เอเชี่ยนเกมส์ กับความโปร่งใส | พิศณุ นิลกลัด

การได้เหรียญทอง เหรียญแรกของไทยในเอเชี่ยนเกมส์ 2023 ของน้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เชื่อว่าแฟนกีฬาชาวไทย มีหลายอารมณ์ผสมกัน

เริ่มจากตื่นเต้น ต่อด้วยโมโห หัวใจจะวาย สะใจ และดีใจสุดขีด เรียงลำดับอารมณ์ตั้งแต่ต้นจนจบเกม เหมือนกำลังดูละครที่มีน้องเทนนิสเป็นนางเอก

รวมถึงน้ำตาไหลไปกับน้องเทนนิส เมื่อได้ฟังสัมภาษณ์หลังการแข่งขันที่เธอบอกว่า

“นี่เป็นเอเชี่ยนเกมส์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต ไม่เคยเจอเจ้าภาพที่ทำแบบนี้ แต่พอประท้วงสำเร็จก็มีความหวัง และไม่อยากยอมแพ้”

 

มีการแข่งขันระดับนานาชาติทีไร แฟนกีฬามีเรื่องหงุดหงิดใจกับเจ้าภาพเสมอ ทั้งๆ ที่จุดประสงค์สำคัญของการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ก็เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีระหว่างชาติต่างๆ ผ่านทางการแข่งกีฬา

ย้อนไปสมัยการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ 2014 ที่เมืองอินชอน เกาหลีใต้ จากการทำโพลสำรวจคนไทย 1,341 คน ของสวนดุสิตโพล พบว่า สิ่งที่คนไทยประทับใจที่สุดในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ คือ…

84.29% ดีใจที่นักกีฬาไทยสามารถคว้าเหรียญทองได้เพิ่มขึ้นจากกีฬาบางประเภทที่ไม่ได้คาดหวังไว้

80.77% ประทับใจนักกีฬาไทยที่มุ่งมั่นตั้งใจในการแข่งขันเต็มที่

สำหรับสิ่งที่คนไทยผิดหวังมากที่สุดในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ 2014 ที่เกาหลีใต้ คือ…

79.81% เจ้าภาพไม่โปร่งใส การได้ชัยชนะอย่างไม่ใสสะอาด

68.91% การตัดสินที่ไม่เป็นธรรมของกรรมการ

 

ที่ผ่านมา เอเชี่ยนเกมส์หลายครั้งก็ไม่บรรลุเป้าหมายในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของกลุ่มประเทศในเอเชียสักเท่าไหร่ เพราะมีเรื่องการตัดสินบางประเภทกีฬาที่ไม่โปร่งใส ทำให้ประเทศเจ้าบ้านได้เปรียบ คนในประเทศที่นักกีฬาไม่ได้รับความยุติธรรมก็รู้สึกไม่พอใจประเทศเจ้าบ้าน หงุดหงิดกรรมการชาติที่เป็นผู้ตัดสิน หมั่นไส้กองเชียร์เจ้าบ้านที่หลับหูหลับตาดีใจโดยไม่ดูการแข่งขันด้วยสายตาที่เป็นธรรม

ในหลายประเทศ กีฬาเป็นสิ่งช่วยในการพัฒนากล่อมเกลานิสัยใจคอให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม เพราะการเล่นกีฬาสามารถสอนหลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันนอกสนามกีฬา เช่น สอนให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ และสอนให้รู้จักเคารพกฎ กติกา มารยาท สอนให้มีระเบียบวินัย และสอนให้รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น

การพ่ายแพ้กีฬาไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะในชีวิตคนเราทุกคนไม่มีทางที่จะชนะไปซะทุกเรื่อง

การชนะด้วยการคดโกงต่างหากที่เป็นเรื่องน่าอับอาย

นักกีฬาทุกคนก็ต้องการชนะด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อวันที่ตัวเองแพ้ ก็ต้องรู้จักยอมรับความพ่ายแพ้และดำเนินชีวิตต่อไป

ว่าแล้ว ความพ่ายแพ้สอนประสบการณ์ที่มีค่าให้กับชีวิตว่าเมื่อล้มแล้ว ก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ใหม่ อย่าท้อ อย่าหมดหวัง

 

ที่อเมริกาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เยาวชนเล่นกีฬาตั้งแต่เล็กๆ เพราะเชื่อว่า กีฬานอกจากมีประโยชน์ในการพัฒนาของร่างกายแล้ว ยังช่วยพัฒนานิสัยใจคอให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

กฎหมายของอเมริกาบัญญัติไว้เลยว่าโรงเรียนไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธนักเรียนพิการเข้าร่วมทีมกีฬาของโรงเรียน โดยทางกรรมการสามารถยืดหยุ่นกฎเพื่อประยุกต์ให้เหมาะสมกับนักเรียนพิการที่ลงแข่งขันกีฬานั้นๆ

แต่ถ้าหากต้องเปลี่ยนแปลงกฎการแข่งขันอย่างมาก ทางโรงเรียนจะต้องจัดโปรแกรมกีฬาพิเศษสำหรับนักเรียนที่พิการคนนั้นๆ โดยเฉพาะ

รัฐบาลอเมริกาให้ความสำคัญกับการเล่นกีฬาสำหรับเยาวชนที่พิการมาก เพราะเห็นว่ากีฬาสามารถสอนคุณธรรมที่สำคัญในชีวิตหลายอย่าง เช่น การเป็นคนเคารพกฎ กติกา ไม่เห็นแก่ตัว ความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ

ดังนั้น นักเรียนพิการต้องได้รับสิทธิ์ในการเล่นกีฬาเหมือนกับนักเรียนปกติทั่วไป เพื่อได้บทเรียนชีวิตที่มีค่าจากการเล่นกีฬา โตไปจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกา เปิดสอนวิชาจริยธรรมกีฬา หรือ Ethics in Sport เพราะเชื่อว่ากีฬาสามารถช่วยกล่อมเกลานิสัยของคน ซึ่งมีผลต่อสังคมโดยรวมนอกสนามแข่ง

เมื่อนักกีฬารู้จักเคารพกฎ กติกา เคารพคู่ต่อสู้ กรรมการตัดสินด้วยความยุติธรรม แข่งขันสุดความสามารถของตัวเอง สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นคุณสมบัติที่ดีติดตัวและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

 

การเล่นกีฬาสามารถบ่งบอกนิสัยใจคอของคนได้ลึกซึ้ง

มาร์ก แม็กคอร์แม็ก (Mark McCormack) ผู้ก่อตั้งเอเยนซี่ IMG ซึ่งเป็นเอเยนซี่ของนักกีฬาดังของโลกมากมาย เคยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ What They Don’t Teach You at Harvard Business School ว่า เขาสามารถทำนายนิสัยใจคอของผู้คนได้แม่นยำว่ามีนิสัยในการทำธุรกิจเป็นอย่างไรจากการออกรอบเล่นกอล์ฟด้วยกันแค่ 18 หลุม

การออกรอบเล่นกอล์ฟด้วยกัน 1 รอบ สามารถเรียนรู้นิสัยของคนคนนั้นได้มากกว่าการประชุมร่วมกันเป็นร้อยชั่วโมงซะอีก