ฤๅเมื่อพันปี เคยมี ‘ชาวจาม’ อพยพมาอยู่ลำพูน?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

พระเจ้าอินทรวรมันหนีไดเวียดไปทางทิศตะวันตก

จากบันทึกของนายอองรี ปามองติเยร์ สถาปนิก-นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสผู้ค้นพบกลุ่มประติมากรรมหินขนาดใหญ่เป็นคนแรก ที่ดิฉันได้นำเสนอไปเมื่อฉบับก่อน (โปรดอ่านบทความนี้ตอนที่แล้วประกอบกัน) ระหว่างปี ค.ศ.1902 และอีกครั้งเมื่อ 1934 ได้พรรณนาว่า

“ปราสาทดงเดือง เท่าที่ตรวจสอบดู น่าจะเป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในบรรดาปราสาทของศิลปะจามทั้งหมด เพราะลำพังโคปุระ 4 ด้านนั้น ก็แสนจะมหึมาแล้ว น่าเสียดายที่ทั้งปราสาทและพระราชวังที่สร้างโดยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 แห่งราชวงศ์อินทรปุระ ได้ถูกชาว ‘ไดเวียด’ เผาทำลาย ทำให้ศิลปะยุคดงเดืองมีอายุอยู่เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น แค่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10”

ต่อมา ดร.ปิแยร์ บับติสต์ (Dr. Pierre Baptiste) ภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีแห่งพิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้ลงพื้นที่ศึกษาซากศาสนสถานที่ปราสาทดงเดือง ประเทศเวียดนามอย่างละเอียด เมื่อ พ.ศ.2548 ได้ให้ความเห็นว่า

“ที่ปราสาทดงเดืองนี้ พบประติมากรรมหินขนาดใหญ่จำนวนมาก รูปที่เรามักเรียก เทวดา หรือทวารบาล นั้น เมื่อไปตรวจสอบกับข้อความในศิลาจารึก ตรงกับ พ.ศ.1418 ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง ผมอ่านข้อความได้ว่า ปราสาทดงเดืองแห่งนี้ ตั้งใจสร้างถวายให้แก่เทวดานพเคราะห์ (Navahraha- Nine Planets) ทั้งเก้าองค์ตามความเชื่อของคัมภีร์อัคนีปุรานะ”

ซ้าย ประติมากรรมดินเผาจากเวียงมโน ใบหน้าไม่ดุดันแบบศิลปะหริภุญไชยกลุ่มใหญ่ที่มักมีหนวด ขวา พระโพธิสัตว์หินทราย ศิลปะจามสมัยบิญดิญหลังยุคดงเดือง พบที่ปราสาทภูล็อค ถือว่าสององค์นี้มีใบหน้าใกล้เคียงกันมาก

ดังนั้น รูปเทพนั่งชันเข่าแบบมหาราชลีลา (นั่งยกขาสลับข้างกับพระโพธิสัตว์) บนแท่นฐานรูป “หน้ากาล” นั้น มือซ้ายถือของบางสิ่ง (เราจะเห็นด้านขวา) ดร.ปิแยร์ บับติสต์ ได้เสนอความเห็นไว้สองนัยยะ นัยยะแรกมองว่าเป็นเทวดา 1 ใน 9 ประจำดาวนพเคราะห์ สิ่งที่ถือในมืออาจเป็นแท่งคบเพลิงอัคนี (หากเป็นจริง เทพองค์นี้คือพระอัคนี)

นัยยะที่สอง รูปเคารพนี้ถือสัญลักษณ์ในมือคล้ายแท่งศิวลึงค์ กึ่งศูล อาวุธของพระศิวะ ประกอบกับการทำอุณาโลมคล้ายตาที่สามกลางหน้าผาก นั่งบนหน้ากาลราหู (หากเป็นจริง เทพองค์นี้น่าจะเป็นพระศิวะ)

ดร.ปิแยร์ บับติสต์ ยังได้กล่าวต่อไปในหนังสือ Cham Art ของเขาว่า

“เรื่องราวการล่มสลายของราชวงศ์อินทรปุระมีเงื่อนงำอยู่มาก เพราะมีหลักฐานเขียนแค่ว่าพระเจ้าอินทรปุระ (ไม่ระบุลำดับ ทราบแต่เพียงว่าราชวงศ์ถัดมายังคงมีการใช้ชื่อ อินทรปุระที่ 5 อย่างต่อเนื่องอีก) หลบหนีภัยมาทางทิศตะวันตกของแคว้นจามปา ซึ่งไม่ได้ระบุว่าไกลเพียงไหน แค่ในลาวจามปาสัก หรือข้ามมาถึงศรีเทพ หรือไกลสุดยังหริภุญไชย? เพราะชื่อของปฐมกษัตรีย์เมืองนี้ก็ชื่อ จามเทวี ดินแดนทั้งหมดที่น่าสงสัยล้วนอยู่ทางทิศตะวันตกของจามปา”

ซ้าย สมบัติของคุณสำราญ กาญจนคูหา อาจเป็นพระโพธิสัตว์ผสมกับพระศิวะ+พระอุมา ขวา พระโพธิสัตว์ศิลปะจามสมัยดงเดือง นั่งเอนวรกาย ท่ามหาราชลีลา แต่มืออีกข้างไม่มีสัญลักษณ์ผิดกับของหริภุญไชย

หริภุญไชยเคยถูกคนนอกราชวงศ์ปกครองหลายครั้ง

นครหริภุญไชยมีอายุยืนยาวถึง 620 ปี นับจาก พ.ศ.1204 (ยึดตามชินกาลมาลีปกรณ์) จนถึงปีที่เสียเมืองให้พระญามังราย พ.ศ.1824 ความที่อาณาจักรหริภุญไชยมีอายุยืนยาวมาก มีรายชื่อกษัตริย์ปกครองถึง 50 พระองค์ ชื่อเสียงของนครรัฐแหงนี้น่าจะหอมหวนไม่น้อย กษัตริย์ต่างแว่นแคว้นคงหมายปองอยากครอบครองกันน่าดู

เมื่ออ่านตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์ พบว่านครหริภุญไชยไม่ได้ถูกปกครองโดยราชวงศ์ของพระนางจามเทวีที่สืบมาจากละโว้เพียงราชวงศ์เดียว แต่มีการถูกชาวต่างชาติเข้ามายึดครองหลายต่อหลายครั้ง

ทำให้น่าคิดว่า ชนชั้นนำน่าจะมีการผลัดเปลี่ยนด้านชาติพันธุ์ ขนบธรรมเนียมปฏิบัติ และส่งผลไปถึงรูปแบบงานศิลปกรรม

ภายใต้ชื่อกษัตริย์ที่ยกทัพมาจากเมืองแปลกๆ เหล่านี้ (จวบจนปัจจุบันยังตีความไม่ได้แน่ชัดว่าหมายถึงรัฐอะไรกันบ้าง) ได้แก่

กษัตริย์หริภุญไชยลำดับที่ 9 เป็นชาวมิลักขะจากเมืองถมุยนคร หรือเมืองยศมาลาเข้าแย่งชิงบัลลังก์จากกษัตริย์ราชวงศ์จามเทวี ครั้นผ่านไปเพียงรัชกาลเดียว พระญามิลักขไตรราช ก็ยกทัพมาตีเมืองหริภุญไชยและนั่งบัลลังก์เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 10

น่าคิดว่า ครั้งหนึ่งราชวงศ์จามเทวี (ที่สันนิษฐานว่าเป็นมอญละโว้) ยังเพลี่ยงพล้ำถูกชาวมิลักขะ (ซึ่งนักวิชาการตีความว่าเป็นชาวลัวะพื้นเมือง) ยึดบัลลังก์มาได้ถึงสองครั้งสองครา หนแรกเป็นลัวะจากเมืองถมุยนคร (อยู่ที่ไหน? ดร.ฮันส์ เพนธ์ ว่าแสนหวี) ครั้งเดียวมิหนำใจ ไม่นานเลยก็ถูกชาวลัวะอีกกลุ่ม ยึดบัลลังก์จากกษัตริย์ลัวะด้วยกันเองอีกเป็นหนที่สอง คำถามคือ ชาวลัวะทั้งสองแว่นแคว้นนี้มาจากที่ไหนกันบ้าง?

แล้วกษัตริย์ชาวลัวะก็ปกครองหริภุญไชยมายาวนานจนอีก 12 รัชกาล (เลยหรือ?) กระทั่ง

กษัตริย์ลำดับที่ 23 ชื่อพระญาอังตรูจักรพรรติราช หรือเอกุรุจักรพรรติราช ยกพลมาจากเมือง ทุรฆะรัฐนคร (ดร.ฮันส์ เพนธ์ ตีความว่าหมายถึงเมืองยาว แต่อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัยไม่เห็นด้วย) มาได้เมืองหริภุญไชยครองราชสมบัติอยู่ได้ 9 ปี

ผ่านไปอีก 3 รัชกาล กษัตริย์ลำดับที่ 26 พระญาราชะสุปละนคร ยกทัพมาจากเมืองสักกะบาล มาชิงเอาเมืองหริภุญไชย แล้วครองราชสมบัติ ถึงจุดนี้ก็มีผู้ตั้งคำถามอีกเช่นเคยว่า เมืองสักกะบาลอยู่ที่ไหนหรือ?

ทั้งนี้ ยังไม่นับเหตุการณ์สำคัญ “ยุคสงครามสามนคร” ที่ดิฉันเอ่ยถึงบ่อยมากในคอลัมน์นี้ ว่าทางนครศรีธรรมราชยกทัพมายึดละโว้ กษัตริย์ละโว้มายึดหริภุญไชย จนกษัตริย์หริภุญไชยต้องทิ้งเมืองแล้วหนีไปทางใต้ (ไม่ทราบว่าใต้แค่ไหน?) ช่วงนั้นกษัตรย์ละโว้เป็นราชวงศ์อะไรเล่า ศรีวิชัย ขอม หรือจามปา? คนที่มานั่งเมืองลำพูนแทนคนเดิมน่ะ?

เห็นได้ว่า นครหริภุญไชยไม่ได้ปกครองอย่างราบรื่นภายใต้ราชวงศ์เดียว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นปกครองบ่อยครั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าบางช่วงบางตอนอาจมีกษัตริย์เลือดผสมชาวจามปา เข้ามายึดครองดินแดนหริภุญไชยนี้ด้วย อาจเป็นช่วงที่ราชวงศ์อินทรปุระล่มสลายเพราะไดเวียดบุกทำลาย ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ลงมาได้หรือไม่?

ทั้งสององค์คือพระศิวะ ศิลปะจามปาราวพุทธศตวรรษที่ 17 ซ้ายพบที่ปราสาทบิญดิญ ขวาพบที่วัดหว่องลา ฮานอย ทั้งคู่ถือศูลหรืออัคนีในมือข้างหนึ่ง ต่างกันที่องค์ขวาไม่นั่งชันเข่า แต่นั่งสมาธิวางมือสองข้างแบบสมมาตร และนำประภามณฑลของพระโพธิสัตว์มาใช้ในรูปเคารพพระศิวะ นอกจากนี้ ยังมีกรองศอแผ่นสามเหลี่ยมเหนือทรวงอก เหมือนประติมากรรมที่หริภุญไชย

พระโพธิสัตว์ vs พระศิวะ

ย้อนกลับมาไขปริศนา ประติมากรรมดินเผาสองชิ้นที่พบในนครหริภุญไชย ซึ่งไปมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกันกับศิลปะจามปาสมัยดงเดืองอย่างมาก ตามที่ค้างคำถามไว้ในฉบับก่อน

ฉบับที่แล้ว ดิฉันได้นำหลักฐานเปรียบเทียบให้ท่านดูเฉพาะแค่สองกลุ่มงานเท่านั้น คือกลุ่มพระโพธิสัตว์หินที่ทำประภามณฑลเปลวไฟคล้ายเส้นขนมจีน กับกลุ่มของเทวดาที่คล้ายพระศิวะเพราะมีตาที่สามและถืออาวุธคือศูล (หรืออาจเป็นอัคนี) ทั้งหมดทุกองค์พบที่ปราสาทดงเดือง เมืองกวางนาม ศิลปะยุคดงเดือง

มีข้อมูลเพิ่มเติมอยากให้ท่านพิจารณาประติมากรรมอีก 3 ชิ้นนี้ในประเทศเวียดนาม แล้วช่วยกันวิเคราะห์

ชิ้นแรก เป็นรูปพระโพธิสัตว์ พบที่ปราสาทภูล็อค (Phu Loc) ในชั้นดินลึกมากถึง 5 เมตร เป็นศิลปะจามปายุคที่เริ่มคลี่คลายเพราะผสมกับไดเวียดแล้ว เห็นได้ว่าดวงตาเล็กลง ริมฝีปากไม่หนาเทอะทะแบบศิลปะดงเดือง นักวิชาการกำหนดอายุให้เป็นพุทธศตวรรษที่ 17

สิ่งพิเศษของรูปพระโพธิสัตว์นี้ ใบหน้าไม่ดุดัน ถมึงทึง ซ้ำมองไปมองมากลับละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากกับใบหน้าของประติมากรรมดินเผาสองชิ้นที่พบในหริภุญไชยอย่างเหลือเชื่อ!

ชิ้นที่สอง เป็นเทวรูป ศิลปะยุคบิญดิญ (รอยต่อจากสมัยดงเดืองสู่ยุคถับมัม) มีความปากหนา แต่ตาเริ่มโปนน้อยลงเกือบดูเป็นชาวเวียดนาม ยังไม่ถึงกับตาตี่

นักวิชาการด้านจามศึกษาหลายท่านฟันธงให้เรียกองค์นี้ไปเลยว่า พระศิวะ เพราะประติมากรรมดินเผาสององค์ของหริภุญไชยก็ถืออาวุธอะไรบางอย่างในมือ ไม่ได้นั่งเท้าแขนแอ่นหลังเหมือนพระโพธิสัตว์กลุ่มดงเดือง

ชิ้นสุดท้าย เป็นเทวรูปพระศิวะ ศิลปะจามปา กำหนดอายุได้พุทธศตวรรษที่ 17 พบที่เมืองหว่องลา (Vong La) กรุงฮานอย นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสลงความเห็นว่า เป็นศิลปะจามที่ทำขึ้นในลัทธิไศวนิกาย (ลัทธิที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่) รับอิทธิพลการทำประภามณฑลเปลวไฟสูงยาวมาจากยุคดงเดือง แต่คลี่คลายมากขึ้น มีการเปลี่ยนท่านั่งแบบมหาราชลีลายกขาหนึ่งข้าง ให้เป็นท่านั่งขัดสมาธิเลียนแบบพระพุทธรูปของพุทธมหายาน

ข้อสำคัญมีการสวมกรองศอ สังวาล แตกต่างไปจากรูปพระโพธิสัตว์กับเทวรูปยุคดงเดือง หรือพระศิวะยุคบิญดิญ รวมทั้งพระโพธิสัตว์ที่ปราสาทภูล็อค ทั้งหมดนี้ต่างก็ไม่มีองค์ไหนสวมกรองศอแผ่นสามเหลี่ยม

หันมาพิจารณาประติมากรรมดินเผาหริภุญไชยทั้งสององค์ (ซึ่งจวบบัดนี้ยังไม่รู้จะเรียกว่าเป็นรูปเคารพประเภทไหนดี) มีลักษณะโดยรวมว่ารับอิทธิพลจากศิลปะจามมาแน่นอน สามารถแยกส่วนได้ดังนี้

1. ประภามณฑลเปลวไฟลายเส้นขนมจีน รับมาจากพระโพธิสัตว์สมัยดงเดือง

2. ท่านั่งชันเข่าแบบมหาราชลีลา รับมาจากทั้งพระโพธิสัตว์และพระศิวะสมัยดงเดือง

3. การนั่งเอนวรกาย (หากยืนก็คงเรียกตริภังค์) รับมาจากพระโพธิสัตว์สมัยดงเดือง (เห็นได้ว่ารูปเคารพสมัยบิญดิญ ถับมัมไม่เอนกาย นั่งแบบสมมาตร)

4. การถืออาวุธบางอย่างที่หายไปแล้วในพระหัตถ์ขวา (เราจะเห็นเป็นข้างซ้าย) รับมาจากพระศิวะตั้งแต่สมัยดงเดือง บิญดิญ ถับมัม

5. พระพักตร์ไม่ถมึงทึง ตาเล็ก ปากเล็ก รับมาจากพระโพธิสัตว์ปราสาทภูล็อค พุทธศตวรรษที่ 17

6. การสวมกรองศอแผ่นสามเหลี่ยมคล้ายพระศิวะที่วัดหว่องลา ฮานอย พุทธศตวรรษที่ 17

ถ้าจะให้สรุป ณ ตอนนี้ ก็คงกล่าวได้พียงว่า ประติมากรรมดินเผาหริภุญไชยแบบจามปาสองชิ้นนี้ (ชิ้นหนึ่งเป็นสมบัติส่วนบุคคลของคุณสำราญ กาญจนคูหา อีกชิ้นอยู่ที่วัดพระเจ้าเหลื้อม เวียงมโน) น่าจะสร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 (1600-1700) คือหริภุญไชยตอนกลางค่อนปลาย (เพราะหน้าไม่ดุดันร่วมสมัยกับดงเดือง พุทธศตวรรษที่ 15 อายุจึงต้องหย่อนลงมา ร่วมสมัยกับที่ภูล็อคมากกว่า) ผู้สร้างรูปเคารพน่าจะมีเชื้อสายจามปา เดินทางมาไกลสู่นครหริภุญไชย จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่

ปัญหาอยู่ที่ว่า รูปเคารพนี้ควรจะเป็นพระโพธิสัตว์ (เหตุที่มีประภามณฑลเปลวไฟรายรอบพระเศียร) หรือควรจะเป็นพระศิวะ ซึ่งคนไทยมองเป็นแม่อุมา เหตุที่มีอุระนูน? อันที่จริงรูปเคารพชายยุคโบราณนิยมทำทรวงอกนูนชัดเจนไม่ต่างจากสตรีด้วยเช่นกัน

แต่ก็ไม่แน่ แนวคิดเรื่องการบูชาเทวี (ศากติ) ในดินแดนหริภุญไชยนั้นก็ค่อนข้างเข้มข้นยิ่งนัก หากไม่ใช่พระศิวะ ก็อาจเป็นพระอุมาเทวีได้เหมือนกัน หรือดีไม่ดีอาจรวมความเป็นพระโพธิสัตว์+ลัทธิศากติ •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ