หวนระลึกถึงสีสันวันวานในนิทรรศการแสดงเดี่ยวของ ตะวัน วัตุยา ณ นิวยอร์ก Peep Show Arcade / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

หวนระลึกถึงสีสันวันวาน

ในนิทรรศการแสดงเดี่ยว

ของ ตะวัน วัตุยา ณ นิวยอร์ก

Peep Show Arcade

ในตอนนี้ขอวกกลับมาพูดถึงนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจกันอีกครั้ง

คราวนี้เป็นนิทรรศการของศิลปินที่เราๆ ท่านๆ น่าจะคุ้นเคยกันดี ด้วยความที่เรานำเสนอเกี่ยวกับเขามาหลายครั้งแล้ว

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ตะวัน วัตุยา ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล

หลังจากมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งใหญ่ในประเทศไทยไปเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ตะวันตระเวนเดินทางไปแสดงผลงานในหลากหลายประเทศทั่วโลก ล่าสุด เมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ เขาก็บินลัดฟ้าไปแสดงผลงานในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า Peep Show Arcade นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของตะวัน ที่นำเสนอผลงานภาพวาดที่ได้แรงบันดาลใจจากการขยำรวมบุคคล ฉากหลัง จินตภาพ ข้อความ และสัญลักษณ์ที่เก็บเกี่ยวจากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวัฒนธรรมป๊อป และอุตสาหกรรมบันเทิงหลากหลายรูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน

ในนิทรรศการครั้งนี้ ตะวันนำเสนอองค์ประกอบและระดับความคมชัดของภาพอันแตกต่างหลากหลาย ทั้งการใช้รูปแบบของพิกเซลที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพื่อพาดพิงไปถึงวิดีโอเกมยุคเก่า และการเบลอเพื่อเซ็นเซอร์ฉากโป๊เปลือยในเคเบิลทีวี หรือแม้แต่หนังเอวีญี่ปุ่นสมัยก่อน

หรือการจัดองค์ประกอบที่หยิบยืมมาจากโปสเตอร์หนังและการ์ตูนอเมริกันยุคเก่าหรือปกแผ่นเสียงยุคก่อน ไปจนถึงสูตรสำเร็จของการโพสท่าถ่ายภาพ การจัดหน้านิตยสาร หรือโฆษณาทางโทรทัศน์ในอดีต

2069 (2022), สีอะครีลิกบนผ้าใบ
BOWIE PINUPS (2022), สีอะครีลิกบนผ้าใบ

ตะวันกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้ของเขาให้เราฟังว่า

“งานชุดนี้ต่อเนื่องมาจากนิทรรศการ 1973 ที่อังกฤษ (อัจฉริยโสภณ) มาชวนเราให้ไปแสดงงานที่เซ็นทรัล ดิ ออริจินัล สโตร์ ตอนแรกเราก็ยังคิดไอเดียอะไรไม่ออก แต่พอดีตอนไปดูพื้นที่เราเห็นเซ็นทรัลเขาจัดข้าวของเหมือนเป็นนิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์ของเซ็นทรัล เลยทำให้เรานึกถึงเรื่องเก่าๆ สมัยเด็กๆ นึกถึงพ่อแม่เราที่เคยเป็นพนักงานของห้างเซ็นทรัล เราก็เลยทำโครงการศิลปะชุดนี้ขึ้นมาโดยยึดจากปีที่เราเกิดคือปี ค.ศ.1973”

“โดยเบื้องต้นเริ่มจากการที่เราคิดเรื่องซอฟต์เพาเวอร์มานานแล้ว เราคิดว่า จริงๆ แล้ว ในชีวิตคนเรามักอยู่กับเรื่องบันเทิงมากกว่าเรื่องซีเรียส เราไม่ได้ดูข่าวตลอดเวลา เราไม่ได้ทำงานทั้งวัน สิ่งที่เราใช้เวลากับมันมากๆ คือสื่อบันเทิงอย่างหนัง, เพลง, การ์ตูน หรืออะไรที่ให้ความเพลิดเพลิน”

“แต่เราก็ค้นพบมานานแล้วว่าสิ่งเหล่านี้มีวัตถุประสงค์แอบแฝงอยู่ในนั้น มีเหตุผลของการสร้างสื่อบันเทิงอย่างตัวละครในหนัง ตัวการ์ตูน หรือผลิตภัณฑ์บางอย่าง ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)”

“อย่างในงานชุด 1973 เราตั้งใจให้เนื้อหาไม่หนักไปนัก เพราะนิทรรศการก่อนหน้าเราเพิ่งทำเรื่องที่ค่อนข้างเข้มข้นไป งานในนิทรรศการ 1973 เลยคล้ายๆ เป็นการพูดเรื่องความหลัง เรื่องของตัวเอง เหมือนเป็นผู้กำกับฯ ที่ทำหนังเกี่ยวกับชีวิตตัวเองแบบไม่ตรงไปตรงมานัก พอผ่านนิทรรศการ 1973 ไป ทางหอศิลป์ที่โตเกียว, ไทเป, กัวลาลัมเปอร์ และนิวยอร์ก ก็ยืนยันว่าจะจัดนิทรรศการให้เรา และอยากได้งานในชุด 1973 ไปแสดง แต่ด้วยความที่งานติดสัญญาเดิม เราก็เลยตัดสินใจว่าจะทำงานชิ้นใหม่ให้ โดยพัฒนาขึ้นจากแนวคิดของงานในชุด 1973”

DEBBIE DOES DALLAS (2022), สีอะครีลิกบนผ้าใบ
DJANGO (2022), สีอะครีลิกบนผ้าใบ

“พอดีระหว่างช่วงที่ทำงานชุดนี้ยังมีภาพที่วาดไม่เสร็จอยู่จำนวนหนึ่ง เราก็เอาพวกงานที่ไม่เสร็จเหล่านั้นมาทำต่อให้เสร็จ ในช่วงหาข้อมูลเพื่อพัฒนาแนวคิด เราพบว่าในยุคสมัยต่างๆ มีเรื่องราวเกิดขึ้นเยอะมากกว่ายุค 70 ทั้งเรื่องสงครามเย็น, ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เราก็เลยคิดว่าเราไม่ควรจำกัดงานของตัวเองอยู่ที่แค่ยุค 70”

“งานแสดงที่ไทเปกับโตเกียว เราก็เลยเน้นไปที่สงครามเย็น เพราะเราเจอข้อมูลหลายอย่างที่เราอยากหยิบมาเล่น เช่น วิดีโอเกมในยุค 80 ที่เริ่มพัฒนามาเป็นลักษณะสามมิติ แต่ก็ยังคงมีความเป็นเหลี่ยมๆ ของพิกเซลอยู่ หลายๆ เกมที่ฮิตในช่วงเวลานั้นก็เป็นเกมที่มีผลพวงมาจากสงครามเย็นทั้งนั้น รวมถึงหนังด้วย”

“อย่างหนังชุด Rambo ก็พูดถึงสงครามเวียดนาม และพยายามเชิดชูอเมริกันให้เป็นฮีโร่ ทั้งๆ ที่ฆ่าคนเป็นเบือในเวียดนาม เราก็เลยเริ่มสนใจเรื่องพวกนี้ โดยเอาเรื่องราวของวิดีโอเกมมาผสมกับเรื่องราวในยุค 70 อาจจะย้อนไปในยุค 50 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะสงครามเย็นเริ่มต้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศมหาอำนาจเริ่มมีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ เริ่มสะสมอาวุธ พอสงครามโลกครั้งที่สอง ขั้วอำนาจเปลี่ยนมือกลายเป็นสหรัฐอเมริกากับรัสเซียเป็นมหาอำนาจของโลก”

“ในขณะที่งานในชุดที่แสดงที่โตเกียว, ไทเป และกัวลาลัมเปอร์ จะเป็นเรื่องของสงครามเย็นเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยความที่เราคิดถึงบริบทของสถานที่ที่เราไปแสดง ส่วนงานแสดงที่นิวยอร์กเราค่อนข้างเน้นไปที่หนัง เพราะพอเรารู้สึกอิ่มตัวเรื่องสงครามเย็น เราก็เริ่มย้อนกลับมานึกถึงวัยเด็กเราอีกครั้ง”

“สมัยก่อนเราโตมากับการดูหนังในโรงหนังชั้นสอง ความฝันแรกๆ ของเราก็คือเราอยากเป็นผู้กำกับหนัง ซึ่งเราได้มาจากการดูหนังเยอะมาก หนังตลาด หนังเกรดบี แล้วโรงหนังชั้นสองก็ค่อนข้างจะอิสระ เราจะเข้าไปดูตอนไหนก็ได้ เข้าไปนั่งแช่ทั้งวันก็ได้ ไม่มีใครว่า เพราะฉะนั้นเราก็มักจะดูหนังแบบไม่ปะติดปะต่อ เราก็เลยเอาหนังหลายๆ เรื่องมาผสมกัน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของวิธีที่เราใช้สำหรับนิทรรศการที่นิวยอร์ก”

“แล้วในยุค 70 มีการสร้างหนังเกรดบีมากมายทั่วโลก หนังเกรดบีบางเรื่องก็เป็นหนังที่ดี เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับฯ ที่เราชอบมากอย่างเควนติน ตารันติโน่ เราก็เลยหยิบเอาแรงบันดาลใจหลายๆ อย่างจากหนังเกรดบีมาปะติดปะต่อในแบบมีเหตุผลบ้าง ไม่มีเหตุผลบ้าง”

GAME OF DEATH (2022), สีอะครีลิกบนผ้าใบ
INVASION OF THE SAUCER-MAN (2022), สีอะครีลิกบนผ้าใบ

“งานในนิทรรศการชุดนี้เราตั้งใจทำสำหรับนิวยอร์กโดยเฉพาะเลย อย่างเช่นรูปทีมบาสเกตบอล ทีแรกเราตั้งใจว่าจะเอารูปทีมฟุตบอลลิเวอร์พูลมา แต่พอดีภาพนั้นแกลเลอรีที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เขาขอไปแสดง เราก็เลยนึกขึ้นได้ว่า คนอเมริกันไม่ได้คลั่งไคล้ฟุตบอล แต่คลั่งไคล้เบสบอล, อเมริกันฟุตบอล และบาสเกตบอล”

“ส่วนตัวเราอินกับบาสเกตบอลมากที่สุด เราก็เลยเลือกทีมนิวยอร์ก นิกส์ ซึ่งเป็นทีมบาสเกตบอลอเมริกันที่ดีที่สุดในช่วงปี 1973 มาวาด ถือว่าตั้งใจทำให้ผู้ชมที่นิวยอร์กเลย ซึ่งคนที่นี่ชอบมาก เขาสัมผัสกับงานเราได้”

“สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างเวลาเรามาแสดงงานที่นี่ คือคนที่เข้ามาดูงานเขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เป็นคนชาติอะไร ซึ่งเราชอบมาก เพราะเราคิดมาตลอดว่าเราไม่จำเป็นต้องบอกว่าเราเป็นคนไทย เราไม่จำเป็นต้องนำเสนอความเป็นไทย เพราะเราคิดว่าเราเป็นพลเมืองโลก เราไปได้ทุกที่ เราจะทำอะไรที่ไหนก็ได้ บางครั้งเราก็ไม่ได้พูดภาษาไทย เพราะเวลาเราอยู่ต่างประเทศเราก็พูดภาษาอื่น เราไม่จำเป็นต้องปกป้องอัตลักษณ์ของตัวเองว่าเราเป็นคยไทย เป็นตัวแทนของประเทศไทย เราไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้มานานแล้ว”

“และสิ่งเหล่านี้ก็แสดงออกมาผ่านผลงานเรา คืองานชุดนี้ไม่มีอะไรบอกเลยว่าเราเป็นคนไทย หรือเป็นศิลปินไทยวาดขึ้นมา เราเป็นใครก็ได้ และงานของเราก็พูดกับทุกคน แม้แต่คนไทยเองก็สัมผัสเรื่องพวกนี้ได้ เพราะความบันเทิงเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก”

“คนทั่วโลกรู้จัก บรูซ ลี, เฉินหลง, เกรซ โจนส์, เอลวิส เพรสลีย์ รู้จักเกม Contra ไม่ว่าคนชาติไหนเห็นสิ่งเหล่านี้ปุ๊บก็เข้าใจทันทีโดยไม่ต้องบอก ไม่ต้องเท้าความ”

King Kong and I (2022), สีอะครีลิกบนผ้าใบ
NAKED ANGELS (2022), สีอะครีลิกบนผ้าใบ

ตะวันยังเฉลยถึงที่มาที่ไปของชื่อนิทรรศการในครั้งนี้ด้วยว่า

“ชื่อนิทรรศการ Peep Show Arcade ให้อารมณ์เดียวกับการถ้ำมอง หรือส่องกล้องดูหนังโป๊ (Peep Show) เพราะในงานชุดนี้ของเรามีรูปจากหนังสือโป๊ด้วย เป็นหนังสือโป๊ยุค 80 ที่เอามาวาดให้เป็นภาพเบลอแบบโมเสกเหมือนการเซ็นเซอร์สมัยก่อน งานชุดนี้เราตั้งใจเล่นกับความเบลอ คือมีสิ่งที่ชัด และไม่ชัด และการเลือนของพิกเซลแตกๆ”

โดยปกติ มิตรรักแฟนศิลปะของตะวัน มักจะคุ้นเคยกับผลงานภาพวาดสีน้ำฝีแปรงอิสระ เลื่อนไหล ฉับไว เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก แต่ในช่วงหลังๆ ตะวันหันเหมาวาดภาพด้วยเทคนิคสีอะครีลิก ที่ให้อารมณ์สนุกสนาน เปี่ยมสีสัน ฉูดฉาดบาดตา มีเสน่ห์เฉพาะตัวอันแปลกตา ดูคลับคล้ายคลับคลากับโปสเตอร์หนังในอดีต ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่เทคนิคที่เขาไม่คุ้นเคยแต่อย่างใด

“จริงๆ เราใช้สีอะครีลิกมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว และเราก็วาดในลักษณะนี้แหละ เราว่าศิลปินทุกคนพอถึงเวลาก็จะย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทีแรกเราก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะกลับมาใช้เทคนิคนี้ เพราะปกติเราวาดสีน้ำกับสีน้ำมัน แทบไม่ได้วาดสีอะครีลิกเลย เพราะรู้สึกว่าสีชนิดนี้มีความเป็นเหมือนยางสังเคราะห์ ไม่ตอบโจทย์การทำงานของเรา”

“จนมาทำงานในนิทรรศการที่เซ็นทรัล ดิ ออริจินัล สโตร์ เราตั้งใจให้งานออกมาดูเป็นการ์ตูน มีความเป็นแฟนซีหน่อยๆ เราก็มาพบว่าสีอะครีลิกตอบโจทย์นี้ของเรา รวมถึงเหมาะกับสตูดิโอเราด้วย เพราะไม่มีหน้าต่าง ถ้าเราจะวาดสีน้ำมันก็ต้องหาพื้นที่ใหม่ที่อากาศถ่ายเทได้ พอคิดไปคิดมาก็ยาก เพราะว่าตอนนั้นอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะย้ายไปไหนก็ลำบาก เราก็เลยเลือกทางที่สะดวก ทำงานในสตูดิโอแล้วหัดวาดสีอะครีลิกอีกครั้ง”

“ที่ต้องหัดวาดเพราะสีอะครีลิกมีวิธีการวาดที่ไม่เหมือนกับสีอื่นๆ คือเป็นการวาดซ้อนกันเป็นชั้น จะว่าไปก็คล้ายกับการวาดโปสเตอร์หนังเหมือนกัน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างตอบโจทย์ เพราะสิ่งที่เราวาดก็คือการ์ตูน หนัง และพวกของเล่นต่างๆ”

“งานในนิทรรศการนี้เป็นการผสมเรื่องราวจากวัฒนธรรมป๊อปของยุค 60, 70, 80 และจบตรงช่วงเวลาสิ้นสุดของสงครามเย็น อารมณ์ของงานจะมีความรู้สึกหวนหาอดีต เพราะเราอยากจะเล่นกับความทรงจำของคน ว่าบางอย่างเขาอาจจะจำได้ บางอย่างเขาอาจจะคลับคล้ายคลับคลา หรือเอาความทรงจำจากยุคต่างๆ มาปนกัน เพราะคนเราชอบเอาความทรงจำมาผสมมาปนเปกัน เหมือนเราพูดเรื่องส่วนตัว เรื่องความทรงจำของเรา ใครจะสัมผัสหรือเข้าถึงได้ขนาดไหน เราไม่ค่อยซีเรียสเท่าไหร่”

“แต่เราใช้วิธีว่าเราไปแสดงงานที่ไหน เราก็จะพยายามทำงานที่เชื่อมโยงกับผู้คนที่นั่นมากกว่า”

THE DAY THE EARTH STOOD STILL (2022), สีอะครีลิกบนผ้าใบ
YOU WIN (2022), สีอะครีลิกบนผ้าใบ

นิทรรศการ PEEP SHOW ARCADE โดยตะวัน วัตุยา จัดแสดงที่หอศิลป์ SFA PROJECTS นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-2 ตุลาคม 2022

ดูรายละเอียดนิทรรศการได้ที่ https://bit.ly/3eHEosd

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน ตะวัน วัตุยา

และบทความโดยพอล ดากุสติโน (Paul D’Agostino) •