เศรษฐกิจ / อียูฟื้นสัมพันธ์…มะกันจัดชั้นละเมิดไทยดีขึ้น เพราะผลงานรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ฤๅแค่เกมการเมืองระหว่างประเทศ

เศรษฐกิจ

อียูฟื้นสัมพันธ์…มะกันจัดชั้นละเมิดไทยดีขึ้น
เพราะผลงานรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’
ฤๅแค่เกมการเมืองระหว่างประเทศ

บรรยากาศของความยินดียังไม่ทันจางหายเมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น จากการที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) มีผลสรุปท่าที “ผ่อนคลาย” เกี่ยวกับประเทศไทย 14 ข้อ แม้ในรายงานหลักหยิบประเด็นพึงพอใจ เมื่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 อียูจึงเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะเริ่มกลับมาปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทยอย่างช้าๆ
และส่งสัญญาณต่อว่า จะพอใจมากขึ้น หาก คสช. ผ่อนคลายในหลายประเด็นจากนี้ อาทิ ยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ยกเลิกจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่ม ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม การจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายนำไปสู่สถาบันทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
พอขยับอีกสัปดาห์ มีเรื่องน่ายินดีอีก เมื่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ เลื่อนจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) ถือเป็นข่าวดีในรอบ 10 ปี นับจากปี 2550
ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ ล้วนเป็นผลดีต่อประเทศไทย และหวังว่าจะเป็นการนำไปสู่อีกหลายสิ่งดีๆ ที่จะตามมาในปี 2561

ประเด็นอียูฟื้นความสัมพันธ์ประเทศไทย ในแง่เศรษฐกิจการค้า ขานรับกันถ้วนหน้า
ตั้งแต่นักธุรกิจ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ และนักวิชาการด้านเศรษฐกิจ ชี้ถึงเหตุว่อียูไม่อาจนิ่งเฉยได้ เมื่อ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ชวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย มาเยือนสหรัฐอเมริกา มีการพบปะหารือกันในหลายประเด็น ทั้งประเด็นการค้า การเจรจาระดับทวิภาคี จนถูกมองว่าอาจถึงขั้นรื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ที่ชะงักมานาน
แต่สุดท้าย การหารือครั้งนั้นหนีไม่พ้นเรื่องการเลือกตั้งของไทยในปี 2561 มีคำประกาศออกมาเหมือนดั่งคำมั่นสัญญาว่าไทยจะมีการเลือกตั้งตามกำหนดแน่นอน!!
ที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐและยุโรป ต่างเฝ้าดูการขยายตัวของหลายประเทศในเอเชีย กำลังขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจเข้ามาในอาเซียนอย่างรวดเร็ว ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนเป็นประเทศที่ถูกจับตามองมาก นับจากปี 2561 จีนและอาเซียนจะเปิดเอฟทีเอระหว่างกันเต็มรูปแบบ นั่นหมายถึงแต้มต่อของจีนยิ่งห่างชั้น สหรัฐและอียูยิ่งต้องตามให้ทัน
ประกอบกับไทยกำลังรุกหนักตามแผนการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี มีการวางแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในระบบขนส่ง การสร้างระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจ ไม่แค่ภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่จะเร่งขยายไปพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ต่อไป ดังนั้น การจะมองข้ามประเทศไทยไปประเทศอื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย!!
เมื่อผู้นำรัฐบาลไทยออกมาประกาศเลือกตั้ง สหรัฐและอียูที่เหนียวแน่นแนวคิดทางการเมืองต้องยืนบนถนนประชาธิปไตย สบช่องให้เป็นข้ออ้างฟื้นความสัมพันธ์กับไทยโดยไม่กลัวว่าจะถูกตำหนิในสายตานานาชาติ

อียูประเมินแล้วว่าหากเดินเกมล่าช้ากว่าสหรัฐอาจหลุดระบบเศรษฐกิจโลก ในส่วนของไทยเองก็สบโอกาสที่หนุนให้ใช้โอกาสนี้รื้อฟื้นการเจรจาเปิดเสรีไทยกับอียู รอบ 5 หลังจากเจรจาครั้งที่ 4 ต้องหยุดชะงักจากเหตุการณ์การเมือง มาตั้งแต่ปี 2557
แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ อย่างกรณีการเจรจาฟื้นสัมพันธ์ทางการค้า ยังมีตัวแปรหลายตัวที่ยังเป็นขวากหนาม
ตัวแปรแรก ทั้งไทยและอียู ต่างต้องหาแหล่งสมดุล คานอำนาจระบบเศรษฐกิจการค้ากับสหรัฐและจีน ซึ่งต่อปีไทยส่งออกไปทั่วโลกกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ กับอียูไทยส่งออกกว่า 22,044 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนมากถึง 10% ขณะที่ไทยนำเข้า 18,089 ล้านเหรียญต่อปี
อีกตัวแปรคือ ผลกระทบหลังการออกจากอียูของสหราชอาณาจักร ซึ่งผลอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งในกลุ่มประเทศยุโรป ไทยค้ากับอังกฤษมากสุด
หากเจรจาไทยอียูสำเร็จก็จะได้ประโยชน์แค่ 2 ปี เมื่ออังกฤษออกจากอียูไม่มีใครระบุได้ว่าไทยจะได้ประโยชน์เท่าทีเคยอีกหรือไม่
จึงมีเสียงเสนอให้ไทยเจรจาคู่ขนาน ทั้งกรอบเอฟทีเอไทย-อียู กับเอฟทีเอไทย-อังกฤษ
ขณะที่อียูได้ข้อสรุปเปิดเจรจาการค้าเสรีกับบางประเทศในอาเซียนแล้ว ทั้งเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่กับไทยยังไม่มีอะไรคืบหน้า
ไทยอาจเสียเปรียบทั้งอิทธิพลการค้าจากจีน และแข่งขันได้ยากกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันเอง
ตัวแปรต่อมาคือ เสียงคัดค้านภายในประเทศไทยเอง ยังไม่มีข้อยุติ ข้อกังวลยังไม่ตกผนึก การเจรจาไทย-อียูที่ผ่านมาจะมีเสียงต่อต้าน เพราะมองว่าอียูเปิดตลาดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการของไทย แต่ต้องแลกกับการให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาถาวรให้ยุโรป
รวมถึงยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช และอื่นๆ อาจได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่

มีนักวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศ ออกมาระบุว่า การเจรจาเอฟทีเอกับอียูไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากหลายประเทศในอียูขณะนี้ มีกระแสต่อต้านการเปิดเสรีกับประเทศนอกกลุ่มอียู ทำให้หลายประเทศชะลอเจรจาการค้า เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นแพะทางการเมืองภายในกลุ่มประเทศอียู เพราะหลายประเทศสมาชิกอียูกำลังจะมีการเลือกตั้งใน 1-2 ปี ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมีผลต่อฐานคะแนนเสียงหรือไม่หลังกรณีอังกฤษขอถอนตัวจากอียูไปแล้ว
รวมถึงแรงกดดันจากนโยบายของนายทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรได้อีก!!! ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้ว ที่อยู่ๆ สหรัฐเลื่อนชั้นไทยขึ้นมาเป็นประเทศต้องจับตามอง ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่ยูเอสทีอาร์ทบทวนปรับสถานะให้ในช่วงนอกรอบ จากปกติจะทบทวนทุกต้นปี
ทำให้เกิดการลุ้นต่อว่า โอกาสที่สหรัฐจะต่อการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับไทยอีกครั้ง ก่อนที่โครงการจีเอสพีเดิมกำลังหมดอายุลงสิ้นปีนี้ มีเปอร์เซ็นต์สูง ขณะที่ต้องตามติดว่าเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ออกมาชี้แจงว่าจะใช้เวทีการประชุมกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน (TIFA JC) แทนเอฟทีเอ จะรุดหน้าแค่ไหน
วกกลับมาบ้านเราที่รัฐบาลบิ๊กตู่วางโรดแมปปีหน้าจะจัดการเลือกตั้งคืนประชาธิปไตยให้ประเทศไทย ทำท่าว่าอาจจะต้องเลื่อนออกไปอีกแล้ว
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยในปี 2561 ถ้าผลลัพธ์เกมรุกของสหรัฐและอียูในครั้งนี้ ไม่บรรลุประเทศไทยจัดการเลือกตั้งตามโรดแม็ป!!!!