ตะวัน วัตุยา : ศิลปะ ภาพยนตร์ และการเมืองในงานหนังสือ

หากให้เอ่ยชื่อของศิลปินไทยร่วมสมัยสักคนหนึ่ง

ตะวัน วัตุยา คงเป็นชื่อแรกๆ ที่ใครหลายคนจะนึกถึง

ด้วยสไตล์การวาดภาพอันเป็นเอกลักษณ์และการยืนระยะมาอย่างยาวนาน จนใครๆ ต่างให้การยอมรับถึงความจัดจ้านในผลงาน และความแหลมคมของการสื่อสารที่ศิลปินอย่างเขาเลือกบอกเล่า

ตะวันจัดแสดงนิทรรศการเด่นๆ เช่น Siamese Freaks ปี 2550, Uniform/Uniformity ปี 2553, ตีท้ายครัว ปี 2556, เด็กเอ๋ยเด็กดี ปี 2557, หนีเสือปะจระเข้ ปี 2561 เป็นต้น

นอกจากนี้ เขายังมีผลงานวาดภาพปกหนังสือหลายเล่มให้กับทางสำนักพิมพ์มติชน เช่น ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ, ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โรคใหม่, ข้างขึ้น/ข้างแรม, อยากลืมกลับจำ, คราส และไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

และบทบาทล่าสุดของตะวัน วัตุยา คือการเป็นศิลปินผู้ออกแบบคีย์วิชวล บูธ J47 สำนักพิมพ์มติชน ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 วันที่ 12-23 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7

คีย์วิชวล ผลงานการออกแบบของตะวัน วัตุยา

การร่วมงานกับมติชน

ตะวันเริ่มต้นทำงานกับทางมติชนด้วยการรู้จักกับสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรมในเครือมติชน ตอนนั้นเขาเพิ่งเริ่มต้นวาดรูป และมีโชว์เดี่ยวครั้งแรกในชีวิต สุจิตต์ช่วยจัดพิมพ์แคตาล็อกให้

และนั่นเป็นจุดเริ่มที่เขารู้สึกว่าตนเองเกี่ยวพันกับทางมติชน

หลังจากจบโชว์ครั้งนั้น ตะวันจะมีงานโชว์อีกครั้ง เขาจึงไปหาสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งสุจิตต์ได้ส่งต่อเรื่องมาให้สุลักษณ์ บุนปาน บรรณาธิการบริหารนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ช่วยดูแลและจัดพิมพ์แคตาล็อกให้ จนตะวันผูกพันกับทางมติชนเรื่อยมา

กระทั่ง ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งชื่นชอบผลงาน จึงชวนให้ตะวันมาทำปกหนังสือต่างๆ เรื่อยมา

จนถึงการมาเป็นศิลปินคีย์วิชวลในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28

ความแตกต่างในการทำงาน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตะวันเป็นศิลปินออกแบบคีย์วิชวลให้กับทางสำนักพิมพ์มติชน เพราะเขาเคยจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นศิลปินผู้ออกแบบคีย์วิชวลให้กับบูธสำนักพิมพ์มติชนมาแล้วครั้งหนึ่ง จากการที่เขาเคยออกแบบปกหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือไฮไลต์ประจำงานสัปดาห์หนังสือประจำปี 2557 และทางสำนักพิมพ์มติชนเลือกที่จะใช้ภาพของเขาเป็นคีย์วิชวลสำคัญของบูธในครั้งนั้น

มาในคราวนี้ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ตะวันบอกว่า เมื่อตอนที่ได้รับโจทย์ให้ทำภาพปกหนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ของอาจารย์คริส เบเกอร์ และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร นั้นเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เพราะหนังสือบรรจุข้อมูลเยอะมาก เขาจึงวาดรูปออกมามาก จนกลายเป็นว่ารูปที่เขาวาดไว้หลายรูป ทางมติชนก็นำมาใช้ในบูธของงานสัปดาห์หนังสือได้ด้วย จนเป็นเหมือนว่าเขากลายเป็นศิลปินผู้ออกแบบคีย์วิชวลไปด้วยเลยในงานสัปดาห์หนังสือคราวนั้น

ส่วนคราวนี้น่าจะผ่อนคลายกว่าครั้งที่แล้วเพราะต่อยอดจากงานที่ตะวันเคยทำมาก่อน ปลายปีที่แล้วมีนิทรรศการหนึ่งที่ตะวันแสดงผลงาน (Peep Show Arcade) ที่พูดถึงประวัติศาสตร์ไทยผ่านการ์ตูนเล่มละบาท และโปสเตอร์พร็อพปากันด้าในช่วงสงครามเย็น ซึ่งทางมติชนเห็นงานนั้นและบรีฟมาว่าอยากให้ต่อยอดจากนิทรรศการคราวที่แล้ว จึงเปลี่ยนจากการ์ตูนมาเป็นหนังแทน

โดยเล่นกับความทรงจำเก่าๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังไทยยุค 60-70

มติชนรามากับงานมหกรรมหนังสือ

ตะวันเล่าว่า บางทีที่เขาดูข่าวแล้วรู้สึกว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในข่าวมันเหมือนกับหนังมากๆ จนคิดว่าความ “จริง” กับความ “ไม่จริง” เหมือนมันซ้อนกันอยู่ เพราะได้เห็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น สิ่งที่ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้น จนคิดว่าสิ่งที่น่าจะเป็นเรื่องแต่งกลับกลายเป็นเรื่องจริงได้

กับภาพธีมงานที่ตนออกแบบมาภาพเป็นโปสเตอร์หนังย้อนยุคนั้น เกิดจากความชอบส่วนตัว ที่ต่อยอดจากนิทรรศการ Peep Show Arcade ที่นอกจากจะได้จัดแสดงงานที่ไทยแล้ว งานคอนเซ็ปต์เดียวกันนี้ยังออกเดินทางไปที่นิวยอร์ก โตเกียว และประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ

และด้วยความที่เขาชอบทำอะไรที่มันต่อเนื่องกัน ก็เลยเอาความย้อนยุคจากการ์ตูนเล่มละบาทในนิทรรศการครั้งนั้น มาเปลี่ยนเป็นหนังไทยยุคเก่าในมติชนรามาครั้งนี้

มติชนรามาฉายหนังแนวไหน

ตะวันบอกว่า หากเปรียบมติชนรามาจัดฉายหนังสักเรื่องหนึ่ง คงเป็นหนังประเภทดราม่า

เพราะความเป็นดราม่ามันก็มีได้ในทุกแนว ไม่ต่างจากหนังไทยในยุคเฟื่องฟู ที่จะมีครบรสเหมือนอาหารไทย ที่มีบู๊ มีดราม่า มีตลก มีโป๊นิดๆ

เหมือนว่าถ้าทำหนังแบบนี้ออกมามันจะขายได้ดี เพราะว่ามันถูกจริตคนไทย แต่เขาโฟกัสไปที่หนังบู๊มากกว่า เพราะรู้สึกว่าเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้

โดยได้เปลี่ยนแปลงเทคนิคการวาดไป คือ ในช่วงก่อนหน้านี้เขาจะใช้สีน้ำวาดลงบนกระดาษ แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนมาใช้สีอะคริลิกวาดลงบนแคนวาสแทน โปสเตอร์หนังสมัยก่อนจะใช้สีน้ำมัน ซึ่งจะคล้ายกับงานที่เขาทำมาก่อน จึงเลือกใช้เทคนิคนี้ในงานชุดนี้

แรงบันดาลใจในผลงาน

ตะวันเปิดเผยว่า เขาอยากให้งานชุดนี้ให้ความรู้สึกว่าเป็นผลงานจากโรงหนังชั้น 2 เหมือนในสมัยที่เขายังเป็นเด็ก ในสมัยนั้นยังไม่มีโรงหนังอยู่ในห้างสรรพสินค้า จะเป็นโรงหนังสแตนด์อะโลน ซึ่งมีหลายเกรด เป็นโรงหนังชั้น 1 และโรงหนังชั้น 2

โรงหนังชั้น 1 จะฉายหนังเรื่องเดียว เข้าออกเป็นเวลา แต่โรงหนังชั้น 2 ผู้ชมจะเข้าไปเมื่อไหร่ก็ได้ จะฉายหนัง 2 หรือ 3 เรื่องควบวนกันไปทั้งวัน สมมุติว่าเราเข้าไปตอนที่หนังเรื่องนี้ฉายไปครึ่งเรื่องแล้ว เราก็ดูไปจนมันฉายอีกเรื่องหนึ่ง จนมันวนกลับมาถึงเรื่องที่เราดูในช่วงที่เราเพิ่งเข้าโรงหนัง เราจะอยากดูจนจบก็ได้ บางคนก็อยู่ในนั้นทั้งวันก็มี

การวาดโปสเตอร์หรือใบปิดหนังหน้าโรงหนังชั้น 2 จะไม่ค่อยดีนัก สมัยก่อนที่ไม่มีอิ๊งก์เจ็ต มันไม่มีเครื่องปริ๊นต์ ทุกอย่างมันต้องใช้มือวาด โปสเตอร์หนังที่อยู่ในโรงหนังชั้น 1 จะใช้คนที่เก่งมากๆ มาวาด ซึ่งสำหรับโรงหนังชั้น 2 ฝีมือของช่างวาดก็จะลดหลั่นลงไป เพราะเป็นโรงหนังชั้น 2 จึงไม่มีเงินจ้างคนเก่งมาวาดให้ พวกช่างที่วาด ฝีมือก็จะด้อยๆ ลงมา

ตะวันชอบผลงานแบบนั้น และอยากให้งานชุดนี้ถ่ายทอดอารมณ์แบบนั้น เพราะมีรสชาติชวนให้นึกถึงอะไรเก่าๆ จึงทำงานเซ็ตนี้ออกมาให้ดูเหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง เหมือนกับว่าไม่ได้ตั้งใจจะทำให้มันเหมือนต้นแบบนัก

การเมืองกับศิลปะ

ตะวันบอกว่าขึ้นอยู่กับว่าศิลปินจะพูดถึงมันขนาดไหน ศิลปะในโลกนี้ก็มีมากมายหลายประเภท มีทั้งศิลปินที่ไม่เคยเอาเรื่องการเมืองมาทำเลยก็มี หรือศิลปินที่ทำแต่เรื่องพวกนี้ก็มี หรือทำบ้างไม่ทำบ้าง อย่างตัวของเขาเองก็ไม่ได้ทำเรื่องการเมืองตลอดเวลา บางครั้งก็พูดถึงเรื่องการเมืองบ้าง บางครั้งก็ไม่ได้พูด แต่อย่างไรเสีย การเมืองและศิลปะย่อมเกี่ยวพันกันอยู่แล้ว เพราะศิลปินย่อมทำงานมาจากสิ่งที่เขารับรู้ ซึ่งแสดงว่ามันมีผลกับชีวิตเขา มีผลต่อความคิดเขา เขาถึงทนไม่ได้จนต้องทำมันออกมาเป็นงานศิลปะ

แต่การสื่อสารทางศิลปะนั้น ไม่ว่าเป็นที่ไหนต่างก็มีลิมิตของมัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็มีสิ่งที่เป็นเพดานอยู่ ไม่มีที่ไหนในโลกที่ศิลปินจะทำอะไรก็ได้ หรือจะพูดอะไรไปได้ทุกเรื่อง ทุกที่ต่างก็มีลิมิตอยู่ แต่ที่นี่อาจจะมีลิมิตเยอะหน่อย อย่างของไทยเราเองในช่วงประมาณ 50 ปีที่แล้ว ช่วง 14 ตุลา 6 ตุลา ก็มีศิลปินหลายคนที่ทำเรื่องการเมือง แต่จะเป็นวาดภาพส่วนใหญ่ เพราะตอนนั้นมันก็ไม่ได้มีอาร์ตฟิล์ม ไม่มีมีอินสตอลเลชั่น

การแสดงออกทางศิลปะมันมีวิธีหลายวิธี ถ้าตรงไปตรงมาจนเกินไปก็อาจมีผลกลับมา ตะวันเลือกทำงานทั้งแบบที่ตรงบ้างและไม่ตรงบ้าง ทุกวันนี้โลกมันถึงกันหมด แม้มันจะมีตัวอย่าง มีต้นแบบที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปิน แต่ศิลปินก็ต้องดูบริบทด้วยว่าเขาทำเขาพูดเรื่องอะไร และเราทำแบบนั้นที่นี่ได้ไหม เหมือนกันกับว่า บางทีเราก็สามารถทำบางอย่างที่นี่ได้ แต่ไปทำที่อื่นไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าอย่างที่บอกแต่ต้นว่าทุกพื้นที่มันมีลิมิตของมันอยู่

ตะวันปิดท้ายด้วยการเชิญชวนให้นักอ่านมาเยี่ยมชมบูธมติชน โดยบอกว่าอยากจะให้มาสนุกกัน เพราะมาแล้วเหมือนว่ามาโรงหนัง ได้มาเห็นคัตเอาต์ ได้มาเห็นดารา ได้มาถ่ายรูปกัน ซึ่งในงานอาจจะมีเซอร์ไพรส์ นำงานวาดของจริงฝีมือเขาไปจัดแสดงเป็นพิเศษด้วยก็เป็นได้

 

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

ตะวัน วัตุยา: วงการศิลปะโลก ศิลปะไทย และคนรุ่นใหม่

หวนระลึกถึงสีสันวันวานในนิทรรศการแสดงเดี่ยวของ ตะวัน วัตุยา ณ นิวยอร์ก Peep Show Arcade / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์