‘ฌาปนกิจ 4.0’ พิธีศพแบบ New Normal ‘ลดโลกร้อน’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ทุกวันนี้ หันหน้าไปทางไหน จะได้ยินผู้คนพูดถึงคำว่า “การลดคาร์บอน” กันทั่วทุกหัวระแหง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแวดวงอุตสาหกรรม ที่ “การลดคาร์บอน” กำลังเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ

เพราะหากโรงงานใด “ไม่ลดคาร์บอน” สินค้าและบริการที่ผลิตออกมา จะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานใหญ่ที่เป็น Tier 1 ซึ่งต้องรับเอาชิ้นส่วน หรืออะไหล่ต่างๆ จากบรรดา Tier 2 Tier 3 Tier 4 มาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์

บรรดา Tier 1 จะถูกตรวจสอบ “ปริมาณการปล่อยคาร์บอน” ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ อย่างเข้มงวด จากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค

ทำให้กลุ่มโรงงาน Tier 1 ต้องลงไปบี้ให้เหล่า Tier 2 Tier 3 Tier 4 “ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน” ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ อย่างเข้มงวดไปด้วย เนื่องจากชิ้นส่วนและอะไหล่ต่างๆ ที่ต้องนำมาประกอบร่างเป็นผลิตภัณฑ์ จะต้อง “ปลอดคาร์บอน” นั่นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว จะไม่รับสินค้านำเข้าจากผู้ส่งออกที่ “ไม่ลดคาร์บอน” อย่างเด็ดขาด เพราะประเทศพัฒนาแล้วตระหนักดีว่า ปัญหา “คาร์บอน” เป็นองค์ประกอบสำคัญของวิกฤตการณ์ “โลกร้อน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คาร์บอน” เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของ “ภาวะโลกร้อน” นั่นเอง

“พิธีฌาปนกิจ” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีไม่กี่วิธี ถ้าไม่ฝัง ก็เผา น้อยมากที่จะลอยศพไปในสายน้ำ ซึ่งเป็นพิธีกรรมในบางชุมชน หรือกรณีเสียชีวิตกลางทะเล

“การฝังศพ” ดูเหมือนจะเป็น “พิธีฌาปนกิจ” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะร่างกายของเราจะเน่าเปื่อยผุพังสลายภายในดิน เป็นอาหารให้ต้นไม้และสรรพสัตว์ แต่ก็อาจมีการปล่อย “ก๊าซบางชนิด”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การเผาศพ” มีการปล่อย “ก๊าซคาร์บอน” และก๊าซอื่นๆ ที่มีผลถึงสภาพอากาศ

จึงมีผู้คิดค้น “พิธีศพแนวใหม่” หรือ “ฌาปนกิจ 4.0” ในยุค New Normal และ Next Normal ขึ้นมา นั่นคือ พิธีฌาปนกิจที่ช่วย “ลดโลกร้อน” ซึ่งเรียกว่า Aqua Cremation หรือการ “ฌาปนกิจด้วยน้ำ”

ดูเหมือนผู้ที่เปิดงาน “ฌาปนกิจด้วยน้ำ” เป็นคนแรกจะมีชื่อว่า Archbishop Desmond M. Tutu นักรณรงค์ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวชาวแอฟริกาใต้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Archbishop Desmond M. Tutu เป็นเจ้าของ “รางวัลโนเบล” สาขา “สันติภาพ” ประจำปี ค.ศ.1984 ที่ได้สั่งเสียลูกศิษย์ลูกหา ให้ทำพิธี “ฌาปนกิจ” ร่างของท่านด้วย “น้ำ”

เป็นคำสั่งเสียสุดท้าย ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ.2021 เพื่อเป็นแบบอย่างให้ชาวโลกได้ปฏิบัติตาม

Archbishop Desmond M. Tutu ระบุในพินัยกรรม ให้ครอบครัว และลูกศิษย์ลูกหา ดำเนินพิธีศพด้วย Aqua Cremation ณ สถานประกอบพิธี “ฌาปนกิจศพด้วยน้ำ” เมือง Pretoria ประเทศแอฟริกาใต้

ซึ่งเป็นวิธีจัดการศพแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการช่วย “ลดปริมาณคาร์บอน” ซึ่งจะนำไปสู่การช่วย “ลดโลกร้อน” นั่นเอง

 

อันที่จริง Aqua Cremation ที่ Archbishop Desmond M. Tutu ได้สั่งเสียไว้ หาใช่ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในยุค New Normal นี้

เพราะ Aqua Cremation ได้ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกโดยกลุ่มวิศวกรชาวอังกฤษ ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว เพื่อให้เกษตรกรได้นำปฏิกิริยาเคมีที่ใช้ในการฌาปนกิจศพด้วยน้ำ ในการกำจัดซากสัตว์ที่ไม่ต้องการในตอนนั้น

โดยมีผลพลอยได้เป็นกาวและเจลาติน ซึ่งสามารถนำไปใช้ หรือขายต่อได้

และได้มีการนำเอา Aqua Cremation มาใช้อย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่โลกประสบสภาวะโรคอุบัติใหม่ที่เรียกว่า “โรควัวบ้า” หรือ Bovine Spongiform Encephalopathy (BSE)

โดยในช่วงทศวรรษ 1980-1990 มีการนำเอาวิธี Aqua Cremation ที่อาศัยปฏิกิริยาเคมี ไปใช้กำจัดซากวัวที่ตายด้วย “โรควัวบ้า”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการนำ Aqua Cremation ไปใน “โรงเรียนแพทย์” เพื่อบริหารจัดการกับร่างที่มีผู้บริจาคมาเพื่อการวิจัย

ก่อนจะมีบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกา วิจัย และพัฒนา “เตาเผาศพด้วยน้ำ” สำหรับ “มนุษย์” เพื่อเปิดให้บริการ “ฌาปนกิจ 4.0” แก่คนทั่วไปเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.2011 นำโดย White Rose Aqua Cremation

 

สําหรับกระบวนการ “ฌาปนกิจ 4.0” หรือ “เผาศพด้วยน้ำ” นั้น ต้องบอกว่า เป็นกระบวนการ “ย่อยสลายศพ” โดยใช้ “ปฏิกิริยาเคมี” ที่เรียกว่า Alkaline Hydrolysis ซึ่งมี 2 วิธีให้เลือก

กล่าวคือ วิธีเผาศพด้วยน้ำแบบ “อุณหภูมิสูง” และวิธีเผาศพด้วยน้ำแบบ “อุณหภูมิต่ำ”

Aqua Cremation หรือการ “ย่อยสลายเนื้อเยื่อในร่างกาย” ด้วย “สารละลาย” ทั้งร้อนและเย็น จะใช้ “สารละลาย” ที่มี “ฤทธิ์เป็นด่าง” อย่างรุนแรง

กระบวนการคือ การนำร่างของผู้ตายเข้าไปบรรจุในเตาเหล็กกล้าแบบไร้สนิม หรือที่เรียกว่า Stainless Steel จากนั้น จะมีการปล่อยสารละลายร้อน ที่ประกอบไปด้วยน้ำ 95% ผสมกับที่มี “ฤทธิ์เป็นด่าง” อย่างรุนแรง

ไม่ว่าจะเป็น Potassium Dioxide 5% หรือ Sodium Dioxide 5% ให้ไหลเข้าไปท่วมศพ

โดยสารละลายจะถูกทำให้ร้อนขึ้นไปถึง 160 องศาเซลเซียส และจะมีการเพิ่มความดันในเตาเผา ในการเร่งให้กระบวนการย่อยสลายศพเสร็จสิ้นภายในเวลา 4-6 ชั่วโมง

ทว่า หากญาติมิตรของผู้ตายเลือกวิธีเผาศพด้วยน้ำแบบ “อุณหภูมิต่ำ” ก็จะมีการควบคุมให้สารละลายให้มีอุณหภูมิไม่ถึงจุดเดือด ที่ความดันบรรยากาศปกติ

ซึ่งจะทำให้ศพถูกย่อยสลายช้าๆ แต่เนื้อเยื่อต่างๆ ก็จะหมดไปเช่นกันในเวลา 14-16 ชั่วโมง

เบื้องหลังคือ “สารละลาย” ที่มี “ฤทธิ์เป็นด่าง” จะเข้าไปสลายพันธะเคมีของเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ จนเหลือเพียงกระดูกในรูป Calcium Phosphate บริสุทธิ์

ซึ่งจะถูกนำไปบดเป็นผง เพื่อมอบให้กับญาติมิตร ไม่ต่างจากเถ้ากระดูกที่เกิดจากการเผาศพด้วยไฟ และสามารถนำไปประกอบพิธีขั้นสุดท้าย เช่น การลอยอังคาร หรือโปรยในสถานที่ที่ผู้ตายต้องการได้ต่อไป

 

สําหรับ “ของเหลว” ที่เหลือจากการ “ฌาปนกิจด้วยน้ำ” เป็นสารละลายปลอดเชื้อ ที่ประกอบด้วย สารอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็น กรดอะมิโน เกลือ น้ำตาล และสบู่ ซึ่งจะถูกปล่อยทางท่อน้ำทิ้งของสถานประกอบพิธีศพ โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

ทุกวันนี้ มีบริษัทเอกชนเปิดให้บริการ “ฌาปนกิจศพด้วยน้ำ” ในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และหลายประเทศในยุโรป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษ ที่ทางการเพิ่งจะอนุญาตให้ผู้คนใช้วิธี “ฌาปนกิจศพด้วยน้ำ” ได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหากเป็นที่นิยม ก็จะช่วยให้การ “ฌาปนกิจศพด้วยน้ำ” มีราคาถูกลง

นำโดยบริษัท Funeral Care ผู้ให้บริการทำศพ และประกอบพิธีศพรายใหญ่ของอังกฤษ ที่พยายามหากระบวนการโปรโมต “พิธีฌาปนกิจศพด้วยน้ำ” ให้เป็นทางเลือกของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากนักในปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนที่แพง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนยังไม่คุ้นเคยกับการทำศพที่ไม่ใช่จากการฝัง หรือเผา

แต่ Aqua Cremation “พิธีศพแนวใหม่” หรือ “ฌาปนกิจ 4.0” ในยุค New Normal และ Next Normal สามารถช่วย “ลดโลกร้อน” ได้จริง

เพราะกระบวนการดังกล่าวสามารถย่อยสลายร่างผู้วายชนม์ได้อย่างสะดวกรวดเร็วพอๆ กับการเผาศพ โดยไม่ก่อมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงอีกด้วย