โจ๊ก สาขา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“…ผมจะไม่เอาคืน แต่มีข้อมูลอยู่มาก ถ้าเปิดเผยเมื่อไรก็ตายกันหมดทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ…”

คำสัมภาษณ์สั้นๆ ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือบิ๊กโจ๊ก สร้างแรงสะเทือนระดับ 10 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปทุมวัน ก่อนแผ่ขยายแรงสั่นไหว กระเพื่อมไปทั้งประเทศ

เกิดขึ้นเพียง 2 วันหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์นำหมายค้น พร้อมชุดคอมมานโด อาวุธเต็มอัตราศึกราวกับไปทำสงคราม บุกค้นอาณาจักรของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ย่านวิภาวดี 60 สร้างการตกตะลึงให้คนทั้งประเทศ

และก็เกิดขึ้นเพียง 2 วันเช่นกัน ก่อนที่จะมีการเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ คือหนึ่งในตัวเต็งสำคัญ

ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รีบออกมาชี้แจงทันที เหตุการณ์บุกค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไม่เกี่ยวปมตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ แต่เกิดจากขยายผลคดีเว็บพนันออนไลน์ และขณะบุกค้นก็ไม่รู้บ้านใคร

แต่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกมาตอบโต้ด้วยท่าทีขึงขัง มั่นใจเป็นปัญหาการเมืองภายในเล่นงาน

 

ทั้งนี้ ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ได้รับเลือกสำเร็จเพียง 3 วัน ก่อนจะมีการเข้ารับตำแหน่ง 1 ตุลาคม

เหตุแห่งความล่าช้าผิดปกติครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการคัดค้านการคัดเลือกในสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นรักษาการนายกฯ โดย ก.ตร.บางคนเห็นว่า ควรรอให้เป็นหน้าที่รัฐบาลใหม่ วาระนี้จึงตกมาอยู่ในมือนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

แต่ก็ติดการเดินทางไปประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติอีก ทำให้ต้องเลื่อนมาเลือกเอาตอนสิ้นเดือน

พลันก็เกิดเหตุระทึกจากปฏิบัติการจับกุมนายตำรวจ 8 นายในทีมงานของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ต่อเนื่องด้วยการบุกค้นบ้านจนเจ้าตัวเลือดขึ้นหน้า ระบุว่าเป็นการเมืองในตำรวจชัดๆ

แน่นอนว่ามุมมองเรื่องนี้ต้องมองให้รอบด้าน

ด้านหนึ่ง ทั้งการดำเนินการตามรูปคดี สอบสวนเส้นทางการเงินปกติ กระทั่งหลักฐานสาวมาถึงการนำกำลังเข้าค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งก็ไม่พบหลักฐานอะไรเชื่อมโยง

กับอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นที่ที่เจ้าตัวโวยวายว่าถูกการเมืองในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเล่นงาน เพราะอยู่ในช่วงแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่งเจ้าตัวคือหนึ่งในตัวเต็ง

 

ไม่ว่าบทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แต่ภาพที่ปรากฏชัดแล้ววันนี้คือ การเมืองในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นระดับของผู้บริหารองค์กรตำรวจของประเทศ มีอยู่จริง และอยู่ในระดับหนักหนาสาหัสขั้นวิกฤต รูปคดีที่เกิดขึ้น เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนของการชิงไหวชิงพริบและอำนาจต่อรอง

จึงไม่ต้องถามว่าองค์กรระดับย่อยลงมา หรือในหน่วยงานใต้สังกัดจะเละเทะแค่ไหน เมื่อองค์กรใหญ่สุด ศูนย์กลางอำนาจยังล้มเหลวเรื่องโครงสร้างอำนาจขนาดนี้

ถามว่าอะไรคือตัวอย่างพิสูจน์หลุมดำวงการตำรวจไทยขณะนี้

ยกตัวอย่างง่ายๆ จากข่าวในวงการสีกากีในปีนี้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณี ตู้ห่าว ทุนจีนสีเทา ที่มีตำรวจระดับสูงเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหลายคน, คดีมาเก๊า 888 เว็บพนันออนไลน์ กับสารวัตรซัว กระทั่งถูกสั่งออกราชการ, คดี พล.ต.ต.กัมพล ลีลาประภาภรณ์ ผู้การชลบุรี พร้อมพวกรวม 10 ราย อุ้มรีดเงินเว็บพนัน เรียกเงินผู้ต้องหา 140 ล้าน หรือที่รู้จักกันในคำพูด “เป้รักผู้การเท่าไหร่ เป้เขียนมา…”, คดีตำรวจสืบสวน บก.ตม. 5 นาย เข้าไปอุ้มตัวนักธุรกิจชาวจีนเพื่อไปเรียกเอาทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลดิจิทัลเป็นเงินไทยกว่า 10 ล้านบาท

ไม่นับคดีเล็กๆ อย่างนักท่องเที่ยวจีนจ้างรถตำรวจนำขบวนท่องเที่ยว หรือกรณีตั้งด่านรีดไถดาราไต้หวัน จนถูกเด้งกราวรูดหลายนาย ที่เป็นข่าวอื้อฉาวโด่งดัง

กระทั่งล่าสุด เป็นเหตุการณ์ฉาวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ของวงการตำรวจ คือคดี “กำนันนก” เจ้าพ่อวัยเลข 3 แห่งเมืองนครปฐม สั่งมือปืน สังหารนายตำรวจระดับสารวัตรทางหลวง ต่อหน้านายตำรวจยศสูงระดับผู้กำกับ นายพัน นายร้อย เกือบ 30 คน โดยมีตำรวจร่วมทำลายหลักฐาน และพาผู้ต้องหาหนี

คดีกำนันนกน่าสนใจ เพราะนอกจากจะทำให้คนเห็นปัญหาระบบส่วยและรูปธรรมของการปฏิรูปตำรวจที่ทำกันมาล้มเหลว ยังพาสังคมให้คิดไปถึงปัญหาผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นยุคใหม่ ที่สะสมทุนเติบโตมาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

พาให้นึกถึงปัญหาฮั้วประมูลโครงการรัฐ ปัญหาส่วยต่างๆ เช่น ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก ปัญหาตำรวจช่วยโจร ตำรวจสู้ตำรวจ ปัญหาเส้นสาย “ตั๋ว” ในการแต่งตั้งโยกย้าย ทำภาพลักษณ์ตำรวจไทยพังยับ

ทั้งหมดเป็นคดีดังในปีนี้ที่ล้วนสะท้อนปัญหาวงการตำรวจตั้งแต่ปลายน้ำ ไปยันต้นน้ำ

 

ถ้าจะพูดเรื่องปัญหาโครงสร้างตำรวจต้องบอกว่าเป็นปัญหาสะสมมายาวนาน และรับการพูดถึงในทุกยุครัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถมีใครแก้ปัญหาได้

นักวิชาการจำนวนหนึ่งเคยคาดหวังว่ายุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีอำนาจเด็ดขาดด้วย ม.44 จะสามารถแก้ปัญหาได้ สุดท้ายก็มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจขึ้นมา แต่ก็เป็นการปฏิรูปภายใต้ระบบคิดทหาร คับแคบ ไม่ได้เปิดกว้าง ไม่ได้วางโครงสร้างอย่างสอดรับกับสังคมประชาธิปไตย ยืนอยู่บนหลักคิดอำนาจนิยม มิใช่ กระจายอำนาจ

ถามว่าผลการปฏิรูปตำรวจ ภายใต้การนำของรัฐบาลทหารเป็นอย่างไร

คำตอบก็เป็นดังเช่นปัจจุบัน ว่า ล้มเหลวสิ้นเชิง ปัญหาในวงการตำรวจระเบิดออกแทบทุกภาคส่วน มีเรื่องให้ปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน

ร้ายกว่านั้น ไม่ใช่เพียงล้มเหลว แต่ยังก่อร่างสร้างระบบภายในใหม่ เกิดระบบอิทธิพล ระบบกลุ่มก้อนอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันดีคืนดีก็ต่อสู้กันดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

น่าสนใจกับคำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี หลังนักข่าวไปถามกรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้ว่า อย่างนี้ต้องสังคายนาตำรวจหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า คำว่า ‘สังคายนา’ แรงไป เพราะเป็นองค์กรที่มีเกียรติ มีปัญหาก็แก้เป็นเรื่องๆ ไป!

วิธีคิดของนายกฯ เศรษฐา เหมือนกับตอนถามเรื่องปฏิรูปกองทัพเป๊ะเลย ราวกับลอกแพลตฟอร์มคำตอบมาตอบ

คือไม่เรียกปฏิรูปกองทัพ แต่เรียก พัฒนาร่วมกัน ไม่เรียก “สังคายนา” แต่เรียก “แก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ”

 

คําถามคือปัญหาตำรวจ แก้เป็นเรื่องๆ ได้จริงหรือ?

ต้องเข้าใจว่าหลักๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเป็นปัญหาตัวบุคคล แต่ในด้านหนึ่งมันก็ไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคล ที่จะแก้เป็นเรื่องๆ แล้วจบ แต่คือปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจที่เปิดโอกาสให้บุคคลดังกล่าวเกิดขึ้น หล่อเลี้ยงให้องคาพยพของปัญหา ตั้งอยู่ในอำนาจได้ต่างหาก

เพราะถ้าเชื่อว่าตัวบุคคลมีปัญหา หวังว่าจะได้คนดีเข้ามาแก้ไข สุดท้ายเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแบบนี้ก็ยากที่จะขยับเคลื่อนย้ายอะไร หรือคิดว่าแก้ปัญหาหนึ่งแล้วจบ ก็จะเจอปัญหาอันเกิดจากโครงสร้างนี้ผุดโผล่มาเรื่อยๆ กลายเป็น “ลิงแก้แห”

หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ จากปัญหาที่เกิดขึ้น ใช้คำว่า “สังคายนา” ยังน้อยไป

การปฏิรูปองค์กรตำรวจ จึงไม่ใช่เรื่องของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่คือประเทศไทยทั้งประเทศ โดยรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง สร้างองค์กรตำรวจให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเพิ่มการเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

ถ้านึกอะไรไม่ออกก็ให้ดูตัวอย่างที่ดีที่มีอยู่ให้เห็นทั่วโลก

 

ทั้งนี้ ผลการคัดเลือก ที่ประชุม ก.ตร.ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ มีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน เคาะชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร.คนใหม่เรียบร้อยแล้ว

ภาระอันหนักอึ้งตอนนี้ก็อยู่บนบ่าผู้นำคนต่อไปเป็นที่เรียบร้อย ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “เละเป็นโจ๊ก” อย่างที่มีการเปรียบเปรยกัน

ขณะเดียวกันจะแก้ปัญหา “บิ๊กโจ๊ก” อย่างไรไม่ให้บานปลายไปถึงขั้น “ตายกันหมดทั้ง สตช.” ซึ่งก็น่าเห็นใจ และต้องเอาใจช่วยกันมากๆ เพราะปัญหาของสถาบันผู้พิทักษ์สันติราษฎร์นั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่เกินกว่า ผบ.ตร.คนเดียวจะสะสางได้

ในสภาพเช่นนี้ ทำได้แค่ภาวนาขอให้ยกเครื่ององค์กรให้ได้ และไม่ต้องการเห็นข่าวเชิงลบเกี่ยวกับตำรวจดังตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และขอให้เหตุร้ายๆ เกิดขึ้นน้อยที่สุดก็ยังดี