ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก : (5) จากจีเมริกาถึงสงครามเย็นใหม่

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก

: (5) จากจีเมริกาถึงสงครามเย็นใหม่

 

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์วิเคราะห์ความขัดแย้งของทุนอเมริกันกับทุนจีนในบริบทระบบทุนนิยมโลกปัจจุบันเมื่อต้นปี 2022 (https://thedigradio.com/podcast/clash-of-empires-w-ho-fung-hung/) ต่อจากตอนก่อนดังนี้ :

แดเนียล เดนเวอร์ : เราควรชี้ตรงนี้ด้วยใช่ไหมครับว่าภาวะสินค้าโภคภัณฑ์บูมที่ขับดันโดยอุปสงค์จีนนั้นไม่ยั่งยืนสำหรับเหล่าประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมันกลายเป็นปัญหาใหญ่โตสำหรับบรรดารัฐบาลกระแสสีชมพู (หมายถึงรัฐบาลเลี้ยวซ้าย https://th.wikipedia.org/wiki/กระแสสีชมพู) ทั้งหลายในละตินอเมริกา อย่างที่อาจารย์เขียนไว้ว่า :

“เมื่อภาวะบูมด้านการก่อสร้างของจีนฝ่อแฟบลงหลังปี 2010 อุปสงค์ของจีนต่อสินค้าโภคภัณฑ์ก็ตกต่ำลงด้วย และเหล่าประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเทศซึ่งพลอยลอยตัวขึ้นมาด้วยอานิสงส์ภาวะบูมของจีนก็ประสบกับสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวหรือกระทั่งถดถอยลง วิกฤตเศรษฐกิจในบราซิลและเวเนซุเอลาในทศวรรษที่ 2010 ก็คือกรณีดังกล่าวนี้นี่เอง”

โฮเฟิง หง : ตรงเผงเลยครับ หลังทศวรรษที่ 2010 เมื่อภาวะบูมด้านการก่อสร้างของจีนสิ้นสุดลง อุปสงค์ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกก็พลอยหดตัวลงด้วย มันก่อความเดือดร้อนให้รัฐบาลกระแสสีชมพูหลายแห่งที่เคยอาศัยขี่ภาวะบูมของสินค้าโภคภัณฑ์มา แถมวิกฤตเศรษฐกิจรัสเซียก็ยิ่งดิ่งลึกลงไปด้วยเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำลงในปลายทศวรรษที่ 2010 ครับ

กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ในเวลาต่อมาถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มหลักทรัพย์เพื่อการลงทุน (an investment portfolio) ที่บริษัทวาณิชธนกิจโกลด์แมนแซกส์สร้างขึ้นเพื่อล่อใจให้นักลงทุนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มประเทศบริกส์เหล่านี้ ทุกวันนี้กลุ่มบริกส์ก็ยังคงอยู่ในฐานะสถาบันบริหารปกครองระดับโลกนะครับ แต่เอาเข้าจริงบริษัทโกลด์แมนแซกส์ยุบเลิกกลุ่มหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ว่าไปแล้วในทศวรรษที่ 2010 เพราะตลาดหลักทรัพย์และบริษัททั้งหลายแหล่ในประเทศบริกส์เหล่านี้กิจการแย่เหลือเกิน

เหตุผลหลักอย่างหนึ่งของการนี้ก็คืออวสานของภาวะบูมด้านการลงทุนของจีนส่งผลกดดันอย่างมหาศาลต่อเหล่าประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์พวกนี้แหละครับ

สัมมนาออนไลน์เรื่อง “จักรวรรดิปะทะกัน : จากจีเมริกาถึงสงครามเย็นใหม่” โดย โฮเฟิง หง จัดโดยศูนย์จีนแห่งศตวรรษที่ 21, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ซานดิเอโก, สหรัฐอเมริกา, ธันวาคม 2020, https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=F8m2_Auhp8w

แดเนียล เดนเวอร์ : ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนย่ำแย่ลงมากนะครับนับแต่คุณตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The China Boom : Why China Will Not Rule the World ออกมาเมื่อปี 2015 อันที่จริงจากทศวรรษที่ 1980 มา ความสัมพันธ์ก็ตึงเครียดอยู่เสมอนั่นแหละ และก็มักวิตกกังวลกันอยู่ตลอดเรื่องการผงาดขึ้นของจีน แต่กระนั้นความตึงเครียดเหล่านี้ก็ไม่ถึงระดับที่จะเข้าประชันขันแข่งกันเต็มตัวจนกระทั่งต้นทศวรรษที่ 2010 เมื่อประธานาธิบดีโอบามาริเริ่มนโยบายปักหมุดเอเชียในปี 2012 ซึ่งเพ่งเล็งรวมศูนย์ไปที่การสร้างเสริมแสนยานุภาพทางนาวีของสหรัฐให้ปรากฏเด่นชัดในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ เราก็ยังได้เห็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) ที่มุ่งกีดกันจีนออกไปอีกด้วย

เมื่อถึงตอนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง คุณก็เขียนไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของคุณเรื่อง Clash of Empires : From ‘Chimerica’ to the ‘New Cold War’ (2022) ว่า “ข้อสงวนความเห็นต่างๆ และกระทั่งความเป็นอริต่อการค้ากับจีนได้กลายมาเป็นกระแสหลักในกรุงวอชิงตันไปเสียแล้ว จนถึงขั้นที่รัฐบาลชุดใหม่ของไบเดนให้คำมั่นว่าจะไม่ถอดถอนพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งเอาไว้กับสินค้าจีน และจะยังคงดำเนินนโยบายเผชิญหน้ากับจีนต่อไป”

ปรากฏว่าผู้คนมากหลายอธิบายความข้อนี้ง่ายๆ ด้วยการชี้ไปที่เส้นแบ่งแยกทางการเมืองและอุดมการณ์ระหว่างสองประเทศ แต่คุณกลับเขียนถึงประเด็นนี้ว่า

“ก็แลความแตกต่างทางอุดมการณ์และการเมืองเหล่านี้หาได้กีดขวางการดำเนินบูรณาการทางเศรษฐกิจและการร่วมมือทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีนในทศวรรษที่ 1990 และที่ 2000 แต่อย่างใดไม่… ฉะนั้น เราจำต้องหาทางอธิบายว่าเหตุไฉนจู่ๆ ภาวะอยู่ร่วมกันของสหรัฐ-จีนสมัยทศวรรษที่ 1990 และที่ 2000 จึงพลิกกลับกลายเป็นการประชันขันแข่งกันในทศวรรษที่ 2010 ไปได้ ในสภาพที่ระบบการเมืองและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็มิได้ประสบการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพขั้นมูลฐานแต่อย่างใด”

หนังสือ Clash of Empires เล่มใหม่ของอาจารย์เถียงว่าตัวการชักนำการเปลี่ยนย้ายขนานใหญ่ที่ว่านี้คือข้อความจริงที่ว่าบรรดาบริษัทสหรัฐทั้งหลาย ซึ่งแต่ก่อนนี้เคยปกป้องความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนจากพวกเดินนโยบายต่างประเทศสายเหยี่ยวเอย แรงงานจัดตั้งเอย กลุ่มสิทธิมนุษยชนเอย และบริษัทหัตถอุตสาหกรรมบางแห่งเอย ชักเริ่มรู้สึกขัดเคืองจีนขึ้นมา

อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายขยายความว่าโล่ที่พวกบรรษัทอเมริกันเคยใช้คุ้มครองปกป้องความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนจากทศวรรษที่ 1990 ไปจนตลอดทศวรรษที่ 2000 นี้มันคืออะไรครับ? แล้วอะไรที่ทำให้บรรษัทสหรัฐทั้งหลายพากันถอนโล่นั้นออกมาเสีย?

 

โฮเฟิง หง : ผมว่าถ้าเหลียวหลังไปดูปลายทศวรรษที่ 1990 แล้ว เราจะพบว่าประดาคำวิจารณ์จีนทางอุดมการณ์และภูมิรัฐศาสตร์นั้นไม่ใช่ของใหม่นะครับ ไอ้วาทกรรมที่เรียกว่า “ภัยคุกคามจากจีน” นี่น่ะก็กำลังขยายตัวในวงการนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติอยู่แล้ว และคำกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนก็แพร่หลายไปนับตั้งแต่การปราบปรามขบวนการประชาธิปไตย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 เป็นต้นมา

แม้แต่ในทศวรรษที่ 1980 แวดวงความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายต่างประเทศและการทหารของสหรัฐก็ห่วงกังวลเรื่องจีนพอๆ กับที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เหมือนกัน ตอนนั้นจีนเองก็แสดงให้เห็นความทะยานอยากของตนที่จะครองฐานะครอบงำเหนือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งจีนเรียกว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกยิ่งๆ ขึ้น ส่วนกรณีพิพาทเรื่องดินแดนที่เกี่ยวพันกับจีนและรัฐข้างเคียงทั้งหลายนั้นก็ย้อนรอยถอยหลังไปได้ถึงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 นั่นเทียวครับ

สภาพเงื่อนไขเหล่านี้นำไปสู่การเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐครั้งต่างๆ รวมทั้งกรณีวิกฤตช่องแคบไต้หวันเมื่อปี 1995 ถึง 1996 ด้วยเมื่อทางการจีนยิงขีปนาวุธข้ามช่องแคบไต้หวันมาเพื่อพยายามข่มขู่ประชาชนชาวไต้หวันให้ตื่นกลัวระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรกของพวกเขานั่นแหละครับ

จีนมองว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวที่มุ่งสู่การประกาศเอกราชและประธานาธิบดีบิล คลินตัน ก็เลยสั่งให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเข้าไป ตอนนั้นความตึงเครียดจัดว่าสูงทีเดียว (ดูเพิ่มเติมใน Richard McGregor, Asia’s Reckoning : The Struggle for Global Dominance, 2017, pp. 152-3)

 

เมื่อปี 1999 ในระหว่างเกิดสงครามโคโซโว (ระหว่างสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียกับกองทัพปลดปล่อยโคโซโวซึ่งองค์การนาโตเข้าทิ้งระเบิดแทรกแซง ดู https://en.wikipedia.org/wiki/Kosovo_War) เครื่องบินทิ้งระเบิดสหรัฐได้ทำลายสถานเอกอัครรัฐทูตจีนในกรุงเบลเกรดและสังหารคนจีนที่สถานทูตไปจำนวนหนึ่ง กรณีนั้นก่อให้เกิดความตึงเครียดมหาศาลเลยนะครับ และแน่ล่ะว่าในปี 2001 ก็ยังมีกรณีเครื่องบินจารกรรมในทะเลจีนใต้อีก (หรือที่เรียกว่ากรณีเกาะไหหลำซึ่งเครื่องบินจารกรรมสหรัฐชนกับเครื่องบินสกัดกั้นจีน ดู https://en.wikipedia.org/wiki/Hainan_Island_incident)

แต่ถึงแม้จะมีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้ อีกทั้งประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในจีน ทว่า ย้อนหลังกลับไปในทศวรรษที่ 1990 และทศวรรษที่ 2000 ข้อกังวลห่วงใยดังกล่าวก็ไม่เคยกลายเป็นกระแสหลักในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองอเมริกันเลย แน่ล่ะครับมันเป็นเรื่องร้ายแรงในแวดวงความมั่นคงแห่งชาติ การทหารและการทูต แต่สำหรับรัฐบาลสหรัฐทั้งหมดโดยภาพรวมจากสมัยประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช และประธานาธิบดีบิล คลินตัน ไปจนถึงประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (ผู้ลูก) นั้น มันไม่เคยขึ้นเป็นกระแสหลักเลย

ประเด็นใจกลางตรงนี้ก็คือบรรษัทสหรัฐทั้งหลายเร่าร้อนกระตือรือร้นยิ่งที่จะวิ่งเต้นแทนจีน ถ้าหากมีร่างกฎหมายฉบับใดในสภาคองเกรสเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือภูมิรัฐศาสตร์หรือสิทธิมนุษยชนละก็ พวกเขาจะวิ่งเต้นแทนรัฐบาลจีนเพื่อทำแท้งร่างกฎหมายเหล่านั้นเสีย สิ่งที่พวกเขาได้เป็นการตอบแทนคือได้เข้าถึงตลาดจีน และได้ทำสัญญามูลค่าอิ่มหมีพีมันในบางภาคส่วนของเศรษฐกิจจีนที่ได้รับการคุ้มครอง ปรากฏว่ากลุ่มทุนการเงินวอลล์สตรีตเอย บริษัทโทรคมนาคมเอย และบริษัทผลิตเครื่องจักรเอย พากันกลายเป็นนักวิ่งเต้น ตัวแทนให้รัฐบาลจีนกันหมดเลยครับ

ฉะนั้น กล่าวได้ว่าในตอนปลายทศวรรษที่ 1990 ถึงต้นทศวรรษที่ 2000 ภาคบรรษัทเอกชนในสหรัฐนี่แหละครับที่เป็นตัวป้องกันไม่ให้ความเป็นอริทางภูมิรัฐศาสตร์และอุดมการณ์ระหว่างสหรัฐกับจีนกลายเป็นกระแสหลักขึ้นมา

 

แดเนียล เดนเวอร์ : อาจารย์เขียนไว้ว่าตอนต้นทศวรรษที่ 1990 นั้น การวิ่งเต้นของพวกบรรษัทที่ว่านี้สัมฤทธิผลยิ่งเพราะกลุ่มทุนการเงินวอลล์สตรีตกำลังเรืองอำนาจขึ้นภายในทำเนียบขาวของประธานาธิบดีคลินตัน นั่นคือปัจจัยที่นำไปสู่การต่ออายุสถานะการค้าฉันชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งให้แก่จีน จีนได้รับการต่ออายุสถานะที่ว่านั้น ตามมาด้วยการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐให้เป็นปกติ และแถมท้ายด้วยการได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO)

โฮเฟิง หง : ใช่เผงเลยครับ ก่อนที่จีนจะได้เข้าร่วมองค์การการค้าโลกน่ะ สถานะที่เรียกว่า “ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น “ความสัมพันธ์ทางการค้าปกติ” ระหว่างจีนกับสหรัฐนั้น ต้องต่ออายุกันปีต่อปีโดยทำเนียบขาวและสภาคองเกรส โดยอาศัยสถานะที่ว่านี้ สินค้าออกของจีนก็เข้าถึงตลาดสหรัฐได้ด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ต่ำ

ที่น่าสนใจคือเมื่อปี 1993 ตอนที่คลินตันเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขากำหนดนโยบายใหม่ที่ผูกการต่ออายุการเข้าถึงตลาดสหรัฐด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรต่ำของจีนเข้ากับเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชนครับ เขาบอกว่าเวลาเราต่ออายุสถานะการค้ากับสหรัฐของจีนรายปีนั้น เราจะประเมินความก้าวหน้าในด้านสิทธิมนุษยชนของจีนด้วย ถ้าหากจีนไม่ได้ทำความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ ที่เป็นใจกลางแต่อย่างใดแล้ว เราจะขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเอากับสินค้าจีน นี่เป็นนโยบายทางการเมื่อปี 1993 นะครับ

ทว่า ในปี 1993 ต่อ 1994 มีความพยายามวิ่งเต้นขนานใหญ่โดยเหล่าบรรษัทสหรัฐและรัฐบาลจีน เพื่อขจัดเงื่อนไขเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ออกไปจากการที่สินค้าจีนจะเข้าถึงตลาดสหรัฐด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ต่ำ

และท้ายที่สุดแล้ว มันประสบความสำเร็จครับ ถึงปี 1994 จู่ๆ ประธานาธิบดีคลินตันก็ประกาศเปรี้ยงว่าเราจะไม่หยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาเวลาตัดสินใจว่าจะต่ออายุสถานะชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งของจีนหรือไม่อีกต่อไป

 

ในระหว่างกระบวนการที่ตื่นเต้นเร้าใจยิ่งในปี 1993 ต่อ 1994 ที่ว่านี้ คุณกระทั่งได้เห็นคนอย่างโรเบิร์ต รูบิน ผู้มาจากกลุ่มทุนการเงินวอลล์สตรีตและเป็นหัวหน้าสภาเศรษฐกิจแห่งชาติที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ อีกทั้งจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป หันมาเข้าข้างฝ่ายบรรษัทเลยนะครับ เขาเป็นปากเสียงหลักที่ป่าวร้องสนับสนุนให้ขจัดเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชนออกไปจากการค้ากับจีน และเขากระทั่งออกหน้ามาโต้เถียงอย่างเปิดเผยในสื่อมวลชนกับฝ่ายกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลประธานาธิบดีคลินตันซึ่งมีเจ้าหน้าที่เป็นพวกมองโลกในแง่ดีอย่างยิ่งในเรื่องที่จะใช้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมาส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยอาศัยแรงบันดาลใจที่ได้จากสงครามเย็นและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้นั่นแหละครับ

แดเนียล เดนเวอร์ : อาจารย์หมายถึงพวกสากลนิยมแบบเสรีนิยมอย่างนางแมเดอลีน ออลไบร์ต อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของสหรัฐใช่ไหมครับ? (https://www.voathai.com/a/6498013.html)

โฮเฟิง หง : ใช่ครับ นักสากลนิยมแบบเสรีนิยมพวกนี้รวมทั้งนางแนนซี เพโลซี ในสภาคองเกรสต่างพากันโต้เถียงกับโรเบิร์ต รูบิน อย่างเปิดเผย โรเบิร์ต รูบิน ร้องขอให้ขจัดเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชนออกไปเสีย แล้วฝ่ายเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศกับแนนซี เพโลซี ก็ปฏิเสธโดยอ้างว่านโยบายนี้กำลังใช้การได้อยู่แล้ว

แต่ท้ายที่สุด โรเบิร์ต รูบิน ก็ชนะครับ ส่วนหนึ่งเพราะอิทธิพลของกลุ่มทุนการเงินวอลล์สตรีตต่อรัฐบาล คลินตัน คลินตันตัดสินใจดึงเอาข้อพิจารณาด้านสิทธิมนุษยชนทิ้งไปในการค้ากับจีนเมื่อปี 1994 ครับ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)