ศรีเทพ ต้นทางความศักดิ์สิทธิ์ ของความเป็นทวารวดีในสยามประเทศไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในบทความเรื่อง “Wen Dan And Its Neighbours : The Central Mekong Valley in the Seventh and Eighth Centuries” (อาจแปลชื่อบทความเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า เวียงจันทน์กับเพื่อนบ้าน : หุบเขาลุ่มน้ำแม่โขงตอนกลางในคริสต์ศตวรรษที่ 7-8) ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารจีนโบราณอย่าง ทัตสึโอะ ฮาชิโนะ (Tatsuo Hoshino) ในหนังสือ Breaking New Ground in Lao History : Essays on the Seventh to Twentieth Centuries (ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ลาว : ข้อเขียนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-20) ซึ่งตีพิมพ์มาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2545

มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอะไรที่เรียกว่า “ทวารวดี” และ “เมืองศรีเทพ” ซึ่งเพิ่งจะได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย เมื่อเร็วๆ นี้

โดยแบ่งออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

 

1. ในพงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับใหม่ (ซินถังซรู) เรียก “ทวารวดี” ว่า “ตัวเหอหลัว” (Duo He Luo) ใช้เวลาเดินทางจากเมืองกวางโจวเป็นเวลา 5 เดือน ถูกมองว่าเป็นรัฐที่มีระบบการปกครองแบบมีศักดินาหลักรัฐหนึ่ง ทางตะวันตกของทวารวดีติดกับทะเล ทางตะวันออกติดกับเจนละ มีศรีจนาศะ (เจียหลัวเชอฝู, Jia Luo She Fu) อยู่ทางเหนือ และมีเมืองพานพาน (Pan Pan) อยู่ทางใต้

หนังสือซินถังซรูที่ว่านี้ แม้จะมีชื่อว่าเป็นพงศาวดารของราชวงศ์ถัง แต่ก็ไม่ได้ถูกแต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ถังหรอกนะครับ เพราะเป็นหนังสือที่ถูกจักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้มีพระราชโองการให้เรียบเรียงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังขึ้นใหม่ โดยให้สอบทานกับหลักฐานต่างๆ ให้มีความถูกต้องที่สุด โดยเริ่มเรียบเรียงใน พ.ศ.1587 และเขียนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.1603 ต่างหาก

ด้วยภูมิหลังอย่างที่ว่านี้ จึงทำให้หนังสือโบราณดังกล่าว มีความน่าเชื่อถือมากพอสมควรเลยทีเดียว

 

2. ในหนังสือต้าถังซียู่จี (Da Tang Xi Yu Ji) ชี้ให้เห็นว่า ที่ตั้งของทวารวดีระยะแรกควรจะอยู่แถบแม่น้ำบางปะกง

ดังนั้น จึงน่าจะเป็นเมืองศรีมโหสถ ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต จ.ปราจีนบุรี

แต่ฮาชิโนะเชื่อว่า ในช่วงปลายราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1400 ลงมา) น่าจะย้ายไปอยู่ที่ลพบุรี

ทั้งนี้ ฮาชิโนะไม่ได้อ้างถึงหลักฐานเอกสารของจีนใดๆ เอาไว้

ดังนั้น ข้อความตอนนี้จึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของเขาเท่านั้น

 

และสุดท้ายข้อ 3. เอกสารจีนบางชิ้น (ฮาชิโนะไม่บอกว่าคือชิ้นไหนบ้าง) ชี้ให้เห็นว่า ศรีจนาศะ (เจียหลัวเชอฟู) ที่แต่เดิมอยู่ที่เมืองเสมา ในเขต อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา แต่ต่อมาได้ถูกทวารวดีรุกราน จนทำให้ต้องทิ้งอำนาจของตนเองในเขตที่ปัจจุบันคือ นครราชสีมา ไปอยู่ที่ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเขาเชื่อว่าคือเมืองที่เอกสารจีนโบราณเรียกว่า เชียนจีฟู หรือกานจีฟู (Qian/Gan Zhi Fu)

ความตอนนี้ฮาชิโนะเทียบความจากจารึกบ่ออีกา ซึ่งพบที่เมืองเสมาเอง และพงศาวดารซินถังซรูที่บอกว่า เจียหลัวเชอฟู อยู่ทางเหนือของตัวเหอหลัว ซึ่งฮาชิโนะเชื่อว่าคือเมืองศรีมโหสถ

ดังนั้น เขาจึงชี้ไปที่เมืองเสมาว่าคือ เมืองศรีจนาศะ นั่นเอง

 

ดังนั้น ถ้าจะว่ากันตามข้อเสนอของฮาชิโนะ ซึ่งอ้างอิงอยู่บนเอกสารจีนโบราณเป็นหลักนั้น “เมืองศรีเทพ” ก็ไม่ใช่ “ทวารวดี” หรอกนะครับ อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์สัญชาติญี่ปุ่นคนนี้ ก็ต่างไปจากข้อสันนิษฐานดั้งเดิมเกี่ยวกับศูนย์กลางของทวารวดีอยู่มากเลยทีเดียว

เพราะคำอธิบายเกี่ยวกีบ “ทวารวดี” ที่ทรงอิทธิพลที่สุดน่าจะมาจาก นักอ่านจารึกของอุษาคเนย์โบราณคนสำคัญชาวฝรั่งเศสอย่าง ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (Goerge C?d?s) ที่ได้เสนอเอาไว้เมื่อ พ.ศ.2472 ว่า ทวารวดีเกี่ยวข้องอยู่กับกลุ่มโบราณวัตถุในพุทธศาสนา แบบที่เขาเรียกว่า “ก่อนเขมร” ซึ่งพบที่ลพบุรี และนครปฐม

และก็ดูเหมือนว่า เป็นเซเดส์นี่แหละ ที่เริ่มเรียก “ทวารวดี” ว่าเป็น “ราชอาณาจักร” (เซเดส์ใช้คำในภาษาฝรั่งเศสว่า royaume) อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับข้อสรุปของเขาที่ว่า ทวารวดีนั้นเป็นอาณาจักรของพวกมอญ เนื่องจากมีการพบจารึกภาษามอญอยู่มาก

น่าสนใจว่า เซเดส์นั้นเคยรับราชการอยู่ในสยาม และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดอยู่กับบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นับสิบปี และยังได้ช่วยกันลำดับยุคสมัยของประวัติศาสตร์ของไทย ที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยทวารวดี ไล่เรียงมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ดังนั้น ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับทวารวดีของท่าน จึงมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในประเทศไทย

 

จุดสุดยอดของกระบวนการสร้าง “อาณาจักรทวารวดี” ขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยนั้น เกิดขึ้นจากการขุดพบเหรียญเงินสองเหรียญในโถขนาดเล็ก ที่บริเวณซากเจดีย์โบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของวัดพระประโทณ จ.นครปฐม ราว 1 กิโลเมตร เมื่อ พ.ศ.2486

ในเหรียญเงินทั้งสองดังกล่าว มีจารึกกำกับอยู่ด้วย ซึ่งเซเดส์ได้ถ่ายทอดและแปลความออกมาเมื่อ พ.ศ.2506 ว่า “ศรีทวารวตีศวรปุณยะ” หรือ “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นหลักฐานสนับสนุนแนวคิดของเซเดส์ว่า มีอาณาจักรทวารวดีอยู่ที่นครปฐม

อย่างไรก็ตาม เหรียญเงินจากนครปฐมทั้งสองชิ้นที่ว่านี้ ไม่ได้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบ และถ้าจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมาที่สุดเลยก็คือ เป็นของที่ได้จากการขุดหาของเก่าเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถยอมรับถึงที่มาของวัตถุ ตลอดไปจนถึงว่าเป็นโบราณวัตถุของแท้หรือไม่?

ถึงแม้ว่า ต่อมาจะมีการค้นพบเหรียญที่มีจารึกข้อความเดียวกันนี้ ในเมืองโบราณแห่งอื่นๆ ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ซึ่งพบโบราณวัตถุสถานแบบที่นักโบราณคดีกำหนดเป็นวัฒนธรรมแบบทวารวดีอีกหลายแห่ง จนชวนให้เชื่อใจได้มากขึ้นว่าเหรียญเงินทั้งสองชิ้นจากนครปฐมนั้นน่าจะเป็นของแท้ดั้งเดิม เพราะมีหลักฐานประเภทเดียวกันที่ใช้เปรียบเทียบได้จากแหล่งโบราณคดีแห่งอื่นๆ

แต่นั่นก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ทวารวดี ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นครปฐม เพราะก็เจอเหรียญแบบเดียวกันในเมืองอื่นๆ ด้วย เพราะหมายความว่า หากใช้วิธีการแปลความจากข้อมูลหลักฐานแบบเดียวกันนี้ เมืองอื่นที่พบเหรียญทำนองนี้ก็สามารถเป็นทวารวดีได้ด้วยเช่นกัน

 

ข้อเสนอที่น่าสนใจชิ้นหลังสุดมาจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่เสนอว่า “ทวารวดี” ก็คือ “เมืองศรีเทพ”

เหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้ อ.พิริยะ เสนออย่างนี้เป็นเพราะว่า ที่เมืองศรีเทพนั้นมีการต้นพบรูปประติมากรรมพระกฤษณะลอยตัวขนาดใหญ่อยู่หลายชิ้น

และถ้าจะว่ากันตามปรัมปราคติของพ่อพราหมณ์แล้ว พระกฤษณะนั้นเป็นกฤษณะผู้ครองเมืองทวารกา หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “เมืองทวารวดี” นั่นแหละครับ

ดังนั้น เมืองศรีเทพซึ่งเป็นเมืองที่พบรูปพระกฤษณะอยู่หลายองค์ ในขณะที่แคนดิเดตเมืองศูนย์กลางของทวารวดีเมืองอื่นๆ นั้น กลับไม่ค้นพบรูปพระกฤษณะเลย อ.พิริยะ ท่านก็เลยสรุปว่า “ศรีเทพ” นี่แหละคือศูนย์กลางของ “ทวารวดี”

ถึงแม้ว่า รูปสลักเล่าเรื่องของพระกฤษณะยังมีปรากฏอยู่ตามชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมต่างๆ ด้วยในหลายๆ สถานที่ ซึ่งโดยมากจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมขอมโบราณ ไม่ว่าจะเป็นบนทับหลัง หน้าบัน หรือส่วนอื่นๆ โดยพบกระจายตัวอยู่ในปราสาทแบบขอม ทั้งที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำมูล ในภาคอีสานตอนล่างของไทย (หรือที่เรียกในเอกสารจีนโบราณว่า เจนละบก) และในเขตที่ราบลุ่มตนเลสาปเขมร ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน (คือ เจนละน้ำ ในเอกสารจีนโบราณ) โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องตามตำนานฝ่ายภาควัต (นิกายย่อยในไวษณพนิกาย ที่นับถือคัมภีร์ภาควัตปุราณะเป็นสำคัญ) แต่ที่เล่าเรื่องพระกฤษณะ ในมหาภารตะก็มี ที่สำคัญคือ ภาพสลักเล่าเรื่องสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร ที่ระเบียงคต ปราสาทนครวัด

อย่างไรก็ตาม เรื่องของกฤษณะ ทั้งตำนานของฝ่ายภาควัต และในมหาภารตะ คงจะถูกเล่าปนๆ กัน โดยถือว่าเป็นอวตารของพระนารายณ์เหมือนกัน และคือพระกฤษณะองค์เดียวกันมาตั้งแต่ในอินเดียแล้ว

เรื่องของพระกฤษณะยังปรากฏในจารึกขอมอีกหลายหลัก โดยบางหลัก เช่น จารึกตระพังรุน ก็แสดงให้เห็นว่า ชาวเขมรโบราณรู้จักปรัชญาเกี่ยวกับพระกฤษณะ ตามแนวคิดในคัมภีร์ภควัตคีตาอีกด้วย

สรุปง่ายๆ ว่า ในเขตประเทศไทยนั้น มีเฉพาะเมืองศรีเทพ ที่มีการสร้างรูปพระกฤษณะลอยตัวขนาดใหญ่ อันเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับพระกฤษณะ ผู้เป็นใหญ่แห่งเมืองทวารวดีเป็นพิเศษนั่นเอง

 

ข้อความตอนนี้อาจจะดูขัดกับหลักฐานจากเอกสารจีนที่ฮาชิโนะนำเสนอ แต่ก็ต้องอย่าลืมด้วยว่า ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงการตีความของฮาชิโนะเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ฮาชิโนะได้เสนอว่า ในภายหลังศูนย์กลางของเมืองทวารวดีได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองละโว้ก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก

เพราะว่าได้มีการค้นพบจารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี ซึ่งกำหนดอายุจากรูปแบบตัวอักษรได้อยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1400-1500 มีข้อความกล่าวถึงการปรนนิบัติพัดวีเทวรูปที่มีชื่อเรียกในจารึกว่า “กัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทพ” แห่ง “เมืองละโว้” ในฐานะของ “พระเชษฐบิดร” คือ “ผีบรรพชน” ของเมือง โดยคำว่า “วาสุเทพ” นั้น เป็นชื่อบิดาของอวตารปางสำคัญของพระนารายณ์คือ “พระกฤษณะ” ผู้เป็นกษัตริย์ครองเมืองทวารวดี (หรือ ทวารกา) แต่หลายครั้งก็หมายถึงตัวพระกฤษณะเอง โดยมักปรากฏใช้เรียกควบคู่กันว่า “วสุเทวะกฤษณะ” อยู่บ่อยครั้ง

ดังนั้น ชื่อ “กัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทพ” แห่ง “เมืองละโว้” ในจารึกศาลเจ้าลพบุรีนี้ จึงมีความเกี่ยวข้องกับ “พระกฤษณะ” ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเมืองลพบุรีนั้น เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายวัฒนธรรม “ทวารวดี” คือเมืองของพระกฤษณะ

น่าเชื่อว่า “ทวารวดี” คือชื่อศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มสายราชวงศ์ที่เชื่อว่าตนเองสืบสายมาจากพระกฤษณะ ดังมีหลักฐานการนับคืออวตารของพระนารายณ์องค์นี้อย่างเข้มข้นเก่าแก่สุดในไทยอยู่ที่เมืองศรีเทพ ต่อมาสายราชวงศ์นี้คงจะถือครองเมืองละโว้ คือลพบุรีเป็นศูนย์กลางใหม่ ดังปรากฏการนับถือ “พระวาสุเทพ” ในฐานะพระเชษฐบิดร อยู่ในจารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี ในทำนองเดียวกับที่กรุงรัตนโกสินทร์ ถือว่าตนเองสืบทอดความเป็นอยุธยา ซึ่งก็คือเมืองของอีกหนึ่งอวตารสำคัญของพระนารายณ์คือ “พระราม” และเรียกกษัตริย์ผู้ครองเมืองว่า “รามาธิบดี” นั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ