ไหว้ครูแสนดี ติมอร์-เลสเต (6) พลิกฟื้นการศึกษา-กับดักรายจ่าย

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ไหว้ครูแสนดี ติมอร์-เลสเต (6)

พลิกฟื้นการศึกษา-กับดักรายจ่าย

 

บทสนทนาระหว่างกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการติมอร์-เลสเต และคณะ ช่วงมื้อเย็นหลังเดินทางกลับจากเยี่ยมโรงเรียนครูฟิโลมิน่า ดำเนินต่อไปด้วยความคึกคัก

“สภาวะค่าครองชีพในติมอร์ เป็นอย่างไรบ้างครับ”

ผมตั้งประเด็นถาม Mr. Antoninho Pires ผอ.ฝ่ายบริหารและการเงินกระทรวงศึกษาธิการ ต่อ

“รายจ่ายต่อคนต่อวันในเมืองหลวงดิลีอย่างต่ำ 10 เหรียญสหรัฐ ถ้าเป็นพื้นที่ห่างไกลก็ 5 เหรียญสหรัฐ แต่รายได้ยังต่ำ ค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 200 เหรียญ เท่ากับวันละ 7 เหรียญ ราว 245 บาท รับน้อยกว่าจ่าย คนรายได้น้อยบางคนบางวันหาได้แค่ 1-2 เหรียญ ส่วนข้าราชการเงินเดือน 400-600 เหรียญ คนสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือเดือนละ 30 ดอลลาร์ ยกเว้นผู้ที่ยังทำงานประจำอยู่ อย่างผมนี่ ยังไม่ได้ จนกว่าจะหยุดทำงาน” เขาเล่า สายตาเศร้าสะท้อนความเห็นใจเพื่อนร่วมชาติ

“งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ แต่ละปีเท่าไหร่ครับ” ผมชวนคุยเรื่องการศึกษาด้วยคำถามใหม่

“122 ล้านเหรียญสหรัฐครับ”

“งบประมาณจำนวนนี้ครอบคลุมเฉพาะระดับการศึกษาพื้นฐาน สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนประถมศึกษา 350 โรง มัธยมศึกษา 220 โรง

ส่วนระดับเตรียมอุดมขึ้นกับกระทรวงการอุดมศึกษา Ministry for higher Education สังกัดมหาวิทยาลัย 20 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 18 แห่ง”

“สัดส่วนระหว่างงบฯ บริหาร เงินเดือนครู กับงบฯ พัฒนาโรงเรียน จัดการเรียนการสอนเป็นเท่าไหร่ครับ” ผมคุยต่อ

“เราไม่ได้แยกชัดเจนครับ รวมอยู่ในก้อนเดียวกัน”

“แล้วจำนวนครูทั้งประเทศล่ะครับ มีเท่าไหร่”

“ครูประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ประจำการ 9,842 คน กับที่ไม่ประจำแต่เป็นสัญญา 4,922 คน รวม 14,764 คน ครับ”

ผมฟังคำตอบแล้ว คิดย้อนไปถึงปี พ.ศ.2557 ติมอร์มีครู 12,000 คน วันนี้ครูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึง 2,764 คน ขณะที่จำนวนข้าราชการทั่วประเทศมี 35,000 คน แสดงว่าเป็นครูเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียว

นิตยสาร Guide Post ตีพิมพ์ภาพหน้า 1 นายชานานา กุสเมา นายกรัฐมนตรีติมอร์-เลสเต ร่วมกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (2023-2028) สาบานตนที่ทำเนียบประธานาธิบดี หลังจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จภายหลังเลือกตั้งพฤษภาคม 2566

Mr. Antoninho เล่าต่อ “การศึกษาของติมอร์ เป็นระบบ 6 3 3 ประถมศึกษา ระดับ 1 4 ปี ระดับ 2 2 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี มัธยมปลาย สายสามัญ 3 ปี ประมาณ 70% สายเทคนิควิชาชีพ 3 ปี ราว 30% สายสามัญมากกว่าสายอาชีพ นักเรียนอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยมากกว่า”

“การศึกษามีอะไรหนักใจบ้างไหมครับ” คำถามใหม่ไม่จบ

“ปัญหาคุณภาพครับ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ เพราะพูดและใช้ภาษาเตตุมเป็นส่วนใหญ่ อังกฤษไม่ใช่ภาษาหลักในการเรียน เป็นแค่วิชาหนึ่งเท่านั้น”

ได้คำตอบแล้ว ผมตั้งใจจะถามต่อ ครูมีปัญหาหนี้สินบ้างไหม แต่เกรงใจคู่สนทนา เลยอ้อมแอ้มว่า “ครูมีปัญหาชีวิตอะไรบ้างไหมครับ”

“มีเรื่องคุณภาพการทำงานและภาษาอังกฤษมากกว่า เด็กเรียนจบไม่มีงานทำมากพอ หลักสูตรไม่ได้เตรียมรับศตวรรษที่ 21 เท่าที่ควร ครูต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง”

เขาเล่าปิดท้าย เรื่องการเรียนต่อต่างประเทศของนักเรียนติมอร์ ส่วนมากนิยมไปอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และโปรตุเกสที่มีทุนการศึกษาให้

 

ฟังเรื่องราวความเป็นไปทางการศึกษาโดยเฉพาะประเด็นเรื่องครู ติมอร์มีสถาบันฝึกอบรมครู National Institute for Training of Teachers and Education Professionals (INFORDEPE) ภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งต้นปี 2554

ดำเนินกิจกรรมเน้นฝึกอบรมทางวิชาการเพื่อพัฒนาครูต้นแบบมืออาชีพ เรื่องการสอนภาษา จริยธรรม ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และการเรียนการสอน พัฒนาการวิจัยและติดตามประเมินผล ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ซีมีโอ ยูนิเซฟ ยูเนสโก

ด้วยความเชื่อและความหวังว่า หากครูได้รับการพัฒนาจะทำให้การศึกษามีคุณภาพ ส่งผลถึงความเจริญเติบโตของประเทศในทุกๆ ด้าน

หลังการเลือกตั้งปลายเดือนพฤษภาคม 2566 รัฐบาลชุดใหม่นำโดยนายซานานา กุสเมา เป็นนายกรัฐมนตรี และ Dulce de Jesus Soares เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับหน้าที่

วันที่ 5 กันยายน 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามสัญญากู้เงินจากธนาคารโลก 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ราว 700 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการสร้างโรงเรียน ฝึกอบรมพัฒนาครู จัดหาหนังสือ และโครงการพัฒนาอื่นๆ ภายในระยะเวลา 5 ปี

“พวกเราต้องทำงานหนักและประทับใจธนาคารโลกที่ให้โอกาสการพัฒนาการศึกษาของนักเรียน ต่อเนื่องมาจากที่เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023” รัฐมนตรีหญิงแกร่ง ย้ำหนักแน่นในวันแถลงถึงข้อตกลง

รัฐบาลใหม่เข้าประจำการไม่นาน ตัดสินใจกู้เงิน 20 ล้านเหรียญ ประมาณ 18% ของงบประมาณการศึกษาพื้นฐานทั้งปี 122 ล้านเหรียญ มาใช้เพื่อพลิกฟื้นและพัฒนาการศึกษาของชาติครั้งใหญ่

เพราะเห็นว่าการพัฒนาการศึกษาเป็นความจำเป็นเร่งด่วน รอไม่ได้จึงตัดสินใจกู้เงินมาใช้ แม้ว่าประเทศกำลังติดกับดักรายจ่ายจากโครงการคุ้มครองทางสังคม (Social protection) สูงถึง 13% ของงบประมาณประจำปีก็ตาม

 

จากรายจ่ายทั้งหมดของประเทศ แบ่งเป็นบริการสาธารณะ 41% เศรษฐกิจ 22% โครงการคุ้มครองทางสังคม 13% การศึกษา 7% กิจการตำรวจและความยุติธรรม 6.7% สาธารณสุข 4.8% ความมั่นคงการทหาร 3.3% ที่พักอาศัย 1.3%

ประชากรทั้งประเทศ 1.3 ล้านคน ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการคุ้มครองทางสังคมราว 40,000 คน กว่าสิบปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นภาระที่รัฐบาลแบกรับมาตลอด

เหตุจากอดีต ต้องการตอบแทนผู้เสียสละต่อสู้กอบกู้เอกราชให้มีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและมั่นคง จึงให้บำเหน็จบำนาญเลี้ยงชีพและครอบครัวทหารผ่านศึก หลังประกาศอิสรภาพ พ.ศ.2545

ก่อนหน้านี้ธนาคารโลกเสนอให้ทบทวนโครงการโดยปฏิรูปเงินบำนาญและกองทุนทหารผ่านศึก ให้เน้นไปที่กลุ่มผู้รับผลประโยชน์ที่ยากจนจริงๆ เปลี่ยนรูปแบบจากเงินงวดเป็นเงินก้อนรวมถึงกำหนดการชำระเงินตามอายุ

ทหารผ่านศึกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ 1.Veterans กลุ่มคนที่ยังมีชีวิตอยู่ และ 2.กลุ่ม Martires คนที่เสียชีวิตไปแล้วแต่ทายาทจะได้รับบำนาญแทน และบุตรของทั้งสองกลุ่มจะได้รับทุนการศึกษาด้วย

ค.ศ.2014 จำนวน Veterans มี 37,000 คน ยังมีการพิจารณาคำร้องขอเข้าเป็นกลุ่ม Veteran จำนวนมาก การพิจารณาไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่ายๆ

โดยแบ่งเงินบำนาญเป็น 3 กลุ่มย่อยตามจำนวนปีที่ต่อสู้และตามระดับบัญชาการ/สั่งการ ปฏิบัติการ และตามสภาพร่างกาย จิตใจ เช่น พิการ หรือวิกลจริต ได้แก่

1.ผู้ที่ช่วยต่อต้านข้าศึก 15-24 ปี ได้ 750 เหรียญสหรัฐต่อเดือน 2.ผู้ที่ช่วยต่อต้านข้าศึก 8-14 ปี ได้ 276-575 เหรียญสหรัฐต่อเดือน 3.ผู้ที่ช่วยต่อต้านข้าศึก 5-7 ปี ได้ 230-287.50 เหรียญสหรัฐต่อเดือน

ระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่ผ่านมามีพรรคการเมืองนำกรณีทหารผ่านศึกไปหาเสียงว่าจะเพิ่มกลุ่มผู้ช่วยต่อต้านข้าศึก 0-4 ปี ให้ได้รับเงินช่วยเหลือด้วย อยู่ระหว่างการหารือในรัฐบาลยังไม่มีความคืบหน้า

 

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายว่าด้วย Lifetime Monthly Pension กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ ประธานาธิบดี ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลสูงสุด ได้รับเงินบำนาญ 100% ของเงินเดือนทันทีที่สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง (ไม่ใช่หลังเกษียณอายุ) ส่วนตำแหน่งอื่นจะไม่ได้รับเงินบำนาญเทียบเท่า 100% ของเงินเดือน

หลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ได้มีการปรับลดอัตราเงินบำนาญรายเดือนเท่ากับ 60% ของเงินกรณีปฏิบัติหน้าที่ครบ 5 ปี 75% กรณีปฏิบัติหน้าที่ 10 ปี 90% กรณีปฏิบัติหน้าที่ 15 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิพิเศษ ที่พักอาศัยฟรี รถยนต์พร้อมพนักงานขับรถและน้ำมันฟรี เดินทางไปต่างประเทศฟรี สิทธิที่จะมีสำนักงานพร้อมโทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต เลขานุการส่วนตัวและที่ปรึกษาได้เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัสดุเพื่อสร้างบ้านพัก ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ส่วนบุคคล สิทธิในการได้รับการคุ้มครองส่วนบุคคลและที่อยู่อาศัย รักษาพยาบาลฟรีทั้งในและต่างประเทศ

ปรากฏว่า สังคมเรียกร้องให้ปรับลดลงเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณของประเทศ แต่ทำได้ยากเพราะผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ได้รับการเชิดชูจากรัฐธรรมนูญ และเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองที่มีบทบาทในการต่อสู้กู้เอกราชมาตั้งแต่ต้น

รัฐบาลปัจจุบันจึงมีแนวคิดนำบำนาญตลอดชีพไปรวมกับโครงการประกันสังคม กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนทหารผ่านศึกและจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ด้วยเงินทุนจากกองทุนทหารผ่านศึก

ระหว่างความต้องการรายรับเพื่อพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจและสังคม แต่ยังมีภาระรายจ่ายก้อนใหญ่ต้องแบกต่อไป ทางการและพี่น้องติมอร์-เลสเต จะจัดการกับกับดักรายจ่ายนี้อย่างไร เป็นเรื่องท้าทายที่น่าติดตาม