Gamera Rebirth | ตอนที่ 2 กาเมร่ายุคโชวะ

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ก่อนจะไปดู Gamera Rebirth มาดูภาพรวมของกาเมร่าอีกนิด

อะนิเมะซีรีส์ของเน็ตฟลิกซ์ครั้งนี้เป็นกาเมร่ายุคเรวะ ก่อนหน้านี้กาเมร่าแบ่งเป็น 3 ยุคคือ กาเมร่ายุคโชวะ(1965-1980) มี 8 ตอน กาเมร่ายุคเฮเซ (1995-1999) มี 3 ตอน กาเมร่ายุคมิลเลนเนียม ปี 2006 มี 1 ตอนคือ Gamera the Brave ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้าย หลังจากนั้นไม่มีกาเมร่าปรากฏบนจออีก

จนกระทั่งปี 2023 นี้ อะนิเมะซีรีส์ Gamera Rebirth นำสัตว์ประหลาดจากยุคโชวะกลับมาหมดทุกตัว ขาดไปเพียงบารูกอน (Barugon) ตัวเดียว อาจจะเป็นเพราะเป็นเรื่องเดียวที่ไม่ได้กำกับโดยโนริอากิ ยูอาสะ

กาเมร่ายุคโชวะ 8 ตอนเปิดตัวด้วย Gamera the Giant Monster ปี 1965 ฉบับฉายสหรัฐ ใช้ชื่อว่า Gammera the Invicible มีตัวเอ็มสองตัว

จะเป็นตอนเดียวที่เป็นหนังขาวดำเพราะมันจำเป็นดังจะกล่าวต่อไป

เป็นที่สังเกตว่าหนังกาเมร่าเป็นหนังที่ฉายให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสหรัฐ กับกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่แรก ขับเน้นมากขึ้นในยุคเฮเซ มีให้เห็นเล็กน้อยใน Gamera the Brave แล้วก็มีอีกใน Gamera Rebirth ครั้งนี้ เรื่องเด็กฝรั่งผมทองเป็นส่วนหนึ่งของเด็กๆ ที่ทำงานร่วมกับกาเมร่ามีมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคโชวะแล้ว บทบาทของพ่อแม่ฝรั่งของเด็กฝรั่งก็มีมาโดยตลอดเช่นกัน

กาเมร่ายุคเฮเซคือไตรภาคชุด Gamera Guardian of the Universe เป็นหนังไคจูที่ได้รับคำชมเชยสูงมาก มีฉากต่อสู้ที่ตระการตาอย่างมาก หนังฉายให้เห็นวิธีทำงานของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นอย่างละเอียด นั่งดูไปก็ออกจะงงๆ ว่าขนาดนั้นเลยหรือ เพราะไม่ค่อยได้ยินข่าวแล้วก็ไม่ค่อยได้เห็นจากหนังเรื่องอื่นๆ ความรู้สึกคือเก่งนี่ มีผู้นำ มียุทธศาสตร์ มีการประชุม มีการขอความคิดเห็น

เสียอย่างเดียวคือศัตรูเป็นไคจูที่น่ากลัวมากที่สุดทั้งสามภาค น่ากลัวกว่ายุคโชวะ กองทัพไหนๆ ก็สู้ไม่ได้

เมื่อนั่งดูสเปเชียลฟีเจอร์ ผู้กำกับฯ ยุคเฮเซซึ่งกำกับทั้งสามภาคคือ ชูซูเกะ คะเนะโกะ ให้สัมภาษณ์ ร่วมกับผู้กำกับฯ Gamera the Brave คือเรียวตะ ทาซากิ ทั้งสองคนพูดตรงกันว่ากองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นไม่สบายใจนักกับภาพที่เห็นในหนัง น่าจะเป็นเพราะพูดกันตรงๆ คือสู้ไคจูไม่ไหว ป้องกันประชาชนก็ไม่ค่อยได้ เรียกได้ว่าตายเป็นเบือ

กาเมร่ายุคเฮเซทำลายโตเกียว ฮอกไกโด เซนได ชิบูยะ และเกียวโตพินาศแบบไม่เกรงใจนักท่องเที่ยวกับโลกแห่งความเป็นจริงเลย สวนโอโดริกับแยกซูซูกิโน่ไม่มีเหลือ สถานีเกียวโตถล่มทั้งอาคารเละเทะหมด ใครอยากเห็นหมาฮาชิที่ชิบูย่าถูกไฟแดงฉานแผดเผาหาดูได้

ญี่ปุ่นถูกทำลายยับเยินจริงจนประชาชนและรัฐบาลเริ่มแคลงใจว่าระหว่างกาเมร่ากับสัตว์ประหลาดใครสร้างความเสียหายสูงกว่ากัน แม้แต่เรื่องสุดท้าย Gamera the Brave นาโงย่าก็กลายเป็นซากปรักหักพัง แล้วกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นก็อับจนปัญญาอีกเหมือนกัน

ก็นะ จะให้ทำไงได้ อย่างไรก็ตาม กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นและเด็กๆ ถ่วงเวลาสัตว์ประหลาดได้ทุกตอน รอเวลากาเมร่าฟื้นตัวจากการได้รับบาดเจ็บรอบแรกมาช่วยเหลือทันเวลาเสมอ

อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับฯ ทั้งสองท่าน (ซึ่งปากจัดพอสมควร) บอกว่าเหตุหนึ่งที่คนดูญี่ปุ่นยอมรับหนังได้เพราะเราแพ้สงคราม

อีกเหตุหนึ่งคือเพราะเราอยู่กับภัยพิบัติธรรมชาติระดับหายนะหลายครั้ง ไคจูสร้างความหายนะระดับนั้นจริงๆ คนต่างชาติต่างหากที่ไม่เข้าใจว่าพวกเราพบอะไรมาตลอด

กลับไปที่ปี 1965 กาเมร่ายุคโชวะผุดขึ้นมาจากใต้น้ำแข็งอาร์กติกเพราะเครื่องบินขับไล่สหรัฐไล่ล่าฝูงบินลึกลับของโซเวียตแล้วเกิดเหตุระเบิดปรมาณูขึ้น จากนั้นกาเมร่าก็ตรงไปญี่ปุ่น (ทำไมต้องญี่ปุ่น จะมีบอกเป็นนัยในยุคเฮเซ ทั้งนี้ โดยเกี่ยวพันกับพลังงานชีวิตของโลกที่เรียกว่า Mana) บทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่แรกเริ่ม

เด็กๆ มีบทบาทในหนังกาเมร่าตั้งแต่แรกและเด่นชัดมากขึ้นทุกๆ ตอนจนกระทั่งตอนหลังๆ นี่สุดสุดไปเลย แอบขึ้นไปป่วนยานต่างดาวไวราส (Viras) จนเอเลี่ยนปลาหมึกอวกาศต้องยอมแพ้ ขับยานดำน้ำเข้าไปในปอดของกาเมร่าเพื่อฆ่าตัวอ่อนของไจเกอร์ (Jiger) ซึ่งตอนที่นั่งดูฟิล์มเอ็กซเรย์ปอดกาเมร่าในหนังน่าตื่นเต้นมาก เตรียมอ้วกได้เลย

แต่พอเด็กสองคนไปเจอตัวอ่อนที่ว่าเข้าจริงๆ หัวเราะจะตกเก้าอี้ หนังเด็กๆ จริงๆ ใช้ดูพักผ่อนสมองดีที่สุด

หนังยุคโชวะดูสนุกก็เพราะมันเด็กๆ จริงๆ นั่นแหละครับ เทียบไม่ได้เลยกับความเอาจริงเอาจังของยุคเฮเซและมิลเลนเนียม

เมื่อนั่งดูสเปเชียลฟีเจอร์สัมภาษณ์รองประธานไดเอะผู้เริ่มต้นโปรเจ็กต์กาเมร่า (เป็นที่กังขาว่าใครเป็นผู้เริ่มเรื่องกาเมร่าระหว่างรองประธานบริษัทซึ่งเป็นลูกชายของประธานบริษัท) กับผู้กำกับฯ โนริอากิ ยูอาสะ (ซึ่งเหมากำกับฯ 7 ใน 8 ตอนยกเว้นตอนที่สองพิชิตบารูกอน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผลงานโชว์ของประธานบริษัทผู้พ่อ)

สองคนเฒ่านี้ดูสนุกกับงานที่ทำมาก งบฯ น้อย ชุดยาง เทคนิคพิเศษ พวกเขาไม่มีอะไรเลยในตอนแรก ต้องสร้างเป็นขาวดำแล้วใช้ฉากกลางคืนให้มากเพื่อประหยัดงบฯ

ตัวผู้กำกับฯ ยูอาสะเป็นที่พูดกันว่าให้มาทำเพราะไม่มีอะไรจะทำและไม่มีใครเชื่อตั้งแต่แรกว่าเขาทำได้

เวลานั้นบริษัทเพิ่งล้มเลิกโครงการสร้างหนังสัตว์ประหลาดฝูงหนูยักษ์เพราะฝ่ายสาธารณสุขสั่งหยุดเนื่องจากเหตุผลด้านสุขภาพ บริษัทจึงต้องใช้วัสดุที่ลงทุนไปแล้วสร้างหนังสัตว์ยักษ์เรื่องใหม่ให้จงได้

เป้าหมายคือเพื่อเทียบเคียงก๊อดซิลล่า

แล้วพวกเขาสร้างได้ตั้ง 8 ตอนแบบไม่เกรงใจใครเลย ความสนุกของสองเฒ่าปรากฏให้เห็นในสเปเชียลฟีเจอร์ให้สัมภาษณ์คู่กันครั้งหนึ่ง กาเมร่ากับศัตรูทั้งหกตัวต่อสู้กันพังบ้านเมืองและปราสาทซ้ำไปซ้ำมา โตเกียวนี่พังไปหลายรอบ โอซากา โกเบ ทั้งปราสาท ทั้งหอคอย พังหมด เขื่อนยักษ์พังไปสามเขื่อน

ที่น่าสนุกคือการพังบ้านเมืองเหล่านี้ใช้ฟุตเตจเก่าจากหนังเรื่องก่อนมาฉายหน้าตาเฉย โดยเฉพาะฉากเขื่อนพังนี่ดูจนจำได้เลยว่ากระแสน้ำจะทะลุทะลวงอย่างไร หยดน้ำสุดท้ายจะกระเซ็นใส่จอในรูปแบบไหน หอโตเกียวหักไม่รู้กี่ทีนับไม่ทัน

กาเมร่าตอนปฐมฤกษ์ปี 1965 มีสัตวร้ายกาเมร่าตัวเดียว มันถูกโปรเจ็กต์ Z จับใส่จรวดยิงไปดาวอังคารแต่ไปไม่ถึงพบอุกกาบาตชนแตกกลับลงมาใหม่ในตอนที่สอง ครานี้กลายเป็นพระเอกไป ส่วนตอนสุดท้ายคือตอนที่ 8 Gamera Supermonster ปี 1980 เอเลี่ยนพวกใหม่อิมพอร์ตไคจูทั้งหกรวมทั้งบูรากอนกลับมาใหม่ในตอนเดียว

มิหนำซ้ำยังสู้กันด้วยฟุตเตจเดิมๆ อีกด้วย ช่างกล้านักจริงๆ (เหตุเพราะบริษัทไดเอะล้มละลาย แล้วบริษัทใหม่ที่ซื้อกิจการไปยังติดเงื่อนไขต้องสร้างกาเมร่าอีก 1 เรื่องตามสัญญา)

กาเมร่าสู้ไคจูเหมือนเด็กทะเลาะกันในสนามเด็กเล่น มีทั้งเตะกัน ถีบกัน ต่อยกัน ตบกัน ไปจนถึงขว้างของใส่กันดื้อๆ กาเมร่ากอดไคจูบินขึ้นที่สูงแล้วปล่อยลงพื้นดื้อๆ หลายครั้ง ที่น่าสงสารที่สุดคือไกรอน (Guiron) ซึ่งมีมีดปังตอที่หัว มีดปังตอฝังจมดินดิ้นไม่ได้อีกเลยจึงถูกกาเมร่าเต่าไฟกายสิทธิ์พ่นลูกไฟระเบิดกระจุยไปตามระเบียบ อีกตัวคือเจ้าไวราสที่ถูกนำขึ้นอวกาศแล้วทิ้งกลับลงมาแตกกระจายในมหาสมุทร เจ้ากึ่งนกกึ่งปลาอย่างซิกร้า (Zigra) ก็ถูกกาเมร่าใช้กลยุทธเดียวกัน

ความเป็นเด็กๆ ของการต่อสู้ นี่ถ้าเป็นสมัยนี้คงสร้างไม่ได้ เช่น กาเมร่าแพ้คลื่นเสียงของสัตว์ยักษ์ตัวหนึ่งจึงถอนเสาไฟฟ้าข้างถนนมาเสียบรูหูสองข้างของตัวเองเฉย

ตายๆ ห้ามเลียนแบบเป็นอันขาด

 

ฉากเฉือนเนื้อมีให้เห็นทุกตอน กิยาออส (Gyaos) ยุคโชวะพ่นแสงเฉือนเนื้อกาเมร่าขาดเลือดเขียวไหลนอง (ผู้กำกับฯ ยูอาสะตั้งใจไม่ให้เลือดสีแดง ส่วนพวกสัตว์ประหลาดเลือดจะเป็นสีม่วงเสียมาก เพื่อลดความน่ากลัวลง)

กาเมร่าแขนขาดขาขาดหลายครั้ง กระชากแขนตัวเองขาดในยุคเฮเซก็ทำ

ฉากที่น่ากลัวสุดคือเมื่อไวราสกระโดดปักปลายแหลมของหัวตัวเองทะลุท้องกาเมร่าหงายติดพื้นรูใหญ่มาก ซิกร้าเฉือนกระดองกาเมร่าใต้น้ำก็แสบถึงเลือดเนื้อกันเลยทีเดียว ในทางตรงข้ามกาเมร่าก็กัดแขนกัดขาควักเนื้อไคจูจะจะกันหลายครั้ง ฉากทะลวงท้องปล่อยระเบิดในยุคเฮเซน่าดูชม

แต่ที่น่าทึ่งมากกลับเป็นฉากกิยาออสยุคโชวะนิ้วเท้าขาดแล้วงอกใหม่ได้ นี่สิเด็ดขาดน่าชมเลยจริงๆ รองประธานไดเอะผู้ลูกถึงกับออกปากว่าชอบมาก นั่นคือสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ปี 1966

ที่เด็กๆ อีกประเด็นคือฉากประชุมของหนังยุคโชวะนี้ เป็นองค์ประชุมที่มั่วไปหมดใครๆ ก็เข้าได้ แล้วก็เสนอยุทธศาสตร์กันได้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก พ่อแม่เด็ก หรือสาวชาวเกาะที่ไหน

แม้แต่นักผจญภัยล่าสมบัติ พวกนายพลก็จะรับบทคอยดุด่าเด็กๆ ว่าเหลวไหล

แล้วก็จะมีพวกนักวิทยาศาสตร์คอยบอกว่าความคิดแบบเด็กๆ นี่แหละที่ผู้ใหญ่คิดไม่ได้

สนุกกว่านี้คือแต่ละตอนมักใช้นักวิทยาศาสตร์แค่คนเดียวในการตัดสินใจ บางตอนมิใช่นักวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ น่าจะเป็นเพียงนักบรรพชีวินวิทยาเท่านั้นเอง

มีบ้างบางตอนที่ใช้นักวิทยาศาสตร์นานาชาติมาช่วยกันแต่ก็น้อยมาก

ถ้ากองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นกลุ้มใจกับกาเมร่ายุคเฮเซและมิลเลนเนียม ก็น่าจะเอาหัวมุดดินได้เลยถ้าได้ดูยุคโชวะ แต่ก็ว่าไม่ได้ นั่นเป็นแค่ 20 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งญี่ปุ่นยังถูกสหรัฐยึดครองต่ออีก 7 ปี

ยังเด็กไม่พอ ไดเอะแต่งและปล่อยเพลงมาร์ชกาเมร่าออกมา Go! Go! Go! นั่งดูนั่งฟังจนร้องตามได้เลยทีเดียว

กาเมร่ายุคโชวะเป็นหุ่นยางล้วนๆ ยุคเฮเซกาเมร่าน่ากลัวและหน้าตาดุร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ พอถึง Gamera The Brave เจ้าเต่ายักษ์โต๊ะโตะกลับมาน่ารักสุดสุด เวรี่คิวต์กันจนใครๆ ก็ออกปาก พอมาถึง Gamera Rebirth ครั้งนี้จึงจริงจังกันอีกครั้ง ลวดลายที่กระดองสวยมาก นึกถึงที่รองประธานไดเอะพูดว่าเลือกเต่าเพราะลายที่กระดองน่าดึงดูดมากกว่าสัตว์อื่นๆ

ตอนต่อไป กาเมร่ายุคเฮเซฉบับกราฟิกโนเวล •

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Gamera Rebirth