ไอโฟนเอฟเฟ็กต์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ไอโฟนเอฟเฟ็กต์

 

ปรากฏการณ์ iPhone 15 ในกรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่วันมานี้ น่าสนใจไม่น้อย

ภาพและเรื่องราวผู้คนจำนวนมากเข้าคิวข้ามคืน เพื่อรอซื้อผลิตภัณฑ์อเมริกันใหม่อันน่าทึ่ง ให้ภาพซึ่งควรพินิจพิเคราะห์

มองอย่างกว้างๆ ตามแนวทางเคยว่ามา ว่าด้วยอิทธิพลสหรัฐอเมริกาต่อสังคมไทย มีมาอย่างต่อเนื่อง และคงมีอยู่อย่างมั่นคง เมื่อมองผ่านสินค้าและบริการแต่ละยุคสมัย เป็นความสัมพันธ์อันยาวนาน อย่างมีนัยยะสำคัญเริ่มต้นในยุคสงครามเวียดนาม หรือกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว (อ้างอิงแนวคิดจากเรื่อง “ธุรกิจอเมริกัน กับสังคมไทย อิทธิพลคงอยู่” มติชนสุดสัปดาห์ ธันวาคม 2559)

ยุคแรกๆ กระตุ้นระบบเศรษฐกิจไทยให้เข้ากับกระแสโลก ผลักดันเกษตรกรรมสู่วงจรใหม่ บุกเบิกอุตสาหกรรม สู่กระแสและวิถีชีวิตสมัยใหม่ ให้ส่วนหนึ่งเป็นฐานลูกค้าใหม่ Consumer product และ Fast foods

กรณีอ้างอิง มี Monsanto เคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ เปิดตัวในไทย (ปี 2511) ให้เกษตรกรรมแบบแผนดั้งเดิมพึ่งพิงโลกภายนอกมากขึ้น

ความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างซีพี กับ Arbor Acres (ปี 2513) เปิดระบบฟาร์มสมัยใหม่ (Contact farming) สร้างธุรกิจเพาะเลี้ยงไก่แบบทันสมัย เป็นก้าวแรกธุรกิจครบวงจร (Vertical integration)

อีกกรณีถือเป็นต้นแบบ Plantation ความร่วมมือระหว่างตระกูลล่ำซำ กับ Dole แห่งสหรัฐ ผู้ผลิตผลไม้กระป๋อง (ปี 2509)

ในช่วงสงครามเวียดนาม ผู้บริโภคไทยผูกพันกับสินค้าอเมริกันอันทันสมัยอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับครัวเรือน และวิถีชีวิตสมัยใหม่ด้วยสินค้าแบรนด์ต่างๆ กับใช้บริการเครือข่ายฟาสต์ฟู้ด ทยอยเปิดเครือข่ายกว้างขึ้นๆ

อีกระดับ สู่กลไกในองค์กรธุรกิจซึ่งมีอิทธิพลในสังคมไทย ว่าด้วยโนว์ฮาว ระบบ และมาตรฐาน ไม่ว่าบริการการเงินใหม่ๆ บริษัทที่ปรึกษาการบริหาร กฎหมาย บัญชี สื่อสารและโฆษณา จนถึงระบบเทคโนโลยี เพื่อตอบสนอง ให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางธุรกิจโลกตะวันตก จนถึงหลักสูตรการศึกษายอดนิยม -MBA

 

 

จนมาถึงอีกยุคสมัย การมาถึงสิ่งใหม่ อาจเรียกว่า แพลตฟอร์มผสมผสาน เมื่อสังคมไทยเข้าสู่โลกยุคใหม่ ภายใต้เครือข่ายอินเตอร์เน็ต และระบบสื่อสารเพื่อปัจเจก ครอบคลุมอย่างทั่วถึง ทั้งข้ามพรมแดนระบบเศรษฐกิจ จากเมืองสู่ชนบทอันห่างไกล ความเชื่อมโยงระหว่างแพลตฟอร์มอันผสมผสานอเมริกัน กับปัจเจกไทย เป็นไปอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เมื่อมองผ่านปรากฏการณ์เพียงช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ปี 2554 Google ยักษ์ใหญ่ผู้มีแพลตฟอร์มให้บริการหลากหลายในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

ตามมาไม่ไกลในปี 2558 Facebook เครือข่ายสื่อสังคม (social networking service) ซึ่งทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกมาถึง

ในปีเดียวกันนั้น Apple South Asia (Thailand) ดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังในเมืองไทย นับว่าใช้เวลานานพอสมควร หากนับเป็นความต่อเนื่องจาก Apple ยุคใหม่ ต่อจากมีการเปิดตัว iPhone ครั้งแรกในโลก (ปี 2550) โดย สตีฟ จอบส์

สังคมไทยในสายตา Apple มีความสำคัญขึ้นๆ จากนั้นไม่กี่ปี Apple Store แห่งแรกในประเทศไทย เปิดโฉมขึ้นที่ Icon Siam (ปลายปี 2561) ตามมาไม่นานนัก (กลางปี 2563) Apple Store อีกแห่งเปิดขึ้นที่ Central World

การเปิดตัว Apple Store ในต่างประเทศ ดูเป็นเรื่องสลักสำคัญ ทั่วโลกมีทั้งหมดกว่า 500 แห่ง จำนวนกว่าครึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ที่เหลือเครือข่ายที่มีมากที่สุดอยู่ในยุโรป

ในเอเชียมีที่ ญี่ปุ่น จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ส่วนอินเดียเพิ่งเปิดตามหลังไทย

ในภูมิภาคอาเซียน Apple Store ขณะนี้มีเพียง 2 ประเทศ และไทยถือเป็นประเทศอันดับที่สอง ต่อจากสิงคโปร์

“จากการสำรวจพื้นที่ Apple Store สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 21-22 กันยายน 2566 …พบว่า ช่วงค่ำของวันที่ 21 เริ่มมีผู้มาต่อคิวบริเวณหน้าร้าน แม้ว่าฝนจะตกหนัก แต่ก็มีคนมาทยอยต่อคิวเรื่อยๆ จนทำให้บริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยผู้คน…”

กับอีกที่ “รายงานสถานการณ์จาก Apple Store สาขาไอคอนสยามด้วยว่า มีผู้คนจำนวนมากที่มาต่อคิวที่สาขาตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 22 และผู้ที่ได้รับเครื่องเป็นรายแรก เป็นหญิงสาวชาวเวียดนาม…”

(อ้างจากข่าว “พลานุภาพ iPhone 15 เมื่อไทยเป็นประเทศ Tier-1“)

ภาพและเรื่องราวที่นำเสนอโดยสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์การวางจำหน่ายครั้งแรกของ iPhone 15 ข้างต้น จะตีความอย่างกว้างๆ อย่างที่ผ่านมา คงไม่ได้

ประเด็นที่สื่อนำเสนอ เน้นไปกรณีประเทศไทย อยู่ในลิสต์ประเทศในกลุ่มแรก (Tier 1) ซึ่งในคราวนี้มีราว 40 ประเทศทั่วโลก ที่มีการเปิด pre-order (15 กันยายน) และเริ่มวางจำหน่าย (22 กันยายน) พร้อมกัน โดยตั้งใจให้ภาพผู้มาเข้าคิวรอจำนวนมากนั้นส่วนไม่น้อยเป็นชาวต่างชาติ ตามมาด้วยบทสรุปที่พอรับฟังได้ว่า มีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยด้วย

ประเทศไทย กับ Apple อยู่ในลิสต์ Tier 1 มาตั้งแต่ปีที่แล้ว กับการเปิดตัว iPhone 14 กลายเป็นอีกฐานะหนึ่งยกระดับขึ้นโดยแบบแผนสินค้าอเมริกัน

มีอีกบางมุมที่น่าสนใจอยู่ด้วย เมื่อมองผ่านปรากฏการณ์เช่นว่านี้ในอีกที่ (อ้างจากข่าว “I queue, I buy, I sell : New iPhone 15 being resold online soon after official launch in S’pore” -https://www.straitstimes.com/SEP 22, 2023) เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ที่ที่เป็น Tier 1 และมี Apple Store เป็นที่แรกในภูมิภาคอาเซียน

สื่อกระแสหลักยักษ์ใหญ่สิงคโปร์รายงานไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน ให้ภาพการเข้าแถวยาวเหยียดที่หน้า Apple Store ทั้งสามแห่งในสิงคโปร์ บางคนมาเข้าคิวตั้งแต่เมื่อวาน บางคนเตรียมน้ำและอาหารมาพร้อม และอีกบางคนเตรียมกระเป๋าใบใหญ่มาด้วย

ขณะที่ผู้แทนจำหน่ายรายใหญ่ มีรายงานว่าต้องเพิ่มพนักงานอีก 25 คน ใน Singtel Flagship Store เพื่อรองรับกับการเปิดจำหน่ายวันแรกของ iPhone 15

สื่อสิงคโปร์ตั้งใจรายงานถึงพฤติกรรมชาวต่างชาติ ผู้มุ่งมั่นมาซื้อ iPhone 15 โดยพาดพิงถึงเหตุการณ์ในเมืองไทยด้วย กลุ่มแรก เป็น Tech reviewer ชาวบังกลาเทศ 2 คน กับแผนการลงแรงเข้าคิวซื้อทั้งในไทยและสิงคโปร์

อีกคนเป็นชาวเวียดนามซึ่งบอกว่า iPhone 15 รุ่นราคาแพงที่สุด มีโอกาสขายได้ดีในประเทศเวียดนาม เขาเองบินมาจากเวียดนามก่อนหนึ่งวันเพื่อเข้าคิวซื้อที่สิงคโปร์

ขณะทีมงานอีกกลุ่มหนึ่งของเขามาที่ไทย เพื่อให้ได้ iPhone 15 กลับไป 20 เครื่อง

 

เรื่องราวผลิตภัณฑ์ยอดนิยมในโลก มีฐานลูกค้าจำนวนมาก ไม่เพียงมีห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพของตนเอง หากมีพลังให้สิ่งอยู่รอบๆ เกิดขึ้นและหมุนตาม เป็นทั้งกลไกเกิดขึ้นเอง และเป็นโอกาสทางธุรกิจ จากรายใหญ่ รายกลางสู่รายเล็ก

กรณีผลิตภัณฑ์ Apple จะปรากฏสินค้าข้างเคียงเกิดขึ้น ทั้งเป็นทางการและไม่ทางการมากมาย กรณี iPhone มีตั้งแต่ผู้ค้นคิด application และสินค้าย่อยๆ เช่น ฟิล์มกันรอย เคส และอุปกรณ์ต่อพวง จนมาถึงพวกค้าขายเฉพาะกิจ อาศัยโอกาสจากช่องว่างระหว่างประเทศ สถานที่ เวลา และอัตราแลกเปลี่ยน

อีกปรากฏการณ์หนึ่ง มีบรรดาผู้ติดตามที่มีตัวตนจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดา Youtuber ผู้ทรงอิทธิพล ผู้หาเงินจากยอดวิว และรับจ้างโฆษณาสินค้า เป็นทั้งผู้รีวิว รายงานความเคลื่อนไหว และคาดเดาต่างๆ นานา

อีกด้านหนึ่งเป็นการโหมกระแสให้สินค้าอยู่ในความสนใจมากขึ้น

กรณี Apple การเปิดผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง iPhone 15 จึงเป็น event ระดับโลก ทั้งถ่ายทอดสด และมีสื่อหลากหลายจากทั่วโลกเข้าร่วมรายงาน

เฉพาะในเมืองไทย ผู้ติดตาม Apple อย่างที่ว่าไว้ มีมากมายทีเดียว •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com