Story ของประเทศไทย ในเวทีระหว่างประเทศมีปัญหาอะไรหรือ?

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

Story ของประเทศไทย

ในเวทีระหว่างประเทศมีปัญหาอะไรหรือ?

 

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Bloomberg ที่นิวยอร์กช่วงไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาหลายประเด็น

หนึ่งในช่วงถาม-ตอบที่ผมคิดว่าน่าสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับ The Thai Story

นักข่าว Bloomberg : ‘Investors are not quite buying into the Thai story right now’

เศรษฐา : ‘Maybe, we have not been telling the story. Allow me 6 months. I am hopeful that I can change their minds.’

ซึ่งแปลความว่า

ถาม : นักลงทุนไม่ค่อยจะเชื่อเรื่องราว (story) ของประเทศไทยเท่าไหร่ในช่วงนี้

(หมายความว่าคนข้างนอกมองเข้าไปในประเทศไทยวันนี้แล้วไม่ค่อยมีความมั่นใจเท่าไหร่)

คุณเศรษฐาตอบว่า “อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้เล่าเรื่องของเราให้คนข้างนอกฟัง…ผมขอ 6 เดือน ผมมั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนใจท่านเหล่านั้นได้

บทสนทนานี้ทำให้พอจะเข้าใจได้ว่าสื่อต่างชาติบางแห่งมองว่า “story” ของไทยในช่วงหลังนี้ไม่ค่อยจะมีอะไรตื่นเต้น จึงทำให้นักลงทุนไปหาประเทศอื่นในย่านนี้ เช่น เวียดนามหรืออินโดนีเซีย

คุณเศรษฐาตอบทำนองว่าเพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ออกไปเล่าเรื่องประเทศไทยเพียงพอ จึงทำให้ story ของประเทศไทยไม่น่าสนใจ

แต่ขอเวลา 6 เดือน นายกฯ คนใหม่ของไทยยืนยันว่าจะทำให้ story ของประเทศไทยน่าสนใจสำหรับนักลงทุนแน่นอน

คำถามที่ตามมาทันทีก็คือว่า ที่ว่า story ของไทยนั้นมันเป็นเช่นไร?

 

ก่อนที่คุณเศรษฐาจะเดินสายไปทั่วโลกเพื่อจะเล่า story ของไทยให้คนข้างนอกฟังนั้น จะต้องให้แน่ใจเสียก่อนว่ามี story ที่น่าสนใจจริงๆ

เพราะต่างชาติเขาติดตามประเทศไทยในมิติต่างๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว

เขาอาจจะมองว่าเราไม่ sexy พอ หรือเพราะอัตราเติบโตด้านเศรษฐกิจ หรือ GDP ของเราในช่วงหลัง (แม้ก่อนโควิดระบาด) ก็อยู่อันดับรั้งท้ายในเหล่าบรรดาสมาชิกอาเซียนทั้งหลาย

หรือคนต่างชาติที่สนใจประเทศไทยจริงๆ ก็จะติดตามผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา และการ “สลับข้าง” จนตั้งรัฐบาล “สลายขั้ว” ที่กลายเป็นรัฐบาลปัจจุบัน

เขาก็จะสนใจ story ทางการเมืองของไทยว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

เช่น จะยังมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารไหม? (คนไทยยังถาม ทำไมต่างชาติจะไม่สนใจที่จะต้องรู้ถ้าเขาจะมาลงทุนในประเทศนี้)

เป็นคำถามที่ห้ามคนถามไม่ได้ อยู่ที่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเล่า story เรื่องนี้อย่างไรจึงจะน่าเชื่อถือ

เช่น การไม่ใช้คำว่า “ปฏิรูป” แต่หันมา “ร่วมพัฒนา” กับกองทัพนั้นจะช่วยโอกาสรัฐประหารหรือไม่?

หรือคำถามที่ใกล้ตัวกว่านั้นคือ “คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ตัวจริงหรือเปล่า?”

 

ประเด็นนี้สะท้อนจากคำถามของนักข่าว Bloomberg ที่สัมภาษณ์คุณเศรษฐาที่นิวยอร์ก

เธอไม่ได้เพียงแค่อยากรู้ว่าคุณเศรษฐาจะขอความเห็นจากใครในการบริหารประเทศ

นักข่าวและนักลงทุนต่างชาติต้องการจะรู้จริงๆ (ไม่ได้เสียดสีประชดประชันหรือหาเรื่อง) ว่าถ้าเขามาลงทุนในไทย เขาเชื่อได้ไหมว่าคุณเศรษฐาคือคนที่กำหนดนโยบายที่แท้จริงของประเทศ

ถ้าเป็นนักข่าวที่ถามตรงๆ ไม่อ้อมค้อมก็จะโยนคำถามว่า

Are you in charge?

เป็นคำถามที่คุณเศรษฐาอาจจะไม่ชอบเพราะเห็นว่าไม่ให้เกียรติตน

แต่เป็นคำถามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ

ไม่ว่าจะถามตรงๆ หรือถามในวงกาแฟ

เพราะนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติต่างก็มีความรู้สึก (ที่มาจากความเป็นจริงของการเมืองไทยที่ผ่านมา) ว่ารัฐบาล “สลายขั้ว” นี้มาจาก “ดีลลับ” ระหว่างคุณทักษิณ ชินวัตร กับกลุ่มอำนาจเก่าที่รวมถึงอดีตนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย

ซึ่งนำไปสู่การที่คุณทักษิณกลับมาเมืองไทยในวันเดียวกับที่รัฐสภาลงมติให้คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าการที่คุณทักษิณกลับเมืองไทยได้ และต่อมาได้รับการดูแลเป็นการพิเศษกว่านักโทษปกตินั้นเป็นการ “หวนคืน” ของคุณทักษิณ

คนที่เชื่ออย่างนั้นก็จะเชื่ออีกว่าคุณเศรษฐาเป็นคนที่คุณทักษิณเสนอให้มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย

 

ดังนั้น story ของประเทศไทยที่ไปข้างนอกจึงหนีไม่พ้นว่าวงจรการเมืองไทยกำลังกลับมาสู่การประสานประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มคุณทักษิณ

นักลงทุนต่างชาติก็จะเกิดคำถามทันทีว่าถ้าเขาเข้ามาลงทุนในไทย (หรือที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว) จากนี้ไปเขาต้องให้ความสำคัญกับคุณทักษิณมากน้อยแค่ไหน

คุณเศรษฐาอาจจะบอกว่าเขาเพียงแต่บอกว่าจะขอคำปรึกษาจากคุณทักษิณเหมือนกับที่จะขอจากผู้ใหญ่ที่เกษียณแล้วเช่นอดีตนายกฯ อานันท์ (ปันยารชุน) และอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์

นั่นไม่ใช่ประเด็นของคนถาม

ข้อใหญ่ใจความของคนที่เขาอยากรู้จริงๆ ก็คือว่าคุณทักษิณจะมีบทบาทอะไรในรัฐบาลคุณเศรษฐาหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ

เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมากสำหรับนักลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ

ถ้าเขาเชื่อในเรื่อง Rule of Law หรือ Good Governance และ Transparency เขาก็จะต้องมีความคลางแคลงว่ารัฐบาลนี้มี “ผู้นำจิตวิญญาณ” อยู่ข้างหลังจะทำให้ทุกอย่าง “โปร่งใส” และชอบด้วย “ธรรมาภิบาล” ได้จริงหรือ?

ในเมื่อเรื่องการเข้าออกเรือนจำของคุณทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจยังไม่มีการแถลงแจ้งรายละเอียดให้กับคนไทยเลย

ถ้านายกฯ เศรษฐาบอกว่าเขาเชื่อว่าคุณทักษิณเป็น “นายกฯ ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากคนไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์” เขาก็คงจะเกรงใจคุณทักษิณเป็นพิเศษ

จะมีใครรู้ว่าจากนี้ไปคุณทักษิณหรือเครือข่ายคุณทักษิณจะลงทุนในธุรกิจใดบ้าง

และการลงทุนเหล่านั้นจะไปแข่งขันกับเอกชนรายอื่นๆ อย่างไรบ้าง

หากครอบครัวคุณทักษิณกับรัฐบาลของคุณเศรษฐามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับเช่นนี้ จะเชื่อได้อย่างไรว่าจะเกิดการแข่งขันในวงการธุรกิจระหว่างกลุ่มที่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐกับเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของอำนาจรัฐปัจจุบัน

 

ดังนั้น แม้ว่านายกฯ เศรษฐาและรัฐบาลชุดนี้จะกำลังสื่อสาร story ของประเทศไทยออกไปข้างนอกเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าประเทศเพื่อให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจากนี้ไป 4 ปีอยู่ที่อัตรเฉลี่ย 5% แต่ story ที่คนข้างนอกอยากรู้ก็อาจจะไปคนละทาง

แปลว่า story ของรัฐบาลกับ story ของเอกชนข้างนอก (และหลายส่วนข้างใน) ไปคนละทาง

ความเป็นจริงของโลกประการหนึ่งก็คือคนทั่วไปจะเชื่อ story ของรัฐบาลน้อยกว่า story ที่กระซิบกระซาบกันในวงเหล้าและสภากาแฟ

นอกเสียจากว่า story ของรัฐบาลนั้นจะตอบข้อสงสัยของผู้คนได้อย่างครบถ้วน

โดยเฉพาะประเด็นการทับซ้อนของผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจกับกลุ่มที่เป็นเครือข่ายของตน

ประเด็น Conflict of interest เป็นเรื่องใหญ่ที่คนข้างนอกถือว่าเป็นตัวกำหนดว่าเขาควรจะทุ่มเงินลงทุนในบ้านเราหรือไม่

คนไทยเองบางส่วนอาจจะคุ้นชินกับเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” และมองว่าเป็นวัฒนธรรมไทยที่แก้ไขไม่ได้

ใครจะทำกิจกรรมหรือทำธุรกิจอะไรที่ไปทับซ้อนกับกลุ่มอำนาจรัฐก็ต้องตัดสินใจว่า

จะถอย…หรือยอมเป็นพวก

หรือไม่ก็ไปลงทุนประเทศอื่นที่มีความโปร่งใสสะอาดสะอ้านมากกว่า

นี่เป็นเพียงมิติเดียวของคำว่า story ของประเทศที่นักข่าว Bloomberg ยกขึ้นถามคุณเศรษฐาที่นิวยอร์ก

ในฐานะเป็นนักข่าวเศรษฐกิจ เธอก็ยกตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวมของไทยที่รั้งท้ายในอาเซียนมาถามว่า story ของไทยยังไม่น่าสนใจเพียงพอ

ถ้าเป็นสื่อที่สนใจการเมือง, ความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ คำถามเรื่อง story ของประเทศไทยในเวทีสากลก็จะสลับซับซ้อนและร้อนแรงกว่าหลายเท่านัก

ยังต้องว่าเรื่อง the Thai Story กันต่อในสัปดาห์หน้าครับ