ตีแผ่ 6 กลยุทธ์ วิชาการฮั้วประมูลงานภาครัฐ 101

ท่ามกลางความตื่นตะลึงจากเหตุการณ์ตำรวจถูกยิงเสียชีวิตภายในงานเลี้ยงของกำนันนก ผู้มากบารมีแห่งจังหวัดนครปฐม นำไปสู่การขุดคุ้ยประวัติของกำนันอย่างต่อเนื่อง

กำนันนก หรือ นายประวีณ จันทร์คล้าย อายุ 34 ปี เป็นกำนันตำบลตาก้อง อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ก่อนหน้าเคยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านซึ่งรับช่วงต่อจาก นายประโยชน์ จันทร์คล้าย บิดา เมื่อกำนันนกดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้เพียง 1 ปี กำนันตำบลตาก้องเสียชีวิตลง กำนันนกจึงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งกำนันแห่งตำบลตาก้อง

ตามข่าวที่โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI แถลงข่าวการสืบสวนเครือข่ายบริษัทกำนันนกที่อาจเข้าข่ายฮั้วประมูลโครงการรับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2554 จนถึง 2565 พบว่ามีโครงการซึ่งเกี่ยวโยงกับกำนันนก มากถึง 1,544 โครงการ รวมมูลค่าวงเงินงบประมาณสูงถึง 7,500 ล้านบาท กระจายอยู่ใน 7 หน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม

นอกจากนี้ กำนันนกยังมีความสนิทสนมกับนักการเมืองทั้งในระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงมีธุรกิจรถบรรทุกมากกว่า 100 คัน ที่ต้องดูแล

เรียกได้ว่า “อายุน้อยร้อยล้าน” ตัวจริงเสียงจริง แต่เพียงชั่วข้ามคืนกลับกลายเป็น “อายุน้อยร้อยคดี”

ปูมหลังของกำนันนกสะท้อนปัญหาทุจริตในวงราชการได้อย่างดี ซึ่งสั่งสมมายาวนานจนกลายเป็นค่านิยมในสังคมไทยให้เชื่อว่า “ที่ดีงานจัดจ้างภาครัฐ ที่นั่นมีเงินทอน” และ “เงินซื้อข้าราชการไทยได้”

 

บทความสัปดาห์นี้ผมขอเล่าถึงกลยุทธ์การฮั้วประมูลงานภาครัฐ ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จึงขอตั้งชื่อบทความว่า “วิชาการฮั้วประมูลงานภาครัฐ 101”

จุดประสงค์เพื่อตีแผ่กลโกงในระบบราชการไทยเพื่อให้ทุกท่านช่วยกันตรวจสอบการใช้จ่ายภาษีอากรของพวกเราทุกคนให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และแน่นอนว่าไม่ได้สนับสนุนให้ทุกท่านกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองแม้แต่น้อย

ย้ำอีกครั้ง ไม่สนับสนุนให้ทุกท่านกระทำความผิด

ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบ่งออกเป็นหลายขั้นตอน แต่ขอหยิบยก 6 ขั้นตอนที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญต่อการทุจริตขึ้นมาเป็นตัวอย่าง

 

1.ขั้นตอนการขอตั้งงบประมาณโครงการ

ในขั้นตอนนี้นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า นักวิ่งงานราชการทั้งหลาย ต้องวิ่งส่วนงานของหน่วยงานราชการให้เสนอจัดทำกิจกรรมหรือโครงการสำหรับปีงบประมาณถัดไป

คำขอเหล่านั้นเดินทางจากส่วนงานราชการ รวบรวมขึ้นเป็นโครงการของแต่ละกอง/สำนัก

จากนั้นผู้อำนวยการกอง/สำนัก เสนอสู่อธิบดีเพื่อรวบรวมโครงการทั้งหมดในระดับกรม และจากทุกกรมรวมกันเป็นงบประมาณประจำกระทรวงแต่ละกระทรวง

ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการตีตราจอง หรือออกตั๋ว ว่าโครงการไหนใครเป็นของใคร

พวกกันก็อาจได้งบประมาณง่ายดายกว่าคนอื่นคนไกล

 

2.ขั้นตอนการจัดทำราคากลาง

แต่ละโครงการจะมีคณะกรรมการกำหนดราคากลาง มีหน้าที่ในการเสาะหาราคาจากหลายๆ แหล่งข้อมูล

ซึ่งแน่นอนว่าข้าราชการไม่ใช่จัดซื้อ เอกชนย่อมไม่รู้จักพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของหรอก

จึงมักให้ผู้ที่มีตั๋วเป็นเจ้าของแต่ละโครงการจัดหาบริษัทคู่เทียบเข้าเสนอราคาเพื่อจัดทำราคากลาง

แน่นอนว่าราคากลางย่อมตีโป่งเต็มวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเสมอ

ทุ่นแรงข้าราชการไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาราคากลาง

และไม่ขัดใจผู้มีอำนาจอีกด้วย

 

3.ขั้นตอนการร่างเอกสารขอบเขตงาน (TOR) และการจัดทำประชาพิจารณ์

จัดเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการฮั้วประมูล เพราะสามารถเลือกเกณฑ์การตัดสินผู้ชนะการประกวดราคาได้ระหว่าง เกณฑ์ราคารวมต่ำสุด หรือ เกณฑ์ประสิทธิภาพต่อราคา สามารถกำหนดคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของงานจ้าง คุณสมบัติของบริษัทผู้เสนอราคา และคุณสมบัติของบุคลากร เพื่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการประกวดราคา

หากงานใดไม่สามารถล็อกสเป๊กได้ อาจใช้กลยุทธ์เขียนขอบเขตงานให้คลุมเครือ

หากเป็นพวกกันสามารถตีความเนื้องานให้น้อยลง เสกเนื้องานหายวับในทันที แต่หากเป็นคนอื่น เนื้องานกลับเพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นขาดทุนได้

ในการล็อกสเป๊ก อาจล็อกสเป๊กที่ผลิตภัณฑ์โดยความร่วมมือจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ ออกหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายให้เฉพาะกลุ่มบริษัทที่ร่วมกินโต๊ะจีนฮั้วประมูลกัน ไม่ออกหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายให้ผู้เสนอราคารายอื่นๆ หรือล็อกสเป๊กที่คุณสมบัติของบริษัทและบุคลากรให้มีความแตกต่างจากบริษัททั่วไป เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เข้าเสนอราคามีจำนวนน้อยราย

ในบางครั้งโครงการมูลค่า 40-50 ล้านบาท อาจแอบล็อกสเป๊กในสินค้าราคาเพียงหลักพันบาทก็ได้

หลายโครงการที่มีการจัดซื้อสินค้าหลายรายการ แต่จงใจรวบซื้อรวบขาย ไม่อนุญาตให้แบ่งการจัดซื้อจัดจ้างตามแต่ละรายการ ซึ่งหากแบ่งซื้อแต่ละรายการอาจทำให้รัฐซื้อของในราคาที่ต่ำลงได้

ในขั้นตอนการประชาพิจารณ์ หากเป็นโครงการขนาดเล็กอาจเปิดโอกาสให้ประชาพิจารณ์ 3 วันตามระเบียบพัสดุ

หากโครงการใหญ่ต้องเปิดให้มีการประชาพิจารณ์ยาวนานขึ้น ซึ่งบางหน่วยงานใช้กลยุทธ์ประกาศประชาพิจารณ์ขึ้นเว็บของหน่วยงานย้อนหลังทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นประกาศสั้นลงอีก

และแม้จะจับได้ว่าล็อกสเป๊ก เมื่อส่งประชาพิจารณ์ไปก็จะได้รับการยืนยันว่ามีสินค้าที่ผ่านคุณสมบัติมากกว่า 1 ยี่ห้อ หรือหน่วยงานราชการมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าที่มีคุณลักษณะดังกล่าว จึงใช้ดุลพินิจยืนตามเดิมไม่แก้ไขร่างเอกสารขอบเขตงานได้

 

4.ขั้นตอนการยื่นซองและเสนอราคาในการประกวดราคา

ในอดีตอาจเคยได้ยินข่าวมาเฟียล้อมห้องรับซองประกวดราคา แต่ในปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้ปรับเปลี่ยนให้ยื่นซองและเสนอราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงสามารถยื่นเสนอราคาจากที่ใดก็ได้ เดิมทีกำหนดให้ยื่นซองได้ถึงเวลา 16.30 น.

ไม่วายเกิดแก๊งสี่โมงเย็น เป็นผู้มากบารมีในกรมบัญชีกลาง สามารถเรียกดูข้อมูลราคาของผู้เสนอราคาแต่ละรายได้ก่อนหมดเวลายื่นประกวดราคา

ซึ่งค่าธรรมเนียมการแอบดูราคาของคู่แข่งตกประมาณ 0.5-1% ของมูลค่าโครงการ

(อันนี้ผู้เขียนไม่ยืนยัน เพียงแต่ได้ยินเรื่องเล่าต่อๆ กันมา อาจเป็นมิจฉาชีพสวมรอยก็เป็นได้)

 

5.ขั้นตอนการเปิดซองประกวดราคา

ในขั้นตอนนี้หากมีผู้เสนอราคานอกกลุ่มโต๊ะจีนยื่นซองประกวดราคาเข้ามา คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาต้องพยายามหาที่ผิดในเอกสารข้อเสนอโครงการเพื่อให้เป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนในการประกวดราคา จะได้ไม่ต้องพิจารณาราคาของผู้เสนอรายนั้น

แต่หากไม่สามารถหาจุดปัดตกได้ อาจใช้กลยุทธ์ให้ผู้เสนอราคานอกกลุ่มรายนั้นเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว ปัดผู้เสนอราคารายอื่นที่ฮั้วกันมาแล้วให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ

เพื่อสามารถยกเลิกการประกวดราคาครั้งนั้นจากเหตุมีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว

เป็นอำนาจของกรรมการเปิดซองในการยกเลิกการประกวดราคาครั้งนั้น

แล้วกลับมาตั้งหลักใหม่ แก้ไขร่างเอกสารขอบเขตงาน (TOR) ใหม่โดยไม่มีเหตุผล เพื่อกีดกันผู้เสนอราคานอกกลุ่มรายนั้นในการประกวดราคารอบถัดไป

หรือหากการประกวดราคาเลือกใช้เกณฑ์ประสิทธิภาพต่อราคา แน่นอนว่าผู้เสนอราคาแต่ละรายไม่สามารถเข้าฟังการนำเสนอของผู้เสนอราคารายอื่นได้ กรรมการจึงสามารถเลือกให้คะแนนผู้เสนอราคารายที่มีตั๋วจากผู้ใหญ่ได้

หากคะแนนไม่ทิ้งห่างกันมากจนน่าเกลียดเกินไปก็สามารถเลือกผู้ชนะการประกวดราคารายใดก็ได้

 

6. ขั้นตอนการอุทธรณ์/ร้องเรียนก่อนประกาศผู้ชนะการประกวดราคา

แม้ผู้เสนอราคานอกกลุ่มโต๊ะจีนจะสามารถฝ่าฟันจนชนะการประกวดราคาแล้ว กลยุทธ์สุดท้ายที่จะสกัดดาวรุ่งก็คือ การยื่นร้องเรียนใดๆ ก็ตามเพื่อดึงเวลา แล้วหาเหตุผลในการยกเลิกการประกวดราคา

ตัวอย่างโครงการจัดอีเวนต์ อาจดึงจนพ้นระยะเวลาที่ต้องจัดงานจนโครงการดังกล่าวหมดประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการ หน่วยงานจึงสามารถยกเลิกการประกวดราคาและแปลงเงินงบประมาณดังกล่าวไปดำเนินโครงการอื่นแทน

เพื่อดับฝันผู้เสนอราคามิให้ชนะการประกวดราคาดังที่ฝันไว้

 

การฮั้วประมูลส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เพราะขัดขวางมิให้ตลาดมีการแข่งขันสมบูรณ์ ส่งผลให้ภาครัฐต้องซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพต่ำในราคาสูง คอยขัดขวางการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สร้างปัญหาการกระจุกตัวของรายได้ เหนี่ยวนำให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี บั่นทอนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และท้ายที่สุดส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนเสียไป

จากขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น กลับกลายเป็นการเอื้อให้มีการทุจริตประพฤติมิชอบ ถึงเวลาควรต้องรื้อขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใหม่ทั้งระบบแล้วหรือยัง

หากภาครัฐใช้แนวทางเศรษฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาจัดให้มีโครงการให้รางวัลนำจับผู้ชี้เบาะแสโครงการที่มีการทุจริตหรือส่อทุจริต ไม่ว่าการล็อกสเป๊กหรือทำผิดระเบียบพัสดุ ผู้เขียนอาจผันตัวไปทำอาชีพตรวจสอบร่างเอกสารขอบเขตงาน (TOR) เต็มตัวก็เป็นได้

การแก้ไขปัญหาทุจริตการจัดซื้อจัดจจ้างภาครัฐมิใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ หากแต่ผู้มีอำนาจเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีอำนาจในการร่วมตรวจสอบอย่างแท้จริง