สะบัด ‘ช่อ’ ก่อวิถี ก้าวไปให้สุดฝัน | เหยี่ยวถลาลม

อิสรภาพ หรือ Freedom กับ เสรีภาพ หรือ Liberty เป็นแก่นความคิดของ “จอห์น ล็อค”

“อิสรภาพ” อันหมายถึง มีความเป็นใหญ่ในตนเอง ปราศจากการครอบงำหรือพันธนาการใดๆ กับ “เสรีภาพ” ซึ่งหมายถึง ความมีเสรีที่จะคิดและกระทำการใดๆ นับเป็นสมบัติที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด

ส่วนแก่นความคิดของ “มงเตสกิเออ” ผู้ซึ่งเกิดทีหลัง “จอห์น ล็อค” นั้นว่า “ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด” ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นผู้มอบสิทธิและเป็นผู้เลือกให้ผู้อื่นไปทำการแทนในสภา

ด้วยพื้นฐานแนวคิดนี้ “สภา” ที่ประชาชนไม่ได้เลือก จึงไม่ใช่สภาที่สามารถไว้วางใจได้

แก่นความคิดของ “จอห์น ล็อค” และ “มงเตสกิเออ” เป็นพื้นฐานอุดมการณ์ประชาธิปไตย

แต่ในประเทศของเราพวก “ศรีธนญชัย” มักจะแถว่า ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบ!

เราจึงมีและเราเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่ย้อนแย้ง สับสน ชวนให้งุนงง!?

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ปฏิเสธ “แก่นความคิด” อันเป็น “อุดมการณ์” ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย!

กล่าวให้ชัด ในสังคมไทยมีชนชั้นสูงกับผู้นำทางความคิดจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่า มนุษย์มีเสรีภาพติดตัวมาแต่กำเนิด

ไม่เชื่อในความเท่าเทียม ไม่ขึ้นกับใคร

มากไปกว่านั้นยังไม่เชื่อด้วยว่า ไม่มีใครสามารถพรากชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สมบัติต่างๆ ของบุคคลได้

เมื่อ “ไม่เชื่อ” ในแก่นความคิดประชาธิปไตย “คนไทยจำนวนหนึ่ง” ที่ตัวใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าก็กล้าทำทุกสิ่งด้วยความเชื่อมั่นว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ประเทศไทย ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้”

ผิดจึงอาจกลายเป็นถูก หรือที่ถูก ที่ดี ที่ประพฤติชอบก็อาจกลายเป็นผิด อาจติดคุก หรืออาจถูกพรากสิทธิเสรีภาพ!

“ช่อ” พรรณิการ์ วานิช เป็น 1 ในที่ว่านั้น

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกสร้างขึ้นจาก “เจตนารมณ์” คณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับผู้เป็น “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” สร้างสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานทางจริยธรรม” ขึ้นมาบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขยายอาณาบริเวณทางความคิดออกไปกว้างขวางจนหาขอบเขตได้ยาก

จะตีความกันอย่างไร เช่น ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือต้องยึดมั่นถือผลประโยชน์ของชาติเหนือประโยชน์ส่วนตน หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระ เป็นกลาง หรือพึงระวังไม่คบค้าสมาคมกับคู่กรณีผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล ฯลฯ

“มาตรฐานทางจริยธรรม” นี้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง และมีโทษรุนแรงถึงขั้น “ประหารชีวิตทางการเมือง”

หากนำไปเปรียบเทียบกับ “ประมวลกฎหมายอาญา” ซึ่งมีหลักว่า “จะต้องมีความชัดเจน แน่นอน” ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า การฉีกรัฐธรรมนูญ การทำรัฐประหารล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย (ล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557) ที่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด มีพฤติการณ์และหลักฐานชัดเจนแน่นอน แต่เหตุใดในประเทศไทยจึงไม่เคยบังคับใช้ “กฎหมายอาญา มาตรา 113” ซึ่งมีโทษ “จำคุกตลอดชีวิต” หรือ “ประหารชีวิต” เลยแม้แต่ครั้งเดียว

มีปืน มีพวก ใช้กำลังพลรบของกองทัพ ใช้อาวุธสงครามเข้าแย่งยึดอำนาจการปกครอง จาก “ข้าราชการประจำ” เปลี่ยนเป็น “นักการเมือง” กลับไม่เคยถูกดำเนินคดี ไม่ผิดจริยธรรมทางการเมือง ทั้งยังอยู่ในอำนาจได้นาน ชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพไม่ถูกกระทบกระเทือน แม้แต่ “ทรัพย์สมบัติ” หลายๆ คนยังเพิ่มพูนท่วมทวี

ถามว่า “มาตรฐานจริยธรรม” ที่กำหนดว่า จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม หรือที่ว่า พึงระวังไม่คบค้าสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระ เป็นกลางนั้น สามารถใช้กับนักการเมืองที่มาจากการรัฐประหารได้จริงหรือไม่

 

“ช่อ พรรณิการ์” เป็นนักการเมืองพลเรือนตัวเล็กๆ ถูก “ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต” ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งและไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป ต้องนับว่าอานุภาพของ “มาตรฐานทางจริยธรรม” อันเป็นมรดกของ “คสช.” ผู้ก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น “ร้ายแรง” และ “แน่นอน” เสียยิ่งกว่า “ประมวลกฎหมายอาญา”

แค่นายศรีสุวรรณ จรรยา ไปขุดเอาข้อความที่ “ช่อ” เคยโพสต์เมื่อปี 2553 หรือเมื่อ 13 ปีก่อน ขึ้นมาร้อง “ป.ป.ช.” ก็สามารถไต่สวนเอาผิดย้อนหลัง กระทั่งจบชีวิตทางการเมืองของ “ช่อ พรรณิการ์” ได้

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงได้โพสต์เศร้า ว่าเสียใจ เสียดายคุณช่อ พร้อมกับทิ้งคำถาม… ปี 2549 รัฐประหารขับไล่ทักษิณ, เมษายน-พฤษภาคม 2553 อำมหิตปราบคนเสื้อแดง, 2557 รัฐประหารขับไล่ยิ่งลักษณ์, เลือกตั้ง 2562 กับ 2566 กำจัด ธนาธร+พิธา+ช่อ++ แล้วทักษิณก็ได้ “ดีล” กลับบ้าน

ที่ผ่านมา เรียกว่าอะไร -ข้างหน้า คืออะไร ใครรู้บ้าง!!!

ถ้าหากจะว่า “ช่อ” ได้กระทำการฝ่าฝืน “จริยธรรม” ที่บัญญัติกันขึ้นในยุค “คสช.” ก็เป็นการกระทำตั้งแต่ปี 2553 ก่อนหน้า คสช.จะยึดอำนาจการปกครองถึง 4 ปี

หลัง คสช.ยึดอำนาจแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระยกร่าง “มาตรฐานทางจริยธรรม” ขึ้นมา แล้วประกาศใช้ในวันที่ 31 มกราคม 2561 หลังจากที่ “ช่อ” โพสต์ถึง 8 ปี

หากจะเรียกว่ากติกาก็เป็นผลผลิตยุค คสช.

 

ในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนที่ได้ชื่อว่าเป็น “นิติรัฐ” เขียนกติกา ข้อบังคับ หรือกฎหมายขึ้นมาแล้วบังคับใช้กับลงโทษย้อนหลัง เช่น สมมุติว่าวันนี้มีคนไปร้องว่า ประยุทธ์กับพวก คสช.ก่อรัฐประหาร ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 113 ซึ่งมีโทษ “จำคุกตลอดชีวิต” หรือ “ประหารชีวิต” ก็ไม่สามารถจะทำได้

ถึงแม้ “ช่อ” จะทระนงประกาศว่า “เดินทางมาไกลขนาดนี้ จะไม่หยุดกลางคันจนกว่าจะถึงเส้นชัย ไม่มีใครมาพรากสิทธิไปจากช่อได้” แต่การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตกับ “พลเมือง” ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งไม่ได้สมคบคิดในการใช้กำลังและอาวุธเข้าล้มล้างระบอบการปกครองก็ชวนให้คิดว่า…

ทำไมบุคคลหรือองค์กรซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแม้แต่น้อยจึงได้พากันสถาปนาตนจนใหญ่เสียยิ่งกว่า “ผู้ทรงอำนาจอธิปไตย”!?!!