คำเตือนจากจีน 20 โรคจ่อระบาดเหมือน “โควิด”

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกรู้จักหรืออย่างน้อยก็ได้ยินชื่อ “สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น” ที่เคยตกเป็นเป้าถูกกล่าวหาโดยปราศจากหลักฐานจากนักการเมืองอเมริกันว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของไวรัส “ซาร์ส-โควี-2” ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ก่อนที่จะลุกลามระบาดออกไปทั่วโลก

และเมื่อพูดถึงสถาบันแห่งนี้ก็ต้องนึกถึง “ฉี เจิ้งลี่” หนึ่งในนักไวรัสวิทยาชาวจีนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด เจ้าของฉายา “แบทวูแมน” ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น เป็นหน่วยงานทางการของจีนอยู่ใต้สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ส่วนฉี ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาโรคระบาดอุบัติใหม่ ประจำสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นมาตั้งแต่ปี 2017

ฉี เจิ้งลี่ ศึกษาวิจัยทางด้านซูโนซิสมาโดยตลอด ซูโนซิส คือการศึกษาว่าด้วยโรคที่คนได้รับมาจากสัตว์ แต่ชำนาญเป็นพิเศษในด้านที่เกี่ยวกับเชื้อไวรัสที่ “กระโดด” จากสัตว์ โดยเฉพาะจากค้างคาวมาสู่มนุษย์ เธอมีชื่อเสียงไปทั่วโลกและได้รับฉายาว่า “แบทวูแมน” จากการค้นคว้าวิจัยจนพบว่า โรคซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งแพร่ระบาดมาจากค้างคาวชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในถ้ำในเมืองซือหยาง มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน

โรคซาร์ส เคยระบาดหนักเมื่อปี 2003 คร่าชีวิตคนไปร่วมพันคน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนจีนในแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเดินทางและท่องเที่ยวทั่วโลก

 

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ฉี เจิ้งลี่ และทีมวิจัยของศูนย์ศึกษาโรคระบาดอุบัติใหม่ เผยแพร่รายงานผลการศึกษาวิจัยออกมาชิ้นหนึ่ง ผ่านวารสารวิชาการ Emerging Microbes & Infections

งานวิจัยชิ้นนี้ แม้จะไม่ถึงกับทำให้เกิดการตกตะลึงอ้าปากค้าง แต่มีคุณค่าและความสำคัญสูงมาก สำหรับนักวิทยาศาสตร์ในแวดวงไวรัสวิทยาและสังคมทั่วไป

สิ่งที่ฉี และทีมวิจัยทำก็คือ การรวบรวมเอาเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนา 40 สปีชีส์ หรือ 40 ชนิดมาจำแนกแล้วประเมินความเสี่ยงว่า ชนิดไหนมีความเสี่ยงสูงมากน้อยแค่ไหนต่อการแพร่ระบาดข้ามสายพันธุ์มาสู่มนุษย์ โดยอาศัยผลประเมินจากการวิเคราะห์จากคุณลักษณะของไวรัส, จำนวนประชากรของไวรัส, ความหลากหลายทางพันธุกรรมของไวรัส กับประวัติการแพร่ข้ามสายพันธุ์มาสู่มนุษย์ในเชิงซูโนซิสในอดีต

ผลจากการศึกษาวิจัยได้ข้อสรุปว่า ในจำนวนทั้งหมด มีอยู่ 20 ชนิดที่มีโอกาสสูงมากที่จะก่อให้เกิดโรคระบาดในคนได้ในอนาคต ในทั้ง 20 ชนิดนี้ มีอยู่ 6 ชนิดที่เป็นรู้กันแล้วว่าเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคซึ่งติดต่อมายังมนุษย์ได้ และมีอีก 3 สปีชีส์ ซึ่งรู้กันว่าระบาดแล้วก่อให้เกิดโรคในสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้ ส่วนอีก 11 ชนิดก็เสี่ยงสูงที่จะระบาดมาสู่คนแล้วก่อให้เกิดโรคระบาดได้เช่นกัน

“แทบเป็นที่แน่นอนเลยก็ว่าได้ว่า ในอนาคตจะมีโรคระบาดอุบัติใหม่ขึ้นอีก และมีแนวโน้มสูงยิ่งว่า โรคดังกล่าวจะเป็นโรคจากโคโรนาไวรัสอีกครั้ง” คือคำเตือนของทีมวิจัย ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า โลกต้องเตรียมให้พร้อมกับการรับมือกับโรคระบาดแบบเดียวกับโควิด-19 อีกครั้ง เพราะมีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก

ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังจำแนกและระบุสัตว์พาหะสำคัญที่เป็น “ตัวกลาง” ที่มีโอกาสสูงในการรับเชื้อเหล่านี้มาแพร่ต่อให้กับมนุษย์ไว้ด้วย ทั้งที่มีอยู่ในธรรมชาติ อาทิ ค้างคาว, สัตว์ฟันแทะ (จำพวกหนู), เรื่อยไปจนถึงสัตว์ป่าที่นำมาเลี้ยงในเชิงพาณิชย์หรือสัตว์เลี้ยง เช่น อูฐ, ชะมด, หมู และแพนโกลิน เป็นต้น

นอกเหนือจากนั้น ทีมวิจัยของฉียังได้ระบุถึงวิธีและเครื่องมือที่มีความละเอียดและฉับไวสำหรับใช้ในการเฝ้าระวังเชิงรุกต่อเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ไว้ด้วยอีกต่างหาก

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดจากศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของจีน (ซีซีดีซี) รายหนึ่ง ชี้ให้เห็นความสำคัญและคุณค่าของรายงานผลการวิจัยนี้เอาไว้ว่า รายงานชิ้นนี้แตกต่างไปจากการศึกษาในเชิงไวรัสวิทยาส่วนใหญ่ที่มักมุ่งเน้นค้นคว้าลึกลงไปในคุณสมบัติหรือกลไกจำเพาะของไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่งานชิ้นนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับการเป็นพจนานุกรมสำหรับโคโรนาไวรัสมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแวดวงไวรัสวิทยา

“เหมือนกับที่เราต้องพึ่งตำราเห็ด เพื่อให้บอกได้ว่า เห็ดชนิดไหนไม่ควรกินเพราะมีพิษนั่นแหละ”

เขาบอกว่า รายงานผลการศึกษาวิจัยชิ้นนี้คือองค์ความรู้ที่เมื่อมีแล้ว ก็จะช่วยให้กระบวนการตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยโรคเรื่อยไปจนถึงการพัฒนาวัคซีน เป็นไปได้เร็วขึ้นมาก ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางด้านสาธารณสุขขึ้นมาใหม่อีกครั้งในอนาคต ทั้งยังช่วยในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดครั้งต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกด้วย

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ รายงานผลการวิจัยชิ้นนี้ของฉี และพวก มีนักไวรัสวิทยาชาวจีนแสดงความคิดเห็นและถกถึงสิ่งที่ถูกค้นพบน้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ต้องการตกเข้าไปในวังวนของเรื่องอื้อฉาวเมื่อคราวที่สถาบันไวรัสวิทยาแห่งนี้ตกเป็นเป้าถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการในการปล่อยเชื้อโควิด-19 ออกมาระบาดไม่ว่าจะโดยอุบัติเหตุหรือเจตนาจะให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม

 

แม้ว่ารายงานข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกลดชั้นความลับแล้วเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ จะระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ว่าเกิดเหตุหรือมีการเจตนาปล่อยไวรัสออกมาก็ตามที สถาบันแห่งนี้ก็ยังคงตกเป็นเป้าเคลือบแคลงอยู่ไม่วาย

แต่ในอีกทางหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญของซีดีซีรายเดียวกันนี้ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า สังคมจีน หรือแม้กระทั่งทางการจีนเอง พยายาม “ก้าวข้าม” วิกฤตโควิดอันแสนเจ็บปวด ด้วยการลดความสำคัญลง ไม่พูดถึงแล้วหันมองไปข้างหน้าแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่การพยายาม “มูฟ ออน” เช่นนั้น ทำให้บางสิ่งบางอย่างที่สำคัญหดหายไปด้วยเช่นกัน นั่นคือ เราควรเรียนรู้อะไรจากวิกฤตในครั้งนั้น และเราควรเตรียมตัวรับมือให้ดีกว่าในครั้งหน้าได้อย่างไร

ทั้งสองอย่างนั้นปรากฏชัดอยู่ในรายงานผลการศึกษาวิจัยชิ้นนี้นั่นเอง