ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก : (4) ผลกระทบของจีนผงาดต่อโลกกำลังพัฒนา | เกษียร เตชะพีระ

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างทุนอเมริกันกับทุนจีนในบริบทระบบทุนนิยมโลกปัจจุบันเมื่อต้นปีก่อน (https://thedigradio.com/podcast/clash-of-empires-w-ho-fung-hung/) ผมขอถอดความเรียบ เรียงต่อจากตอนก่อนดังนี้ :

แดเนียล เดนเวอร์ : การลงทุนโพ้นทะเลขนานใหญ่ของจีนในเหล่าประเทศแอฟริกาและละตินอเมริกา รวมทั้งอุปสงค์ของจีนต่อวัตถุดิบจากประเทศเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจให้ประเทศดังกล่าวภายในระบบโลกขนาดไหนครับ? แล้วเอาเข้าจริงมันก็เป็นแค่ระบบอาณานิคมรูปแบบใหม่ที่คราวนี้มาในโฉมหน้าจีนสักเพียงใดกันครับอาจารย์หง?

โฮเฟิง หง : นี่เป็นคำถามสลับซับซ้อนยิ่งที่ไม่มีคำตอบง่ายๆ นะครับ งานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า มันไม่มีคำตอบฟันธงประเภทใช่หรือไม่ในเรื่องที่ว่าการดูดสกัดเอาทรัพยากรและการลงทุนโดยบรรดาประเทศที่พัฒนากว่าจะขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและกลายเป็นสถานการณ์แบบอาณานิคมขึ้นมาหรือไม่ ทั้งนี้ มันขึ้นอยู่กับว่าประเทศกำลังพัฒนาที่เกี่ยวข้องน่ะพึ่งพาอาศัยนักลงทุนและนักดูดสกัดเจ้าเดียวหรือหลายเจ้านั่นแหละครับ

ผลกระทบจากการขยายตัวของจีนในโลกกำลังพัฒนานั้นผันแปรแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศครับ กล่าวคือ เหล่าประเทศที่ได้การลงทุนจากยุโรปและสหรัฐมากอยู่แล้วจะลงเอยมีฐานะดีขึ้น เพราะมาบัดนี้มีมหาอำนาจหลายเจ้ามารุมจีบ พวกเขาสามารถได้ข้อตกลงดีที่สุดมาโดยเล่นเกมให้มหาอำนาจเจ้าต่างๆ ถ่วงดุลกัน เช่น ให้จีนถ่วงดุลสหรัฐหรือยุโรป เป็นต้น

นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเอเชียอาคเนย์นะครับ อิทธิพลจีนกำลังขยายตัวในเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็คงความสัมพันธ์แต่ดั้งเดิมกับบริษัทและนักลงทุนชาวยุโรปและอเมริกันไว้ด้วย เพื่อที่ว่าพวกเขาจะสามารถให้มหาอำนาจเหล่านี้ถ่วงดุลกันและได้ข้อตกลงดีที่สุดมา มันก็เหมือนสมัยสงครามเย็นนั่นแหละครับ พอทั้งสหภาพโซเวียตกับสหรัฐมารุมจีบคุณ คุณก็สามารถได้ข้อตกลงดีที่สุดมาเสมอโดยให้มหาอำนาจทั้งสองแข่งกัน (ดูเทียบเคียงกรณีไทยกับจีนที่ “ปลัดคลังผุดโมเดล เศรษฐกิจ ‘เห็บสยามโมเดล’ เกาะไปกับประเทศที่เติบโต“, 2 สิงหาคม 2559)

แต่ถ้าคุณเกิดพึ่งพาฝ่ายหนึ่งจนหมดตัว มันก็เป็นปัญหาแหงล่ะครับ ตัวอย่างเช่น ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่พึ่งพาการลงทุนของบริติชหรืออเมริกันจนหมดตัวก็ย่อมถูกขูดรีดสาหัสยิ่ง

สิบปีก่อนเมื่อประเทศอื่นๆ พากันพึ่งพาเงินกู้ การลงทุนและบริษัทของจีนอย่างหนักเพื่อทำเหมืองแร่น่ะ มันยังไม่ชัดหรอกครับว่าผลลัพธ์ระยะยาวจะเป็นอย่างไร แต่มาบัดนี้ จีนก็ได้เข้ามาอยู่ในหลายต่อหลายที่นานพอที่ผู้คนจะเริ่มพบประเด็นปัญหาต่างๆ กับการพึ่งพาชนิดนี้เข้าแล้ว

นอกจากนี้ พวกเขาก็ยังเผชิญปัญหาแบบดั้งเดิมด้วย กล่าวคือ ประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนากว่าดูดสกัดเอาทรัพยากรล้ำค่าและทำกำไรที่สุด โดยนำวัตถุดิบไปผ่านกระบวนการแปรรูปที่อื่น ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นถูกปล้นวัตถุดิบไปโดยไม่ได้กำไรตอบแทนมากมายนัก แบบแผนที่คุ้นชินกันดีนี้ได้ปรากฏขึ้นในหลายประเทศละตินอเมริกาและแอฟริกัน

ถึงขนาดมันกลายเป็นยุทธศาสตร์ที่ประกันให้ชนะเลือกตั้งได้โดยกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าสมคบคิดกับบริษัทจีนทั้งหลายและแย่งชิงเอาทรัพยากรของเราไป

ปรากฏว่าพวกที่หาเสียงด้วยหลักนโยบายนี้ได้รับเลือกตั้งในแซมเบียเอย ศรีลังกาเอย มาเลเซียเอย และล่าสุดในเปรู ในการเลือกตั้ง ผู้สมัครฝ่ายซ้ายต้องการจะเจรจาต่อรองสิทธิขุดเหมืองทองแดงกับบรรดาบริษัทต่างชาติซึ่งหลายแห่งเป็นบริษัทจีน จะว่าไปจีนไม่ได้คิดประดิษฐ์สร้างอะไรเป็นพิเศษในการก่อให้เกิดสถานการณ์อาณานิคมใหม่ประเภทนี้นะครับ พวกบริษัทจีนก็เพียงกำลังทำตัวเหมือนที่บริษัทรถยนต์ในซีกโลกใต้ทั้งหลายเคยทำมาในอดีต กล่าวคือ ก่อตั้งความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้เพื่อทำกำไรทางเศรษฐกิจสูงสุดให้ตัวเอง รวมทั้งอำนวยประโยชน์ทางความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ให้แก่รัฐของตัวด้วย พวกเขาก็แค่กำลังดำเนินรอยตามเหล่ามหาอำนาจเจ้าเก่าแห่งระบอบอาณานิคมใหม่ในโลกเท่านั้นเอง

มันก็อีกนั่นแหละครับว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงในสนามของโลกกำลังพัฒนาย่อมขึ้นอยู่กับว่าประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าวมีมหาอำนาจหลายเจ้ารุมจีบอยู่หรือเปล่า และพอจะเล่นเกมให้มหาอำนาจเหล่านั้นถ่วงดุลกันเองเพื่อให้ได้ข้อตกลงดีที่สุดมาหรือไม่ ถ้าการณ์ไม่เป็นเช่นนี้ พวกเขาก็มักต้องพึ่งพาอาศัยแหล่งทุนเจ้าเดียวมากเกินไป

แน่ล่ะครับผลลัพธ์บั้นปลายยังขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลท้องถิ่นนั้นมีรัฐที่สร้างสถาบันมาอย่างเข้มแข็งจนสามารถเจรจาต่อรองกับทุนภายนอกหรือไม่

แผนที่แสดงฐานทัพโพ้นทะเลของจีนในประเทศต่างๆ, The Economist, 5 May 2022; ชาวฟิลิปปินส์เดินขบวนวันเอกราชชูป้ายขับไล่จีนจากเขตทะเลฟิลิปปินตะวันตก, มิถุนายน 2021, https://www.rappler.com/moveph/photos-independence-day-2021-protests-philippines/

แดเนียล เดนเวอร์ : อาจารย์หงครับ คุณเขียนไว้ว่าคำถามใหญ่ข้อหนึ่งคือ “การบรรลุความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนไม่กี่ปีหลังนี้เป็นปรากฏการณ์ยกเว้นผิดปกติวิสัยที่ประเทศอื่นไม่มีทางจะเอาอย่างได้ หรือว่าการบรรลุความสำเร็จดังกล่าวเป็นแบบอย่างนำหน้าให้แก่การเติบโตอย่างรวดเร็วทำนองเดียวกันในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรมากอื่นๆ?”

มีประเทศกำลังพัฒนาสองจำพวกให้เราพิจารณาในที่นี้นะครับ พวกหนึ่งได้แก่ประเทศขนาดใหญ่อย่างอินเดีย ส่วนอีกพวกได้แก่เหล่าประเทศพึ่งพาการส่งออกในทวีปละตินอเมริกาและแอฟริกาซึ่งเราเพิ่งอภิปรายถึงกันอยู่ เนื่องจากจีนน่ะไม่ได้กำลังทำให้ลำดับเหลื่อมล้ำของระบบโลกกลับราบเรียบเสมอหน้ากัน แต่กลับทำให้เหล่าประเทศชายขอบยิ่งต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าขั้นปฐมภูมิเข้มข้นขึ้น อย่างนี้แล้วมันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหมครับที่ประเทศเหล่านี้จะไต่ห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นไปโดยเลียนแบบจีน?

โฮเฟิง หง : นั่นเป็นคำถามที่ยุ่งขิงนะครับเพราะตัวแบบจีนซึ่งดำเนินการสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกนั้น มันอำนวยประโยชน์แก่การเติบโตของจีดีพีจีน ทว่าในขณะเดียวกัน จีนก็กำลังดำเนินรอยตามตัวแบบเดิมของกลุ่มประเทศสี่เสือเอเชียด้วย (หมายถึงกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชียตะวันออกได้แก่ ฮ่องกง, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ไต้หวัน) ซึ่งสร้างเสริมแรงจูงใจให้การผลิตกับการส่งออก แต่กลับกดอั้นการบริโภคในประเทศไว้ จะเห็นได้ว่าการเสียดุลระหว่างอุปทานกับอุปสงค์ของทั้งโลกและปัญหาการผลิตล้นเกินน่ะเอาเข้าจริงไม่ได้เริ่มในกรณีจีนนะครับ

แต่หลังจากจีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์หัตถอุตสาหกรรมสารพัดประเภทรายใหญ่แล้ว ปัญหาการขาดแคลนอุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์หัตถอุตสาหกรรม – นี่ผมไม่ได้หมายถึงการขาดแคลนอุปสงค์โดยสัมบูรณ์นะครับ หากหมายถึงการขาดแคลนอุปสงค์โดยสัมพัทธ์เมื่อเทียบกับสมรรถภาพการผลิต – ก็ยิ่งทำให้มันยากเย็นแสนเข็ญขึ้นไปเรื่อยๆ ที่ประเทศอื่นๆ จะดำเนินรอยตามหนทางของจีนครับ เพราะมันไม่มีอุปสงค์ที่ส่งผลจริงมากพอให้ขยายเครื่องจักรการผลิตส่งออกต่อเนื่องไปเรื่อยๆ น่ะครับ

 

ความข้อนี้สร้างความยากลำบากให้ประเทศกำลังพัฒนามากมายหลายประเทศอยู่ ตัวอย่างเช่น ในละตินอเมริกา เม็กซิโกและบราซิลกำลังเพียรพยายามอย่างหนักยิ่งเพื่อทำให้เศรษฐกิจกลายเป็นแบบอุตสาหกรรมและผันตัวเองจากการดูดสกัดทรัพยากรธรรมชาติไปเป็นประเทศผู้ผลิตทางอุตสาหกรรม แต่การผงาดขึ้นของจีนกลับทำให้พวกเขาต้องลดความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไปโดยพื้นฐาน

ในแง่หนึ่ง ตลาดภายในของประเทศเหล่านี้ถูกผู้ผลิตอุตสาหกรรมจีนเข้าแย่งยึดและเหล่าสถาบันอุตสาหกรรมภายในของพวกเขาก็พากันบ่นอุบ (ดูข่าวประกอบ “ขอรัฐแก้เกมสินค้าจีนถล่มไทย เล็งบรรจุในสมุดปกขาว กกร. ยื่นนายกฯ เศรษฐา”, 5 กันยายน 2566) และแน่ล่ะครับว่าผลิตภัณฑ์จีนก็แย่งยึดตลาดโลกไว้ได้มากด้วยตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปถึงรถยนต์และอื่นๆ อีกมากมาย นี่ทำให้ยากขึ้นที่ประเทศเหล่านี้จะส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของตัวไปแข่งขัน

เนื่องจากจีนผงาดขึ้นมา ประเทศที่สร้างอุตสาหกรรมทีหลังจำนวนมากหลายก็เลยพบว่ามันยากขึ้นที่จะสร้างอุตสาหกรรม บางประเทศกระทั่งลดความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมลงด้วยซ้ำไปนะครับ อย่างในบราซิล ประเทศจีนที่ผงาดขึ้นนั้นมีอุปสงค์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบของพวกเขามาก แต่ขณะเดียวกัน ก็กดดันสถาบันอุตสาหกรรมของพวกเขาด้วย ฉะนั้น เหตุจากจีนผงาดขึ้นนี่เองทำให้บราซิลลดความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมลงและย้อนกลับไปส่งออกวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์อีก

ฉะนั้น กล่าวโดยรวมแล้ว การผงาดขึ้นของจีนมีลักษณะขัดแย้งกันอยู่ในตัว กล่าวคือ ในด้านหนึ่งมันช่วยบรรดาประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ได้รับผลสะเทือนสืบเนื่องจากวิกฤตการเงินโลกปี 2008 แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้หนทางของเหล่าประเทศที่ทะยานอยากเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมลำบากยากขึ้นอักโข

ท้ายที่สุดแล้ว การผงาดขึ้นของยักษ์จีนนี่แหละทำให้ยากขึ้นที่ประเทศอื่นๆ จะเอาอย่างตัวแบบจีน

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)