‘งานตำรวจ’ ที่ฝันเห็น

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

‘งานตำรวจ’ ที่ฝันเห็น

 

ในช่วงที่ผ่านมา เรื่องราวที่กระหึ่มในความรับรู้ของประชาชน ไม่น่าจะมีเรื่องใดยิ่งไปกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแวดวงตำรวจ

ก่อนการแต่งตั้ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ปรากฏคดีสะท้อนสะเทือนวงการ ระดับ “รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ถูกค้นบ้านฐานเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์พนันออนไลน์

นายตำรวจเรียงหน้ากันออกมายืนยันถึงหลักฐานที่ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความฟอนเฟะที่ก่อความเสื่อมศรัทธาใน “วงการสีกากี” รุนแรง โดยมีปรากฏการณ์ส่วยมาเฟียก่อนหน้านั้นกัดกินภาพลักษณ์ตำรวจเสียหายหนักจากการไม่ทำหน้าที่ที่ควรทำ

ไม่มีเสียงเรียกร้องให้ “ปฏิรูปตำรวจ” อย่างที่เคยเป็นมา เพราะผู้คนเอือมระอาจนสิ้นหวังว่าถ้าผู้มีอำนาจคิดจะทำก็คงทำไปนานแล้ว

สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเป็นงานต้องทำ เป็นเรื่องของการลงทุนเพื่อเทงบประมาณไปสร้างอะไรบางอย่าง

เช่น ล่าสุด “สำนักกิจการยุติธรรม” หน่วยงานหนึ่งในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่ค่อยได้ยินบทบาทอะไรมากมาย คงคิดว่าจะใช้งบฯ ทำแอพพลิเคชั่น ด้วยข้ออ้างถึงความสะดวกของประชาขนในการเข้าถึงบริการของตำรวจ

เป็นอีกช่องทางในหลายช่องทางที่จัดทำกันมาตลอด แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้เลย เพราะเอาเข้าใจจริงประชาชนจะได้รับการดูแลหรือไม่ เป็นเรื่องของความใส่ใจงานในหน้าที่ ซึ่งต้องเน้นที่ความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่าที่จะมุ่งปฏิบัติการในงานที่เอื้อผลประโยชน์ให้ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นอีกครั้งของการหาหนทางเพื่อใช้งบประมาณโดยมีความสะดวกของประชาชนเป็นข้ออ้าง โดยยังไม่รู้ว่าทำแล้วจะเกิดประโยชน์จริงหรือไม่

 

แต่การร่วมมือกับ “นิด้าโพล” สำรวจความเห็นเรื่อง “ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม” ครั้งนี้ก็ทำให้เห็นภาพบางอย่างที่พอเป็นช่องทางให้รับรู้ความต้องการของชาวบ้านร้านตลาดได้

ในคำถาม “ความเชื่อมั่นต่อมาตรการของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดูแลความปลอดภัยในร่างกายและทรัพย์สิน” พบว่า ร้อยละ 41.91 ไม่ค่อยเชื่อมั่น, ร้อยละ 33.59 ค่อนข้างเชื่อมั่น, ร้อยละ 12.98 ไม่เชื่อมั่นเลย และร้อยละ 11.52 เชื่อมั่นมาก

เป็นการยืนยันว่าการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ส่วนนี้ยังต้องปรับปรุง

ที่น่าสนใจคือคำถามที่ว่า “เรื่องที่ต้องการทราบหากหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมจะมีการจัดทำระบบ หรือแอพพลิเคชั่น (Application) เพื่อการเรียนรู้กฎหมายในช่องทางออนไลน์”

ซึ่งอาจจะเพื่อเป็นเหตุผลว่าต้องลงทุนทำแอพพ์ก็ว่ากันไป แต่ที่คำตอบในเรื่องนี้สะท้อนถึงความต้องการของประชาชน

มากที่สุด ร้อยละ 58.55 ระบุว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกลโกงในสื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media)

รองลงมา ร้อยละ 53.21 เรื่องช่องทางการดำเนินการจากการถูกฉ้อโกงของมิจฉาชีพ

ร้อยละ 51.22 เรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

ร้อยละ 37.33 เรื่องช่องทางการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

ร้อยละ 36.64 เรื่องกฎหมายจราจร

ร้อยละ 32.67 เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ร้อยละ 29.08 เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินและหนี้นอกระบบ

ร้อยละ 28.02 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน

ร้อยละ 24.43 เรื่องการขอรับความช่วยเหลือหรือเยียวยา ในกรณีตกเป็นผู้เสียหายหรือแพะจากการถูกดำเนินคดี

ร้อยละ 15.42 เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดี และคดีล้มละลาย

ร้อยละ 13.89 เรื่องการดำเนินคดีการประกันตัว ค่าธรรมเนียมศาล ทนายความ

และร้อยละ 12.44 เรื่องกฎหมายประกันภัย

 

แม้ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่าหากจะลงทุนทำแอพพ์ขึ้นมา ด้วยใส่ข้อมูลในเรื่องไหนเป็นสำคัญ

แต่ที่ผลสำรวจนี้สะท้อนถึงปัญหาที่ประชาชนรู้สึกว่าสร้างความเดือดร้อนให้ และพึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ จำเป็นต้องหาทางเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ในอีกความหมายหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องควรให้น้ำหนักความใส่ใจกับปัญหาเหล่านี้ให้มาก เพื่อแก้ความเดือดร้อน เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้

ควรใช้เวลาในการทำงานเพื่อเยียวยาความสิ้นหวังจากการพึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องเหล่านี้ ให้มากกว่าไปวุ่นวายกับการทำงานที่เอื้อต่อประโยชน์ส่วนตัว จนภาพลักษณ์เน่าเหมือนที่ผ่านมา

หลังมีการแต่งตั้ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” เรียบร้อย ความขัดแย้งภายในที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดเสียงเรียกร้องปฏิรูปตำรวจดูเหมือนจะหมดไป เกิดความรักใคร่สามัคคีกันอย่างกะทันหัน และดูดดื่ม

เหมือนเป็นสัญญาณว่าวงจรพฤติกรรมที่เคยเป็นมาอย่างไรจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไป

ไม่มีใครใส่ใจงานที่ประชาชนอยากให้ทำ เคยเป็นมาอย่างไรจะยังคงเป็นอย่างนั้น