‘รอ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ควายป่าและกวาง - อันตรายของสัตว์ป่านั้น มักมาจากตอนที่กำลังกิน ออกมาที่แหล่งอาหารร่วมกันของกวางและควายป่า เป็นการช่วยระวังภัยได้เป็นอย่างดี

หลังจากทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง ผมก็เริ่มรู้ว่า บางทีการรีบเร่งเดินทางไปป่าโน้น ป่านี้ ทันทีที่ได้ยินข่าวว่า ที่ป่านั้นๆ มีคนพบเจอร่องรอยของสัตว์ป่า ซึ่งอยากพบ เดินทางไปทั่ว ช่วยให้ได้ประสบการณ์หลายอย่าง ได้พบกับมิตรภาพ รวมทั้งบทเรียนต่างๆ มากมาย แต่ไม่ใช่สิ่งที่ตามหา

ผมหยุดอยู่กับที่ ใช้เวลาในป่าแห่งหนึ่ง ๆ นานกว่า 4 ปี ป่าบางแห่ง เรียกได้ว่า ผมใช้เวลารวมๆ กันกว่า 20 ปี แม้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว จากช่วงเวลาที่ผมเริ่มต้น แต่ผมก็ยังคงแวะเวียนกลับไปเสมอๆ

ผมไม่เดินทางไปทั่ว มีสัตว์อยู่สองชนิดที่ผมเฝ้าติดตามในแหล่งอาศัยของพวกมันอย่างจริงจัง ตัวหนึ่งคือ กวางผา ซึ่งมีแหล่งอาศัยอยู่แถวดอยม่อนจอง

อีกตัวหนึ่งคือ ควายป่า ซึ่งมีประชากรฝูงสุดท้ายอยู่ในป่าด้านตะวันตก

 

ข้อจำกัดของการตามหาสัตว์ป่าที่มีประชากรเหลือน้อย มีถิ่นอาศัยเฉพาะ มีมาก

บนดอยม่อนจองนั้น ช่วงเวลาที่ท้องฟ้าจะเปิดสภาพอากาศดีพอ มีไม่มากนักในรอบปี

สำหรับควายป่าเช่นกัน ในระยะแรก ไม่มีข้อมูลพวกมันสักเท่าใด

เราพบเจอรอยตีน รวมทั้งร่องรอยกัดกินหญ้าของพวกมันบ้าง ในช่วงแล้งๆ ระดับน้ำในลำห้วยลดต่ำ หาดทรายขยายกว้าง

เพื่อนร่วมงานวัยอาวุโสที่คุ้นเคยกับป่า หลายคนเปลี่ยนวิถีจากล่าสัตว์มาเป็นถือปืนเพื่อปกป้องพวกมัน แม้จะเชี่ยวชาญในการติดตามรอยสัตว์ป่า พาผมเข้าใกล้ควายป่าบ้าง แต่ก็ได้เห็นเพียงบั้นท้ายไหวๆ

พวกมันเหลือประชากรไม่มาก ชีวิตมีความพิเศษ ประสาทสัมผัสกลิ่นอายอันตราย ย่อมดีเลิศ

 

ช่วงเวลาที่จะติดตามก็สำคัญ ในฤดูฝน อาหารหรือปลักโคลนที่ควายป่ามักใช้เวลานอนคลุกมีกระจายไปทั่ว ช่วงฤดูแล้ง โอกาสคล้ายจะมีมากกว่า ทำงานง่ายขึ้น เพราะแหล่งน้ำเหลือเฉพาะในลำห้วยสายใหญ่เท่านั้น

อีกนั่นแหละ ในช่วงแล้ง ผมก็พบแค่รอยตีนกว้าง ยุบเป็นหลุมบนผืนทราย แสดงให้เห็นถึงน้ำหนักตัวร่วมตัน

ตามรอยไม่ได้ผล ผมจึงใช้วิธีอันคาดว่าจะได้ผลกว่า คือ ทำซุ้มเฝ้ารอตามโค้งหาดลำห้วย

เฝ้ารอโดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้พบ

 

ฤดูแล้งหนึ่ง ผมปักหลักอยู่ริมลำห้วยร่วมหนึ่งเดือน ประสบการณ์ทำให้รู้ว่า ช่วงเวลาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายนนั้น เป็นเวลาที่แล้งและร้อนที่สุดของป่าบริเวณนั้น ก่อนที่ฝนแรกในเดือนเมษายนจะเริ่มโปรย

เกือบตลอดลำห้วยมีเพียงน้ำไหลรินๆ

ซุ้มบังไพรอยู่บนตลิ่งสูง เป็นตำแหน่งที่ผมคาดหวังว่าน่าจะเหมาะสมกับควายป่า เพราะริมห้วยยังพอมีหญ้าเขียว บางช่วงเป็นแอ่งน้ำค่อนข้างลึก

มีรอยตีนเก่าๆ แม้จะยังไม่รู้จัก แต่ผมก็เชื่อว่า พวกมันคงเป็นสัตว์ฝูงที่ไม่ต่างจากสัตว์ฝูงตัวอื่นๆ เดินทางหากินเป็นวงรอบ เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ และวนกลับมาที่เดิมเมื่อหญ้าเริ่มโตอีกครั้ง

ผมหวังว่า เราจะพบกันในเวลาไม่เกินสองสัปดาห์

 

ตําแหน่งซุ้มบังไพรนับเป็นชัยภูมิเหมาะสม อยู่บนตลิ่งสูง ช่วยเรื่องกลิ่นบ้าง

แต่เป็นชัยภูมิอันค่อนข้างโล่ง ไร้ร่มเงาต้นไม้ ดังนั้น ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า พอดวงอาทิตย์พ้นสันเขาด้านทิศตะวันออก ซุ้มบังไพรดูเหมือนจะเปลี่ยนสภาพเป็นเตาอบดีๆ นี่เอง

ผมเปิดช่องซุ้มเฉพาะหน้าเลนส์ ปิดช่องอื่นๆ จึงเป็นคล้ายนั่งอยู่ในตู้อบเซาน่า ขาตั้งกล้องร้อนจนแทบแตะไม่ได้

น้ำในกระบอกก็ร้อน กระทั่งเอามาชงกาแฟได้

ควายป่าและกวาง – อันตรายของสัตว์ป่านั้น มักมาจากตอนที่กำลังกิน ออกมาที่แหล่งอาหารร่วมกันของกวางและควายป่า เป็นการช่วยระวังภัยได้เป็นอย่างดี

10 วันแรก ผมได้รูปกวางและเก้งลงมากินน้ำ กวางนอนแช่ปลักริมห้วยกลิ้งไป-มา นกยูงตัวผู้ซึ่งสลัดหางยาวสลวยทิ้งแล้ว มีนกจาบคาหัวสีส้มเลี้ยงลูกในรูฝั่งตรงข้าม

ทุกชีวิตดำเนินไปตามปกติ อันจะเป็นสิ่งที่ควายป่าจะไม่ระแวงเมื่อพวกมันกลับมา

เช้ามืด ผมเดินจากแคมป์ เฝ้ารอจนฟ้ามืด

บ่ายๆ ของปลายสัปดาห์ที่สอง ควายป่าฝูงหนึ่งก็โผล่มาในโค้งลำห้วย

 

พวกมันมีสมาชิกในฝูง 18 ตัว มีลูกเล็กที่สียังขาวขุ่นสองตัว

วันแรก พวกมันโผล่มาเกือบบ่ายสี่โมง วันที่สอง มาตอนเที่ยงกว่า วันที่สาม มาอยู่ในแอ่งหน้าซุ้มบังไพร ตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงหนึ่งทุ่ม

พวกมันนอนแช่น้ำ บางตัวโผล่ขึ้นมาแค่ปลายจมูก บางตัวนอนเคี้ยวเอื้องทั้งวัน

 

เป็นการทำงานที่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจ แต่ไม่ได้ทำให้ผมรู้จักควายป่ามากขึ้นสักเท่าใด

ในวันเวลาที่ “รอ” อยู่กับความร้อนอบอ้าว และไม่รู้ว่าการรอจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ผมพบว่า เป็นการทำงานซึ่งต้องใช้พลังใจมากไม่น้อย

และดูเหมือนจะรู้จักอย่างอื่นมากขึ้น

 

เวลาผ่านมานาน บ่ายวันหนึ่ง ในฤดูฝนขณะเฝ้ารอ สมเสร็จอยู่ริมโป่ง ซึ่งห่างไกลจากพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของควายป่า ไกลจากลำห้วย

ควายป่าตัวผู้ตัวหนึ่งเดินออกมาจากชายป่า เข้ามาก้มกินหญ้าอยู่ใกล้ๆ กวาง และห่างจากซุ้มบังไพรที่ผมอยู่ข้างใน มันอยู่ใกล้แบบที่เรียกได้ว่า เอื้อมมือถึง

ควายป่าตัวนี้ตอกย้ำความเชื่อผมอย่างหนึ่ง

บางสิ่งบางอย่างก็ไม่อยู่ในที่ที่เราไปตามหา บางสิ่งก็พบเจอในตอนที่ไม่ได้เฝ้ารอ

อีกทั้งบทเรียนที่ได้ในขณะตามหา ในเวลาที่ “รอ”

คล้ายเป็นเวลาที่ดีในการทำความรู้จักกับตัวเอง

และนี่อาจเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องทำก่อนจะทำความรู้จักกับสิ่งใดๆ •

 

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ