้างทางจนไปถึงจุดหมายได้รวดเร็วก่อนกำหนดเวลาที่คาดหมาย

หนังจัดภาพและฉากเหมือนกับการจัดฉากและเปลี่ยนฉากบนเวทีละคร เลื่อนเข้าเลื่อนออก รวมทั้งมีลูกมือช่วยจัดฉาก เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนเครื่องแต่งกายและรับ-ส่งเครื่องประกอบการแสดง (พร็อป) ให้ระหว่างที่นักแสดงเล่นไปเรื่อยๆ แบบต่อเนื่องน็อนสต็อป

นักแสดง-ทั้งที่เป็นผู้เล่าเรื่องและตัวละคร–พูดกับกล้องโดยตรงเหมือนนักแสดงละครเวทีหันหน้าประจันและพูดกับคนดูในโรงละคร แบบที่เรียกด้วยศัพท์การละครว่า ขจัดฝาหรือกำแพงด้านที่สี่ หรือ fourth-wall convention ออกไปเสีย

ตัวนักเขียน (เรฟ ไฟน์ส ซึ่งน่าจะเป็นตัวโรอัลด์ ดาห์ล เอง) ในกระท่อมเล็กๆ ที่เลื่อนฉากได้แบบเวทีละคร เล่าเรื่องอันน่าอัศจรรย์ของเฮนรี ชูการ์ (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) ผู้ร่ำรวยจนไม่ต้องทำงานทำการอะไร เป็นนักพนันที่ใช้เวลาให้หมดไปวันๆ โดยเปล่าประโยชน์

“เราจะเจอคนอย่างเฮนรี ชูการ์ ล่องลอยเหมือนสาหร่ายอยู่ทั่วโลก เราเห็นพวกเขาได้โดยเฉพาะในลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส นัสเซา มอนเตโกเบย์ คานส์ และซานโตรเปซ์ พวกเขาไม่ใช่คนเลวนักหรอก แต่ก็ไม่ใช่คนดีเหมือนกัน พวกเขาไม่มีความสำคัญอะไรเป็นพิเศษ เป็นแค่เครื่องประดับ (โลก) ส่วนหนึ่ง”

อยู่มาวันหนึ่ง เฮนรี ชูการ์ เข้าไปในห้องสมุดและสะดุดตากับหนังสือเล่มบางที่แทรกอยู่บนชั้นหนังสือปกแข็งสวยงาม เขาหยิบมาพลิกดูและได้พบเรื่องราวของชาวอินเดีย อิมดัด ข่าน (เบน คิงส์ลีย์) ที่อ้างว่ามีความสามารถพิเศษของการมองเห็นได้โดยไม่ต้องใช้ดวงตา อิมดัด ข่าน มาขอให้หมอพิสูจน์โดยปิดตาให้มืดสนิทและบอกสิ่งที่ “เห็น” เบื้องหน้าโดยไม่ใช้สายตา…ซึ่งก็ทำได้อย่างน่าทึ่ง

หมอชัตเตอร์จี (เดฟ พาเทล) ซักถามเรื่องราวของความสามารถพิเศษนี้เพราะคิดว่าอาจช่วยคนตาบอดให้มองเห็นได้โดยไม่ต้องใช้นัยน์ตา ซึ่งนำไปสู่เรื่องราวอันพิสดารของอิมดัดในวัยหนุ่มน้อยที่เดินทางเสาะแสวงจนไปพบโยคีผู้ลอยตัวในอากาศได้

และนำวิธีการมาพากเพียรฝึกฝนจนทำได้สำเร็จ

เฮนรีทุ่มเทใช้เวลาหลายปีให้แก่การฝึกทักษะการมองเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาเอ็กซเรย์เหมือนซูเปอร์แมนนี้ โดยมุ่งมั่นอยู่กับการเล่นการพนัน เพื่อจะได้เปรียบเจ้ามือไพ่โดยมองเห็นไพ่ที่คว่ำหน้าอยู่ ฯลฯ

จนทำได้สำเร็จถึงขั้นมีสายตาแทงทะลุไปมองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ และยังบอกสิ่งที่กำลังจะเกิดในอนาคตอันใกล้ได้

เฮนรี ชูการ์ เข้ากาสิโน เล่นชนะพนันและได้เงินมาเป็นปึกๆ

เพียงเพื่อจะพบว่าการได้อะไรมาง่ายๆ โดยไม่ต้องลุ้นนั้นทำให้หมดความตื่นเต้นเร้าใจ เขารู้สึกชืดชาและชิงชังกับเงินที่หามาได้จนต้องไปโยนแบงก์ลงระเบียงให้คนที่อยู่เบื้องล่างแย่งชิงกัน และก่อให้เกิดการจลาจลเล็กๆ ขึ้น

ซึ่งนำไปสู่การที่เขาต้องเผชิญหน้ากับตำรวจ (เรฟ ไฟน์ส ในรูปลักษณ์ใหม่) ผู้มาให้คำแนะนำให้เขาหาหนทางบริจาคเงินที่เข้าท่ากว่าการแจกเงินผู้คนตามท้องถนน

อันนำไปสู่การสร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในชื่อของเฮนรี ชูการ์

เป็นเรื่องราวที่มหัศจรรย์พันลึก ให้ข้อคิดดีๆ และหักมุมไปมา เล่าด้วยอารมณ์ขันแบบหน้าตายตามแบบฉบับของเวส แอนเดอร์สัน ด้วยองค์ประกอบสิ่งละอันพันละน้อยที่ลงตัวพอดิบพอดี

หลังจากดูหนังสั้นเรื่องนี้ไปไม่กี่วัน ก็ได้เห็นหนังในชุดเดียวกันตามมาอีกสามเรื่องจากหนังสือของโรอัลด์ ดาห์ล คือ The Swan และ The Rat Catcher

นักแสดงชุดเดียวกันเลยค่ะ เรื่องราวสนุกและคาดเดาไม่ได้ตามสไตล์ของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ และด้วยฝีมือแหวกแนวชวนติดตามของเวส แอนเดอร์สัน…

เชิญติดตามดูได้ทางเน็ตฟลิกซ์นะคะ •

THE WONDERFUL STORY OF HENRY SUGAR 

กำกับการแสดง

Wes Anderson

แสดงนำ

Ralph Fiennes

Benedict Cumberbatch

Dev Patel

Ben Kingsley

Richard Ayoado

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์