ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ถ้าไปค้นหางานวิชาการสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ที่จะศึกษาเรื่อง “เจ้าพ่อ” หรือการเมืองอิทธิพลท้องถิ่นในปัจจุบัน ต้องบอกว่ามีน้อยมาก ทั้งที่ประเด็นเหล่านี้เคยได้รับความนิยมมากช่วงทศวรรษ 2530-2540
พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีใครอยากทำ แล้วถ้าใครจะทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “เจ้าพ่อ” หรือ “ผู้มีอิทธิพล” คงเชยตาย ไม่ทันสมัย
แต่ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ประเทศไทยในขณะนี้ที่เต็มไปด้วยข่าว “เจ้าพ่อ-ผู้มีอิทธิพล” ทั้งระดับชาติ ไปยันระดับท้องถิ่น
โดยเฉพาะกรณีล่าสุดคือ “กำนันนก” ที่จัดงานเลี้ยงตำรวจจำนวนมาก แล้วก็สั่งมือปืนสังหารสารวัตรทางหลวงคนหนึ่ง ต่อหน้าตำรวจระดับผู้กำกับ นายพัน นายร้อย เกือบ 30 คน
ที่น่าตกใจคือตำรวจหลายคนช่วยพากำนันนกหนี บางคนช่วยทำลายหลักฐาน ให้การเท็จ ทั้งที่กำนันอายุน้อยเหิมเกริมได้ขนาดนี้
นอกจากเป็นการเปิดเผยความเน่าเฟะ ในระดับบุคคลไปจนถึงระดับโครงสร้างของระบบตำรวจ กรณีนี้ยังส่งผลให้เกิดคำถามว่า สังคมแบบไหนกันถึงปล่อยให้คนอายุ 34 สามารถสะสมทุน ประมูลโครงการหลายพันโครงการของรัฐ มีเงินรวยระดับร้อยล้านพันล้าน มีรถบรรทุกหลายร้อยคัน จัดเลี้ยงซื้อตำรวจได้มากมายหลายระดับ กระทั่งยอมอยู่นิ่งๆ เมื่อเพื่อนตำรวจระดับสารวัตรถูกยิงทิ้งต่อหน้า
ประเด็นเรื่อง “เจ้าพ่อ” และ “ปัญหาอิทธิพลท้องถิ่น” จึงถูกกลับมาตั้งคำถามอย่างหนัก ประจวบเหมาะกับการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย จึงกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่สังคมโยนคำถามไปยังรัฐบาลใหม่ ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
หลังนายกฯ ถูกรุมถามกดดัน ถึงทางแก้ระยะยาว ปัญหาเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล ลูกฟุตบอลจึงกลิ้งไปที่เท้า ชาดา ไทยเศรษฐ์ แทบจะโดยทันที ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งต้นสั่งการขอให้นายชาดาช่วยจัดการขึ้นทะเบียนผู้มีอิทธิพล หลังเกิดเหตุ ‘กำนันนก’ นครปฐม
เป็นที่เรียกเสียงฮือฮาในสังคมอย่างมาก
นายชาดาเคยถูกจัดให้เป็น ‘ผู้มีอิทธิพล’ ของจังหวัดอุทัยธานี โดยเมื่อปี 2559 ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เคยถูกตำรวจนำโดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านในฐานะบ้านผู้มีอิทธิพล
ในปี 2560 ก็ถูก พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในขณะนั้น นำกำลังเข้าค้นรถและขบวนรถผู้ติดตาม เป็นข่าวโด่งดัง
ในทางการเมือง นายชาดามีบทบาทโดดเด่นในพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะบทบาทล่าสุดคือ หัวหมู่ทะลวงฟันพรรคก้าวไกล ในการอภิปรายพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ด้วยการจัดหนัก ยกข้ออ้างมาตรา 112 มาขวาง ไม่เห็นสมควรให้นายพิธาเป็นนายกฯ เพราะมีแนวคิดจะแก้ไข
“ผมเป็นฝั่งโจรหรือไม่ เป็นโจรก็รักชาติ เป็นโจรก็รักสถาบัน เป็นโจรก็ปกครองบ้านเมืองนี้ ด้วยหัวใจและเลือดเนื้อของผม” นายชาดากล่าวในสภาวันนั้นด้วยบุคลิกโผงผาง พูดจาตรงไปตรงมา ตามสไตล์นักเลง
หลังได้รับภาระการปราบมาเฟีย เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ นายชาดาเองก็รู้ตัวสังคมยังคงกังขาในที่มาที่ไปของเขา บางคนก็วิจารณ์ว่าเป็นการมอบงานที่ถูกฝา ถูกตัว เขาเอ่ยปากยอมรับเองว่าเขาก็เป็นนักเลง เป็นผู้มีอิทธิพล แต่เป็นเจ้าพ่อที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ได้รับการเลือกตั้งแต่งตั้งตามกฎหมาย
ชาดาอธิบายลักษณะเจ้าพ่อของตัวเองว่า เขาไม่เหมือนเจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลทั่วไป เพราะพฤติกรรมแบบเจ้าพ่อตามความเข้าใจของคนไทยที่เคยมีอยู่ในตัวเขา มันได้หมดลงไปแล้ว จบลงไปแล้ว
“…บอกตรงๆ ว่า ผมก็เคยเป็นผู้มีอิทธิพล ก็เคยกลิ้งมาแล้ว ผมก็ถูกรัฐตรวจสอบ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ไม่มีใครใหญ่กว่าประตูคุกในประเทศนี้ และเรื่องของผู้มีอิทธิพล มันมีทั้งด้านดี และด้านไม่ดี ถ้าคุณมีอิทธิพล แล้วทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมือง ใช้อิทธิพลช่วยเหลือประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ดี ยอมรับได้…”
“…กรณีกำนันนกจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้ โดยมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความท้าทายอำนาจรัฐ ที่ยอมรับไม่ได้ เพราะทุกวันนี้มาเฟีย และผู้มีอิทธิพลต้องหมดไปจากเมืองไทยแล้ว…”
นี่คือจุดยืนเรื่องเจ้าพ่อ-ผู้มีอิทธิพลสไตล์ ชาดา ที่มีฉายา “เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง”
ต้องยอมรับว่า สไตล์เจ้าพ่อนักเลงเก่า ทำให้คำสัมภาษณ์สื่อ คำพูดคำจาออกมาสั้นๆ ง่ายๆ แต่ได้ใจความของชาดา กลายเป็นข่าวรายวัน ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันเอาจริงเอาจังปราบเจ้าพ่ออิทธิพลทั่วประเทศเห็นผลใน 6 เดือน
การออกมาประกาศแผนงานเชิงรูปธรรม เช่น ระยะเวลาการทำบัญชีสีแดงและสีเหลือง การอัพเดตตัวเลขการรวบรวมว่าได้กี่เปอร์เซ็นแล้ว การออกมาบอกว่าถ้าทำไม่ได้ไม่เห็นผล จะไม่อยู่ต่อ การออกมาพูดว่าไม่มีผู้มีอิทธิพลเจ้าพ่อคนใดในประเทศที่ตนเองกลัว มีเพียงสองคนที่ใหญ่กว่าตนเองคือนายกฯ กับนายอนุทิน ในฐานะ มท.1
หรือแม้แต่คำใหม่ๆ อย่าง การประกาศจะใช้ทฤษฎีอาชญาวิทยา เข้ามาร่วมเป็นกรอบการทำงานจัดการผู้มีอิทธิพล ก็ล้วนแต่สร้างประเด็นต่อสาธารณะ
เอาแค่นักข่าวถามว่าสูงเท่าไหร่ นายชาดายังตอบกลับห้วนๆ ตรงไปตรงมาสไตล์เจ้าพ่อ จนเป็นประเด็นข่าวได้
“ผมสูง 184 ความดีพอสมควร ความชั่วพอประมาณ สันดานพอคบได้”
ที่ฮือฮาไม่น้อย ล่าสุด ขอบเขตงานนายชาดาบัดนี้ข้ามไปจนถึงวงการการศึกษา เมื่อ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ผู้ร่วมงานพรรคเดียวกับนายชาดา ประสานให้นายชาดามาช่วยแก้ปัญหานักเรียนตีกัน และการรับน้องโหด
จากเหตุการณ์กำนันนกที่ จ.นครปฐม นำมาสู่การตั้งคำถามปัญหาโครงสร้างบุคลากร ปัญหาการรับเงินใต้โต๊ะ ไปจนกระทั่งปัญหาเรื่องเจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพล เพราะกำนันนกถือเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่มาให้เห็นด้วยความบังเอิญจากการเติบโตอย่างรวดเร็วจนเหิมเกริมคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่
ไปสู่คำถามว่า เจ้าพ่อ-ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น จะหมดไปจากประเทศไทยได้อย่างไร ภายใต้การรับผิดชอบของ ชาดา ไทยเศรษฐ์
ถ้ามองปัญหาเจ้าพ่อผู้อิทธิพลด้วยมิติปัจเจก ก็แก้ง่ายๆ ด้วยการขึ้นทะเบียน เรียกมาคุยปรับทัศนคติ ไม่ให้มีการกระทำที่เกินเลยไปในลักษณะท้าทายอำนาจรัฐแบบที่ชาดาและรัฐบาลนี้กำลังทำอยู่
และหากย้อนกลับไปยุค คสช. ก็ใช้วิธีการเดียวกันนั่นเอง แถมมีความเด็ดขาดมากกว่าด้วยอำนาจ ม.44 สั่งย้าย จับ ควบคุมตัวได้ทันทีแบบที่ ชาดา ส.ส. รัฐมนตรีหลายคนในพรรครัฐบาลก็เคยโดน
ดังนั้น การแก้ปัญหาเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลไม่ใช่เรื่องง่าย และชาดา ไทยเศรษฐ์ คนเดียวก็ทำไม่ได้ เพราะปัญหาเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลมันเชื่อมโยงวนล้อกับโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ อำนาจรัฐทั้งระบบ
“เจ้าพ่อ” เกิดขึ้นได้จากปัญหาความบกพร่องเชิงโครงสร้างการเมืองการพัฒนาของประเทศ
หน้าที่ของ “เจ้าพ่อ” ในทางสังคมวิทยาคือผู้อุดช่องโหว่ เชื่อมประสานอำนาจรัฐกับชาวบ้าน โดยจะเข้มแข็งมากในพื้นที่ที่รัฐเข้าไม่ถึงหรืออ่อนแอ
ในทางวิชาการ “เจ้าพ่อ” ในความเข้าใจยุคสมัยใหม่ เกิดขึ้นช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เริ่มมีการพัฒนา ทำโครงการต่างๆ ไปยังต่างจังหวัด
เจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลมาเปลี่ยนแปลงอย่างมากอีกครั้งในช่วงหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 และโดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลไทยรักไทย
เจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลมักถูกมองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย เจ้าพ่อมักหาประโยชน์และใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ เข้ามามีอำนาจ
แต่งานศึกษาทางวิชาการของ รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิชาการรัฐศาสตร์ยุคใหม่อีกหลายคน ยืนยันต่อเนื่องยาวนานว่า การเพิ่มประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจต่างหาก เป็นการจัดการกับเจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นได้ดีที่สุด
แม้แรกๆ จะเหมือนยาขม ต้องเห็นผู้มีอิทธิพลหลุดเข้ามามีอำนาจบ้าง แต่ระบอบประชาธิปไตยจะบีบให้พวกเขาต้องรับผิดชอบกับประชาชน ต้องยกมือไหว้ขอเสียงประชาชน ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงก็ต้องใช้เวลาและความอดทน
แต่การเข้ามาของ คสช.และระบอบรัฐประหารต่างหาก ที่แช่แข็งการพัฒนาท้องถิ่น
แม้ คสช.จะพยายามปราบมาเฟียเจ้าพ่อเป็นวาระสำคัญในช่วงแรก แต่เวลาผ่านไปก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นการซุกปัญหาใต้พรม คสช.ตั้งตัวเองเป็น “เจ้าพ่อ” เสียเอง
เพราะสั่งการทุกอย่างผ่านกลไกราชการ ใช้กลไกราชการฉีกขาดความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนในท้องถิ่น ฉุดกระชากความสัมพันธ์ที่อิงกับนโยบายและงบประมาณแบบที่เริ่มเกิดขึ้นในยุคไทยรักไทย กลับไปเป็นแบบตัวบุคคลหรือเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลแบบเก่า
ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าวันนี้เราจะเจอเจ้าพ่อมาเฟียอย่างกำนันนก ที่สะสมทุนและสร้างเครือข่ายจนเหิมเกริมฆ่าตำรวจได้ มันชวนให้คิดว่า รอบทศวรรษที่ผ่านมา เกิด “เจ้าพ่อ” ในโมเดลเดียวกับ “กำนันนก” อีกมาก ทั่วประเทศ
ที่จริง “ชาดา” ก็รู้ว่าเจ้าพ่อแก้ไม่ได้หมดสิ้น คำสัมภาษณ์ของเขาก็ชี้ชัดว่า เขารู้จักเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นดี และในยุคที่เขาเป็นผู้นำการแก้ปัญหานี้ ก็ขอเพียงให้เจ้าพ่อเปลี่ยนพฤติกรรมหรืออิทธิพลในทาง “เลว” กลับมาเป็นทาง “ดี ขอให้เจ้าพ่อทั่วประเทศอยู่ “นิ่งๆ” นั่นเอง
เราอยู่ในระบบคิดในการแก้ปัญหาแบบ “อำนาจนิยม” ที่เน้นการสั่งการราชการมานานหลายทศวรรษ จากผู้นำการแก้ปัญหามาเฟียเจ้าพ่อ “ภายใต้รัฐบาลทหาร” ก็ถูกส่งต่อให้ “อดีตเจ้าพ่อ” ด้วยคิดว่าอำนาจที่เด็ดขาดกว่าจะแก้ได้
ยังไงก็รอชมผลงาน “มือปราบมาเฟียป้ายแดง” แล้วกัน ไม่นานเดี๋ยวก็รู้ว่าจะต่างจากยุค คสช. ขนาดไหน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022