ยานยนต์ญี่ปุ่น

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

อุตสาหกรรมซึ่งวางรากฐานในสังคมไทยมานาน กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ

“ตอนนี้ญี่ปุ่นกังวลว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีอาจทำให้เขาเสียเปรียบ… รัฐบาลไม่ลืมพระคุณญี่ปุ่นที่ช่วยเรามาหลายสิบปี ไทยเคยเป็นดีทรอยต์ของเอเชีย แม้ไทยสนับสนุนรถยนต์อีวี แต่ก็มีรถยนต์สันดาป ยังต้องมีต่อไป 10-15 ปี… ทำอย่างไรให้ไทยเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตรถยนต์สันดาป อาจให้แรงจูงให้ย้ายฐานผลิตมาไทยเพื่อส่งออกไป ซัพพลายเชนของรถยนต์สันดาปยาวต่อไปได้อีก” ผู้นำรัฐบาลไทยคนใหม่ เพิ่งกล่าวไว้อย่างตั้งใจ

พอจะจับเป็นแนวความคิดอันกระชั้น ชวนให้ติดตามสาระในบทสนทนาอย่างจริงจัง เมื่อทีมไทยไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ในเดือนธันวาคมที่จะมาถึง

ความสำคัญธุรกิจยานยนต์ญี่ปุ่นในไทยอย่างจับต้องได้

จากภาพแรกๆ อย่างกว้าง เมื่อมองรถยนต์ตามท้องถนนเมืองใหญ่ในประเทศไทย

ส่วนภาพที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เปิดขึ้นครั้งหนึ่งเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว คราววิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ (ปลายปี 2554) อาณาบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนิคมอุตสาหกรรมหลายต่อหลายแห่ง

นอกจากภาพรถยนต์ญี่ปุ่นนับพันคันจมน้ำเป็นที่สะเทือนใจ ยังมีโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของธุรกิจญี่ปุ่นอยู่ในนั้นด้วย โดยระบุว่า “มีจำนวน 300 กว่าโรง” (ข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ตามรายงานข่าวสำนักงานข่าวเอพี)

ข้อเท็จจริงที่สำคัญควรรู้ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นสินค้าส่งออกสูงสุด ติดอันดับ 1 ใน 3 ของไทยมานานพอสมควร สร้างรายได้มากกว่าหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐมาตั้งแต่ปี 2550 มากกว่าสินค้าทางเกษตรกรรมสำคัญ ไม่ว่า ยางพารา หรือข้าว (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์) ข้อมูลล่าสุด (ข้อมูลเปิดเผยของกระทรวงการคลัง- www.datadervoce.mof.or.th)

ยอดส่งออกสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ อยู่ในอันดับสองของสินค้าส่งออกของไทย พิจารณาเฉพาะช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 มีมูลค่าเดือนละกว่าหนึ่งแสนล้านบาท

 

ธุรกิจยานยนต์ญี่ปุ่นในไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีขึ้นกว่าครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ NISSAN และ TOYOTA เข้ามาลงทุนในปี 2505 ตามมาด้วย HONDA ในปี 2507 โดยมีบางตำนานไปไกลกว่านั้น

ตำนาน NISAN กับ สยามกลการ ของตระกูลพรประภา เปิดฉากขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (อ้างอิงจาก “บันทึกความทรงจำของถาวร พรประภา” เนื่องในโอกาสอายุครบ 60 ปี 16 พฤศจิกายน 2519) ขณะกองทัพญี่ปุ่นเข้าควบคุมประเทศไทยในช่วงจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ถาวร พรประภา เป็นนักธุรกิจหนุ่ม ผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าเครื่องเหล็ก มีโอกาสได้รู้จักกับผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้มีส่วนสำคัญชักนำให้เขาได้เป็นผู้แทนขายรถยนต์ NISSAN ในประเทศไทย ก่อตั้งบริษัทสยามกลการขึ้นเป็นผู้แทนขายรถยนต์ NISSAN นอกประเทศญี่ปุ่นรายแรกของโลก

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อิทธิพลสหรัฐอเมริกาและสินค้าอเมริกันในประเทศไทยมีมากขึ้น การขายรถยนต์ญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ทำให้สยามกลการประสบการขาดทุนเกือบๆ 10 ปี จน NISSAN แห่งญี่ปุ่นต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะการร่วมทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ครั้งแรกในเมืองไทยในปี 2505

ในภาพใหญ่ ความสำคัญอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นเริ่มปรากฏชัดขึ้นจากนั้นอีกราว 2 ทศวรรษ หลังยุคสงครามเวียดนาม ช่วงเวลานั้น รัฐบาลไทยเข้าไปกำหนดทิศทางมากขึ้น โดยเฉพาะความพยายามให้ธุรกิจไทยมีบทบาทมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

อ้างอิงแนวคิดว่าด้วยสัดส่วนการถือหุ้นอย่างเหมาะสม กับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ถือเป็นพัฒนาการสำคัญอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคแรก (2525-2530) มีการกำหนดสัดส่วนชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ จนถึงมีแผนการผลิตเครื่องยนต์ดีเชลในประเทศเอง

จากนั้นต่อเนื่องเข้าสู่อีกยุค (2533-2540) ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ เริ่มมองระดับภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งสองยุค ถือเป็นช่วงการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก

 

ในสองยุคนั้นมีตัวละครใหม่ปรากฏขึ้น -เครือซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นลำดับ เป็นโอกาสทางธุรกิจตามแบบแผนสัมพันธ์กับกติกาและนโยบายรัฐ อีกด้านเอสซีจีมีสายสัมพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นอย่างเหนียวแน่น

จุดเริ่มต้นด้วยการร่วมทุนกับธุรกิจญี่ปุ่นในการผลิตเครื่องยนต์การเกษตร (ปี 2521) ยุค สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นผู้จัดการใหญ่เอสซีจี เพื่อแก้ปัญหาธุรกิจเหล็กซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อตั้ง ค่อยๆ ต่อเป็นภาพใหญ่ในช่วงหลังปี 2530 เอสซีจีเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเต็มตัวมากขึ้น ร่วมทุนผลิตเครื่องยนต์และประกอบรถยนต์กับ TOYOTA เข้าถือหุ้นข้างน้อยกับ ISUZU และ NISSAN และร่วมทุนกับธุรกิจญี่ปุ่น ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจยานยนต์เอสซีจีในช่วงก่อนปี 2540 ภาพดูยิ่งใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว ครั้นเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เอสซีจีได้ปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจครั้งสำคัญ ตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจยานยนต์ ด้วยบทสรุปที่ว่า ไม่มีเทคโนโลยีสำคัญเป็นของตนเอง ขณะต้องพึ่งพาธุรกิจระดับโลกมากเกินไป

จนมาถึงยุคปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี 2543) มีการเปิดเสรีธุรกิจยานยนต์อย่างเต็มที่ กับฐานะใหม่ ไทยเป็นฐานการผลิตธุรกิจยานยนต์ระดับโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ขณะภายใต้โครงสร้างธุรกิจเดิมโมเดลร่วมทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ได้พลิกโฉมเป็นญี่ปุ่นเข้ามีบทบาทครอบงำค่อนข้างเบ็ดเสร็จ

 

และแล้วอีกราว 2 ทศวรรษถัดมา การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับโลกเกิดขึ้น จากนั้นไม่นาน ได้ส่งผลมาถึงไทย ด้วยธุรกิจหน้าใหม่ปรากฏตัวมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

“…กลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นจากกลุ่มลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร โดยครองการเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึงกว่า 90% อีกทั้งยังสามารถดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จแบบเร็ว MG Super Charge ได้แล้วทั่วประเทศจำนวน 120 แห่ง เป็นต้น…” ถ้อยแถลงอย่างเป็นการเป็นงานของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ MG ในประเทศไทย เมื่อไม่ถึง 2 ปีมานี้ (18 มกราคม 2565)

จากนั้นไม่นาน (21 มีนาคม 2565) “…ในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงการขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิต…” เข้ากับจังหวะก่อนใครๆ เมื่อรัฐบาลเปิดแพ็กเกจสนับสนุนกระตุ้นการใช้รถไฟฟ้าครั้งใหญ่ในประเทศไทย

ผู้มาใหม่ที่ว่า มาจากความร่วมมือกันระหว่าง SAIC (Shanghai Automotive Industry Corporation) และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี ) ลงทุนก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยครั้งแรกในปี 2556 ในระยะกระชั้นได้เปิดตัว MG ในไทย (ปี 2557) เริ่มต้นด้วยรถยนต์สันดาป มียอดขาย (ปี 2557-2559) น่าพอใจ มากกว่า 10,000 คัน ตามมาด้วยแผนการใหญ่ขึ้น สร้างโรงงานแห่งใหม่ (เริ่มก่อสร้างปี 2559) เป็นฐานผลิตครอบคลุมทั่วอาเซียน

ว่าด้วยยานยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle) จีน นับเป็น “ชิ้นส่วน” แห่งภาพสะท้อนการพัฒนาอย่างจริงจังนับทศวรรษในจีนแผ่นดินใหญ่ อาจเรียกว่าคู่ขนานกับแบรนด์ใหญ่ TESLA แห่งสหรัฐ

ข้อมูลในปี 2561 ระบุว่า จีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก

รถไฟฟ้าจีนมาถึงไทยครั้งแรก เป็นแบรนด์ MG ราวปี 2563 จากนั้นไม่นานตามกันเป็นกระบวนอย่างครึกโครม ในไม่ช้าไทยกลายเป็นศูนย์กลาง (hub) รถไฟฟ้าจีนแห่งภูมิภาค

เป็นสัญญาณยุคใหม่อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังจะมาถึง โดย “ผู้เล่น” หน้าใหม่ มาแรง จนหลายๆ คนคิดว่า “ผู้เล่น” ขาใหญ่รายเก่าอย่างญี่ปุ่น อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ในความเห็นส่วนตัว ไม่เชื่อเช่นนั้น •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com