3 มุมมอง ‘ผู้สร้าง-ผู้กำกับฯ-นักวิชาการ’ ว่าด้วย ‘ซีรีส์วาย-ซอฟต์เพาเวอร์’ แบบไทยๆ

คนมองหนัง

หมายเหตุ เนื้อหาน่าสนใจบางส่วนจากวงสนทนาหัวข้อ “อุตสาหกรรมซีรีส์วายไทย ในยุค 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ และโอกาสในตลาดโลก” ในงาน “FEED Y CAPITAL 2nd เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2”

ยชญ กรณ์หิรัญ

ยชญ กรณ์หิรัญ

ประธานกรรมการบริษัท สตาร์ ฮันเตอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (ผู้สร้างซีรีส์วายเรื่องแรกของไทย)

การเติบโตของซีรีส์วายในปัจจุบันมันเป็นเม็ดเงินที่มหาศาล ถ้าผู้ใหญ่หลายๆ คนมองเห็น เรียกมันว่าซอฟต์เพาเวอร์ได้ไหม? บอกว่าได้มากๆ…

ณ วันนี้ ตลาดที่เรากินหนักๆ คือตลาดเอเชีย ประเทศจีนยังเป็นอันดับหนึ่ง เพราะถึงแม้จะมีการปิดกั้น แต่คุณอย่าลืมว่าไม่ได้ปิดกั้นในส่วนของออนไลน์ ดังนั้น กระแสซอฟต์เพาเวอร์ที่จะสามารถสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลมันทำได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดแฟนมีต ไม่ต้องในจีนแผ่นดินใหญ่เพราะเข้าไม่ได้ แค่ไปมาเก๊า ฮ่องกง ก็มหาศาลแล้ว

หรือจะจัดแฟนมีตในประเทศไทยให้เขาบินมาเที่ยว เขาบินมาไหม? บินมาครับ สิ่งเหล่านี้คือซอฟต์เพาเวอร์ที่ถ้าหลายๆ คนมองเห็น คุณจะรู้ได้เลยว่าเม็ดเงินมหาศาล

ถ้าประมาณการแค่หนึ่งปี อย่างน้อยขั้นต่ำต้องมีห้าพันล้าน (บาท) ในส่วนของเม็ดเงินหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างพรีเซ็นเตอร์ การทำซีรีส์ การใช้จ่ายเงินของแฟนคลับวายทั้งหลายให้กับคนที่เขารัก การซื้อสินค้าของลูกค้า สังเกตไหมครับว่าสินค้าทุกตัวถ้าอยากได้กระแส-ยอดขาย ต้องคู่วาย…

ทุกวันนี้ ผมมีงานจ้างในฝรั่งเศส อิตาลี ต้องไปบราซิล ลาตินอเมริกา สเปน แสดงว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นมันไปถึงเขาจริงๆ นั่นคือซอฟต์เพาเวอร์หนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศไทยได้

“เดือนเกี้ยวเดือน” เป็นเรื่องแรกที่ผมทำ ในเรื่องนั้นทำวายแค่เรื่องเดียว สามารถทำบิลลิ่งมากกว่าหนึ่งร้อยล้าน (บาท)…

มันคือโอกาสที่ดี ที่ผู้ใหญ่หรือรัฐบาลเริ่มมองเห็นว่า จริงๆ ซอฟต์เพาเวอร์มันมีพลัง ดังนั้น การต่อยอดพลังซอฟต์เพาเวอร์จะไปในทิศทางไหน? ณ ปัจจุบัน ผู้ใหญ่เขารับรู้รับทราบว่าวายในประเทศไทยมันสร้างกระแส มันสร้างการพูดถึง สร้างเม็ดเงินขนาดไหน

แต่ในขณะเดียวกัน อาจจะต้องดูไปว่าส่วนของการสนับสนุนมันจะมาถึงวายมากขนาดไหน? เพราะเขาอาจจะรู้สึกว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” คือหา “ยาดม” เอาไปให้ดาราสักคนหนึ่งที่กำลังมีกระแสดม แล้วทุกคนดมตามดารา

เขาอาจจะไม่เข้าใจในเรื่องการทำซอฟต์เพาเวอร์ที่ยั่งยืนและถูกต้อง มันอาจได้แค่ระยะสั้น มันไม่ใช่ระยะยาว

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

ผู้กำกับภาพยนตร์-ซีรีส์, อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่

ประเด็นแรก ถ้าพูดถึงว่าเราทำงานด้านนี้เป็นผู้กำกับฯ เราทำหนังเรื่องแรก คือ “Insects in the Backyard : แมลงรักในสวนหลังบ้าน” ซึ่งเป็นเรื่องของครอบครัว LGBTQ แล้วเราก็โดนแบนเป็นเรื่องแรกภายใต้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ฉบับปี 2551

จากสิบกว่าปีที่แล้วจนมาถึงวันนี้ ถ้าจะบอกว่าการพัฒนามันมาขนาดไหน? บอกเลยว่าเมื่อก่อนเราโดนแบน แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถทำมาหากินกับการที่เราเป็นผู้กำกับฯ ที่กำกับซีรีส์วายได้อย่างเชิดหน้าชูตา…

และสิ่งที่สำคัญในฐานะที่เป็นนักการเมือง เราเห็นกระบวนการเติบโตของซีรีส์วาย ทำให้การรับรู้เรื่องเพศสภาพ-สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ก่อนที่ดิฉันจะเป็นนักการเมือง ก็ใฝ่ฝันอยากจะแก้กฎหมาย ป.พ.พ. 1448 สมรสเท่าเทียม จำได้เลยว่าวันที่นั่งร่าง (กฎหมาย) กันอยู่ ก็เครียดมาก ว่าประชาชนจะพร้อมรับกับคำว่าสมรสเท่าเทียมหรือยัง? เขาจะเข้าใจหรือเปล่า?

แต่เมื่อยื่นเข้าสู่สภา แล้วร่างมันถูกปล่อยให้ภาคประชาสังคมได้รีวิวได้อ่านกัน คนเข้าไปในเว็บไซต์สภาเป็นล้าน มีคอมเมนต์หกหมื่น แล้วขึ้นแฮชแท็กอันดับหนึ่ง #สมรสเท่าเทียม

เว็บไซต์ต่างๆ สาววายต่างๆ ก็ร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้มันเกิดอินโฟกราฟิกข้อมูลที่เข้าใจง่ายขึ้น จนเกิดแรงกระเพื่อมในสังคม ก็ต้องขอบคุณซีรีส์วายที่ผลักพาสังคมไทยมาได้ไกลมากๆ…

ก็ดีใจที่เขามีการตั้งคณะกรรมการ (ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ) เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุย การที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แล้วก็มีคนจากหลายๆ หน่วยงานเข้าไประดมสมองกัน เราก็หวังว่ามันจะเกิดประโยชน์กับประเทศ

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เรายังเชื่อเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางการแสดงออก แน่นอนว่าถ้าคุณตั้งคณะกรรมการชุดนี้มาแล้ว คุณต้องเห็นความสำคัญของชุดความคิดต่างๆ ของประชาชนคนไทย เราต้องมีเสรีภาพทางการแสดงออก อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ก็จะฝากไว้ “คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ?” (ร้องเพลง) จริงๆ ถ้าร้องทั้งเพลง ไม่รู้ว่าจะโดนดูดเสียงหรือบอกว่าไม่เหมาะสมหรือเปล่า? เพราะว่าเพลงนี้กำลังเป็นประเด็น เราถูกบอกว่าเราไม่ควรพูดถึงอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย ซึ่งอันนี้ไม่เห็นด้วย

ทุกคนสามารถร้องเพลงนี้หรือพูด (เนื้อ) เพลงนี้ได้ เพราะเราทุกคนล้วนมีอวัยวะในร่างกาย

รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม

รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม

คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

ความสำเร็จของการทูตเชิงวัฒนธรรมของเกาหลีในปัจจุบัน ถ้าเราวัดเอา “แดจังกึม” เป็นไมล์สโตน เป็น 20 ปีนะ มันกินเวลาหลายทศวรรษ

สิ่งที่เราต้องเข้าใจก่อน ก็คือว่าเวลาเราทำ (เรื่องซอฟต์เพาเวอร์) เรารู้สึกว่า เดี๋ยวไม่สนอง เดี๋ยวไม่ได้ เดี๋ยวไม่ทัน เดี๋ยวไม่มีชื่อเสียง เราอยากได้ทุกอย่างแบบเร็วมาก เหมือนปลูกถั่วงอก ข้ามคืนแล้วมันขึ้น มันไม่สามารถทำเร็วแบบนั้นได้ อันนี้ประเด็นที่หนึ่ง

สอง เวลาเราจะคิดถึงการขาย “ความเป็นไทย” ถ้าเราถอดบทเรียนเกาหลี ยุคที่มี “แดจังกึม” มันมีอุตสาหกรรมที่เรียกว่า “ซากึก” คือเป็น (เรื่องราว) อิงประวัติศาสตร์ ทุกคนก็จะอิงประวัติศาสตร์ ก็มี “สนมฮีบิน” “ทงอี” ออกมาเป็นซีรีส์ เพราะว่านั่นไปโยงกับอีกกิ่งก้านหนึ่งของ “ซอฟต์เพาเวอร์” นั่นคือการสร้าง “วีรบุรุษแห่งชาติ” อันนั้นคือเกาหลีเขาทำ

แต่มันเป็นเฟส คือเฟส “ทงอี-แดจังกึม” มันเคลื่อนไปแล้ว ตอนนี้มันเป็นอย่างอื่นอีกต่างๆ มากมาย แล้วมันไม่ใช่ “เค-ป๊อป” อย่างเดียว ทำไมเราดูซีรีส์เกาหลีแล้วมันอิน? เพราะว่าเกาหลีเขาขาย “ความเป็นชายแบบอ่อนนุ่ม” ซึ่งผู้ชายเกาหลีจริงๆ อาจจะไม่อ่อนนุ่ม แต่ว่าผู้ชายที่อยู่บนจอมันต้องอ่อนนุ่ม คือมันมีอะไรอีกหลายๆ อย่าง

เพราะฉะนั้น หนึ่ง อย่าใจเร็ว มันไม่ได้แบบดีดนิ้ว ทำสิ ทำสิ ทำสิ ผมว่ายาก แล้วในการขาย ถ้าเรามองรัฐ ก็คือว่า รัฐไม่ต้องคิด ให้เอกชนคิด รัฐเอาเงินมาอย่างเดียว เพราะว่าเวลารัฐทำงานมันจะเป็นลักษณะแบบบนลงล่าง

สมมุติคนข้างบนสุดคิดว่า เออ ข้าวเหนียวมะม่วงแล้วกัน แล้วทุกคนก็ต้องข้าวเหนียวมะม่วงหมด ชุดผ้าไหมแล้วกัน ทุกคนก็ต้องชุดผ้าไหมหมด แล้วความคิดสร้างสรรค์มันจะมาจากไหน? ความคิดสร้างสรรค์มันเกิดจากบนลงล่างไม่ได้ ความคิดสร้างสรรค์มันเกิดจากการอนุญาตให้เสียงและความคิดเห็นที่หลากหลาย มันเปล่งออกมาได้

เพราะฉะนั้น รัฐไม่ต้องระดมสมอง คือเอาเงินวาง แล้วก็ให้เอกชนเขาคิดระดมสมองไป…

ถ้าเกิดว่าเราจะสนับสนุน (ซอฟต์เพาเวอร์) โดยรัฐบาล ขั้นตอนแรก ก็คือเป็นผู้สนับสนุนให้มากขึ้น เป็นรัฐบาลให้น้อยลง คืออย่ามีลำดับชั้นหรือทำงานแบบบนลงล่าง ฉันสั่งเธอทำ เรียกพบ ต้องมาคุยหน่อยซิ คืออย่าทำงานแบบมีลำดับชั้น

สอง ปัจจุบันพอเรามีธงของรัฐบาล จะทำ “ซอฟต์เพาเวอร์” สิ่งที่มันเกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อก็คือว่า มันเกิดการแย่งงานกันเองในหมู่หน่วยงานรัฐ เขาไม่ได้ทำงานด้วยกัน คือจะเป็นลักษณะเหมือนกับว่ากระทรวงนี้จะต้องเจิดจรัส กระทรวงนี้ต้องไปเจิดจรัส ฉันไม่มีผลงาน ฉันจะทำยังไง

ไปเคลียร์กันก่อน ในเมื่อมันเป็นระบบเดียวกัน เธออย่าแย่งงานกัน เธอควรทำงานร่วมกัน เพราะว่ามันไม่ใช่บริบทของการแข่งขัน ในฐานะหน่วยงานรัฐจะไปแข่งทำไม? เพราะเป้าหมายคือต้องทำให้นโยบายของรัฐบาลเดียวกันประสบผลสำเร็จ คุณก็ต้องทำงานด้วยกันให้ได้ แบ่งงานกันให้ดี อย่าขโมยสปอตไลต์ซึ่งกันและกัน

ไปเคลียร์กันให้เสร็จก่อน ก่อนที่จะดึงคนอื่นเข้าไปพูดคุยด้วย •

 

 

| คนมองหนัง