แม่น้ำคูคลองอโยธยา

อโยธยาเป็นเมืองชุมทางแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ เจ้าพระยา, ป่าสัก, ลพบุรี

มีคูคลองธรรมชาตินับไม่ถ้วน และมีขุดใหม่จำนวนหนึ่งซึ่งนับแน่นอนไม่ได้

พเยาว์ เข็มนาค (ถึงแก่กรรม) อดีตข้าราชการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ลงสำรวจด้วยตนเอง เพื่อวิจัยระบบน้ำเป็นหนังสือ ระบบลำน้ำสมัยอยุธยา รายงานข้อมูลจากการสำรวจและตรวจภาคสนาม (ฉบับสมบูรณ์) พิมพ์โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พ.ศ.2562 หน้า 90-93 ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญมากเกี่ยวกับเมืองอโยธยา จะคัดมาแบ่งปันเผยแพร่ต่อไปนี้

คลองอโยธยา (ภาพเมื่อ พ.ศ.2561)

คูคลองในเมืองอโยธยา

คูขื่อหน้า เป็นตัวกลางระหว่างกรุงศรีอยุธยากับอโยธยา

ฝั่งอโยธยานั้นมีคลองขุดเชื่อมกับคูขื่อหน้ามากกว่าทางกรุงศรีอยุธยา

ถึงแม้พระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้วก็ตาม มิได้หมายความว่าอโยธยาจะหมดความสำคัญลง ผู้เขียนเห็นว่ายังให้ความสำคัญอยู่มาก ด้วยเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าว และใช้เป็นทุ่งนาหลวง วัดวาอารามต่างๆ ยังได้รับการบูรณะซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา จนสิ้นกรุงศรีอยุธยา ขุนนางบางท่านหรือแม้แต่เจ้าแม่ดุสิตก็มีนิวาสสถานอยู่ในเมืองอโยธยา

คูคลองในเมืองส่วนมากจะขุดให้อยู่ในแนวตะวันออก ตะวันตก เป็นตาหมากรุกอย่างเป็นระเบียบ วัดวาอารามนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาบริเวณนี้จะมีมากกว่าบริเวณอื่นๆ

คลองในเมืองแนวตะวันออก-ตะวันตก ที่ปรากฏชัดเจน 5 คูด้วยกัน นับจากเหนือลงใต้คือ

1. คลองวัดกระโจม ขุดเชื่อมระหว่างคลองทราย (แม่นํ้าป่าสัก) หรือคูเมืองด้านทิศตะวันตกกับคลองอโยธยาใต้วัดโบสถ์ราชเดชะ (ร้าง) ปัจจุบันไม่เหลือสภาพ แต่เห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2496 และปากคลองวัดกระโจม จากแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์

2. คลองวัดประดู่ ขุดเชื่อมระหว่างคูขื่อหน้าใต้วัดนางชี กับคลองอโยธยาเหนือวัดกุฎีดาว ปัจจุบันขาดช่วงเป็นช่วงๆ มีถนนตัดผ่าน ลำคูแห้ง มีวัชพืชขึ้นหนาแน่น แต่เห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2496 และแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์

3. คลองบ้านบาตร และ คลองกระมัง ขุดเชื่อมระหว่างคูขื่อหน้ากับคลองหันตรา ไปออกคลองข้าวเม่า ปากคลองด้านทิศตะวันตกบรรจบกับคูขื่อหน้าหรือแม่นํ้าป่าสักปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของวัดพิชัย คำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมว่าด้วยที่ค้าขายนอกกรุง กล่าวไว้ว่าบ้านสามเขาระบุบาตรเหล็กน้อยใหญ่ขาย บ้านริมวัดพิชัย ต่อหุ่น ตลุ่ม พานแว่นฟ้าสองชั้นขายบริเวณวัดพิชัยนี้เป็นที่ตั้งค่ายของพระยาตาก ก่อนที่จะตีฝ่าวงล้อมพม่าไปตั้งฐานทัพอยู่ที่จันทบุรี

4. คลองข้าวสาร เป็นคลองขุดเชื่อมระหว่างคูขื่อหน้ากับคลองดุสิต ปากคลองข้าวสาร เป็นที่ตั้งของวัดเกาะแก้ว วัดปราสาท (ร้าง) กองทัพของพม่าตั้งอยู่บริเวณนี้ ในคราวศึกเสียกรุงครั้งแรก ที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารว่า พม่าเอาศพทหารถมคูเมืองเข้ายึดป้อมราชคฤห์ และเข้าเมืองได้คือบริเวณนี้ ปากคลองมีประตูนํ้า

แผนที่ของชาวยุโรปที่เข้ามาในสมัยอยุธยา เขียนไว้ว่า บริเวณนี้เป็นอ่างใหญ่ เป็นที่ชุมนุมกันทางเรือ และมีสถานีการค้าย่อยของฮอลันดาอยู่บนฝั่งเกาะแก้วนี้อีกแห่งหนึ่งด้วย ย่านนี้ส่วนใหญ่จะเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีน ตั้งโรงเหล้า เลี้ยงสุกร ย่านค้าขายข้าว จึงได้ชื่อว่าคลองข้าวสาร และเป็นที่ตั้งของสถานีย่อยของฮอลันดาอีกแห่งหนึ่งด้วย

5. คลองขนมตาล หรือ คลองถนนตาล อยู่ฝั่งใต้ของเกาะแก้ว ปากคลองด้านทิศตะวันตกบรรจบกับคลองสวนพลู ตะวันออกบรรจบกับคลองดุสิต และวัดสมอ (ร้าง) ปัจจุบันตื้นเขินมาก เรือเล็กเดินไม่ได้ ปากคลองทั้งสองด้านมีประตูนํ้า

เรือนแพบริเวณตลาดนํ้าแม่น้ำป่าสัก (เดิมเป็นคูขื่อหน้า) หน้าพระราชวังจันทรเกษม อยุธยา สมัย ร.6 (ภาพจากกรมศิลปากร : ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุฯ)

คูคลองในเมืองแนวเหนือ-ใต้

1. คลองดุสิต เป็นคลองขุดในแนวเหนือ-ใต้ ปากคลองด้านบนบรรจบกับคลองกระมัง ปากคลองด้านใต้บรรจบกับคลองพระนอน มีวัดดุสิต (ศาลเจ้าแม่ดุสิต) อยู่ริมคลองฝั่งตะวันออก ปัจจุบันยังพอมีนํ้าให้เรือเล็กแล่นได้ มีประตูนํ้าริมสะพานข้ามคลองถนนสายโรจนะ

2. คลองอโยธยา-กุฎีดาว คือ คลองขุดเชื่อมคลองหันตรากับคลองกระมัง ปากคลองด้านบนเป็นที่ตั้งของวัดดุสิตและวัดอโยธยา ปากคลองด้านล่างบรรจบกับคลองกระมัง มีวัดสำคัญๆ อยู่หลายวัด เช่น วัดอโยธยา วัดดุสิต วัดโบสถ์ราชเดชะ วัดจักรวรรดิ วัดกุฎีดาว วัดสมณโกฏฐาราม วัดนางคำ วัดสิงห์นารายณ์ เป็นต้น เป็นคลองที่มีกลุ่มโบราณสถานเรียงรายอยู่ทั้งสองฟากคลอง กลางเมืองอโยธยาหนาแน่น ตื้นเขินหมด เรือเล็กใหญ่เดินไม่ได้

3. คลองโพธาราม เป็นคลองขุดเชื่อมคลองบ้านบาตรกับคลองปากข้าวสาร ยังพอเห็นแนวคลองได้จากภาพถ่ายทางอากาศ ปัจจุบันเหลือแนวคลอง ลักษณะสระนํ้าที่บริเวณปากคลองด้านเหนือ ส่วนตอนกลางและปลาย ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยให้เห็น มีถนนโรจนะตัดผ่านคลอง และเป็นที่ตั้งของสำนักงานทางหลวงอยุธยา บ้านเรือนราษฎร

4. นอกจากนี้ ยังปรากฏร่องรอยของคูคลองจากด้านทิศตะวันตกของวัดอโยธยา วัดจักรวรรดิ วัดกุฎีดาว วัดสมณโกฏฐาราม วัดโคกมะเกลือ มาชนกับคลองกระมัง แนวเดียวกับคลองดุสิต แต่แนวคูดังกล่าวขาดเป็นช่วงๆ •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ