ได้อำนาจนั้นยาก รักษาอำนาจยากยิ่งกว่า ตอนที่ 2 : การไม่สามารถรักษาอำนาจ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ได้อำนาจนั้นยาก

รักษาอำนาจยากยิ่งกว่า

ตอนที่ 2 : การไม่สามารถรักษาอำนาจ

 

แทบทุกครั้งที่พรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทย พลังประชาชน) มีอำนาจทางการเมืองโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ การสิ้นสุดของอำนาจกลับจบลงอย่างไม่สวยงามนัก

สองครั้ง จบลงด้วยการรัฐประหาร คือ ปี พ.ศ.2549 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และปี พ.ศ.2557 สมัยนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หนึ่งครั้งด้วยการให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญของนายสมัคร สุนทรเวช ในปี พ.ศ.2551

และหนึ่งครั้งจากการยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิทางการเมืองทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในปี พ.ศ.2551

อะไรคือมูลเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้ศึกษาวิจัยทางการเมืองควรมีคำตอบเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย

 

ความไม่ไว้วางใจของกลุ่มอนุรักษนิยม

การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ.2541 เป็นภาพของพรรคการเมืองสมัยใหม่ มีนโยบายที่ก้าวหน้าทันสมัยและตรงกับความต้องการของประชาชน หลายนโยบายมาจากการศึกษาวิจัยและลงไปเก็บข้อมูลปัญหาความต้องการของประชาชน ผนวกกับความสามารถทางการตลาดแบบนักธุรกิจ ทำให้นโยบายกลายเป็นคำสั้นๆ ที่ติดปากประชาชน เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กองทุนหมู่บ้าน พักชำระหนี้เกษตรกร

ความสำเร็จในการเสนอนโยบายจนกลายเป็นความสำเร็จในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึงสองครั้ง คือ ได้ 248 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่งในปี พ.ศ.2544 และได้ 377 จาก 500 ที่นั่งในปี 2548

กลายเป็นความไม่วางใจของฝ่ายอนุรักษนิยมว่าการเพิ่มขึ้นในกระแสความนิยมของประชาชนอย่างรวดเร็วนั้นอาจกลายเป็นภาวะคุกคามต่อขั้วอำนาจเดิมที่หากปล่อยไว้ให้แต้มไหลต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการสกัดกั้น

วันหนึ่งข้างหน้าอาจกลายเป็นอำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบใดๆ ได้

 

ภาพของธุรกิจการเมือง

การรวมตัวของนักธุรกิจที่ประกอบเป็นพรรคการเมือง มีทั้งส่วนที่เป็นทุนใหญ่ระดับประเทศและนักธุรกิจในแต่ละพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นมุ้งการเมืองต่างๆ

การเลือกตั้ง จึงเหมือนการลงทุนทางธุรกิจอย่างหนึ่งซึ่งเมื่อได้มาซึ่งอำนาจรัฐก็ใช้เป็นเครื่องมือในการถอนทุนคืน

ในขณะที่การพยายามรักษาอำนาจจำเป็นต้องต้นทุนค่าใช้จ่ายหล่อเลี้ยงพรรคและบุคลากรของพรรค ยิ่งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ มีบุคลากรจำนวนมาก มี ส.ส.จำนวนมาก ค่าใช่จ่ายต่างๆ ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

การต้องใช้อำนาจจากกลไกของรัฐหลายเรื่องจึงมีลักษณะการแสวงหาประโยชน์เข้าแก่กลุ่มตนและพวกพ้อง จนกลายเป็นคดีที่ถูกศาลพิพากษาตัดสินจำคุกมากมาย

พรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทย ตกอยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกัน ดังจะเห็นได้จากมีกรณีที่เป็นผลการพิพากษาของศาลหลายเรื่อง นับแต่กรณีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษก คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีทุจริตหวยบนดิน คดีแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม คดีขายข้าวแบบจีทูจี คดีรับจำนำข้าว คดีบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น

จึงเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยในสมัยนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน พึงระมัดระวังสูงสุด ไม่ให้เกิดการใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจที่มีส่วนสนับสนุนทางการเมืองอันนำไปสู่เหตุอันไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกับในอดีต

 

นโยบายประชานิยมสุดขั้ว

ความสำเร็จในการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งมาจากการนำเสนอนโยบายที่จูงใจประชาชนในลักษณะการเสนอประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชนในแนวประชานิยม (Populism)

นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลและเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินทั้งในส่วนที่ไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เนื่องจากไม่ใช่งบฯ เพื่อการลงทุนและยังอาจเพิ่มภาระหนี้สาธารณะที่ต้องใช้คืนมากยิ่งขึ้น

นโยบายประชานิยม จึงกลายเป็นเครื่องมือหาเสียงของแทบจะทุกพรรคการเมืองในลักษณะที่เสนอตัวเลขแข่งขันที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

เช่น การเสนอตัวเลขค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เงินเดือนคนจบปริญญาตรี เงินช่วยคนพิการคนสูงอายุ จนถึงการแจกเงินจากกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) จำนวน 10,000 บาท แก่คนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปซึ่งต้องใช้เงินรวมในปีงบประมาณเดียวถึง 56,000 ล้านบาท

การติดในกับดักของนโยบายประชานิยมจึงเป็นเรื่องที่เดินหน้าก็ลำบาก ถอยหลังก็ไม่ได้

หากเดินหน้าก็สร้างภาระทางการเงินการคลังต่อประเทศอาจถึงขั้นวิกฤต

ถอยหลังก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในนโยบายหาเสียงและตอกย้ำมาตลอดทำให้ประชาชนคาดหวังว่าต้องได้

หากบอกแล้วไม่ทำหรือทำไม่ได้ก็จะมีผลต่อคะแนนนิยมในอนาคต

 

การกินรวบทางการเมือง

ในทุกครั้งของการเป็นรัฐบาลนับแต่พรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทย เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเป็นเสียงที่มีความมั่นคงมากจากการจับมือของกลุ่มก๊วนภายในพรรคและจากการจับมือกับพรรคการเมืองอื่นที่เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล

สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 พรรคไทยรักไทยที่เดิมได้ ส.ส.248 ที่นั่ง ได้พรรคเสรีธรรมอีก 14 เสียง ที่มีนายประจวบ ไชยสาส์น เป็นหัวหน้าพรรคได้มีมติยุบรวมตัวเองรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2544 กลายเป็น 262 เสียง

จากนั้น ก็มีการควบรวมพรรคความหวังใหม่ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ามาอีกพรรคหนึ่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2545 กลายเป็นพรรคที่มีเสียงในสภาพรรคเดียวถึง 295 เสียง

และจนถึงท้ายสมัยของรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2547 ก็ยังมีการยุบรวมพรรคชาติพัฒนาที่มี 29 ที่นั่งซึ่งมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นหัวหน้าพรรคมารวมเป็นส่วนหนึ่งของพรรคไทยรักไทยอีกพรรคหนึ่งกลายเป็น 324 ที่นั่ง

การเลือกตั้งเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 พรรคไทยรักไทยที่เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ มีการดึงกลุ่มการเมืองท้องถิ่นจากชลบุรี และบุรีรัมย์ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรค เป็นผลให้สามารถชนะการเลือกตั้งได้อย่างท่วมท้น ถึง 377 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง เป็นพรรคที่ครอบครองเสียงข้างมากเกิน 3 ใน 4 ของสภาด้วยพรรคการเมืองเดียว

การกินรวบทางการเมือง การมีเสียงในสภาที่ท่วมท้น ด้านหนึ่งคือความมั่นคงทางการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งคือการปิดช่องทางในการตรวจสอบและการใช้กลไกของฝ่ายค้านในสภา ทำให้กลายเป็นความอึดอัดทางการเมืองและนำไปสู่การใช้กลไกนอกสภาเพื่อแก้ปัญหา

 

ประวัติศาสตร์ที่ไม่ซ้ำรอย?

รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันที่มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของพรรค คือนายเศรษฐา ทวีสิน ต่อจากนายทักษิณ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาลที่มีความมั่นคงของเสียงในสภา ประกอบด้วยพรรคการเมือง 11 พรรค 314 เสียง

ประวัติศาสตร์ในอดีตพิสูจน์แล้วว่า เสียงที่มั่นคงในสภา ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกถึงความมั่นคงในทางการเมืองของรัฐบาล เพราะแม้จะมีพรรคเดียวถึง 377 เสียง ก็ยังจบลงด้วยสิ่งที่เป็นอำนาจนอกสภา

รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน จึงต้องนำบทเรียนความผิดพลาดในอดีตมาใช้เพื่อป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

ประวัติศาสตร์มีให้เรียนรู้ เพียงแต่จะสนใจรับฟังหรือไม่เท่านั้น