รัฐบาลกู้ออมสิน แจกเงินดิจิทัล? ขยายเพดานยืมเป็น 45% ไม่หวั่นฝ่ายค้านตามบี้ | ศัลยา ประชาชาติ

นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้นนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่เบื้องต้นวางกรอบไว้ว่า จะแจกให้กับประชาชนคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป “ทุกคน” โดยต้องนำไปใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรของที่อยู่ตามบัตรประจำตัวประชาชน

ประเมินว่าโครงการนี้ต้องใช้เงินมากถึง 5.6 แสนล้านบาท ทำให้ช่วงที่ผ่านมายังมีความคลุมเครือในเรื่องของ “แหล่งเงิน” ที่จะนำมาใช้

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า จะพยายามทำให้ทันวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 รวมถึงก่อนหน้านี้ก็แย้มถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ว่าจะขยายเพดานการใช้เงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ จาก 32% เป็น 45% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ส่วนจะเป็นการ “ยืมเงิน” จาก “ธนาคารออมสิน” หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่ยืนยันในตอนนี้ แต่ขอให้พร้อมก่อน ซึ่งยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามกรอบกฎหมาย อย่างไรก็ดี จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้

“เรื่องของหลักการก็พยายามทำให้ดี พื้นที่การใช้ที่ไหน อำเภอไหนที่อาจจะกันดาร ก็พยายามพิจารณาอยู่ อย่างที่ผมเรียนไปแล้ว ต่อไปนี้ถ้าจะแถลงอะไรให้ครบหมดทุกอย่างจะดีกว่า เดี๋ยวพูดไปอย่างหนึ่ง ติดอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่ดี เดี๋ยวจะมีคณะกรรมการชุดใหญ่มาแถลงให้เป็นรูปธรรม ให้ครบทุกๆ คำถามจะเหมาะสมกว่า ซึ่งจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้” นายเศรษฐากล่าว

 

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เป็นเรื่องใหญ่ โดยในวันที่ 3 ตุลาคม จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital wallet” ขึ้นมาก่อน ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะพิจารณารายละเอียดเรื่องนี้อย่างรอบด้าน

“เรื่องนี้จะพยายามทำให้ทันเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ช้าสุดไม่เกินภายในไตรมาสแรกปีหน้า สำหรับเรื่องแหล่งที่มาของเงินยังไม่ฟันธง แต่มาตรา 28 ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา ซึ่งเรายึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลัง” นายจุลพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า การขยายกรอบการใช้เงินตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เป็น 45% จะทำให้วงเงินขยับจากราว 1.11 ล้านล้านบาท เป็น 1.56 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี ยอดใช้วงเงินคงค้าง ที่ยังรอการชดใช้จากภาครัฐ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท เนื่องจากจะมีการชำระหนี้เดิมราว 1 แสนล้านบาท

ดังนั้น จะมีวงเงินที่ใช้ได้ราว 5-6 แสนล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน จากการหารือของทีมงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาท จะสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เฟอร์นิเจอร์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น (ยกเว้น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา สลากกินแบ่งรัฐบาล และบัตรกำนัล บัตรเงินสดต่างๆ) รวมถึงการใช้จ่ายในร้านอาหารต่างๆ

ส่วนผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วม ก็จะเปิดกว้างให้ทั้งห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด รวมถึงร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วยต่างๆ ซึ่งต้องมาขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการ แต่ไม่สามารถใช้สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ เนื่องจากมีข้อกำหนดเรื่องรัศมีการซื้อตามที่อยู่ในบัตรประชาชน เพราะเป้าหมายต้องการให้กระจายการใช้จ่ายไปตามชุมชนต่างๆ

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า นโยบายภาครัฐส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการ quick win เช่น ลดค่าครองชีพ และมาตรการ free visa อาจจะมีผลบวกจำกัดในปีนี้ แต่จะเห็นผลในปี 2567 โดยเฉพาะมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งปัจจุบันยังรอความชัดเจนของนโยบาย เช่น ที่มาของแหล่งเงินทุน จึงจะประเมินผลต่อเศรษฐกิจและผลกระทบได้อย่างชัดเจน

“หากในปีหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาทั้งหมด คาดว่าจะช่วยผลักดันจีดีพีปี 2567 เติบโตได้อีกประมาณ 1% จากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้เบื้องต้นใกล้ๆ ระดับ 4% แต่เฉพาะส่วนดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าจะช่วยหนุนจีดีพี 0.4-0.6% แต่จะหมุนได้กี่รอบนั้นจะต้องรอดูเงื่อนไขรายละเอียด เพราะหากเป็นไปในลักษณะ copay ก็จะช่วยหมุนได้หลายรอบ” นายบุรินทร์กล่าว

 

ในอีกด้านหนึ่ง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า รัฐบาลจะกู้เงินจากธนาคารออมสินมาใช้ในการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยขยายกรอบวินัยการเงินการคลังตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เป็น 45% จากเดิม 32% ซึ่งไม่ได้มาจากงบประมาณตามที่ได้หาเสียงเอาไว้

ซึ่งมีข้อดีคือ หนี้แบงก์รัฐจะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย

แต่จะมีข้อเสีย คือ

1) แต่เป็นหนี้ยังไงก็ต้องจ่ายคืน ทุกวันนี้ต้องจ่ายคืนปีละเกือบแสนล้านบาทให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ อยู่แล้ว ถ้าจ่ายคืนออมสินปีละ 5 หมื่นล้านบาท ก็เป็นภาระไปอีก 10 ปี รวมแล้วงบประมาณต้องใช้คืนหนี้ทั้งหมดก็จะพุ่งไปราว 5 แสนล้าน เบียดบังงบประมาณที่ต้องใช้พัฒนาประเทศอื่นๆ

2) ใช้งบประมาณสูงมากโดยไม่ต้องผ่านสภา ใช้แค่มติ ครม.ก็สามารถกู้เงินได้ทันที ไม่ต้องมีการตรวจสอบใดๆ การกู้ผ่านมาตรา 28 ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งจำนวน หน่วยงานเจ้าหนี้ และภาระการคืนเงินต้นและดอกเบี้ย

3) กระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่ต้องการจำกัดการใช้เงินนอกงบฯ และนโยบายกึ่งการคลังให้น้อยลง

4) สภาพคล่องของออมสินอาจมีปัญหา ทั้งจากการระดมทุนเวลานี้ และหากรัฐไม่ใช้คืนตามสัญญา (ธ.ก.ส.เจอมาตลอด) จะบริหารเงินสดได้ยากลำบาก

“อยากถามนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐว่า ท่านรู้ตัวมั้ยว่า กำลังทำอะไรอยู่” น.ส.ศิริกัญญาระบุ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์ ผู้แทนจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท หากเป็นการลงทุนจะสร้างตัวคูณมากกว่าการแจกเงิน ซึ่งมีการคำนวณผลต่อเศรษฐกิจต่อนโยบายแจกเงินจะอยู่ที่ 0.3-1.2% โดยตัวคูณจะเยอะในช่วงที่เศรษฐกิจตก แต่หากเศรษฐกิจดีตัวคูณจะน้อย ซึ่งหากดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยวันนี้ พบว่าการบริโภคยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การส่งออกติดลบ

“เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท ถือเป็นเงินจำนวนมาก จึงเป็นการรักษาไม่ถูกโรค และในเงื่อนไขบังคับใช้ภายใน 6 เดือน เดิมคนใช้เงินตัวเอง 20,000 บาท พอมีดิจิทัลวอตเล็ตเข้ามาใช้ 22,000 บาท แต่เป็นเงินของดิจิทัลวอลเล็ต เก็บเงินสดของตัวเองไว้ ทำให้เงินที่จะหมุนก็น้อยลง หากเราเปลี่ยนไปเป็นเงินสนับสนุนผู้สูงอายุ 13 ล้านคน เพิ่มเบี้ย 1,000 บาท คิดเป็นเม็ดเงิน 13,000 ล้านบาท และหากคูณจำนวน 44 เดือน จะใช้เม็ดเงิน 5.27 แสนล้านบาท ซึ่งจะหนุนเศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืนกว่า หรืออาจจะทบทวนเม็ดเงินโครงการลดลง เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลัง” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

ยังต้องรอความชัดเจนกันต่อไปสำหรับนโยบายแจกเงินนี้ ในขณะที่เสียงติติงก็ดังขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายจะเคาะออกมาอย่างไร คงต้องวัดใจรัฐบาล