จับตา ‘ภาษีที่ดิน 2567’ เผือกร้อนในมือ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ วัดใจลดแหลกหรือเขย่าขึ้นยกแผง

จากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สู่บทบาทใหม่ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย จึงทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตซีอีโอบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ยักษ์อสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของประเทศ

จึงเป็นที่คาดหวังของภาคธุรกิจจะมีนโยบายเด็ดพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจไทยที่ตกอยู่โหมดซึมเศร้าในทุกหย่อมหญ้าให้สามารถไปต่อท่ามกลางสารพัดปัจจัยที่รุมเร้า

ไม่ใช่แค่นโยบายแก้ปัญหา “เศรษฐกิจปากท้อง” ที่ภาคธุรกิจอยากเห็นการสปีดแบบด่วนจี๋ อีกนโยบายที่คนรอลุ้นจาก “นายกฯ เศรษฐา” ที่นั่งควบเก้าอี้ขุนคลังอีกตำแหน่ง นั่นคือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2567 จะไปต่อในทิศทางไหน

หลังอัตราที่ใช้จัดเก็บในปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 2566 สำหรับที่ดิน 4 ประเภท ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บ 0.01-0.1% ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจัดเก็บ 0.02-0.1% ที่ดินอื่นๆ เช่น การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมจัดเก็บ 0.3-0.7% และที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บ 0.3-0.7%

ขณะที่รัฐบาลเอง มีความจำเป็นต้องหารายได้เพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ในการบูสต์เศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม

ดังนั้น จึงยังเดาใจ “นายกฯ เศรษฐา” ไม่ออกจะฟันธงแนวทางไหน

 

1.คงอัตราเดิมแต่เก็บเต็ม 100% จะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ประชาชนผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องเจอ ภาษีแพงขึ้น 2 เด้งจากราคาประเมินที่ดินรอบล่าสุด 2566-2569 ที่ขยับขึ้น 8.93% และต้องควักจ่ายภาษีเต็มอัตรา

2. ลดหย่อนอัตราจัดเก็บภาษีเหมือนปีแรกลดให้ 90% หรือ 15% เหมือนปี 2566 ซึ่งแนวทางนี้ได้ใจประชาชนเพราะลดภาระค่าใช้จ่าย แต่จะเพิ่มภาระงบประมาณที่รัฐบาลกลางต้องจ่ายชดเชยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา

3. เขย่าอัตราใหม่ให้ชนเพดานที่กฎหมายกำหนด โดยที่ดินเกษตรกรรมไม่เกิน 0.15% บ้านพักอาศัยไม่เกิน 0.3% ,ที่ดินอื่นๆ และรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 1.2%

หากเคาะแนวทางนี้ ภาครัฐเก็บรายได้เป็นกอบเป็นกำแน่นอน แต่จะลดทอนความสามารถเงินในกระเป๋าของผู้เสียภาษี โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ไม่มาก รวมถึงภาคธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีจากพิษโควิด

 

เมื่อสัญญาณยังไม่ชัด “ผู้บริหารท้องถิ่น” ต่างก็เงี่ยหูฟังรอนโยบาย “นายกฯ เศรษฐา” เพราะถ้าถามใจคนที่เก็บภาษี ไม่ว่า กทม.หรือ อปท.ต่างๆ ย่อมต้องการมีรายได้จากภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาก่อนจะเริ่มต้นตามขั้นตอนของการเก็บภาษีที่ดินรอบปี 2567 ต้องแจ้งอัตราภาษีในผู้เสียภาษีรับทราบในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่า การที่ท้องถิ่นเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายมีการลดหย่อน แถมเปิดช่องให้ผู้ถือครองที่ดินปลูกพืชได้ 51 ชนิดได้ เช่น มะม่วง มะนาว กล้วย ทำให้มีการนำที่ดินกลางเมืองราคาแพงแปลงสภาพเป็นเกษตรกรรมจำแลงกันมาก เพื่อให้เข้าเกณฑ์ “ที่ดินเกษตรกรรม” หวังลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม 10 เท่า จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าเสียล้านละ 3,000 บาท เหลือล้านละ 100 บาทเท่านั้น

โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินกว่า 50% และย้ายที่อยู่อาศัยกันคึกคัก เพื่อเลี่ยงจ่ายภาษีแพง

 

ด้านความเคลื่อนไหวฝั่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง 3 สมาคม ไม่ว่าสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทยและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ต่างพร้อมใจลีสต์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ขอให้ “รัฐบาลเศรษฐา” พิจารณาใหม่ในหลายออปชั่น

ไม่ว่าลดอัตราการจัดเก็บหรือเก็บเป็นแบบขั้นบันได โดยปี 2567 เก็บ 25% ปี 2568 เก็บ 50% หรือเก็บอัตราเดียวกันทุกประเภท เพราะที่ดินแต่ละประเภทถูกกำหนดโดยราคาประเมินอยู่แล้ว

เสียงสะท้อนจาก “อิสระ บุญยัง” ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนจากรัฐบาลและไม่เห็นด้วยที่มีแนวคิดจะย้อนกลับไปใช้ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

อย่างไรก็ดี จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังไม่จบ ยังไม่แข็งแรง จึงยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมจะเก็บภาษีเต็มเพดานหรือเก็บอัตราเดิมเต็ม 100% ควรจะลดหย่อนให้ 90% หรือลดให้บางธุรกิจที่ยังฟื้นไม่เต็มที่ เช่น โรงแรมขนาดเล็ก

ขณะเดียวกันขอให้รัฐบาลทบทวนใน 4 เรื่อง คือ

1. อัตราสูงสุดของภาษีที่ดินเกษตรกรรม ต้องจัดเก็บในอัตราเท่าไหร่ เพราะบางส่วนทำเกษตรกรรมมาตั้งแต่แรกและเป็นที่ดินมรดก ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตเมือง แต่เพราะถูกการพัฒนาเมืองไล่ล่า ทำให้ต้องเสียภาษีแพงขึ้น

2. อัตราภาษีบริการสาธารณะในโครงการจัดสรร เช่น ถนน ซุ้มโครงการ สโมสร จากเดิมจ่ายอัตราเดียวกับที่ดินประเภทอื่นๆ ในอัตราล้านละ 3,000 บาท ขอเป็นล้านละ 200 บาทเท่ากับที่อยู่อาศัย

3. บ้านและคอนโดมิเนียมที่ยังขายไม่ได้ ที่เก็บในอัตราประเภทอื่นๆ ขอเป็นอัตราเดียวกับที่อยู่อาศัย เพราะเป็นสินค้าคงค้าง ไม่ได้มีไว้เพื่อประกอบกิจการเหมือนสำนักงาน โรงงาน

4. ที่ดินแปลงเล็กที่ประชาชนซื้อในโครงการจัดสรรหรือเป็นที่ดินรับมรดก ไม่ได้ปล่อยทิ้งร้างหรือทำเกษตรกรรม ควรจะเก็บในอัตราที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ที่ดินประเภทอื่นๆ ที่จ่ายแพงกว่า

อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง คนนี้ยังมองว่า ทางผู้ประกอบการอสังหาฯ เองก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน เพื่อเป็นการลดภาระ

โดยยกตัวอย่างที่ดินที่ถือเป็นแลนด์แบงก์ในระยะยาว หากไม่ต้องการเสียภาษีแพงให้เกษตรกรเช่าระยะยาว เพื่อเสียภาษีอัตราเกษตรล้านละ 100 บาทหรือลดขนาดโครงการ และกำหนดเวลาการพัฒนาให้สอดรับกับการลดหย่อนภาษี เช่น คอนโดมิเนียมจะได้ลดหย่อน 3 ปี นับจากได้ใบอนุญาตก่อสร้าง

แต่หากปล่อยร้าง ในทุก 3 ปี จะถูกชาร์จเพิ่ม 0.3% ไปเรื่อยๆ จากล้านละ 3,000 บาท จนถึงล้านละ 30,000 บาท

 

อีกเสียงสะท้อนที่น่าสนใจไม่แพ้กันจาก “เกวลิน ไกรเลิศโสภณ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟรี่แลนด์สรรพสินค้า จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์ จ.นครสวรรค์ ระบุว่า ขอให้รัฐลดหย่อนอัตราภาษีที่ดินในบางธุรกิจไม่ต้องจ่ายเต็ม 100% จ่ายตามที่ใช้พื้นที่จริง

โดยยกตัวอย่างห้างแฟรี่แลนด์มีใช้พื้นที่ไม่ถึง 50% แต่กลับต้องจ่ายภาษี 100%

เมื่อภาคธุรกิจส่งสัญญาณสะกิดแรงเบอร์นี้

คงต้องลุ้น “นายกฯ เศรษฐา” จะทุบโต๊ะลดให้หรือเก็บเต็มเพดาน