จาก 2 รัฐประหาร-สู่วันสงบศึก | วงค์ ตาวัน

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ครบรอบเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายนในปีนี้ ไม่มีการหยิบยกเรื่องราวการล้มล้างประชาธิปไตยในวันดังกล่าวมาพูดถึงกันมากนัก ไม่มีการนำมาย้อนรำลึกการแทรกแซงการเมืองของกองทัพ เมื่อปี 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายเพื่อไทยหรือแกนนำเสื้อแดงที่ยังหนุนเพื่อไทย กลับเงียบเฉย ไม่มีการนำมาตอกย้ำเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา

แต่ก็อย่างว่า คนที่ตั้งข้อสังเกตแบบนี้ ต้องเป็นคนที่ผิดหวังกับสถานการณ์การเมือง ผิดหวังที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ผิดหวังที่พรรคเพื่อไทยปล่อยมือกับก้าวไกล แล้วไปจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิมจนตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

จึงพยายามนำเอาเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาใช้เสียดสีพรรคเพื่อไทย

จะว่าไปแล้ว 17 ปีผ่านไป สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในปี 2566 การเมืองไทยพลิกโฉมไปอย่างมาก

จุดสำคัญสุดคือ รัฐประหาร 19 กันยายน ปี 2549 คือ การโค่นล้มทักษิณ ชินวัตร ทำให้ทักษิณต้องการเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง กลับประเทศไม่ได้อีกเลย

จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นวันที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เป็นวันที่ทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย มาเข้ากระบวนการยุติธรรม เพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอน มาเลี้ยงหลานในบั้นปลายชีวิต

ทั้งเป็นวันที่ นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงท่วมท้นจาก ส.ส.และ ส.ว. เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 พร้อมกับจัดตั้งรัฐบาล ที่เพื่อไทยร่วมผสมกับพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม

ทั้ง 2 เหตุการณ์ เป็นดังบทสรุปที่ว่า ทักษิณและพรรคเพื่อไทย สามารถร่วมมือกับเครือข่ายอำนาจกองทัพและอำนาจฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองได้แล้ว

จนทำให้ทักษิณได้กลับบ้านมาใช้ชีวิตในเมืองไทยได้เสียที โดยกลับมาในขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีอำนาจรักษาการอยู่

ขณะที่นายเศรษฐาได้รับเสียงโหวตจากพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิมและเสียง ส.ว.ในสายของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างท่วมท้น

จากนั้นในวันที่ 23 สิงหาคม นายเศรษฐาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ อย่างสมบูรณ์แบบ

ถัดมาอีกวัน นายเศรษฐาเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ พูดคุยกันอย่างมิตรไมตรี ในฐานะนายกฯ ที่กำลังจะเข้ามาทำงาน กับนายกฯ ที่กำลังจะวางมือไป

การกลับบ้านของทักษิณ ในวันเดียวกับที่ ส.ว.ร่วมกับ ส.ส.โหวตให้เศรษฐาเป็นนายกฯ เป็นเครื่องบ่งบอกว่า สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว

สำหรับคนที่ผิดหวังว่าเพื่อไทยละทิ้งก้าวไกล ย่อมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ทรยศหักหลัง ไปสยบยอมอำนาจขุนศึกขุนนางของเพื่อไทย

แต่สำหรับคนอีกส่วนมองว่า เพื่อไทยไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน ไปสยบยอมใคร เพราะบรรลุสิ่งที่รอคอยอย่างไม่แปรเปลี่ยนมาถึง 17 ปี

คือ รอวันที่ผู้มีอำนาจยอมรับและไว้วางใจ เพื่อจะได้เป็นรัฐบาล โดยไม่โดนสอยไม่โดนยุบ จะได้มีโอกาสทำงานพิสูจน์ฝีมือด้านเศรษฐกิจได้เต็มที่

 

จะว่าไปแล้ว การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เพื่อล้มทักษิณจนไม่สามารถกลับเมืองไทยได้อีก แต่หลังจากนั้นพรรคการเมืองเครือข่ายทักษิณก็ยังชนะเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาลอีก จนกระทั่งยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำพรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งท่วมท้นในปี 2554 จึงเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อล้มน้องสาวทักษิณ

เป็นรัฐประหาร 2 ครั้ง ที่ต่อเนื่องกัน เพื่อล้มรัฐบาลพี่น้องชินวัตร

แต่จะเห็นได้ว่า ในทางการเมือง ทักษิณและยิ่งลักษณ์อาจจะมีความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจทหาร แต่ไม่แตะต้องอำนาจอนุรักษนิยมการเมือง ทั้งยังเฝ้าเพียรพยายามจะเอาชนะในการเลือกตั้งทุกๆ ครั้ง เพื่อเข้าเป็นรัฐบาลภายใต้การเลือกตั้ง โดยคาดหวังไม่ให้ฝ่ายผู้มีอำนาจหวาดระแวง จนโดนสอยโดนยุบอีก

ไม่เคยคิดถึงขั้นจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เพื่อเดินแนวทางโค่นกลุ่มผู้มีอำนาจในไทย

เพราะจุดยืนของทักษิณ และไทยรักไทย เพื่อไทย คือ ประชาธิปไตยแบบประนีประนอม เน้นเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง

มองอีกมุมหนึ่ง จะรู้สึกผิดหวังอย่างมากๆ เมื่อทักษิณไม่ยอมนำจุดแข็งของตัวเอง คือ ความเป็นนักการเมืองที่มีมวลชนรากหญ้าสนับสนุนอย่างกว้างขวาง มาใช้เป็นพลังผลักดันการเมืองไทยให้เปลี่ยนแปลงอย่างถึงโครงสร้าง

เอาแต่ประนีประนอม เอาแต่จะขอโอกาสกลับบ้าน ขอโอกาสให้เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

มุมมองแบบนี้จึงผิดหวังกระทั่งโกรธแค้น ถึงขั้นเห็นเพื่อไทยเป็นศัตรู เมื่อการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงในปี 2566 ทักษิณได้กลับบ้าน เพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาล และมีแนวโน้มจะอยู่ได้อย่างปลอดภัย

แต่สำหรับทักษิณและเพื่อไทย การเปลี่ยนแปลงของการเมืองในปีนี้ ทำให้ได้รับโอกาสได้รับความไว้วางใจ ให้เข้ามาทำงานเป็นรัฐบาล

จึงรีบโดดรับโอกาสเช่นนี้ เพื่อจะได้ทำงานพิสูจน์ฝีมือ โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

 

บรรยากาศครบรอบ 17 ปี รัฐประหาร 19 กันยายนโค่นทักษิณ ล้มประชาธิปไตย จึงไม่เหมือนปีที่ผ่านๆ มา เพราะเครือข่ายกองทัพหันมาจับมือกับเครือข่ายทักษิณแล้ว สงบศึกกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้นำรัฐบาลที่ยังมีอำนาจ ในขณะทักษิณบินกลับประเทศอย่างราบรื่น แถม ส.ว.ในเครือข่ายประยุทธ์ก็ร่วมสนับสนุนให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

แต่พร้อมๆ กัน เมื่อรัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ เราก็ไม่ได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ในทางการเมืองอีกเลย เพราะได้เวลาวางมือทางการเมืองแล้วจริงๆ โดยคาดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่กลับมามีบทบาทอื่นใดอีกเลย จะค่อยๆ เงียบหายไปในที่สุด

ที่วิเคราะห์กันในแง่ลบว่า นายกฯ เศรษฐาและเพื่อไทย ต้องยอมทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล ลงเอยไม่มีอำนาจอะไรเลย จะโดนฝ่ายประยุทธ์บงการ และตักตวงประโยชน์อยู่เบื้องหลัง!?!

ในความเป็นจริง นับจากรัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีแต่ทำงานตามนโยบายแนวคิดของเศรษฐาและเพื่อไทย

ทำในสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ไม่เคยทำได้ เช่น ลดค่าไฟฟ้าได้ทันทีแบบลดฮวบ ลดราคาน้ำมันดีเซล พักหนี้เกษตรกรและหนี้เอสเอ็มอี ทั้งเตรียมจะลดราคาน้ำมันเบนซิน และอื่นๆ อีก

ไม่เห็นวี่แววอะไรที่จะบอกได้ว่า รัฐบาลเศรษฐาไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอำนาจจริง!!

ขณะเดียวกัน ที่รัฐบาลเศรษฐากำลังเดินหน้า คือ เร่งนโยบายด้านเศรษฐกิจ เร่งสร้างรายได้ ฟื้นการท่องเที่ยว นอกเหนือจากเร่งลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนอย่างทันทีทันควัน

คาดเดาได้ว่า ฝีมือทางเศรษฐกิจเป็นจุดแข็งจุดเดียวของรัฐบาลเพื่อไทย จะต้องงัดออกมาใช้เพื่อฝ่าคลื่นลมการเมือง ฝ่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางลบว่าหักหลังพรรคก้าวไกลทรยศฝ่ายประชาธิปไตย ไปผสมกับฝ่ายอำนาจเก่า

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยให้ยกระดับพัฒนาก้าวหน้าในระยะยาว ให้อำนาจการเมืองเป็นของประชาชนจริงๆ เป็นประเด็นหนึ่งของการเคลื่อนไหวการต่อสู้

แต่ในระยะเฉพาะหน้า การเมืองในวาระ 4 ปีนี้ เป็นโอกาสที่เพื่อไทยจะพิสูจน์แนวทางประชาธิปไตยประนีประนอมแก้ปากท้อง ว่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชนขนาดไหน

เพื่อไทยจะทำให้ประเทศเดินหน้าด้วยวิถีประนีประนอมแบบนี้ ได้จริงหรือไม่

โดนกองทัพโค่นล้มถึง 2 ครั้ง แต่ลงเอยยุติศึกจับมือกันได้ เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกทิศทางแค่ไหน!!