เลขาฯ ศอ.บต.ใหม่-สัญญาณดับไฟใต้ | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

นโยบายแก้ไขสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โดนตั้งคำถามมาก่อนหน้านี้ว่าไม่มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากนัก ให้ความสำคัญจริงจังแค่ไหน

จนมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 กันยายน ได้มีการแต่งตั้ง พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นที่จับตามองว่า การส่งคนจากกระทรวงยุติธรรม ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็น รมว. น่าจะเป็นการเลือกคนที่มีความสามารถตรงกับภารกิจอย่างแท้จริง

เพราะ พ.ต.อ.ทวี มีผลงานเรื่องการแก้ปัญหาไฟใต้อย่างชัดเจนมาแล้ว

ความจริง ไม่น่ามีข้อสงสัยอะไรมากนักต่อนโยบายไฟใต้ของรัฐบาลเศรษฐา เพราะมีพรรคร่วมรัฐบาลที่แนบแน่นกันคือ พรรคประชาชาติ ซึ่งได้รับเลือกตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และเป็นพรรคที่ทำงานกับมวลชนในพื้นที่ไฟใต้อย่างจริงจังมาตลอดหลายปี

ไม่ว่าจะเป็นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตหัวหน้าพรรค ที่ไปดำรงตำแหน่งประธานสภา รวมทั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่ทำงานในพื้นที่ไฟใต้อย่างเข้าถึงมวลชนมายาวนาน ตั้งแต่เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ในปี 2554 ก่อนโดนย้ายเมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

จากนั้นจึงลาออกจากราชการ มาตั้งพรรคประชาชาติร่วมกับนายวันนอร์ จนประสบความสำเร็จในพื้นที่ภาคใต้ในการเลือกตั้งปี 2562 ได้ ส.ส. 7 เสียง และการเลือกตั้งหนล่าสุดก็ได้ ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดเพิ่มมากขึ้นเป็น 9 เสียง

ที่สำคัญในช่วงปี 2556 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตั้งคณะทำงานเจรจาดับไฟใต้ โดยตั้งโต๊ะเจรจากับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบอย่างเปิดเผยเป็นทางการ โดยมี พ.ต.อ.ทวี เป็นผู้นำเจรจาคนสำคัญของรัฐบาล จนสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในบางระดับ ลดความรุนแรงลงได้ในส่วนหนึ่ง

แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 คณะทำงานเจรจาดับไฟใต้ก็โดนล้ม โดนย้าย

ดังนั้น การที่รัฐบาลเศรษฐาได้พรรคประชาชาติซึ่งครองใจมวลชนในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้วมาร่วมทำงาน ก็รู้ได้ทันทีว่ารัฐบาลนี้จะมุ่งแก้ไฟใต้อย่างจริงจังแน่นอน

การที่มี พ.ต.อ.ทวี เป็นรัฐมนตรียุติธรรม แล้วส่ง พ.ต.ท.วรรณพงษ์ จากกระทรวงยุติธรรม ไปเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. จึงน่าจะเป็นสัญญาณที่ดี

 

อันที่จริงสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้ เกิดมายาวนานแล้ว นับจากเกิดการอุ้มฆ่าหะยีสุหลง ผู้นำศาสนาคนสำคัญ ผู้นำเรียกร้องการจัดการปกครองแบบให้ความสำคัญด้านเชื้อชาติศาสนาอันเป็นเอกลักษณ์ของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ โดยถูกรัฐบาลจับกุมข้อหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน พอปล่อยตัวออกมา ก็โดนอุ้มฆ่าในปี 2497 ทำให้คนในพื้นที่เริ่มหันไปเลือกแนวทางต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง

แต่ไฟใต้จากอดีต มีลักษณะรุนแรงเป็นพักๆ สงบลงเป็นพักๆ จนกระทั่งหนล่าสุดคือ เริ่มจากปี 2547 จากนั้นลุกลามมายาวนาน 19 ปีแล้ว หนนี้ไม่สงบลงง่ายๆ

ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในปี 2547 อันเป็นนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทำให้ไฟใต้กลับมารุนแรงอีกครั้งและยืดเยื้อยาวนาน

จนเมื่อยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลในปี 2554 มุ่งมั่นจะดับไฟใต้ ด้วยใช้การเจรจาสันติภาพนำการปราบปราม เพื่อลบล้างความผิดพลาดของรัฐบาลพี่ชายให้ได้

เริ่มจากส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตนายตำรวจกองปราบฯ ที่โอนย้ายมากระทรวงยุติธรรม เพื่อทำงานกรมสอบสวนคดีพิเศษในยุคก่อตั้ง ด้วยความรอบรู้และแนวคิดกว้างไกล จึงได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อใช้งานมวลชน เข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ไฟใต้ จากนั้นยกระดับเป็นคณะเจรจาดับไฟใต้อย่างเป็นทางการ

หลังเปลี่ยนแปลงเป็นยุครัฐบาลทหาร จากการรัฐประหารปี 2557 นับจากนั้นการพูดคุยเจรจากลายเป็นแบบปิดลับ ทำให้ไม่ได้รับรู้ความคืบหน้า

จนเมื่อพรรคเพื่อไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาล โดยมีพรรคประชาชาติ รวมทั้ง พ.ต.อ.ทวีเข้าร่วม เชื่อได้ว่าแนวทางเจรจาสันติภาพยุคยิ่งลักษณ์จะได้รับการรื้อฟื้นกลับมา พร้อมกับการมีบทบาทร่วมดับไฟใต้ของ พ.ต.อ.ทวี

การตั้ง พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เป็นเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ น่าเชื่อว่าจะเน้นงานมวลชน งานสันติวิธีแน่นอน

โดยปูมประวัติ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เป็นลูกชายของ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ นายตำรวจคนดังที่น่าเชื่อถือ และ พ.ต.ท.วรรณพงษ์เองก็ผ่านการทำงานหลายหน่วยงานจนมีผลงานประจักษ์ชัด

โดยโอนย้ายจากกองปราบฯ มายังดีเอสไอพร้อมกับ พ.ต.อ.ทวี จากนั้นเติบโตในดีเอสไอ เป็น ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และเป็นอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

เป็นข้าราชการรุ่นใหม่ รอบรู้กว้างไกล เข้าใจโลกยุคใหม่และสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างดี

 

พรรคประชาชาติได้ชื่อว่า ทำงานเข้าถึงมวลชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ทั่วถึงทุกกลุ่ม ผลสำเร็จจากการได้ ส.ส.ในพื้นที่นี้ ในการเลือกตั้ง 2 หนที่ผ่านมา เชื่อว่าพรรคประชาชาติมีแต่จะเร่งผลงานสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น นำชีวิตที่มีความสุขสงบกลับคืนสู่พื้นที่นี้ให้ได้

ย้อนไปดูแนวทางการทำงานของ พ.ต.อ.ทวี ในยุคเป็นเลขาฯ ศอ.บต. และแนวทางแก้ไฟใต้ของเพื่อไทยยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์

เชื่อได้ว่า เมื่อ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ ลงไปทำหน้าที่เลขาธิการ ศอ.บต. ต้องนำแนวทางเหล่านั้นกลับคืนมา โดยปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบันให้มากขึ้น

ประการแรก คงมองต้นเหตุปัญหาไฟใต้ได้ตรงจุดมากกว่าการมองด้วยสายตาแบบทหาร

เพราะฝ่ายความมั่นคงย่อมมองว่า เมื่อกลุ่มก่อความไม่สงบใช้ปฏิบัติการนอกกฎหมาย การก่อการร้าย จะต้องปราบปรามไล่ล่าอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังมองเลยไปไกลว่า เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้น รัฐไทยจะไม่ยินยอมให้ใครมาแยกไปเด็ดขาด

แต่หากศึกษาให้แท้จริงแล้วจะพบว่า การแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดใต้ เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีทรัยากรอุดมสมบูณ์จนถึงขั้นแยกไปปกครองตัวเองได้

อีกทั้งผู้ก่อความไม่สงบ ล้วนเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้ล้างแค้นเจ้าหน้าที่รัฐ จากปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านเชื้อชาติศาสนา

จุดบ่งบอกที่เป็นเหตุเป็นผลคือ การก่อความไม่สงบตลอด 19 ปีมานี้ ไม่เคยมีการก่อเหตุครั้งใด ที่ประกาศตัวด้วยใบปลิว ด้วยคำประกาศว่า ขบวนการอะไรที่เป็นผู้ลงมือ

ถ้าต้องการแบ่งแยกดินแดน จะต้องสร้างชื่อเสียงขบวนการ เพื่อนำไปสู่อิทธิพลทางการเมืองและการทหารอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่เคยมีการประกาศชื่ออ้างเป็นองค์กรอะไรเลย เหล่านี้ชี้ว่า เป็นปฏิบัติการตอบโต้ล้างแค้นจากปัญหาความไม่เป็นธรรม

ดังนั้น หากมองให้ออกว่า ปัญหาคือความไม่เป็นธรรม จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและถูกแนวทาง

อีกทั้งสงครามที่เป็นเรื่องความคิดอุดมการณ์ความไม่เป็นธรรม ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการทหารและการปราบปราม

จากนี้ไปคงได้เห็นแนวนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ และเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ ในแนวทางที่ดีมีอนาคต!