ปัญหาด้านการคลังของรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ในมุมมองสื่อต่างประเทศ

นิษกะ จันทราน ผู้สื่อข่าวชาวอินเดียประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของซีเอ็นบีซี เขียนรายงานต้อนรับรัฐบาลไทยชุดใหม่ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ข่าวซีเอ็นบีซี เมื่อ 24 กันยายนที่ผ่านมาไว้น่าสนใจทีเดียว

เธอบอกว่า หลังจาก “เดดล็อก” กันมาหลายเดือน การมาของรัฐบาลผสมชุดใหม่ น่าจะช่วยให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยนิ่งขึ้น แต่บอกไว้ในคราวเดียวกันด้วยว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ยังคงเป็นกังวลเกี่ยวกับ “ความเสียหายทางการคลัง” ที่จะเกิดขึ้นจาก “นโยบายประชานิยม” ของรัฐบาลใหม่ชุดนี้ด้วย

ในขณะที่ “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวก็ยังจะเป็นเรื่องท้าทาย” นายกรัฐมนตรีต่อไป

“บรรดาผู้เชี่ยวชาญ” ที่นิษกะอ้างถึงเอาไว้ คนแรกคือ พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการประจำ มูลนิธิเนามัน ฟรีดริช ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่มุ่งเน้นไปในด้านการวิจัยเศรษฐกิจ เสรีภาพ และประชาธิปไตย

ดร.พิมพ์รภัชบอกว่า การมีรัฐบาลได้เสียที อาจช่วยยกระดับความเชื่อมั่นขึ้นได้เล็กน้อย ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เพราะที่สำคัญคือต้องดูว่า รัฐบาลใหม่นี้จะนำเอานโยบายที่สัญญาเอาไว้มาใช้หรือไม่ แล้วก็มีคนอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” กำกับเต็มกำลังอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า

 

ถัดมา ที่ชี้ให้เห็น “ความเสี่ยงทางการคลัง” หลายอย่างว่ากำลังรออยู่ก็คือ บทวิเคราะห์ของสแตรตโฟร์ บริษัทข่าวกรองด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ระบุไว้ในรายงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ปัญหาเรื่องแรกจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ “ชะลอ” งบประมาณประจำปี 2024 ออกไปจนถึงต้นปีหน้า

“การเลื่อนงบประมาณออกไปก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในทางเศรษฐกิจขึ้นทั้งกับนักลงทุนและผู้บริโภค ในแง่ที่ว่าไม่แน่ใจว่างบประมาณใหม่ของไทยจะไปในทิศทางไหน ในเวลาเดียวกับที่ทำให้การบริการจากภาครัฐลดลง และต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น”

ฟิตช์ เรตติ้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกที่คุ้นเคยกันดี สะท้อนมุมมองในทำนองเดียวกันออกมาเช่นกัน

“การชะลอนานออกไปอย่างมีนัยสำคัญอาจทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับโครงการลงทุนใหม่ๆ ช้าลงตามไปด้วย แม้ว่าเราจะเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณในปัจจุบันต่ำก็ตามที”

 

นิษกะ ระบุเอาไว้ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญสูงสุดต่อการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้น และได้เปรียบเปรยเศรษฐกิจไทยไว้ว่าเป็นเหมือน “คนป่วย” หลังจากเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.8 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่สองเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และโตแค่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรก ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น

พร้อมกันนั้นก็ประกาศจะแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศ ซึ่งในปีนี้ หนี้ภาครัฐพอกพูนเพิ่มขึ้นถึงระดับกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในขณะที่หนี้ครัวเรือนทะยานขึ้นเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีแล้ว

แต่นิษกะชี้ว่า บรรดานักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ต่างพากันกังวลว่า มาตรการกระตุ้นที่นายกฯ เศรษฐา นำเสนอไว้นั้น อาจยิ่งถ่วงให้ภาระหนี้ของไทยทรุดหนักมากขึ้นและกระทบต่อสถานะการคลังของประเทศ

เช่นเดียวกับนโยบายประชานิยมที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียง เช่น การแจกเงิน “ดิจิทัล” 10,000 บาทให้กับประชาชนทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งฟิตช์ เรตติ้ง คำนวณเอาไว้ว่าจะเป็นเม็ดเงินสูงถึง 560,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

นอกจากนั้น แกนนำของรัฐบาลผสมชุดใหม่ยังมีแผนจะจัดสรรเงินอีก 300,000 ล้านบาท หรือราว 1.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ตามการคำนวณของฟิตช์ สำหรับใช้เป็นสวัสดิการเพื่อผู้สูงวัยและขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกับการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้จีดีพีโดยรวมของไทยขยายตัวได้ในอัตราปีละ 5 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ ดร.พิมพ์รภัช ชี้ว่า แผนการแจกเงินดิจิทัล นอกจากจะทำให้ “หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นแน่ๆ” แล้ว ยังอาจจะส่งผลให้โครงการอื่นๆ ต้องชะลอช้าออกไปด้วย

ฟิตช์ เรตติ้ง ถึงกับเตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า มาตรการประชานิยมและสวัสดิการสังคมทั้งสองอย่างนั้นก่อให้เกิด “ความเสี่ยงทางการคลัง” ขึ้น เพราะนอกจากจะดันให้สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น “โดยเฉพาะในกรณีที่เศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวเร็วขึ้นเหมือนเช่นแผนที่วางเอาไว้” แล้ว “สถานะทางการคลังที่ทรุดลงต่อเนื่องกันนานๆ อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย” ได้อีกด้วย

 

แต่นิษกะระบุเอาไว้ด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งกลับมองว่า การคาดการณ์ถึง “ความเสียหายทางการคลัง” ของไทยนั้น อาจเป็นการ “คิดมาก” กันเกินไป

นักวิเคราะห์ของสแตรตโฟร์ ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เป็นเพราะหลายมาตรการประชานิยมที่พรรคเพื่อไทยรับปากเอาไว้ในตอนหาเสียง “อาจไม่เกิดเป็นจริง” โดยอาศัยการที่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นพ้องด้วยเป็นเหตุ

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงต้องบอกว่า เป็นการแก้หน้าแก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ ไปหน่อย

เปิดปากพูดความจริงกับประชาชนดีกว่ากระมังครับ!