มนัส สัตยารักษ์ : 9 ธันวา วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล

 

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วเขียนเรื่อง “กฎหมายในอนาคต” พลันคิดถึงเรื่องราวหนึ่งในอดีต และเพื่อน “นายพันอันตราย” พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์

คนในยุค 14 ตุลาคม 2516 คงจำได้ว่า หลังจากเขาถูกลงทัณฑ์ให้ออกจากราชการในข้อหากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง (เป็นข้าราชการกล่าวปราศรัยโจมตีผู้สมัครรับเลือกตั้ง) เขาเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะถูกปลดออกจากราชการ จึงดูเหมือนไม่ได้ทุกข์ร้อนมากมายนัก กลับทุ่มเทเวลาให้แก่กิจกรรมเพื่อสังคมหลายประการ

กิจกรรมหนึ่งก็คือ ก่อตั้งกระบวนการ “ชนวน” เพื่อเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการและการเมือง

กระบวนการ “ชนวน” ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้ที่เห็นด้วยกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ “พี่อู๊ดและพี่โจ๊ว” สุวัฒน์ วรดิลก นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี นักร้องยอดนิยม และน้องๆ อดีตนิสิตและนักศึกษา (สนนท.) ที่เคยร่วมงานกันมาในช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้น

สุวัฒน์ วรดิลก นักเขียนและนักสู้กับความไม่ถูกต้องของสังคม อนุญาตให้ อนันต์ เสนาขันธ์ ใช้ส่วนหนึ่งของที่ทำงานของท่านเป็นออฟฟิศของ “ชนวน” และหลายครั้งก็เข้ามานั่งเป็นที่ปรึกษาให้ ด้วยความศรัทธาในอุดมการณ์ของ อนันต์ เสนาขันธ์

นอกจากนั้น ยังได้รับความสนับสนุนจากองค์กรทั้งราชการและเอกชนเป็นทางลับหรือไม่เปิดเผย และบรรดาสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ต่างก็ให้ความร่วมมือ

กระบวนการ “ชนวน” ได้ผลิตวารสารชื่อเดียวกันออกจำหน่ายจ่ายแจก ผมซึ่งชอบทำหนังสือจึงใช้เวลาว่างเข้าไปร่วมงานด้วยในส่วนนี้

วันหนึ่ง อนันต์ เสนาขันธ์ ตั้งเรื่องขึ้นมาในโต๊ะประชุม โดยเอ่ยชื่อนายทหารใหญ่คนหนึ่งว่า “ไอ้นายพลคนนี้มันกินน้ำตาลทราย ชนวนจะเล่นงานมัน”

เขาหมายถึงนายพลที่มีข่าวอื้อฉาวข้องเกี่ยวกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นจากอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย นายพลซึ่งจะเป็นเป้าหมายในการปราศรัยและพิมพ์เอกสารโจมตีรายต่อไปของกระบวนการ “ชนวน”

แต่ผมมีความเห็นไปในอีกทางหนึ่งว่าองค์กรอันตรายอย่าง “ชนวน” ไม่ควรตั้ง “ตัวบุคคล” เป็นเป้าในการโจมตี แต่ควรเอา “เหตุการณ์” หรือ “เรื่องราว” มาเป็นหลัก แล้วเรื่องมันไหลไปโดนเอาใครบ้างก็ค่อยหยิบเอามาเข้าเป็นตัวละคร

โดยส่วนตัว ผมยังเป็นข้าราชการกินเงินเดือน แค่ถูกสอบสวนความผิดทางวินัยเพราะเขียนหนังสือก็ทำท่าจะหมดฤทธิ์เสียแล้ว ถ้าถูกกล่าวหาความผิดทางอาญาจากคนระดับนายพล ลูกเมียของผมคงลำบาก

แต่ อนันต์ เสนาขันธ์ ก้าวไปไกลกว่าที่ผมติงไปมากแล้ว เขามีความเด็ดเดี่ยวมาตั้งแต่เป็นนักเรียน จึงยากที่หยุดหรือให้เขารอรายละเอียดของ “เหตุการณ์”

นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมปลีกตัวห่างออกมาจากขบวนการ “ชนวน”

กรณีขบวนการ “ชนวน” แฉคอร์รัปชั่นอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายจะลงเอยอย่างไรผมจำไม่ได้ จำได้แต่ว่าไม่มีการฟ้องร้องจากฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่กล่าวหาหรือถูกกล่าวหา คลับคล้ายคลับคลาว่า ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาใช้วิธี “ดื้อตาใส” ยอมปล่อยให้เรื่องอื้อฉาวอยู่พักหนึ่งแล้วเงียบหายไป ทำนองเดียวกับเรื่องคอร์รัปชั่นอื่นๆ ที่ผ่านมา

หลังจากนั้นอีกไม่นานปี (ในฐานะสารวัตรรถวิทยุกองปราบปราม) ผมมีโอกาสติดตาม นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปโรงงานผลิตน้ำตาลทรายใหญ่แห่งหนึ่งแถวราชบุรี

วาระงานที่โรงงานผลิตน้ำตาลทราย ไม่ใช่ภารกิจของตำรวจอารักขา ผมจึงไม่ได้สนใจรับรู้ และถือว่าตำรวจอารักขาเป็นแค่คนนอกและเป็นผู้น้อย

ผมมาเอะใจเอาเมื่อถึงเวลาเดินทางกลับกรุงเทพฯ เลขานุการท่านบุญเท่งแจ้งเปลี่ยนรายการเดินทาง ท่านบุญเท่งไม่นั่งรถร่วมกับรัฐมนตรีและนักการเมืองอื่น ท่านแยกกลับตามลำพังโดยมีรถตำรวจตามท่านไป

ขบวนเดินทางในขากลับจึงเปลี่ยนจากแบบพิธีการเป็นเรื่อง “บ้านๆ” ไปในทันที

เราแวะกินข้าวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งแถวบางแค ตำรวจกับเลขาฯ และผมนั่งโต๊ะกลม กินต้มยำกุ้งหม้อไฟกับอาหารคุณภาพอีก 3-4 อย่าง ในขณะที่ท่านรัฐมนตรีนั่งตามลำพังที่โต๊ะเล็กถัดไปห่างๆ และท่านกินข้าวผัดธรรมดาเพียงจานเดียว

เลขาฯ กระซิบบอกผมว่า มีปัญหาข้อขัดแย้งกันระหว่างนักการเมืองในเรื่องโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ผมบอกกับเลขาฯ ว่า ผมสนใจเรื่องความขัดแย้งนี้ ผมจะมาขอทราบข้อเท็จจริงและรายละเอียดภายหลัง

เมื่อเราส่งท่านรัฐมนตรีถึงที่พักเรียบร้อยแล้ว เลขานุการเดินมาที่รถวิทยุ พร้อมกับส่งบุหรี่ “เกล็ดทอง” ให้ผมซองหนึ่ง

“ท่านฝากขอบคุณที่เดินทางไปกับท่าน ท่านรู้ว่าสารวัตรสูบเกล็ดทองเหมือนท่านแบ่งมาให้ซองนึง”

ข้อเท็จจริงกับรายละเอียดของปัญหาโรงงานผลิตน้ำตาลทรายมันซับซ้อนเสียจนผมเข้าใจวิถีการต่อสู้ของ “นายพันอันตราย” สู้กับคนโกงไม่จำเป็นต้องแฟร์

ผมก็ลืมเสียแล้วว่าทุจริตน้ำตาลมันลึกลับซับซ้อนอย่างไร คงจำได้แต่เรื่องประทับใจไร้สาระ… รัฐมนตรีกับข้าวผัด และเรื่องรางวัลบุหรี่เกล็ดทองเท่านั้น

วันเวลาหลังจากนั้น คอร์รัปชั่นในไทยเติบโตและกระจายไปตามคติ “มือใครยาว…”

มาถึงปีนี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับรองแชมป์อาเซียน (ประเทศคอร์รัปชั่นมากที่สุด)

และประเทศไทยถูกลดอันดับความโปร่งใส จากอันดับ 76 เป็นประเทศที่ 101 ใน 176 ประเทศ

เห็นสปอต “9 ธันวา วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล” แวบๆ ในทีวี เจตนาจะประชาสัมพันธ์กิจกรรมอะไรสักอย่าง ที่ไหนสักแห่ง แต่ผมอ่านไม่ทัน ผู้ผลิตสปอตตัดต่อเร็วมาก เพื่อประหยัดเวลา ให้เหมาะสมกับค่าโฆษณาที่แพงและงบประมาณต่อต้านโกงมีน้อย?

และบังเอิญว่าปีนี้ ประเทศไทยมีพฤติกรรมที่สวนทางกับ “ปราบโกง” หลายประการ เป็นต้นว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน กรณีร่ำรวยผิดปกติ เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.ปราบโกง

มีความพยายามปกป้องตนเองไว้ล่วงหน้า ด้วยการลดสเป๊กการเปิดเผยทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งที่ต้องเปิดเผย จากการเปิดเผยรายการทรัพย์สิน “อย่างละเอียด” มาเป็น “โดยสรุป” ซึ่งผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ให้ความเห็นว่า การเปิดเผยอย่างละเอียดเป็นการไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น!

ถัดมามีภาพรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โชว์นาฬิกาข้อมือราคาเป็นล้านกับแหวนเพชรเม็ดโป้ง ทรัพย์ทั้งสองรายการนี้ไม่มีแจ้งในบัญชีทรัพย์สินที่จะต้องรายงานในวาระรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ที่ผ่านมา

พฤติกรรม “สวนทางปราบโกง” เพื่อเฉลิมฉลอง “วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล” ครั้งนี้ถูกปลุกให้คนต่อต้านเคลื่อนไหว โดย “คนอันตราย” หลายคนจากหลายองค์กร

แม้ประเทศไทยจะมีคนโกงมาอย่างต่อเนื่อง แต่เราก็ไม่เคยสูญพันธุ์คนอันตราย