แจก 1 หมื่น อาจไม่ทำเศรษฐกิจโตอย่างที่คิด | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ไตรมาส 4 ซึ่งตามทฤษฎีแล้วควรเป็นช่วงเวลาที่การค้าขายคึกคักที่สุดของปี

แต่ทุกวันนี้ไปไหนก็มีแต่คนบ่นว่าการทำมาหากินซบเซา ถ้าใครไม่เชื่อก็ลองถามแม่ค้าขายข้าวข้างทางหรือคนขับแท็กซี่ เพราะสองกลุ่มนี้คือคนที่หากินกับประชากรกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลางมากที่สุดในสังคม

อาจารย์โกร่ง “วีรพงษ์ รามางกูร” เคยตั้งชื่อคอลัมน์ตัวเองในประชาชาติธุรกิจว่า “คนเดินตรอก” ซึ่งผมชอบที่สะท้อนแนวคิดการเขียนของอาจารย์ได้ดี เพราะตรอกเล็กกว่าซอย และคนที่อยู่ในตรอกคือคนกลุ่มที่จนที่สุดและมีคนมองเห็นน้อยที่สุด การมองโลกจากตรอกจึงเห็นความจริงของประเทศอีกมุมได้อย่างดี

ถ้าถามนักธุรกิจว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้เป็นอย่างไร คำตอบที่ได้ย่อมขึ้นอยู่กับนักธุรกิจคนนั้นทำงานในภาคธุรกิจไหน ตัวอย่างเช่น นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ย่อมบอกว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นเพราะเริ่มเห็นคนซื้อคอนโดฯ และบ้านจัดสรรมากขึ้น เท่ากับคนมั่นใจว่ามีการงานและรายได้มั่นคงจนกล้าจ่ายอะไรระยะยาว

ถ้านำคำถามเดียวกันนี้ไปถามคนงานก่อสร้างหรือคนขุดถนนทำรถไฟฟ้าใต้ดิน คำตอบที่ได้ก็คือเศรษฐกิจวันนี้ไม่มีอะไรต่างจากเก้าปีที่แล้ว ค่าแรงที่เคยไม่พอค่าครองชีพในยุคคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่พอต่อไปในยุคคุณเศรษฐา ทวีสิน และการหารายได้ให้พอเลี้ยงชีวิตโดยขึ้นอยู่กับงานโอทีก็ยังคงเป็นแบบนั้นต่อไปในยุคปัจจุบัน

ตรงข้ามกับพรรคก้าวไกลที่เน้นนโยบายสวัสดิการสังคมและขึ้นค่าแรงโดยมีแนวทางแน่นอนทุกปี พรรคเพื่อไทยปฏิเสธเรื่องนี้โดยอ้างว่าชีวิตทุกคนจะ “มีกิน มีใช้ มีศักดิ์ศรี” หากปล่อยให้รัฐบาลทำเศรษฐกิจไทยให้โตจนเงินกระจายไปสู่คนกลุ่มต่างๆ ผ่านการจับจ่ายใช้สอยอย่างกว้างขวางในสังคม

 

คุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยหาเสียงช่วงก่อนปิดหีบเลือกตั้งว่าตัวเองเป็น “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” แต่ในที่สุดเรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องอื่นที่เพื่อไทยหลังเลือกตั้งพูดต่างจากก่อนเลือกตั้งไปหมด เพราะตั้งแต่คุณเศรษฐาเข้าทำเนียบก็ไม่เคยพูดคำพูดนี้เหมือนกับที่ไม่พูดเรื่องแก้ 112, ยกเลิกเกณฑ์ทหาร, ปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ อีกเลย

ไม่ว่ารัฐบาลจะรู้ตัวหรือไม่ “ภาพลักษณ์” ของรัฐบาลที่ไม่ทำตามที่หาเสียงกำลังลุกลามเป็น “ภาพหลัก” ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการไม่สังคายนาปัญหาในสถาบันทหารและตำรวจ, ไม่แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ, ไม่ยกเลิกซื้อเรือดำน้ำจีน และไม่แตะเรื่องเติมเงินให้ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ต่อเดือน

โดยปกติ “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” หมายถึงการปรับองค์กรธุรกิจให้คำนึงถึงการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม, ไม่ผลักภาระให้สังคมรับภาระการลงทุนด้านต่างๆ, ปรับปรุงระบบตลาดให้เกิดความเท่าเทียม หรือแม้แต่นิเวศอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลเศรษฐา, คุณเศรษฐา และรัฐมนตรีไม่ได้พูดถึงแม้แต่คำเดียว

เห็นได้ชัดว่า “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” ต้องแตะระบบตลาดและบทบาทองค์กรธุรกิจในสังคม ขณะที่นโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่แตะต้องระบบตลาด แต่ปล่อยให้ตลาดโตไปเรื่อยๆ แล้วอ้างว่าความเท่าเทียม, ความเป็นธรรม และการลดความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นเหมือนพระอาทิตย์ต้องขึ้นทางทิศตะวันออกโดยปริยาย

“ทุนนิยมที่มีหัวใจ” ในมุมของเพื่อไทยหมายถึงการเป็นรัฐบาลที่เห็นใจคนจน นึกถึงคนจน แต่ไม่แตะต้อง “โครงสร้าง” ที่ทำให้คนเข้าสู่ “ความยากจน” อย่างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่ากัน, ค่าแรงที่ต่ำกว่าค่าครองชีพ, การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการปรับระบบภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

 

ขณะที่เพื่อไทยช่วงหาเสียงพูดเรื่อง “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” เพื่อบอกว่าตัวเองเห็นใจคนจน แนวคิดของพรรคเพื่อไทยจริงๆ กลับตรงกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมานานคือ Trickle-Down Effect หรือ “เศรษฐกิจไหลริน” ที่เชื่อว่าเมื่อคนรวยร่ำรวยขึ้น เงินก็จะค่อยๆ ไหลไปคนจนขั้นมีเงินสูงขึ้นตามมา

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองรู้ดีว่า “เศรษฐกิจไหลริน” มุ่งสร้างความเติบโตของนายทุนที่รวยอยู่แล้วและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ก่อนคนกลุ่มอื่นในสังคม โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจึงบอกว่าแนวคิดนี้ที่จริงคือ “เศรษฐกิจกินรวบ” (Trickle-Up Economics) ที่เงินคนจนและคนชั้นกลางถูกดูดสู่คนรวย

คงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ารัฐบาลเศรษฐา 1 จะทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดการขยายตัวของ “เศรษฐกิจกินรวบ” หรือไม่

แต่สิ่งที่ไม่เร็วเกินไปก็คือรัฐบาลเศรษฐา 1 ยังไม่ได้พูดอะไรที่จะทำให้ “เศรษฐกิจกินรวบ” ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยทุเลาเบาบางลง หรืออย่างน้อยก็ผ่อนปรนจากหนักเป็นเบา

มองในแง่นี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คนกลุ่มแรกๆ ซึ่งคุณเศรษฐาไปพบและโพสต์รูปโชว์หลังเป็นนายกฯ คือ “เจ้าสัว” หรือ “นายทุน” ที่เป็นเจ้าของกิจการผูกขาดและกึ่งผูกขาดในธุรกิจน้ำเมา, ค้าที่ดิน, ขายไฟฟ้า, ค้าปลีก รวมทั้งโทรคมนาคม และทั้งหมดเป็นเจ้าของธุรกิจกลุ่มที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดหุ้นไทย

รัฐบาลจะเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจกินรวบอย่างไรขณะที่ผู้นำรัฐบาลอยู่ในโลกของเศรษฐกิจกินรวบ รัฐบาลจะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ลดการกินรวบอย่างไรในเงื่อนไขที่ความสัมพันธ์ของผู้นำรัฐบาลกับ “เจ้าสัว” แนบแน่นระดับ VVIP

และนโยบายรัฐบาลจะแตะปัญหากินรวบเพื่อลดการผูกขาดหรือไม่แตะต้องเลย?

 

รัฐบาลไทยแทบทุกชุดเชื่อเหมือนพ่อค้าและนักวิชาการกลุ่ม “เศรษฐกิจไหลริน” ว่ายิ่งคนรวยมีเงิน เงินก็จะไหลไปสู่คนจนมากขึ้น และเมื่อคนจนมีเงินมากขึ้น กำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยก็จะเพิ่มขึ้น การผลิตและการลงทุนก็จะขยายตัวแบบ Multiplier Effect จากนั้นเศรษฐกิจประเทศก็จะเติบโตตามโดยปริยาย

แกนของแนวคิดนี้คือถ้ารัฐควักภาษีประชาชนอัดฉีดเศรษฐกิจ 1 บาท ประชาชนอาจเอาไปเงินซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เงิน 1 บาทจึงถูกใช้อีกรอบจนเท่ากับมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทย 2 บาท และถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็อาจขยายตัวเป็น 5 บาท, 10 บาท และอื่นๆ ตามปริมาณการหมุนรอบของเงิน

เทคโนแครตของพรรคเพื่อไทยพูดเยอะเรื่องจำนำข้าว ทำให้เกิด Multiplier Effect และรัฐบาลคุ้มที่ควักเงินให้ชาวนาเพราะทำให้เศรษฐกิจโตแบบทวีคูณ

แต่ถ้าแนวคิดนี้ดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยจริงๆ อย่างที่รัฐบาลเพื่อไทยเคยเชื่อในปี 2554-2557 คำถามทำไมรัฐบาลเพื่อไทยปี 2566 ไม่ทำอย่างที่รัฐบาลเพื่อไทยเคยทำ?

เมื่อเทียบกับกองทุนหมู่บ้านที่พรรคไทยรักไทยริเริ่มและยังไม่เลิกเหมือนจำนำข้าว เราอาจพูดได้ว่าอย่างดีที่นโยบายนี้ทำให้เกิดขึ้นคือการประคองเศรษฐกิจระดับหมู่บ้านให้มีเงินยังชีพในระบบเจ้าสัวกินรวบต่อไปได้

และถ้าโชคดีก็อาจมีบางครอบครัวยกระดับจากเกษตรกรชนบทเป็นชนชั้นกลางในเขตเมือง

“แจก 1 หมื่น” เป็นนโยบายที่วางอยู่บนแนวคิด Multiplier Effect เหมือนคุณทักษิณ ชินวัตร ทำเรื่องกองทุนหมู่บ้านและจำนำข้าวซึ่งผลลัพธ์มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว

ปรัชญาของนโยบายนี้คือโยนเงินกองใหญ่เข้าไปจนเกิด “เฮอร์ริเคนทางเศรษฐกิจ” ที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วจนรัฐแทบไม่ต้องทำอะไรเลย

ไม่มีใครรู้ว่านโยบายนี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ เพราะตรงข้ามกับ “ความเชื่อ” ว่ารัฐบาลเพื่อไทยทำทุกนโยบายได้ผลหมด พรรคเพื่อไทยเคยทำนโยบายนี้สำเร็จแบบกองทุนหมู่บ้าน และเคยล้มเหลวแบบจำนำข้าวที่ไม่ทำอีก

แต่ที่แน่ๆ คือนโยบายนี้ไม่ได้เริ่มต้นอย่างราบรื่นอย่างที่หาเสียงไว้เลย

 

เพื่อไทยโดนถามเรื่องที่มาของเงิน “แจก 1 หมื่น” ตั้งแต่หาเสียง และเพื่อไทยตอบตลอดว่าเงินมี ไม่ต้องกู้ หมุนเงินงบประมาณในระบบพอ

แต่ตอนนี้เห็นชัดแล้วว่าที่มาของเงินมีปัญหา รัฐบาลตอบเรื่องที่มาไม่ได้ และการขยายเพดานภาระการคลังเป็น 45% หมายถึงการกู้เงินจากธนาคารของรัฐมาแจกค่อนข้างแน่นอน

คุณศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกลควรได้เครดิตที่วิเคราะห์เรื่องที่มาเงินแบบนี้ตั้งแต่วันรัฐบาลแถลงนโยบายและรัฐบาลไม่ได้ตอบเรื่องนี้มากกว่าให้สมาชิกพรรคโพสต์โจมตีคุณศิริกัญญาว่า “ไม่มีความรู้” และบอกว่ารัฐบาลใช้เงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำอยู่แล้ว จนไม่ได้บอกอะไรเลย

ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารกสิกรไทยซึ่งได้รับความเชื่อถืออย่างสูงก็ออกมาพูดเรื่องคล้ายคุณศิริกัญญาและผมพูดไว้สัปดาห์ที่แล้ว นั่นก็คือ เพื่อไทยแจก 1 หมื่นโดยอ้างว่าเศรษฐกิจจะโตเฉลี่ยปีละ 5% จนหนี้ไม่ท่วม แต่ผมได้ชี้ไว้แล้วว่าธนาคารโลกประเมินว่าสามปีนี้เราจะโตต่ำลงจาก 3.9% เป็น 3.4% เท่านั้น

ในคำแถลงของหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กสิกรไทย จีดีพีไทยในรอบ 4 ปี โตเฉลี่ยแค่ 2.9% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเพื่อไทยเกือบเท่าตัว โครงการนี้จึงมีปัญหาเรื่องที่มาเงินและผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ต่อให้เทียบกับนโยบายคนละครึ่งของคุณประยุทธ์ซึ่งรัฐมนตรีและพรรครัฐบาลเศรษฐา 1 เคยร่วมรัฐบาลด้วยเกินครึ่งก็ตาม

 

สรุปสั้นๆ ขณะที่นโยบายคนละครึ่งเห็นชัดว่าหากรัฐลงทุน 5 แสนล้านบาท ประชาชนก็จะใช้จ่ายเงินอีก 5 แสนล้านบาท เงินลงทุนภาครัฐทำให้เงินในกระเป๋าเอกชนไหลเข้าระบบอีก 1 เท่า ระบบเศรษฐกิจจึงเดินหน้าทันที ขณะที่นโยบายแจก 1 หมื่นต้องไปลุ้นว่าเงินจะหมุนกี่รอบกว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้นจริงๆ

ปัญหาหนี้จากนโยบายแจก 1 หมื่นเป็นเรื่องที่ธนาคารกสิกรไทยพูดตรงกับคุณศิริกัญญาว่าอาจทำเครดิตประเทศไทยร่วง แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีความซับซ้อน จึงขอเก็บไว้พูดถึงในโอกาสถัดไป

ที่ผ่านมารัฐบาลเชื่อว่าจะชดเชยปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองบกพร่อง (Legitimacy Deficit) โดยวิธีปั่นเศรษฐกิจให้โตจนคนพอใจรัฐบาล

ปัญหาคือ ถ้านโยบายแจก 1 หมื่นสร้างคะแนนนิยมได้จริงๆ พรรคเพื่อไทยคงไม่แพ้ก้าวไกลจนได้ ส.ส.ต่ำกว่าเป้าเกินครึ่งแบบนี้

มองในแง่การเมือง หากนโยบายแจก 1 หมื่นไม่ทำให้เศรษฐกิจโตจนคนพอใจรัฐบาลได้ รัฐบาลจะเหลืออะไรเพี่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในเวลาที่รัฐบาลส่งสัญญาณถอยนโยบายที่หาเสียงอื่นๆ จนแม้แต่เรื่องขึ้นค่าแรงและอัดฉีดเงินให้ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นก็ไม่มีความชัดเจน