คุยกับทูต | ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี พลังแห่งมิตรภาพไทย-อิหร่าน (จบ)

อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศตะวันออกกลางที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ในฐานะสยามกับอาณาจักรเปอร์เซีย

“ย้อนอดีตกลับไปยังจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างสองดินแดนเป็นมิตรภาพอันแน่นแฟ้น ยาวนานมากว่า 400 ปี มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้และมีร่องรอยปรากฏในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มต้นจากการเยือนสยามของชาวเปอร์เซียซึ่งเป็นที่รู้จักของคนไทย คือ เฉก อะหมัด (Sheikh Ahmad Qomi) ชาวเมืองกุม ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาจักรสยามอยุธยาเมื่อต้นศตวรรษที่ 17 ต่อมาเป็นข้าราชการผู้มีอำนาจในราชสำนักและ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘เจ้าพระยาบวรราชนายก'”

อนุสรณ์สถานเจ้าพระยาบวรราชนายก ภาพ – มิวเซียมสยาม

“เฉก อะหมัด เป็นต้นสกุลของไทยมุสลิมหลายนามสกุล รวมทั้งสกุลบุนนาค ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 1631 รวมอายุ 88 ปี สถานที่ฝังศพ ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และยังคงมีการจัดพิธีรำลึกถึงการเสียชีวิตทุกปี”

“หากจะพูดถึงความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างอิหร่านและไทยก็กล่าวได้ว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1955 จากนั้นจึงแต่งตั้งเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำอินเดียให้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทยคนแรกด้วย”

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนทางการเมืองและการลงนามในบันทึกความเข้าใจหลายฉบับเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเห็นพ้องของทั้งสองประเทศที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้น ความสัมพันธ์ทวิภาคีซึ่งมีมายาวนานกว่า 400 ปีก่อนจึงอบอุ่นและเป็นมิตรมาโดยตลอด”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E.Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย

ความท้าทายที่สุดในบทบาทเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E.Mr. Seyed Reza Nobakhti) กล่าวว่า

“ผมมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงสุดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 จึงต้องมีมาตรการดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ทุกแห่งถูกปิด กิจกรรมปกติทุกอย่างหยุดชะงัก เรียกได้ว่าประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในช่วงเดือนที่ยาวนานเหล่านั้น เพราะการพบปะผู้คนแบบเห็นหน้าและพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ ด้วยตนเองเป็นส่วนสำคัญของงานประจำวันของเรา”

หลังใช้ชีวิตในต่างประเทศมาหลายปี คิดถึงอะไรที่อิหร่าน

“ผมคิดถึงครอบครัวและญาติพี่น้องมากกว่าสิ่งอื่นใด ในบางครั้งก็คิดถึงวันปีใหม่เปอร์เซียหรือที่รู้จักกันในชื่อโนรูซ (Nowruz) คิดถึงประเพณีเก่าแก่ต่างๆ และฤดูใบไม้ผลิที่รื่นรมย์ รวมทั้งอาหารอิหร่านที่ผมโปรดปราน”

คิดว่าจะกลับมาเมืองไทยอีกครั้งในอนาคตหรือไม่ เพราะเหตุใด

“ผมได้รับประสบการณ์มากมายและเพลิดเพลินกับช่วงเวลาดีๆ ในประเทศไทย ความทรงจำเหล่านี้จะติดตัวไปทุกที่ไม่อาจลืมเลือน และหวังว่าจะเป็นทูตกิตติมศักดิ์ที่ดีของมิตรสหายชาวไทย เพราะผมจะกลับมาเยือนเมืองไทยดินแดนที่สวยงามและผู้คนที่มีอัธยาศัยดี ในทุกครั้งที่มีโอกาสอย่างแน่นอน”

พระราชวังโกเลสตาน หรือ พระราชวังกุหลาบ Golestan Palace

ไปเยือนอิหร่านกัน

“ผมขอเชิญชวนคนไทยไปเยือนอิหร่าน เพื่อทำความรู้จักกับประเทศที่มีอารยธรรมโบราณอายุ 7,000 ปี และด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมจึงทำให้อิหร่านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอุดมคติ นอกจากนี้ งานหัตถกรรมและอาหารของอิหร่านก็มีชื่อเสียงระดับโลก”

“ท่านจะประหลาดใจในความเป็นมิตรของผู้คน เพราะอิหร่านถูกเข้าใจผิดอย่างมากโดยสื่อตะวันตกกระแสหลักหลายสื่อ มองว่าอิหร่านเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งไม่เป็นความจริง อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกตามความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว ในฐานะผู้คนที่มีอัธยาศัยดี ชาวอิหร่านจึงสนใจที่จะพบปะและพูดคุยกับนักท่องเที่ยว”

รูปแบบการอยู่อาศัยของมนุษย์ในหุบเขา Uramanat

ไปเที่ยวอิหร่าน ช่วงไหนดี

“มีคำตอบที่แตกต่างกันมากมาย ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการทำ ช่วงฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูที่น่ารื่นรมย์ ส่วนช่วงไฮซีซั่นสำหรับการเดินทางไปอิหร่านเริ่มในเดือนมีนาคมและต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม เป็นเวลาที่ดีที่สุดในการสัมผัสกับประเพณีวัฒนธรรม เช่น ปีใหม่เปอร์เซีย (Nowruz) และเทศกาลน้ำกุหลาบ (Golab-Giri) หรือเลือกสนุกเพลิดเพลินกับกีฬาฤดูหนาว เช่น สกี ทางตอนเหนือของเตหะราน (ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์)”

กินอะไรในอิหร่าน

“อาหารอิหร่านมีหลากหลายหลายสไตล์ นักเดินทางจึงควรหาความแปลกใหม่และไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่เคบับ (Kabab) อาหารเปอร์เซียมีรสชาติอร่อย และไม่จำเป็นต้องเผ็ดเสมอไป”

“สำหรับเคบับเนื้อสับ (Kabab Koobide) ก็นับเป็นหนึ่งในอาหารที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ชื่นชอบที่สุดสามารถพบได้ทั่วอิหร่าน เป็นอาหารประจำชาติ เสิร์ฟพร้อมข้าวหรือขนมปัง มะเขือเทศย่างและหัวหอม”

“Doogh เป็นเครื่องดื่มประเภทนมที่เติมความสดชื่น ประกอบด้วยโยเกิร์ต น้ำ และมิ้นต์ แม้ว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ในอิหร่านจะปรุงอาหารด้วยเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก แต่อาหารมังสวิรัติก็เป็นที่ต้องการของชาวเปอร์เซียมาโดยตลอด ดังนั้น จึงเป็นความคิดที่ดีที่จะลิ้มลองอาหารอิหร่านอย่างน้อยหนึ่งครั้ง”

ระบบไฮดรอลิกทางประวัติศาสตร์ของ Shushtar

แหล่งมรดกโลกของ UNESCO ในอิหร่าน

“ประเทศอิหร่านเป็นที่ตั้งอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดของโลก รู้จักกันในชื่อ ‘อาณาจักรเปอร์เซีย’ ด้วยความเก่าแก่ทางอารยธรรมนี่เอง ทำให้ประเทศอิหร่านมีสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมสำคัญจนได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก้ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม จำนวน 25 แห่ง และแหล่งมรดกทางธรรมชาติ 2 แห่ง แต่ละแห่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบและการนำเสนอหลักฐานหลายปีว่าทำไมจึงควรได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก นักท่องเที่ยวจึงต้องเดินทางมากกว่าหนึ่งครั้งเพื่อไปเยือนสถานที่ทั้งหมดได้ เนื่องจากตั้งอยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ สนใจดูข้อมูลได้ที่ : https://whc.unesco.org/en/statesparties/ir หรือชมวิดีโอได้ที่ : https://www.facebook.com/watch/?v=1384432045499672

“ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรงสองเที่ยวบินต่อสัปดาห์จากกรุงเทพฯ ไปยังเตหะราน และอีกหนึ่งเที่ยวบินจากภูเก็ตไปยังเตหะราน”

การขอวีซ่าอิหร่าน

“นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติควรยื่นขอ e-visa ได้ที่เว็บไซต์นี้ : https://evisa.mfa.ir/en/ เกือบทุกคนรวมทั้งคนไทย สามารถยื่นขอวีซ่าเมื่อเดินทางมาถึงได้ (Visa on Arrival-VOA)”

“หากได้รับการอนุมัติจากเตหะราน การออกวีซ่าจะใช้เวลาสองสามวัน วีซ่าจะพิมพ์ลงบนกระดาษและจะไม่มีการประทับตราบนหนังสือเดินทาง ค่าวีซ่าท่องเที่ยวอิหร่านสำหรับคนไทยอยู่ที่ประมาณ 1,700 บาท”

“เราทุกคนที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในกรุงเทพฯ ยินดีต้อนรับ และพร้อมอำนวยความสะดวกให้ท่านได้เดินทางสู่อิหร่าน ดินแดนแห่งอารยธรรม อย่างสนุกสนานและประทับใจไม่รู้ลืม สวัสดีครับ” •

จัตตุรัสอิหม่ม IMAM SQUARE

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin