รู้ชีวิต…ด้วยดวงดาว/เรื่องลึกในโหราศาสตร์ไทยชุด ‘คลังโหร’/แรงเอื้อมของดาว

รู้ชีวิต…ด้วยดวงดาว(๙๐๒)
คุยกันโดย “ศ. ดุสิต”

อ่านอนาคตของคุณไม่ยากหรอก…แค่รู้จักดาว 10 ดวงเท่านั้น!

เรื่องลึกในโหราศาสตร์ไทยชุด ‘คลังโหร’

แรงเอื้อมของดาว

ในการพยากรณ์โดยใช้ระบบโหราศาสตร์ไทยนั้น จะมีอยู่สูตรหนึ่งที่ใครๆ ก็จะต้องได้เรียนรู้กันมาก่อนแล้วแทบทั้งสิ้น นั่นก็คือ-กฎแห่งแรงเอื้อมของดาวนั่นเอง
หมายถึงการที่เราได้รู้ว่า ดาวนั้นบางดวงมีแรงเอื้อมเหนือไปจากจุดที่ตัวเองลอยอยู่ เช่น ดาวเสาร์มีแรงเอื้อมจากตัวเองไปยังภพที่สามและสิบ หรืออังคารมีแรงเอื้อมสี่และแปด เป็นต้น
ซึ่งแรงเอื้อมเหล่านี้ก็คือแรงเอื้อมพื้นฐานที่เราได้นำมาใช้ในการพยากรณ์กันได้ทุกคน
แต่ก็ยังมีแรงเอื้อมของดาวที่นอกเหนือจากที่กล่าวนี้อยู่อีก และเป็นแรงเอื้อมที่เราจะต้องเรียนรู้กันเป็นพิเศษจึงจะรู้ได้ดี จนสามารถที่จะนำมาพยากรณ์ให้เกิดผลได้ถูกต้องเป็นอย่างดีด้วย แม้ว่าจะมีอีกไม่มากดวงนักก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง เพราะเป็นความจำเป็นสำหรับใช้ในการพยากรณ์ที่ต้องการความสำคัญ และทำให้เกิดผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ผมจึงตัดสินใจที่จะนำเอาสูตรหรือวิชาเหล่านี้มาคุยให้ฟัง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการใช้สืบไป
ส่วนผู้ที่รู้มาแล้วก็ขอให้ผ่านไปได้ เพราะสูตรเหล่านี้ไม่ใช่วิชาที่ลี้ลับอะไร ใครๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้ทั้งนั้น ไม่ต้องไปศึกษาถึงสำนักตักศิลาที่ไหน
ใครที่ยังไม่เคยเรียนรู้อ่านเอาจากหนังสือเล่มนี้เล่มเดียวก็รู้ปรุโปร่งแล้ว
ใครที่เคยเรียนรู้มาบ้างแล้วแต่ยังคิดว่าไม่ทะลุปรุโปร่งจะลองอ่านดูมั่งก็ได้ ไม่ผิดกติกาอย่างใด
เพราะบางท่านที่คิดว่ารู้ดีแล้วนั่นแหละ มาอ่านหนังสือเล่มนี้เข้าอาจจะนึกงงงวยขึ้นมาก็ได้ว่า เอ๊ะ-มีวิชายังงี้อยู่อีกรึนี่?
อยากรู้ก็ลองอ่านกันได้ เริ่มแต่จากคนที่ยังไม่รู้เลยไปก่อน คือจากเบาไปหาหนัก หรือจากง่ายไปหายากตามแบบของผมนั่นแหละครับ
เริ่มจากแรงเอื้อมพื้นฐานก่อนเลยนะ
แรงเอื้อมพื้นฐาน
ดาวอังคาร มีแรงเอื้อม ๔ และ ๘ ราศี
ดาวพฤหัสฯ มีแรงเอื้อม ๕ และ ๙ ราศี
ดาวเสาร์ มีแรงเอื้อม ๓ และ ๑๐ ราศี
ราหู มีแรงเอื้อม ๔ และ ๑๐ ราศี

ทั้งสี่ดาวนี้นักเรียนโหราศาสตร์ทุกคนต่างก็รู้กันหมดแล้วว่าคืออะไร แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้เลยว่า ไอ้แรงเอื้อมที่ว่านี้น่ะมันทำงานยังไง มันเอื้อมไปทำไม และจะเกิดประโยชน์กับการพยากรณ์ได้แค่ไหน? รู้แต่เพียงว่าดาวสี่ดวงนี้มี “แรงเอื้อม” อย่างที่ว่านี่เท่านั้นเอง
ผมจะพูดถึง “แรงเอื้อม” ที่ว่านี้ให้ฟังกันพอรู้เรื่องก่อน เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานไปถึงแรงเอื้อมในสถานะที่สูงขึ้นกว่านี้อีก และเป็นการให้ความรู้แก่นักศึกษามือใหม่ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจถึงกฎแห่งแรงเอื้อมนี้ดีเท่าไรนักด้วย
(๑) คำว่า “แรงเอื้อม” นี้หมายถึง พลังที่ดาวนั้นส่งไปยังจุดที่ตนเอื้อมถึง ส่งอะไรไป?
(๒) ส่งความหมายหรือหน้าที่ที่ตนมีอยู่ไปยังจุดนั้น
ส่งไปแล้วจะต้องถึงจุดเอื้อมนั้นทุกครั้งด้วยใช่ไหม?
(๓) ไม่ใช่, ผลของการส่งจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อที่ราศีจุดนั้นมีดาวลอยอยู่ (เดิมหรือจรก็ได้ แล้วแต่กรณี)
ส่งไปทำไม?
(๔) ส่งไปเพื่อให้นำความหมายของดาวนั้นเข้าร่วมกับความหมายของดาว/ภพที่ลอยรับอยู่ตรงจุดนั้น เป็นการส่งเสริมการพยากรณ์ในเรื่องนั้นๆ ให้มีความถูกต้องมากขึ้น
ยกมาให้ดูแค่ 4 ข้อนี่ก็คงจะพอทำให้มือใหม่เกิดความเข้าใจและมีความรู้ในเรื่องของแรงเอื้อมมากขึ้นบ้างแล้ว
แต่ยังไม่ได้มีเพียงแค่นี้ กฎของแรงเอื้อมพื้นฐานนี้ยังต้องมีปัจจัยในการใช้อยู่อีก เพราะดาวส่งแรงเอื้อมไปได้จริงอย่างที่ว่า แต่ก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องส่งไปตามคุณสมบัติที่ตนมีอยู่ตลอดไปหรอก คือไม่ต้องส่งไปตลอดเวลาที่ลอยอยู่ในราศีต่างๆ นั้นเลย
จะส่งก็ต่อเมื่อผู้พยากรณ์มีความต้องการที่จะให้ดาวนั้นส่งแรงเอื้อมไปเพื่อผลการพยากรณ์ในเรื่องนั้นๆ เท่านั้น ถ้าเราไม่ต้องการให้ส่งก็ไม่ต้องส่ง เช่น เรากำลังตรวจทายเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับดาวนั้นเลย เราก็ไม่ต้องใช้ดาวนั้นในการส่งแรงเอื้อม แต่ถ้าดาวนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นด้วย นั่นแหละเราจึงจะใช้ให้ดาวนั้นส่งแรงเอื้อมไปยังจุดที่เราต้องการ
พูดง่ายๆ ก็คือ การใช้แรงเอื้อมพื้นฐานนี้ขึ้นอยู่กับตัวเราซึ่งเป็นผู้พยากรณ์นั่นเอง

อ้อ-ลืมบอกไปนิดนึงว่า แรงเอื้อมของราหูนั้นจะเอื้อมไปตามทิศทางโคจรของเขานะครับ คือสวนทางกับดาวปกติ (สัตตเคราะห์) หรือเดินตามเข็มนาฬิกานั่นแหละ และแรงเอื้อมของราหูนี้ยังมีความพิเศษนอกเหนือกว่าดาวอื่นๆ อยู่บ้าง เช่น ในมุมเกณฑ์สี่ที่เอื้อมไปนั้นท่านเรียกว่าเป็นเกณฑ์ศรี และมุมเกณฑ์สิบนั้นท่านเรียกว่ามุมกาลี


อย่างที่เห็นอยู่ในรูปนี่แหละครับคือแรงเอื้อมของราหูเค้าละ จะสถิตที่ราศีไหนก็ใช้หลักเชิงมุมอย่างที่เห็นนี่ทุกราศีไป เชิงมุมที่แรงเอื้อมศรีตกนั้นมักจะทายในด้านดี เชิงมุมกาลีนั้นก็มักจะทายในด้านร้าย ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว
แต่โบราณท่านก็ไม่ได้ถือเอาว่าเชิงมุมทั้งศรีและกาลีนี้จะต้องเป็นมุมดีมุมร้ายเสมอไปนะครับ มันขึ้นอยู่กับ “ตัวเรื่อง” ที่เรากำลังพยากรณ์อยู่ด้วยว่าเป็นเรื่องดีหรือร้าย ถ้าเป็นเรื่องร้ายมาตกที่มุมกาลี ก็จะกลับเป็นดีแก่เจ้าชาตาไป
ตรงนี้คือกลเม็ดของการทายละครับ ใครมีไหวพริบดีก็จะหาช่องหรือวิธีทายที่แยบยลได้ดีกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่มันก็ราหูตัวเดียวกันนี่แหละ
ในบางครั้ง แรงเอื้อมของดาวไปตกยังจุดหรือภพที่เป็นทุสถานะอันให้โทษแก่ดวงชาตา ตรงนี้เราจะต้องใช้ดุลยพินิจในพิจารณาแรงเอื้อมของดาวด้วยว่า เราจะใช้แรงเอื้อมของดาวนั้นไหม แรงเอื้อมพื้นฐานของดาวนั้นมักมีอยู่สองจุด บางทีจุดหนึ่งดีจุดหนึ่งเสีย หรือดีทั้งสองจุด หรือบางทีก็เสียทั้งสองจุดเลยก็มี ดังนั้น การใช้จึงต้องตรวจให้ดีเสียก่อน มิฉะนั้นอาจจะทำให้การพยากรณ์ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงก็ได้
ผมจะยกตัวอย่างให้ดูว่า ดาวส่งแรงเอื้อมไปยังราศีต่างๆ ได้อย่างไร และมีจุดดีจุดเสียตรงไหน

จากรูปตัวอย่างที่เห็นอยู่นี้ คือการส่งแรงเอื้อมของดาวอังคารซึ่งมีแรงเอื้อมไปข้างหน้าสี่และแปดราศี ในกรณีเช่นนี้ ถ้าดวงนี้มีลัคนาสถิตที่ราศีกันย์ ทั้งสองจุดแรงเอื้อมของอังคารจะเป็นจุดทุสถานภพทั้งสองจุด ซึ่งจะให้ผลเสียแก่ชาตา แต่ถ้ามีลัคนาสถิตที่ราศีกรกฎ ทั้งสองจุดนี้ก็จะอยู่ในภพที่ดีของชาตาได้
ตรงนี้แหละครับที่ผู้พยากรณ์จะต้องคำนึงถึงให้มาก และต้องตรวจด้วยทุกครั้งที่เราจะใช้แรงเอื้อมของดาวว่า จุดที่แรงเอื้อมตกนั้นให้คุณหรือโทษแก่เจ้าชาตา ซึ่งจะส่งไปถึงผลการพยากรณ์ด้วย
การอ่านดาวและหน้าที่ของดาวนั้นสำคัญมาก ถ้าคุณลืมไป เห็นแต่เพียงว่าดาวนี้ส่งแรงเอื้อมไปยังจุดนั้นจุดนี้ได้ ก็หยิบเอามาเป็นตัวหลักในการพยากรณ์ ผลของมันอาจทำให้เกิดโทษแก่เจ้าชาตาก็ได้ทั้งๆ ที่บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องใช้ดาวดวงนี้เลย
หรือบางทีเห็นว่าดาวดวงนี้ทำหน้าที่ดี และจุดเอื้อมก็เป็นจุดที่ให้คุณแก่ชาตาด้วย ก็หยิบเอามาพยากรณ์ทันทีทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นดาวตัวหลักของเรื่องที่จะทายเลย
ผลก็คือคุณพยากรณ์ผิด คือผิดเรื่อง เขาต้องการรู้เรื่องหนึ่งแต่คุณไปทายเขาอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกัน แบบนี้ก็ทำให้คุณเสียศรัทธาไปเหมือนกันนะครับ
เนื้อที่หมดแล้ว แต่เรื่องยังไม่หมด ขอยกยอดไปว่ากันในตอนหน้าต่อไป ติดตามอย่าให้พลาดนะครับ